ก้าวที่ 50 จอมพลคนหนังสือพิมพ์

ลุกอยู่โรงพักบางเขนนานร่วมอาทิตย์ เกาะติดเรื่องราวของอาถรรพณ์บวกอภินิหารความเชื่อของศาลเจ้าพ่อทองคำที่อยู่ด้านหลังห้องสืบสวน

ผมได้ชูเกียรติ บุญเรืองฤทธิ์ นักข่าวรุ่นพี่สำนักเดียวกันที่มีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวมาช่วยอีกแรง ความกระล่อนคล่องแคล่วของเขา ทำให้ไปเจอร้อยตำรวจตรีอินทร์ เทียนรุ่งเรือง อายุ 70 ปี อดีตตำรวจที่รับราชการอยู่โรงพักบางเขนมานานหลายสิบปี กระทั่งเกษียณอายุราชการในตำแหน่งเสมียนคดี

แกยอมเปิดปูมหลังของศาลเจ้าพ่อทองคำที่เล่าต่อกันมาว่า ก่อนการก่อกำเนิดของโรงพักบางเขน มีศาลเจ้าพ่อตั้งอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว เป็นศาลเล็ก ๆ ขนาดศาลพระภูมิเจ้าที่อยู่ใต้ต้นกระทุ่มในทุ่งนา เดิมที่เป็นที่พักผ่อนอาศัยร่มเงาของชาวบ้านแล้วถึงจะมีการสร้างศาลเจ้าพ่อขึ้น

“เราไปเจอแกมา”ชูเกียรติโวผลงาน

“ดีเลยพี่” ผมว่า “พี่ส่งข่าวไปเลยนะ”

“คุณส่งดีกว่า”

“พี่นั่นแหละ” ผมอิดออด

นักข่าวหนุ่มคู่ปรับหนุ่ย-อำพล ลำพูน นักร้องขาร็อกชื่อดังบนโรงพักทองหล่อไม่รับปาก แต่สาธยายเรื่องราวดั่งนิยายที่เขาประสบมาต่อว่า มีชาวนานอนล้มป่วยอยู่ใต้ต้นกระทุ่ม ขณะเคลิ้มหลับก็ฝันว่า มีคนมาบอกให้สร้างบุญสร้างกุศลให้สร้างที่พำนักขึ้น พอชายชาวนาตื่นจากภวังค์ก็หายป่วยไข้ และปฏิบัติตามในฝัน สร้างศาลขึ้นที่ใต้ต้นกระทุ่มแห่งนี้ ก่อนจะมีคนมาเคารพกราบไหว้บนบานศาลเก่าขนานนามเป็นศาลเจ้าพ่อกระทุ่ม

“จริงหรือพี่” ผมขัดคอ อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์ดาวสยามมองค้อน “ฟังให้จบก่อน” แกทำเสียงดุ “ต่อมามีการก่อสร้างสถานีตำรวจบางเขน ศาลที่ว่ายังคงศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นศาลเจ้าพ่อทองคำ มาระยะหลังถูกปล่อยปละละเลยไม่ได้รับการดูแลทำความสะอาด ศาลถึงดูทรุดโทรม อาจเป็นไปได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากแรงอำนาจของบริวารศาลเจ้าพ่อที่ไม่พอใจตำรวจก็ได้”

ผมฟังเพลินนึกไปถึงหนัง “คนทรงเจ้า” ที่พระเอกหนุ่ม-สันติสุข พรหมศิริ ตีบทเจ้าพ่อแตกกระจุย เล่นกับความเชื่อศรัทธาของคนไทยยุคขาดที่พึ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐประโคมข่าวโรงพักอาถรรพณ์ติดต่อกันหลายวัน พันตำรวจเอกชาลี เวชรัชต์พิมล ผู้กำกับ มีศักดิ์เป็นอาผมถึงกับเครียดเข้าโรงพยาบาล เพราะพักผ่อนน้อยไม่ได้เกี่ยวกับอภินิหารเจ้าพ่อเจ้าแม่อะไรหรอก

“ไม่เป็นไรหรอกหลานเอ๊ย แต่เพื่อความสบายใจ อาสั่งการให้ตำรวจทำความสะอาดศาลเจ้าพ่อแล้ว พร้อมให้เอาซากรถของกลางออกไป ติดต่อพราหมณ์กำหนดทำพิธียกศาลใหม่ เพื่อความสบายใจของทุกคน” นายพันตำรวจเอกหัวหน้าโรงพักถอนหายใจ

วันถัดมา มีหญิงวัย 40 เศษสะพายย่ามนุงขาวห่มขาวมาหยุดยืนที่ศาลเจ้าพ่อทองคำ ทำท่าท่องบริกรรมคาถาอยู่พักใหญ่ก็เหมือนร่างทรงถูกผีเข้า ท่ามกลางขวัญผวาของตำรวจและครอบครัวลูกเมียที่ยืนมุงดูเหตุการณ์

หญิงคนนั้นเปลี่ยนเสียงแหบแห้งคล้ายผู้ชายอ้างตัวเป็นกุมารทองประจำศาล ดูแลศาลเจ้าพ่อบอกให้ผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบมาดูแลทำความสะอาดศาลด่วน ห้ามนำรถจักรยานยนต์ของกลางมาจอดบริเวณศาล ยกพื้นเทปูนศาลใหม่ไม่ให้น้ำท่วม ก่อนชี้นิ้วไปยังแฟลตตำรวจด้านหลังระบุว่า จะต้องมีตำรวจมีอันเป็นไปอีกราย

เสร็จแล้วเดินไปที่แฟลต มีบรรดาลูกเมียตำรวจกรูตามเป็นขบวน หญิงคนนี้บอกให้นำธูป เทียน เครื่องดื่มน้ำอัดลม บุหรี่และเงิน 20 บาทมาทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ทำเสียงน่ากลัวว่า เร็ว ๆ นี้จะมีตำรวจอีก 2 นายยศ ดาบตำรวจ และจ่าสิบตำรวจตาย แต่หากมีการจัดพิธีทำศาลใหม่เจ้าพ่อจะไว้ชีวิต

ผมนั่งอยู่ในห้องสืบสวนคุยออกรสออกชาติกับร้อยตำรวจเอกธวัชชัย คำแหงพล รองสารวัตรนักสืบบ้านเกิดอยู่แดนอีสานจังหวัดหนองคาย ไม่รู้เรื่องข้างนอก จนน้าอ๊อด คนขับรถตัวแสบเดินมาตาม

“ไปดูเร็วโต้ง”

“ไหนอยู่ไหน” หลังฟังลำดับเรื่องแล้ว

“เดินไปที่แฟลตแล้ว”

แสงอาทิตย์ลับลาขอบฟ้า ร่างทรงหญิงนิรนามห่มขาวเดินหลังค่อมลงบันไดมา “นั่นไง” โชเฟอร์ประจำตัวชี้ทันควัน ผมกดชัตเตอร์ไฟแฟลชวาบ ขนลุกเมื่อเห็นประกายแววตาหญิงคนนั้นแดงจ้าสะท้อนแสงแฟลซ แต่อากัปกิริยาของหล่อนกลับไม่ได้น่าหวาดหวาอย่างที่เนรมิตภาพก่อนหน้า

หล่อนเดินจ้ำอ้าวหนีกล้อง “ไปไหนครับ มาคุยกันก่อน” ผมตะโกนเรียก หล่อนไม่หันมาสักนิด ก้มหน้าก้มตากึ่งเดินกึ่งวิ่งไปอย่างรวดเร็ว

“แบบนี้มันนักต้มตุ๋นนี่หว่า ช่างอาศัยสถานการณ์กลมกลืนเสียจริงนะมึง” ผมคิดในใจ ไม่กล้าพ่นออกเสียงทำลายความเชื่อถือศรัทธาของคนละแวกนั้น

ข่าวอาถรรพณ์ศาลเจ้าพ่อทองคำของท้องทุ่งโรงพักบางเขนจบลงอย่างสวยงามในวันหวยออกงวดประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2539 เมื่อสมจิตร ทองสุข ภรรยาดาบตำรวจเสรี ทองสุข ตำรวจจราจรสถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง ที่พักอาศัยอยู่แฟลตโรงพักบางเขนถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 รับเงินไป 3ล้านบาท

“ดิฉันนำของมาเซ่นกราบไหว้เจ้าพ่อประจำ หากมีเรื่องราวไม่สบายใจอะไรก็จะนึกถึงท่านเสมอ การที่ถูกลอตเตอรี่เชื่อว่า มีส่วนมาจากศาลเจ้าพ่อทองคำด้วย เพราะดิฉันไม่เคยดูหมิ่นลบหลู่ท่านเลย” ภรรยาดาบตำรวจดวงเฮงเผย

ยิ่งข่าวมีผู้โชคดีถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 แพร่สะพัดออกไป ตลอดทั้งวันมีตำรวจ ลูกเมียและชาวบ้านพากันมากราบไหว้สักการะศาลเจ้าพ่อทองคำคึกคัก พลอยทำให้แม่ค้าขายพวงมาลัยรายได้ดีไปด้วย

ปิดข่าวสางแค้นคู่แข่งต่างสำนักราบคาบ ผมไปยืนไหว้ศาลเจ้าพ่อกราบขอบพระคุณที่ช่วยผมร่วมทำศึกสมรภูมิข่าวคว้าชัยสำเร็จ ขณะที่เจ้าพ่อมีคนกราบไหว้สักการะมากขึ้น ศาลถูกทำความสะอาดเอี่ยมอ่อง มีการยกพื้นคอนกรีตปูด้วยกระเบื้องหินอ่อนไม่ให้น้ำท่วมขังในเวลาต่อมา

ผมกำลังเป็นนักข่าวตระเวนน้องใหม่ดาวรุ่ง แม้ไม่ได้แกะกล่องป้ายแดง แต่ก็แสดงฝีมือความสามารถให้เห็นแล้วว่า รังแห่งนี้เหมาะสมสำหรับนกพิราบตัวน้อยที่คอยอาศันเกาะร่มความอบอุ่น

ทว่าสิ่งที่น่าใจหายต่อมาไม่นาน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐต้องสูญเสียบุคคลสำคัญอย่างกำพล วัชรพล ผู้อำนวยการผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่บนถนนวิภาวดีรังสิต บรรยากาศวันนั้นทุกคนซึมเศร้า กองบรรณาธิการเงียบกริบ

เมื่อเวลา 01.45 นาฬิกาของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539 กำพล วัชรพล ถึงแก่อนิจกรรมที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ หลังเข้ารักษาตัวมาตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2538 ด้วยอาการอึดอัด แน่นที่หน้าท้อง คณะแพทย์ตรวจพบก่อนเนื้อบริเวณไจ และผ่าตัดช่วยชีวิตถึง 2 ครั้ง แต่อาการไม่ดีขึ้น และทรุดลงเรื่อยมา

ผมอยู่ชายคาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เจอหน้า “ป๊ะกำพล” แทบนับครั้งได้ สมัยเข้ามาฝึกงานตระเวนข่าวเมื่อปี 2535 แต่ฟังเรื่องราวจากปากผู้ใหญ่ลูกหม้อของสำนักพิมพ์ ทุกคนยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า “ป๊ะกำพล” เป็นหัวหน้าที่ดี เอาใจใส่ลูกน้อง  นักเลงแท้ สมแล้วที่คนทั้งวงการให้ฉายาเป็น “จอมพลคนหนังสือพิมพ์”

ได้อ่านประวัติของแก ผมขออนุญาตนำมาบันทึกไว้เป็นตำนาน ถ้าไม่มี “ป๊ะกำพล” คงไม่มีผมมาเสนอหน้าอยู่ในสนามข่าวทุกวันนี้

กำพล วัชรพล เกิดวันที่ 27 ธันวาคม 2462 ที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร สมรสกับคุณหญิงประณีตศิลป์ สกุลเดิม “ทุมมานนท์” มีบุตรธิดา 3 คน คือ ยิ่งลักษณ์ วัชรพล สราวุธ วัชรพล และอินทิรา  วัชรพล

เริ่มต้นการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนวัดดอนไก่ดี เมื่ออายุ 15 ปี ออกมาต่อสู้ชีวิตด้วยการเป็นกระเป๋าเก็บค่าโดยสารเรือยนต์สายคลองภาษีเจริญ ต่อมาสอบอินทิเนียกรมเจ้าท่าเป็นนายท้ายเรือพันธ์ทิพย์ และสมัครรับราชการทหารเรือ โรงเรียนชุมพลทหารเรือสมุทรปราการรุ่น 83 ปฏิบัติราชการเรือหลวงสีชัง ผ่านสงครามใหญ่ 2 ครั้งซ้อนในสมรภูมิรบไทย-ฝรั่งเศส กรณีพิพาทเขตแดนอินโดจีน และในสงครามมหาเอเชียบูรพา

สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 กำพลลาออกจากกองทัพเรือหันเหชีวิตเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ เป็นนักข่าวประจำโรงพักสังกัดหนังสือพิมพ์หลักไท ได้เงินเดือน 50 บาท ในสมัยที่เลิศ อัศเวศน์ เป็นบรรณาธิการอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ระหว่างนั้นเป็นพนักงานหาโฆษณาไปพร้อมกันด้วย กระทั่งปี 2491 ลงทุนพิมพ์หนังสือเล่มปกแข็งเรื่อง “นรกใต้ดินไทย” ออกขายเป็นครั้งแรก

เมื่ออายุ 30 ปี เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ “ข่าวภาพรายสัปดาห์” ไปจดทะเบียนหนังสือพิมพ์กับกองบังคับการตำรวจสันติบาล ใช้ตราเป็นรูปกล้องถ่ายภาพ สายฟ้าและฟันเฟืองซ้อนกันอยู่ในวงกลม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของหนังสือพิมพ์ที่กำพลเป็นเจ้าของตลอดมา

ในชีวิตการทำข่าวของกำพล เสี่ยงตายเกือบเอาชีวิตไม่รอดมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยฝ่าห่ากระสุนปืนใหญ่ยิงถล่มกัน รอดตายอย่างหวุดหวิดขณะถ่ายภาพทำข่าวเรือหลวงศรีอยุธยาถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดจมกลางแม่น้ำเจ้าพระยาจากกบฏแมนฮัตตันเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2494  เหตุการณ์ครั้งนั้น มีพิธีส่งมอบเรือขุดสันดอนแมนฮัตตันจากอุปทูตสหรัฐอเมริกา โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีที่ท่าราชวรดิษฐ แต่แล้วทหารเรือกลุ่มหนึ่ง เข้าจี้ผู้นำประเทศพาลงเรือเร็วไปควบคุมตัวไว้ที่เรือรบหลวงศรีอยุธยา ลอยลำอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาตอนหน้ากองทัพเรือ รุ่งขึ้นเวลา 10.00 น.เศษ กำพล และเลิศเช่าเรือสำปั้นจากท่าปากคลองตลาด กำพลเป็นฝีพายเรือมุ่งหน้าไปยังเรือหลวงศรีอยุธยา หมายจะได้สัมภาษณ์จอมพล ป.และให้เลิศเป็นช่างภาพ

ปีถัดมา หนังสือพิมพ์ข่าวภาพเริ่มต้นเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของเมืองไทย จากนั้นกำพลเก็บทุนรอนพอสมควรตั้งโรงพิมพ์ของตัวเองในซอยวรพงษ์ ย่านบางลำพู แต่เพียง 2 ปี ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติออกคำสั่งปิดตาย ห่างกัน 10 วัน เกิดไฟไหม้ซอยพระสวัสดิ์ ไฟลุกลามถึงซอยวรพงษ์เผาผลาญโรงพิมพ์ข่าวภาพไปด้วย

ย่างสู่ปี 2502 กำพลเช่าหัวหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทอง ล้มเลิกการส่งมัดห่อหนังสือพิมพ์ให้ร้านรวมห่อ หรือส่งขึ้นขบวนรถไฟไปยังตัวแทนร้านจำหน่ายส่วนภูมิภาค เปลี่ยนแปลงการขนส่งแบบ “ตีด่วน”ด้วยรถตู้โฟล์กสวาเก้นของตัวเอง ก่อนมาลงทุนตั้งโรงพิมพ์ในซอยวรพงษ์ที่เดิมใหม่เปลี่ยนแท่นพิมพ์ฉับแกระเป็นแท่นพิมพ์โรตารี โมโนไทป์

วันที่ 25 ธันวาคม 2505 ก่อนวันเกิด 2 วัน เจ้าของเสียงอ่างทองให้ของขวัญชิ้นงามเมื่อประกาศถอนตัวขอหัวหนังสือพิมพ์กลับคืนไป กลายเป็นจุดกำเนิดของ “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ที่ตีพิมพ์ออกจำหน่ายครั้งแรกในวันเกิดครบรอบอายุ 43 ปี กระทั่งโรงพิมพ์ในซอยวรพงษ์เล็กคับแคบจึงลงทุนซื้อที่ดินก่อสร้างสำนักงานใหม่บนถนนวิภาวดีรังสิต พร้อมเปลี่ยนแท่นพิมพ์เป็นเวป ออฟเซต ออกหนังสือพิมพ์จำน่ายมาอย่างต่อเนื่อง

จนในปี 2528 ขณะอายุ 66 ปี กำพล เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ใช้การพิมพ์อีกครั้ง สั่งซื้อแท่นพิมพ์ที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้นมูลค่า 300 ล้านบาท มีผลทำให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐขยายเป็นหนังสือพิมพ์จอกว้างอย่างเช่นปัจจุบัน และเมื่อตอนอายุ 76 ปีเต็ม กำพลยังได้ทำพิธีเดินเครื่องพิมพ์ขนาดยักษ์ “จีโอแมน” ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งชุดมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาทเป็นปฐมฤกษ์ในวันที่ 27 ธันวาคม 2538 นับเป็นการลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตหนังสือพิมพ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์วงการหนังสือพิมพ์ไทย มีกำลังการผลิตถึงชั่วโมงละ 360,000 ฉบับ ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

กิจกรรมทางการเมืองและสังคมของกำพล ก็ไม่ใช่ย่อย ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ หรือสภาสนามม้านางเลิ้ง เมื่อปี 2516 และได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปีเดียวกัน เป็นวุฒิสภาชิก 3 สมัยติดต่อกันตั้งแต่ปี 2524-2533 ได้รับเลือกจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมาธิการปราบปรามอิทธิพลและอำนาจมืด และเป็นกรรมการบริหารมูลนิธิหนังสือพิมพ์แห่งเอเชีย

นอกจากนี้ ยังมีเกียรติประวัติได้รับเหรียญชัยสมรภูมิปี 2485 รับเหรียญดุษฎีมาลาเข็มกล้าหาญ ปี 2489 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และเหรียญกาชาดสรรเสริญ รวมทั้งเครื่องหมายพระนามาภิไธยย่อ สธ.

กำพลทำคุณประโยชน์ให้วงการศึกษา ริเริ่มสร้างโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนของเด็กยากจนและด้อยโอกาสในชนบท ใช้เงินรายได้จากการจำหน่ายหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นงบประมาณในการก่อสร้าง ต่อมาเห็นว่า โรงเรียนต่าง ๆ ที่ได้สร้างและมอบให้กับราชการไปแล้วน่าจะต้องมีการดูแลอย่างต่อเนื่องด้วยโครงการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เช่น โครงการอาหารกลางวัน โครงการพัฒนาทักษะครูผู้สอน จึงมีการก่อตั้งมูลนิธิหนังสือพิมพ์ไทยรัฐขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2522 เพื่อทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบโครงการดังกล่าว

ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ไทยรัฐใช้งบประมาณการก่อสร้างโรงเรียนไทยรัฐวิทยาไปแล้ว 101แห่งทั่วประเทศ ใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 154 ล้านบาท โดยแห่งที่ 101 สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสการครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งขึ้นที่ตำบลหนองแวงควง อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด

เส้นทางหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่ของกำพล วัชรพล ผมเชื่อว่า คงไม่มีใครทำได้อย่างแก

สมควรแล้วที่ถูกยกให้เป็น “จอมพลคนหนังสือพิมพ์”

 

 

RELATED ARTICLES