“ผมไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่จะเน้นเนื้องานเป็นหลัก”

ว่ำหวอดอยู่ในวงการข่าวนานเกินกว่า 30 ปี

พจน์ สุขเมือง อดีตนักข่าวอาชญากรรมหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ที่ปัจจุบันพลิกชีวิตไปจัดรายการข่าวอยู่บนคลื่นวิทยุของ อสมท นำประสบการณ์ตีแสกหน้า ตีแผ่วงการตำรวจ อีกทั้งช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากที่ได้ไม่รับการเหลียวแลจากกระบวนการยุติธรรม

วัยเด็กโลดโผนโจนทะยานสร้างวีรกรรมต่อยลูกนายอำเภอฟันหัก ตั้งแต่อายุเพียง 8 ขวบ ทำให้ต้องระเห็จออกจากบ้านเกิดอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เข้ากรุงเผชิญชะตากรรมห่างอกไออุ่นของพ่อแม่ เขาจำแม่นว่า ฝันอยากเป็นตำรวจ เพราะที่บ้านเปิดให้สารวัตรใหญ่มาเช่าพักปราบโจรยุคดงพญาไฟที่มีแต่คดีอุ้มฆ่า ทว่าพลิกผันตอนที่ไปวิวาทลูกนายอำเภอ สมัยนั้นเกเร เพราะไปคบรุ่นพี่ ถึงขนาดรุ่นพี่พาไปงัดโลงศพเอาเงินปากผี สนุกสนานตามประสาเด็ก เจอนายอำเภออิทธิพลไล่ตะเพิดข่มขู่ต่าง ๆ นานาจนอยู่ไม่ได้

เริ่มต้นชีวิตคนกรุงเทพฯ พจน์เล่าว่า มาเรียนอนุบาลสามเสน เพื่ออยากเข้ามัธยมโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย พอจบประถม 7 เข้าไม่ได้ ต้องไปเรียนผะดุงศิษย์พิทยากลายเป็นจุดหักเหสอนให้เราเป็นคนกล้า เป็นนักสู้ สวมบทนักมวยนวมทองรุ่นแรกได้เหรียญเงิน กระทั่งจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ย้ายเรียนโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร เริ่มค้นหาตัวเองว่าจะไปทำอาชีพอะไร เลิกคิดเป็นตำรวจแล้ว เพราะสายตาสั้น แต่ยังตระเวนเดินสายชกมวยสากลสมัครเล่นที่เวทีช่อง 7 สีในรายการนาทีทอง

เขาเล่าอีกว่า อยากเป็นนักข่าว หวังจะเอ็นทรานซ์เข้าคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะชอบเขียนร้อยกรอง เขียนบทความด้วยความที่ชอบอ่านหนังสือ แต่สอบไม่ติด ผู้ใหญ่แนะนำให้เรียนคณะนิติศาสตร์ สามารถไปได้หลายทางทั้งรัฐศาสตร์ ทั้งตำรวจเลยหลงลงเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง 4 ปี เก็บได้แค่ 47 หน่วยกิจเห็นว่า ไม่จบแน่ คิดว่า ทำไมไม่เรียนโสตทัศนศึกษา ตัดสินใจเปลี่ยนแนวไปเข้าวิทยาลัยครูจันทรเกษมเลือกศึกษาศาสตร์ เอกเทคโนโลยีทางการศึกษา (โสตทัศนศึกษา) ปูทางสู่อาชีพที่ตัวเองฝันไว้

“ผมชอบเวลามีปฏิวัติรัฐประหารจะหิ้วกล้องไปถ่ายรูปเก็บบรรยากาศ พอปิดเทอมจะหาที่ฝึกงานข่าว ตอนแรกไปขอฝึกที่ไหนใครก็ไม่รับ สุดท้ายเดลินิวส์รับเป็นเด็กฝึกงาน ผมเป็นคนกล้าไปหาผู้ใหญ่ เขาเห็นแวว ฝึกอยู่ 3 ปี พอจบปริญญาตรีเขาก็รับทำงานทันที สมัยนั้นเงินเดือน 2,400 บาท เบี้ยเลี้ยง 60 บาท จำได้ว่า ก่อนทำงานเดลินิวส์ไปเป็นครูประชาบาลพักหนึ่ง มีคนจองตัวเยอะ ได้ฝึกสอนโรงเรียนหอวัง เส้นทางน่าจะไปทางครู แถมหาประสบการณ์ด้วยการจัดทัวร์ ทำหน้าที่มัคคุเทศก์หาเงินเรียน บางทีก็ไปรับจ้างเป็นยามงานกาชาดได้วันละ 80 บาท เป็นนักมวยหาเงินส่งตัวเอง”

คนข่าวหนุ่มใหญ่ที่สู้ชีวิตมาตั้งแต่วัยเด็กบอกว่า ตัดสินใจเป็นนักข่าวเดลินิวส์ คิดว่า เป็นทางที่ใช่ของเราแล้ว แม้จะถูกห้ำหั่นด้วยรุ่นพี่เก๋า ๆ อย่างพลากร กวยะปาณิก วัลลภ คล้ายพงษ์ มือดีจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แต่ได้เปี๊ยก- วิศิษฎ์ หลิมพิพัฒน์ รุ่นพี่สังกัดเดียวกันค่อยเป็นครูสอนวิชาการทำข่าวตระเวนอาชญากรรม สมัยนั้นต้องยอมรับว่า นักข่าวอิทธิพลเยอะ ตำรวจจะกลัวนักข่าวมาก เพราะตำรวจมีแผลเยอะจึงพยายามตีสนิทกับนักข่าว เอากาแฟมาให้กิน รุ่นพี่จะสอนว่า ข้าวเม็ดเดียวสามารถเป็นบุญคุณได้ คุณจะกินกาแฟเขาสักแก้วเพื่อสร้างพันธมิตรมันจะติดไปในใจว่า กาแฟแก้วนี้กินแล้วสนิทใจไหม ถ้าคุณกินเข้าไปแล้วเขาเกิดขอข่าวคุณขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น

ถึงกระนั้นก็ตาม พจน์ก็ยังต้องยอมวัดใจ ซื้อใจแหล่งข่าวด้วยเหมือนกัน เมื่อครั้งตระเวนไปโรงพักดอนเมือง มีเหตุนายตำรวจมือปราบคนดังถูกโชเฟอร์แท็กซี่สนามบินดอนเมืองเข้าใจผิดชกคว่ำ เพราะแต่งกายนอกเครื่องแบบไปรับภรรยาที่สนามบิน แท็กซี่ป้ายดำคิดว่า มาแย่งผู้โดยสาร ฝ่ายตำรวจคนนั้นสู้ไม่ได้ ลูกน้องเลยหิ้วแท็กซี่จะเอามายิงทิ้งหลังโรงพัก “ผมไปเจอพอดี พรรคพวกถ่ายรูปไว้ มีการขอกันเกิดขึ้น วัดใจกัน ผมว่า ถ้าไอ้นี่ไม่ตาย ผมจะดึงฟิล์มทิ้ง ตำรวจยอมก็เกิดความผูกพันกันตั้งแต่นั้นมา นี่คือการขอข่าวครั้งแรกของตำรวจ แต่ผมยอมเพื่อจะได้ใจกันต่อไป”

เขาถ่ายทอดเรื่องราวสมัยตระเวนข่าวว่า การคบตำรวจต้องคบให้ลึกไปถึงรุ่น ถึงเพื่อนร่วมรุ่นว่าเป็นคนยังไง นิสัยแบบไหน ควรจะคบได้ขนาดไหน ยุคก่อนมีกองสืบสวนเหนือ ใต้ และธนบุรี กับวลีเด็ด คือ งานเหนือ เงินใต้ สบายธน ถ้าเราอยากเก่ง เราต้องไปขลุกอยู่ที่สืบสวนเหนือ มีนายตำรวจนักสืบเจ๋ง ๆ อาทิ ปรีชา ธิมามนตรี สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ถ้าสืบใต้ ยุคนั้นต้อง ธนู หอมหวล สมคิด บุญถนอม ส่วนสืบสวนธน มีบรรดล ตัณฑไพบูลย์ แข่งขันกันด้วยงาน

เจ้าตัวมีผลงานที่ประทับใจ คือ การชิงกรอบพาดหัวข่าวคดีนายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ รัฐมนตรีคนดังถูกฆ่าตายในคฤหาสน์อันยิ่งใหญ่ของตัวเองใยซอยอารีย์ พหลโยธิน เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2539 อดีตนักข่าวสีบานเย็นเล่าว่า เป็นคดีดังระดับประเทศเหตุเกิดตี 3 ตี 4 ตำรวจปิดข่าว หนังสือพิมพ์ปิดกรอบหมดแล้ว พอเรารู้ระแคระคายต้องบอกให้โรงพิมพ์ชะลอไว้ก่อน บ้านเนื้อที่ 2-3 ไร่ปลูกติดกัน 3 หลัง ตำรวจชั้นผู้ใหญ่เต็มไปหมด นักข่าวเข้าไม่ได้ จะทำอย่างไรถึงจะเอาข่าวชิ้นนี้มาให้ ได้ชื่อ ได้สาเหตุ ได้บาดแผลแล้ว ขอแค่  2 ย่อหน้าสามารถเป็นข่าวพาดหัวได้

“ผมเอาจนได้ นำพาดหัวฉบับแรก ฉบับเดียวขึ้นกรอบบ่าย ไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ ถูกนายอำนาจ เอกพจน์ ลูกน้องนิรันดร เรืองกาญจนเศรษฐ ลูกชายคนโตใช้สปาต้าฟันตาย ส่วนนายอำนาจ ถูกทหารที่เป็นการ์ดผู้ตายยิงบาดเจ็บ คดีนี้กลายเป็นลูกชายจ้างวานฆ่าก่อนหนีการตามล่าของตำรวจสืบสวนเหนือไปยิงตัวตายในป่าอ้อยในจังหวัดราชบุรี ทว่าไคลแมกซ์ไม่จบแค่นั้น”

พจน์ทอดคดีประวัติศาสตร์ว่า เดลินิวส์ตั้งชุดเฉพาะกิจขึ้นตามคดี เขาออกเวรไปแล้วยังตามเกาะข่าวยาวตามสไตล์ที่ได้รับการสอนมาจากรุ่นพี่ เกาะติดไปกับตำรวจค้นบ้านนิรันดร เจอระเบิดซุกอยู่จำนวนมากสาวย้อนไปถึงคดีพยายามฆ่าไชยศิริหลายครั้งก่อนหน้า ทั้งระเบิดที่อุบลราชธานี ผู้ตายมีศัตรูเยอะเคยเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำธุรกิจค้าไม้ที่เขมร บ้านที่อุบลราชธานีใหญ่มากเรียกกันว่าเป็นเจ้าพ่ออีสานใต้ เหตุโดนปองร้ายไม่คิดว่าจะเป็นฝีมือใกล้ตัว ผลพวงมาจากเรื่องมรดก พ่อชอบด่าลูกชาย ชอบทำร้ายเมียให้ลูกเห็น และไม่พอใจที่ลูกชายไปมีเมียรัสเซีย

อยู่เดลินิวส์มา 17  ปี พจน์ยอมรับว่า เป็นคนที่ชอบทำข่าว แต่ไม่ชอบส่งข่าวประกวด ยกตัวอย่างเช่น ไปขลุกอยู่ดอนเมือง มีเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างพระภิกษุรูปหนึ่งกับสีกาฉุดกระชากลากถูกันมีคนถ่ายรูปไว้ได้ ให้สายตรวจไปที่เกิดเหตุ เราก็ไปทำข่าว พระรูปนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสันปง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ชื่อพระนิกร กำลังยื้อกับอรปวีณา บุตรขุนทอง เลยถ่ายรูปทำข่าว ทั้งคู่ไปที่โรงพักดอนเมือง ในใจเรากระหยิ่มยิ้มย่องว่า ข่าวนี้พาดหัวแน่ เพราะเป็นเจ้าอาวาสนักเทศน์ปากหวานชื่อดัง ส่งข่าวให้รีไรเตอร์ รีไรเตอร์กลับบอกว่า เรื่องเกี่ยวกับศาสนาอย่าไปยุ่งเลยเดี๋ยวก็ถูกฟ้อง

“ทำให้ผมเสียดายข่าวนี้มาก ทำไมเขามีมุมมองอย่างนั้น มองข่าวไม่ขาด ตีประเด็นไม่แตกเลยตัดสินใจโทรหาเพื่อนคนหนึ่งชื่อประทีป สุวรรณพืช นักข่าวไทยรัฐ ส่งสุวิทย์ บุตรพริ้ง ไปทำแทน สุวิทย์เรียงร้อยเรื่องราวคลาสสิกมาก ปั้นข่าวพาดหัวยักษ์ตามเกาะข่าวยาว เดลินิวส์ต้องตามตลอด กลายเป็นข่าวพูลิตเซอร์ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ส่วนรีไรเตอร์เดลินิวส์คนนั้นต้องหล่นไปเป็นนักข่าวประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพราะมองข่าวไม่ขาด ประสบการณ์น้อย” พจน์ตีสีหน้าเย็นชาแบบยังไม่หายจากความทรงจำ

ตลอดสมรภูมิข่าวอาชญากรรม เขาผ่านคดีสำคัญอีกไม่น้อย ตั้งแต่ การปฏิวัติรัฐประหารหลายยุค ทำข่าวคดีแชร์แม่ชม้อย ทิพย์โส ข่าวโศกนาฏกรรมเครื่องบิน “เลาดาแอร์”ตกที่สุพรรณบุรี ตามการเสียชีวิตของราชินีลูกทุ่งสาวพุ่มพวง ดวงจันทร์ ข่าวมรดกเลือดตระกูล “ธรรมวัฒนะ” สุดท้าย เขาเปรียบอาชีพนักข่าวเหมือนหมาล่าเนื้อ ต้องรู้จักเก็บหอมรอมริบ เขาต้องออกจากเดลินิวส์ที่ทำงานมานาน 17 ปี อันเนื่องมาจากฟองสบู่แตก ลดอัตราเงินเดือน ปลดพนักงานเลยลาวงการออกไปทำร้านอาหารตำนานเปลือกไม้ไทย ซอยเสนานิคม เอาเงินมาจุนเจือครอบครัว กระทั่ง พลากร กวยะปาณิก ชวนเป็นนักเขียนคอลัมน์ศิลปะในนิตยสาร “มิ๊กแมกกาซีน” ใช้นามปากกา “แว่นแก้วกรอบทอง” เขียนเรื่องสั้นแนวอีโรติกอยู่ 5 ปี หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์เปิดเลยถูกดึงไปเป็นหัวหน้าข่าวอาชญากรรมได้ 2-3 ปี ได้รับการทาบทามเป็นผู้ร่วมดำเนินรายการ “สืบจากข่าว” ทางสถานีวิทยุ อสมท ถึงปัจจุบันก้าวสู่ปีที่ 4 แล้ว

พลิกกลับมาโลดแล่นในสนามคนข่าวรูปแบบรายการวิทยุ พจน์อธิบายการทำงานว่า เน้นประเด็นเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ตำรวจไม่สามารถเยียวยาได้ หรือที่ตำรวจไม่สนใจ เป่าคดีเพราะเห็นเป็นคดีเล็ก ๆ ทั้งที่คดีเล็ก ๆ สามารถนำไปสู่คดีฆาตกรรม คดีทำร้ายร่างกาย สนุกดี มีคนฟังเยอะ เพราะเป็นรายการที่ไม่เหมือนชาวบ้าน ไม่ได้ไปอวยใคร เรียกว่า เป็นวรรณกรรมข่าวบนคลื่นวิทยุ ฟังแล้วเพลิน สื่อสามารถเสพด้วยการอ่านหนังสือ ดูอินเตอร์เน็ตได้ แต่วิทยุสามารถฟังได้ทุกที ไม่ว่าจะขับรถอยู่ที่ไหน หรือแม้กระทั่งปลดทุกข์ในห้องน้ำก็ยังได้ยิน มันเลยอยู่ในใจของชาวบ้าน การดำเนินรายการจะหามูลค่าเข้ามาใส่ก็คือ เกริ่นในเรื่องของบทกลอน บทคำนำ มันเป็นงานที่เราชอบ

   “ผมไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่จะเน้นเนื้องานเป็นหลัก” พจน์ย้ำจุดยืนในอุดมการณ์มาถึงปัจจุบันนี้ เขาอยากนำประสบการณ์ฝากถึงนักข่าวรุ่นใหม่ว่า นักข่าวต้องขี้สงสัย เราถึงที่เกิดเหตุ เรารู้ก่อนประชาชน มันก็เหมือนกับการหุงข้าว หุงยังไงให้มันสุก หอม อร่อย สะอาด คนเสพก็จะสะอาดไปด้วย ไม่มีการเต้าข่าว สมัยก่อนพอเต้าข่าวจะรู้ไปทั้งบางว่าใครทำ มันหลอกกันไม่ได้ นักข่าวต้องรู้แจ้งเห็นจริงอย่าฟังเขาเล่าว่า เราต้องเห็น พอเห็นแล้วเราจะเชื่อหรือไม่ นักข่าวรุ่นก่อนจะไม่เกรงใจตำรวจ ไม่เกรงใจแหล่งข่าว แม้กระทั่งพิมพ์ดีดที่พิมพ์ผิดแล้วขยำทิ้งลงถังขยะ นั่นคือ ข้อมูลข่าวสารที่เรามักจะเอามาเป็นประเด็นข่าว หรือแม้กระทั่งตอนร้อยเวรไปกินข้าว พวกเราถึงขนาดสวมรอยไปนั่งพิมพ์ดีดเรียกผู้เสียหายมานั่งสอบเป็นข่าวก็มี

พจน์ยังมีมุมมองว่า การที่นักข่าวไปอยู่กับตำรวจมากมันก็จะเป็นแบบตำรวจ ไปอยู่คลุกคลีกับโจรมากก็จะกลายเป็นโจร ชีวิตประจำวันมันก็เลยหายไป กลับกลายเป็นคนหวาดระแวง ไปไหนไม่ได้ โจรรู้จัก ตำรวจรู้จัก ตำรวจโจรก็รู้จัก ตำรวจสายธรรมะก็รู้จัก ถึงต้องมีการคัดกรองในการเลือกคบแหล่งข่าวยาว ๆ ว่า คนนี้เป็นยังไง ถอยออกมาได้ไหม ถ้าเขาไปทำพฤติกรรมอย่างนั้น “ผมจะเลือกสนิท ต้องดูรุ่นด้วยว่าใครชอบอะไร ใครชอบวิชาการ ใครชอบเชิงสืบสวน ไปอยู่กับคนนั้นขลุกกันตั้งแต่ร้อยตำรวจโท เช่น พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ตั้งแต่เป็นรองสารวัตรปราบปรามโรงพักบางเขน คุยกันก็ต้องทราบรุ่นว่า มีใครอีก ก็มี พินิจ มณีรัตน์ สุพิศาล ภักดีนฤนาถ นรบุญ แน่นหนา”

“มันต้องสร้างแหล่งข่าวต่อยอดถึงรุ่นต่อไป ความจริงตำรวจส่วนมากจะไม่ให้นักข่าวเข้าไปสู่วงโคจรรุ่น เพราะเขาผูกพันกินนอนอยู่ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจมา 4 ปี รู้นิสัยอย่างดี เราแหลมเข้าไปเขาก็จะเกิดการหวาดระแวงแล้ว แต่ถามว่าจะคบกันลึกขนาดไหน มันก็ต้องวัดใจในสมรภูมิข่าว” หนุ่มคนข่าวมากประสบการณ์ทิ้งข้อคิด

 

RELATED ARTICLES