ปฏิรูปตำรวจ

 

ป็นหัวข้อหนึ่งที่อ้างในการยึดอำนาจการปกครอง นายกฯจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อปฏิรูปตำรวจให้เสร็จภายใน 9 เดือน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะทำให้เสร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว ตำรวจเป็นองค์กรใหญ่ที่เก่าแก่ มีวัฒนธรรมองค์กรมายาวนาน การใช้คำ “ปฏิรูป” เป็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงมากกว่าปกติ

ทำไมต้องปฏิรูปตำรวจ เพราะเป็นหน่วยงานเดียวที่การปฏิบัติงานมีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของทุกคน รักษากฎหมาย และบังคับใช้กฎหมาย บ่อยครั้งที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่าเลือกปฏิบัติ ละเว้นการปฏิบัติ กลั่นแกล้ง ไม่ให้ความเป็นธรรม ทำงานหย่อนประสิทธิภาพ  หลายองค์กร หลายหน่วยงานอยากเข้ามาควบคุมตำรวจ หรือใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือ ตำรวจเองก็พยายามที่จะหนีให้พ้นจากการตกเป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะเครื่องมือของนักการเมือง หนีออกจากการกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย อยากเป็นอิสระ แต่ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยตำรวจไม่สามารถอยู่เป็นเอกเทศได้ จึงหันไปขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรีก็เป็นนักการเมือง ฉะนั้นตำรวจหนีไม่พ้น

ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่นายกฯไม่ได้มาจากนักการเมือง ท่านส่งอาวุธให้คณะกรรมการผ่าตัดชำแหละตำรวจ จะให้เป็นแบบไหนให้เวลา 9 เดือน ไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างคิดแต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป

สำหรับหลักการที่ควรจะปฏิรูป ส่วนตัวมองว่า “ต้องทำให้ตำรวจเป็นของประชาชน ต้องสนองนโยบายและรับใช้ประชาชน และ ประชาชนชนสามารถให้คุณให้โทษตำรวจได้” ถ้าไม่เป็นตามหลักการที่ว่านี้ ก็ไม่รู้จะปฏิรูปไปเพื่ออะไร

ทุกวันนี้ตำรวจเป็นไปตามหลักการข้างต้นหรือไม่ ตอบได้เพียงว่า ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ก่อตั้งกรมตำรวจจนมาเป็นตำรวจแห่งชาติ รูปแบบการปฏิบัติเหมือนเดิม เพียงขยายองค์กรให้ใหญ่เพื่อรองรับตำแหน่ง สนองความต้องการของประชาชนหรือไม่ รับใช้ประชาชนมากน้อยเพียงใด คำตอบอยู่ในใจของประชาชนแต่ตำรวจอาจไม่ทราบ เมื่อไรมาเป็นประชาชนก็จะทราบ

เรื่องแรกที่ประธานคณะปฏิรูปฯคณะนี้ต้องการแก้ คือ การแต่งตั้ง โยกย้ายตำแหน่ง มีการวิ่งเต้นเสียเงิน ท่านต้องการแก้ปัญหาข้อนี้ให้หมดไป เป็นความต้องการจริงๆ หรือยกขึ้นมา เพราะกระแสเรื่องนี้แรง เรื่องนี้พูดกันมานานแล้ว ไม่เห็นมีหลักฐานว่า ใครเสียเงินให้ใคร เสียกันเท่าไร ถ้ามีหลักฐานดำเนินคดีไปเลย ถ้าไม่มีหลักฐาน “หยุดพูด” เพราะคนพูดอาจจะติดคุก

เมื่อมันหาหลักฐานไม่ได้ การแก้ต้องเอาระบบเข้ามาจับ วางระบบการแต่งตั้งโยกย้ายให้ดี กันและอุดรอยรั่ว เป็นเรื่องเก่าที่เขาได้คิดได้ทำกันมาแล้วนี ผู้ควบคุมกฎเหล็กนี้ก็คือ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. แต่ก็หนีนักการเมืองไม่พ้นเพราะประธาน ก.ตร. คือ นายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังเชื่อมั่นในคณะกรรมการหลายท่านที่ทรงคุณวุฒิ มีทั้งการสรรหาและเลือกตั้ง มิใช่ว่ากรรมการจะตามใจประธานไปเสียทุกเรื่อง

กฎเกณฑ์กติกาเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น มีกฎ ก.ตร.เขียนไว้ชัดเจน กำหนดคุณสมบัติ อาวุโส คุณวุฒิ การครองตำแหน่ง การครองยศ แต่ส่วนมากผู้ที่มาเป็นใหญ่มักจะ “แก้ไข” “เปลี่ยนแปลง” เพื่อให้คนของตนได้รับการพิจารณาแต่งตั้ง

สมัยผมรับราชการมีกฎข้อหนึ่งว่า “ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเลื่อนชั้นสูงขึ้นในตำแหน่งใด จะต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ในระดับรองของตำแหน่งนั้นอย่างน้อย 1 ปี” ทั้งนี้เพื่อต้องการให้ผู้ที่จะมาเป็นหัวหน้าหน่วยได้ศึกษาทำความเข้าใจในหน่วยงานนั้นๆก่อน ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว จึงเป็นที่มาของคำว่า สิงห์ข้ามห้วย

การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเป็นอำนาจของ ผบ.ตร.แต่ผู้เดียว ตำแหน่งที่น่าจะมีการวิ่งเต้นคือตำแหน่ง ผบ.ตร. การแก้วิ่งเต้นควรจะแก้ที่ “หัว” ก่อน คือ จัดให้มีการเลือกตั้ง ผบ.ตร.แทนการแต่งตั้ง

1.ให้มีการเลือกตั้ง ผบ.ตร. ผู้มีสิทธิ์ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็น ผบ.ตร. คือ นายตำรวจระดับ รอง ผบ.ตร.ที่มีคุณสมบัติ (กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง และ ให้มีคณะกรรมการสรรหา)

2.กำหนดผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ผบ.ตร. คือข้าราชการตำรวจยศตั้งแต่ชั้นยศ พ.ต.อ.ขึ้นไปทั่วประเทศ

3.ให้ ก.ตร. เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ

4.ถ้าผู้รับสมัครเลือกตั้งได้รับคะแนนเสียงเท่ากัน ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชี้ขาด

 

เมื่อได้หัวมาแบบนี้เชื่อว่า “หัวจะไม่ส่าย” เมื่อหัวไม่ส่าย “หางคงจะไม่กระดิก”

แต่มันก็อยู่ที่ตัวบุคคลอีกนั่นแหละ ถ้าคนมันจะเอาซะอย่าง อยู่ที่ไหนมันก็จะเอา เรื่องนี้คิดแก้กันมาแล้วคือ ให้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ร่วมพิจารณา ก็ยังมีข่าวเสียเงินเสียทองกันอีก จริงหรือไม่จริงไม่ทราบเพราะไม่มีหลักฐาน แต่ขอให้ได้คนดีมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์และเหมาะสมกับงานในตำแหน่งหน้าที่ก็พอ

การผ่าตัดเอาตำรวจไปขึ้นกับหน่วยงานอื่น ไม่ได้หมายความว่าปัญหาการวิ่งเต้นจะหมดไป เอาอะไรมาเป็นหลักประกัน

การที่จะเอาตำรวจไปขึ้นกับหน่วยงานอื่น ฟันธงได้เพียงเรื่องเดียวเท่านั้นคือ “ต้องการทำให้องค์กรตำรวจเล็กลง” หาทางตัดแขนตัดขาให้ทำงานไม่สะดวก เหมือนคนง่อยเปลี้ยเสียขา ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ หากให้ตำรวจขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อมีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลในกรุงเทพฯ ผู้ว่า กทม.จะเอากำลังตำรวจที่ไหนมาจัดการกับผู้ชุมนุม มีอำนาจร้องขอกำลังจากจังหวัดอื่นไหม และผู้ว่าราชการจังหวัดอื่นจะไปเอากำลังจากที่ไหน มันก็ต้องพึ่งทหารอ่ะซี

และการจะเอาตำรวจไปขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัด มันทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาบ้าง

ควรคิดปฏิรูปไปในทิศทางที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์น่าจะดีกว่า ให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข นอนตาหลับไม่ต้องหวาดผวาโจรผู้ร้าย เพิ่มกำลังสายตรวจให้มาก แก้ปัญหาโจรผู้ร้าย เพิ่มสถานีตำรวจย่อยให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ เพื่อจำนวนตำรวจระดับล่างที่สัมผัสประชาชน ให้สวัสดิการตำรวจผู้น้อยเพื่อให้เกิดกำลังใจในการปฏิบัติงานให้มีที่อยู่อาศัยเพียงพอ แก้ปัญหาหนี้สินตำรวจ พัฒนาความรู้กับตำรวจระดับล่างให้ทัดเทียมกับประชาชน (ปัจจุบันประชนชนส่วนใหญ่การศึกษาค่อนข้างสูง) สร้างแรงจูงใจให้ตำรวจที่ปฏิบัติงานเสี่ยงภัยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเพิ่มเงินค่าเสี่ยงภัยให้สูง ปูนบำเหน็จและจ่ายเงินชดเชยให้เหมาะสมกรณีที่เสียชีวิต หรือทุพลภาพในการปฏิบัติหน้าที่

สิ่งเหล่านี้ซิครับควรจะปฏิรูป

ปัญหาเหล่านี้ต่างหากที่มีผลกระทบไปถึงประชาชน การวิ่งเต้นเสียเงินเสียทองในการแต่งตั้งโยกย้าย ถ้าหากมันเป็นจริงก็ไม่เห็นจะไปกระทบ

RELATED ARTICLES