ชีวิตหลังเกษียณ

คำว่าเกษียณอายุ ข้าราชการทุกคนจะต้องพบกับคำๆนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ หลายคนบ่นว่าอยากเกษียณเร็วๆจะได้สบาย เพราะตอนรับราชการงานเยอะมาก งานประชุม,งานด่วน,งานระดมกำลัง บางคนก็ไม่อยากให้ถึงวันเกษียณ เพราะยังทำใจไม่ได้ ชีวิตหลังเกษียณกับก่อนเกษียณเปลี่ยนแปลงรุนแรงเหมือนกับที่มีคนเปรียบว่า“จากหน้ามือเป็นหลังเท้า” รุนแรงอย่างไรติดตามการจากผมผู้มีประสบการณ์ตรง

ก่อนเกษียณอายุ 1 ปี มีผู้หวังดีซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้ที่เกษียณแล้วแนะนำว่า ช่วงเกษียณควรหาอะไรทำ อย่าอยู่เฉยๆ จะเหงา ญาติผู้ใหญ่ให้กำลังใจว่า “ชีวิตจริงเริ่มต้นหลังเกษียณอายุ” ผมเห็นหลายคนไปนั่งทำงานเป็นที่ปรึกษาบริษัท บางคนไปทำสวน บางคนเข้าก๊วนเล่นกอล์ฟ ในขณะเดียวกันผู้ที่ยังไม่เกษียณกลับมองว่า การที่ไปเป็นที่ปรึกษาบริษัทไม่บังควร ไม่เหมาะสม เพราะนั่งรับราชการตำแหน่งใหญ่โตแต่พอเกษียณแล้วต้องไปเป็นลูกจ้าง ทำให้เสียเกียรติภูมิ ผมเป็นผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยที่จะไปเป็นลูกจ้างใคร ทำงานช่วยเหลือสังคมมาเต็มที่แล้วควรจะได้พักผ่อนบ้างแต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

เคยจัดงานเกษียณให้รุ่นพี่ๆหลายครั้งโดยผมเป็นหัวโจก พยายามคิดหารูปแบบทำอย่างไรจะให้ซาบซึ้ง สร้างความกดดันให้ผู้เกษียณน้ำตาซึม ซึ่งผมก็สามารถทำได้ทุกครั้ง แต่ตอนผมจะเกษียณ บอกกับลูกน้องว่าไม่ต้องจัดให้ผม จะขอจัดเองในรูปแบบของงานเฉลิมฉลอง เลี้ยงเพื่อนฝูง ลูกน้อง จึงเป็นที่มาของงาน“อำลา–อาลัย สไตล์คอนเสิร์ต” เป็นคอนเสิร์ตย้อนยุค Nineteen Sixty ผมแสดงเองด้วยในชุด Elvis Presley แจกรางวัลของขวัญมากมาย คนมาร่วมงานประมาณ 600 คน ชื่นมื่นกันทั่ว ไม่มีการซาบซึ้งจนน้ำตาไหล

ความเครียด ความกังวล เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณในตำแหน่งผู้การตำรวจทางหลวง เจ้าหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดิน,เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในของหน่วยงานได้ขอพบพร้อมเอกสารปึกโต ความหนามากกว่า 1 นิ้ว ให้ผมชี้แจงถึงสรรพสิ่งของที่ขาดหายตลอดการปฏิบัติงานต่างๆที่ไม่ถูกต้องและจะต้องมีการชดใช้เงินคืนหลวง (การรับมอบตำแหน่งหลักๆจะต้องรับมอบสิ่งของหลวง ของกลาง ซึ่งความจริงแล้วก็รับต่อๆกันมา ไม่ได้ตรวจสอบให้ถูกต้องกันเท่าไร) ความเครียดเกิดขึ้นทันที รู้สึกหูอื้อ เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ผลปรากฏว่าหูข้างซ้ายการได้ยินเสียไปประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เกษียณแล้วผมพักอยู่บ้านเฉยๆ ตั้งใจจะนอนพักให้คุ้ม ไม่ต้องมีใครมาเป็นนาย พอสัก 2–3 เดือนต่อมาความวิตกกังวล ความหงุดหงิดเริ่มมา เกิดความรู้สึกว่าตนเองเข้าสู่บั้นปลายชีวิต ใกล้ตายเข้าไปทุกที นึกถึงความรู้สึกว่าคนใกล้ตายจะนึกคิดอย่างไรบ้าง คงจะเป็นห่วงและกังวลคนที่อยู่แทนที่จะห่วงตนเอง เวลาเดียวกันก็คิดกังวลว่าถ้าคนที่เรารักหรือใกล้ชิดตายไปเราคงจะคิดถึง เศร้าโศกโหยหา ทุกอย่างนี้คือความวิตกกังวล พาลจะเป็นบ้าเอา เหตุเพราะว่างเกินไป

หยิบเอกสารแนะนำของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ให้กับผู้เกษียณอายุมาอ่าน มีข้อความแนะนำว่า ความตายเป็นสิ่งไม่แน่นอน ให้เตรียมหลักฐานสำคัญต่างๆ อะไรที่ปกปิดลึกลับไม่เคยบอกใครให้จัดเตรียมไว้ เวลาตายลูกหลายหรือคนใกล้ชิดที่ยังอยู่จะไม่เดือดร้อน ผมรีบทำตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแนะนำ พร้อมกับบอกเมียและลูกว่า หากตายเมื่อใดให้นำเอกสารชุดเตรียมการก่อนตายออกมาดู จะไขปัญหาทั้งหมด

อยากจะแนะนำสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือรัฐบาลว่า ก่อนเกษียณอายุราชการ 1 ปี อย่าให้ข้าราชการผู้นั้นดำรงตำแหน่งหลักที่มีภารกิจหน้าที่มาก แต่ควรให้ไปอยู่ดำรงตำแหน่งรองๆที่ไม่มีภาระหน้าที่ หรือเปิดตำแหน่งพิเศษสำหรับผู้ก่อนเกษียณ 1 ปี เพื่อให้ปรับตัวปรับสภาพจิตใจ มิให้เกิดภาวะ “หน้ามือเป็นหลังเท้า” อย่างที่ผมพูดในตอนต้น สิ่งที่เกิดกับตัวผมเองกว่าจะทำใจได้ ต้องเสียเส้นผมบนกระบาลไปเกือบ60% (ผมร่วงเพราะคิดมาก) ตอนนี้จิตใจสบายแล้ว ผู้ที่ให้กำลังใจก็คือเมียผม เธอบอกว่าในช่วงผมรับราชการหลายสิบปี เมียผมอยู่บ้านคนเดียวกับลูกก็มีความรู้สึกเช่นนี้ จนเธอต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แต่นี้ต่อไปเราสองคนจะเคียงคู่กันตลอดเหมือนปาท่องโก๋ ผมพยายามโทรหาเพื่อนๆว่าหลังเกษียณแล้วทำอะไรกันบ้าง ก็พบว่า บางคนไปเป็นที่ปรึกษาบริษัท บางคนเล่นกอล์ฟ บางคนเล่นของเก่า บางคนฝึกสมาธิ บางคนเขียนหนังสือ บางคนทำสวน สรุปแล้วอยู่ว่างไม่ได้ ฟุ้งซ่าน คิดมากแล้วจะเป็นโรคซึมเศร้า พาลฆ่าตัวตายในที่สุด

สำหรับผมตำแหน่งหน้าที่หลังเกษียณมีเยอะมากกว่าครั้งรับราชการ

ตำแหน่งแรกเป็นประธานที่ปรึกษากองบังคับการตำรวจนครบาล4 หน้าที่หลักก็คือช่วยดำเนินธุรกรรมเกี่ยวกับตำรวจกองบังคับการนครบาล4ที่ตำรวจจริงๆไม่สามารถจะออกหน้าได้ เช่นงานระดมหาทุนเพื่อสนับสนุนเข้าราชการตำรวจที่ทำความดีมีผลงาน งานแสดงพลังมวลชน งานที่เป็นปากเสียงต่อสาธารณะ

ตำแหน่งที่สองคือ ประธานสภาวัฒนธรรมเขตประเวศ เป็นตำแหน่งแรกที่ผมต้องลงสนามเลือกตั้งแข่งขันจากสมาชิกประมาณ130คน ได้รับเลือกเป็นประธานสภาวัฒนธรรมของเขต หน้าที่หลักๆคือ ต้องการให้มีการศึกษา พัฒนาวัฒนธรรมในท้องถิ่น กระตุ้นให้ประชาชนในท้องถิ่นมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานวัฒนธรรม โดยจัดตั้งกองทุนส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานให้เกิดขบวนการผลิตของชุมชน

ตำแหน่งที่สามคือ นายกสมาคมพลังแผ่นดินต้านภัยยาเสพติดกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ในการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดทุกรูปแบบ ออกพบปะประชาชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ให้คำแนะนำตลอดจนบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด งานเสริมสร้างความรู้ให้กับประชาชน จัดตั้งอาคารอเนกประสงค์ให้กับชุมชนเพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนคติ จัดประชุมกลุ่มย่อย การจัดกิจกรรมต่างๆ ห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชน ลานกีฬา สนามเด็กเล่น เปิดรับบริจาคสิ่งของจากประชาชนทั่วไปเช่น เสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้ หนังสือ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มีความต้องการ ในแต่ละเดือนจะจัดให้มีการพบปะประชาชนชน 1 ครั้งที่ศาลาอเนกประสงค์ มีการอบรมให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ เลี้ยงอาหารเด็กๆ จัดแสดงดนตรีเพื่อเป็นการบันเทิงแก่เด็กๆพร้อมทั้งให้เด็กไปแสดงออก เพื่อส่งเสริมให้เด็กเกิดความกล้า เกิดความรักใคร่สามัคคี รักพ่อ รักแม่ รักการเรียนและห่างไกลยาเสพติด

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางที่ผมเลือกครับ

ผู้สนใจที่จะบริจาคทรัพย์ หรือสิ่งของช่วยเหลือติดต่อได้ที่ โทร. 0-1821-2825

RELATED ARTICLES