(22)  สกายแล็บตก – ลาแล้วเดลินิวส์

มื่อเหตุการณ์ระทึก  เดลินิวส์  ถูกสั่งปิดกะทันหัน ผ่านวิกฤติไปด้วยดี ทุกภาคส่วนของหนังสือพิมพ์หัวสีบานเย็นก็เบิกบานลุยงานไปตามปกติ แต่เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น    โดยเฉพาะข่าวสังคมต่างจังหวัด จุดเปราะบางของคดีหมิ่นประมาท

รถตระเวนข่าวอาชญากรรมของเดลินิวส์ มีวิทยุรับส่งติดรถทุกคันแล้ว ตามข้อเสนอของผม งานจึงลื่นไหลไม่มีอะไรติดขัด การสังสรรค์ของสายงานอาชญากรรมกับตำรวจนครบาลก็ดำเนินไปอย่างราบรื่นทุกสิ้นเดือน

จากหนังสือพิมพ์รายวันที่พิมพ์วันละ 1 กรอบ ปิดข่าวไม่เกิน 5 ทุ่ม หัวหน้าข่าวหน้า 1ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวเสร็จสิ้นภารกิจก็กลับบ้าน ช่วงดึกของแต่ละคืนกองบรรณาธิการไร้ผู้คน มีแต่แขกยาม (เดลินิวส์ยุคสี่พระยามีแขกยามครับ) ขึ้นมาตรวจความเรียบร้อย รอวันรุ่งขึ้นรอชีวิตคนหนังสือพิมพ์กลับมาโลดแล่นไปตามสีสันของข่าวสาร

พี่เทพสิงโต “สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช” สั่งเดินหน้าพัฒนาไปอีกก้าว จากหนังสือพิมพ์กรอบเดียวกลายเป็น 2 กรอบ

กรอบแรกปิดข่าว 5 ทุ่มเหมือนเดิม ขายในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง กรอบสองปิดข่าวตี 5 ส่งต่างจังหวัดห่างไกล และลงฉบับวันที่ล่วงหน้าหนึ่งวัน

เมื่อฝ่ายผลิตพร้อม กองจัดการพร้อม กองบรรณาธิการก็ต้องพร้อม

ผมถูกลองยาเป็นคนแรก เข้าเวรหัวหน้าข่าวหน้า 1 ประเดิมหนังสือพิมพ์ 2 กรอบ ต้องบริหารเวลา บริหารข่าว บริหารคน ให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้

หลังจากปิดกรอบแรกแล้ว หัวหน้าข่าวหน้า 1 กับผู้ช่วยหัวหน้าข่าว ต้องนอนโรงพิมพ์    นอนเตียงผ้าใบ แต่ถ้าใครไม่ถนัดก็นอนบนโต๊ะทำงานเพื่อตื่นขึ้นมาทำงานกรอบต่างจังหวัดประมาณตี 3

ดัมมี่หน้า 1 วางอยู่บนโต๊ะ มีข่าวสำคัญซึ่งยกมาจากกรอบแรกบางข่าว รวมทั้งข่าวจากต่างจังหวัด รอข่าวใหม่จากรถตระเวนมาสมทบ ภาพที่จะลงในกรอบนี้ก็เตรียมไว้บางส่วน รอภาพสดใหม่จากสายงานอาชญากรรม

เรื่องภาพนี่เป็นปัญหา เราต้องการภาพสดใหม่ให้มาก  แต่จะเอาจากไหน การส่งภาพด่วนจากต่างจังหวัดสมัยนั้นยังไม่เกิด  เหลืออยู่ทางเดียว คือภาพอาชญากรรมในรอบคืนนั้น

ภาพจากรถตระเวนข่าวส่วนใหญ่เป็นภาพบนโรงพัก เจ้าทุกข์กำลังแจ้งความ หรือภาพการจับกุมคนร้าย การชันสูตรศพในที่เกิดเหตุ แต่เดลินิวส์เป็นหนังสือพิมพ์อาชญากรรมนำหน้า ผมต้องการภาพที่มีการเคลื่อนไหวมากกว่านั้น

ผมรับช่างภาพมาคนหนึ่ง ร่างเล็กแต่ปราดเปรียว ชื่อ “สมเกียรติ” จำนามสกุลไม่ได้    มอบเนื้องานให้เขาไป “ เอ็งไปประจำโรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่  5 ทุ่ม หรือจะไปก่อนเวลาก็ได้    เพื่อทำความรู้จักมักคุ้นกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกลับเข้าโรงพิมพ์ไม่เกินตี 4  ต้องได้ภาพมาอย่างน้อยหนึ่งม้วนนะเว้ย” สมเกียรติยิ้มรับคำสั่ง

ภาพจากโรงพยาบาลตำรวจ บ้างถูกยิงถูกทำร้ายร่างกาย ส่งคนเจ็บคนตายมาที่โรงพยาบาลตำรวจเป็นส่วนใหญ่ในยุคที่มีโรงพยาบาลรัฐที่ดังพอ ๆ กัน คือ โรงพยาบาลกลาง

หามกันร่องแร่งนั่งรถเข็นบ้าง นอนเปลพยาบาลบ้าง เลือดท่วมกาย  สมเกียรติต้องใช้ความสามารถในการหามุมภาพที่ดูแล้วเร้าใจ และแต่ละคืนมุมภาพนั้นต้องไม่ซ้ำกัน

สมเกียรติทำหน้าที่เป็นทั้งช่างภาพและนักข่าว เพราะบางเหตุการณ์สามารถนำมาเป็นข่าวหน้า  1 ได้ เขาทำงานดีรู้หน้าที่และตรงต่อเวลา เหมือนไปซื้อวัตถุดิบในตลาดกลับมาให้พ่อครัวปรุงอาหาร ภาพของเขาได้ขึ้นหน้า  1 กรอบแรกของวันใหม่เกือบทุกวัน

ปัจจุบันได้ข่าวว่าสมเกียรติเป็นนักข่าวอาวุโสสายงานอาชญากรรมของโทรทัศน์ช่อง  3 หรือจะขึ้นถึงระดับหัวหน้าข่าวก็ไม่รู้ เพราะขาดการติดต่อมาหลายสิบปี

รถตระเวนข่าวเข้าโรงพิมพ์ นักข่าวเอาข่าวที่จิกมาได้ สรุปให้หัวหน้าข่าวหน้า  1 ฟัง    ข่าวย่อย ๆ นักข่าวตระเวนที่พอเขียนข่าวพิมพ์ดีดได้ต้องช่วยแบ่งเบาภาระผู้ช่วยหัวหน้าข่าว     บางครั้งผมเองก็ต้องเคาะพิมพ์ดีดช่วยอีกแรง เพื่อให้งานเร็วขึ้น

ช่างภาพส่งฟิล์มให้ห้องมืด ที่มี “แสวง  เพชรศิริ”  กับ “สมนึก สุทธิกมล” ผลัดกันเข้าเวรจัดการล้างฟิล์มปริ๊นท์ภาพส่งหัวหน้าข่าว ช่างภาพช่วยหัวหน้าข่าวเลือกภาพ  เขียนคำบรรยายภาพ เมื่อได้ภาพที่ต้องการตามดัมมี่ส่งไม้ให้ฝ่ายศิลป์เขียนคำบรรยายลงในภาพ  หน้า  1  ยุคนั้นเป็นอย่างนี้ กำลังพลทุกฝ่ายต้องแบ่งการทำงานเป็น 2  กะ ภาคกลางวันและกลางคืน

ต้นฉบับตัวพิมพ์ดีด ส่งช่างเรียงซึ่งเรียงด้วยตัวตะกั่ว ผ่านฝ่ายพิสูจน์อักษร ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการทำเพลท “สถิตย์” หัวหน้าช่างเรียงเป็นผู้กำกับการแสดง คอยวัดข่าวที่ส่งไปให้พอดีกับเนื้อที่ ข่าวเกิน หรือข่าวขาด “สถิตย์” จะมาประสานกับหัวหน้าข่าว

ขั้นตอนการผลิตได้เพลทครบทุกหน้า ก็มาถึงแท่นพิมพ์ ผ่านช่างกรีดช่างพับ นับจำนวนมัดห่อ ลำเลียงเข้ารถตู้ขนาดใหญ่ ล้อหมุนจากสี่พระยาไปสู่ภูมิภาค

เช้าแล้ว เสียงแท่นพิมพ์ยังดังกระหึ่ม ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า  1 นักข่าวช่างภาพรถตระเวน   แยกย้ายกันกลับบ้าน หัวหน้าข่าวหน้า 1  ตรวจความเรียบร้อยของหนังสือพิมพ์หน้าแท่นแล้วกลับบ้านทีหลัง

เป็นงานพัฒนาและท้าทาย แต่ทุกอย่างก็สำเร็จลุล่วง

ผ่านมา 30 กว่าปี หนังสือพิมพ์รายวันไม่ได้มีแต่  2 กรอบ แต่มีถึงวันละ 5-6 กรอบ   เป็น “อาหารสมอง” ที่คนทำเหน็ดเหนื่อยแต่ไม่ท้อ เพราะมันเป็นสินค้าสดที่พอข้ามวันก็บูดเน่า    กลายเป็นหนังสือพิมพ์ชั่งกิโลจึงต้องเพิ่มความเข้มข้นในทุกรสชาติ

เมื่อกรุงเทพฯ เติบโต การคมนาคมเริ่มเป็นหวัด เป็นอุปสรรคต่อการส่งหนังสือพิมพ์ไปต่างจังหวัด เดลินิวส์ไม่เหมาะที่จะอยู่ตรงสี่พระยา นายทุนไปสร้างรังใหม่ที่ถนนวิภาวดีรังสิต    ย่านหลักสี่

บ้านผมอยู่ถนนตก ถ้าไปทำงานหลักสี่ต้องใช้เวลาเดินทางโดยรถเมล์เป็นชั่วโมง ผมคิดเรื่องนี้มาก ต้องย้ายบ้านไปอยู่ใกล้สำนักงานใหม่ให้มากที่สุด แล้วผมก็ได้รวงรังของผม

เป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียวค่อนข้างทันสมัย ด้านหน้าและด้านข้างทั้งสองด้านเป็นกระจกบานใหญ่ มีม่านบังสายตาผู้คนที่เดินผ่าน บ้านหลังนี้อยู่ในซอยเผือกจิตร แยกซอยเสนานิคม 2พหลโยธิน ใกล้สี่แยกเกษตรศาสตร์ ตัวบ้านอยู่บนพื้นที่น้อยนิดไม่กี่ตารางวา มีรั้วรอบขอบชิด เปิดประตูหน้าบ้านเดินแค่ 4 – 5 ก้าวก็ถึงตัวบ้าน แม้จะอยู่ในซอยลึกแต่มีรถสองแถวเล็กตลอดเวลา เพราะในซอยเสนานิคม  2 มีโรงงานทอผ้าห่ม คนงานหลายร้อยคน การเดินทางของผมไปสู่ถนนใหญ่จึงไม่มีปัญหา

ผมซื้อบ้านจาก “เกษร สุรโชติ” เมียเพื่อนผม “สมชาย สุรโชติ” ลูกเจ้าพ่อพระกาฬด้วยกัน เอาเงินสดที่ได้จากโบนัสไปให้เกษรแล้วก็ได้บ้านหลังนั้นมา  ได้แต่ตัวบ้านนะครับ  ส่วนที่ดินตรงนั้นต้องเช่าจากเศรษฐีตระกูล  “เผือกจิตร” จ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือน

ย้ายจากซอยต้นโพธิ์ ถนนตกมาอยู่ซอยเสนานิคม  2  พหลโยธิน ตื่นเต้นครับเพราะเป็นบ้านหลังแรกในชีวิตได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง

ไปนิมนต์ “พระครูอมรโฆษิต”  คณะ 8 วัดสุทัศน์เทพวรารามที่ผมเคยพักพิงกับท่าน  เมื่อตอนจบ ม.6 จาก ร.ร.พิบูลวิทยาลัย ลพบุรีมาเรียนต่อที่  ร.ร.ไพศาลศิลป์ ยศเส มาฉันเพลที่บ้าน เจริญพระพุทธมนต์เป็นสิริมงคล ตกเย็นตั้งวงกินเหล้ากับนักข่าวช่างภาพสายงานของผม   กินกันในบ้านหลังเล็ก ๆ  นั่นแหละ

นกน้อยในไร่ส้มนั้น……มีเงินมีทองไม่ต้องคิดอะไร ซื้อเหล้าใส่ไหไว้กิน กับแกล้มไม่ต้องเป็นของไม่ดี หมดเปลืองใช่ที่ ถ้ามีก็เอา

แต่ “อุษา เอกมหาชัย” นักข่าวเดลินิวส์ประจำสมุทรสาคร รู้ข่าวนี้จากพลพรรคอาชญากรรมของผม มาร่วมสังสรรค์ด้วย ไม่ได้มามือเปล่าขนเอากุ้งหอยปูปลามาหลายเข่ง  โดยที่ผมไม่รู้ล่วงหน้า เขาเตรียมเตาย่างและน้ำจิ้มมาพร้อม

เมื่องานเลี้ยงเลิกรา ผมเก็บกวาดเศษอาหารใส่ถุงขยะสีดำเอาไปวางริมรั้วนอกบ้าน เมื่อผ่านไปหลายวันถุงดำยังวางอยู่ที่เดิม เศษอาหารทะเลส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง แมลงวันตอมหึ่ง ต้องไปซื้อน้ำมันก๊าดมาราดดับกลิ่น รู้ทีหลังรถเก็บขยะจะโผล่มาอาทิตย์ละครั้ง

มีบ้านเรียงรายในซอยเผือกจิตร บ้านผมอยู่สุดซอยติดกับอาณาเขตเจ้าของบ้าน อากาศดีมีลมพัดผ่านตลอด ผมยังไปทำงานที่สี่พระยาเหมือนเดิมนั่งสองแถวจากในซอยไปลงถนนใหญ่   แล้วนั่งรถเมล์อีกสองทอด ไม่เดือดร้อนอันใดเพราะผมเป็นสิงห์รถเมล์อยู่แล้ว

เหตุการณ์ระทึกเดลินิวส์ถูกปิดผ่านไปหลายเดือนก็มาเจอเหตุการณ์ระทมอีก

“พี่เทพสิงโต” สุเทพ เหมือนประสิทธิ์เวช ลาออก

ไม่มีวี่แววหรือเค้าลางมาก่อน ผมรู้ต่อเมื่อพี่เขาออกไปแล้ว แน่นอนต้องมีเรื่องคับอกคับใจ แต่จะเป็นเรื่องอะไร จนกระทั่งพี่เทพสิงโตตายจากไป ผมก็ยังไม่รู้

จากการทำงานที่สนุกไม่รู้จักเหนื่อย สำหรับผมมันหมดกะจิตกะใจ หมดเรี่ยวแรงในการขับเคลื่อน ผมยกเลิกกองทุนสวัสดิการอาชญากรรมให้ปุ๊เฮีย  “อนุ เรืองเกษตร” กับ “สมนึก พูลนิคม” ถอนเงินจากธนาคาร เหลือเท่าไหร่เอามาแบ่งปันในหมู่นักข่าวช่างภาพ  ส่วนผมสละสิทธิ์    แล้วยุติการสังสรรค์ประจำเดือน

พี่เทพสิงโตโบกมือลาเดลินิวส์หลายเดือนผ่านไป ในที่สุดก็มาถึงคิวผม

หมุนเวลาย้อนหาอดีต 35 ปี  วันโลกาวินาศของผมไม่ใช่ของโลก ตรงกับวันที่ 11 กรกฎาคม 2522

ผู้คนรุ่นนั้นต้องคุ้นหูกับคำว่า “สกายแล็บ” หรือ “ห้องทดลองลอยฟ้า”

องค์การนาซาของอเมริกาส่งสกายแล็บขึ้นไปสำรวจและปฏิบัติงานนอกโลกเมื่อวันที่  14  พฤษภาคม 2516 ระหว่างที่ล่องลอยสูงจากโลก  430  กิโลเมตรมีลูกเรือผลัดเปลี่ยนขึ้นไปทำงานถึง 3  ชุด ๆ  ละ  3  คน

ผ่านไปเกือบ 7 ปี สกายแล็บเริ่มทรุดโทรม เพราะชิ้นส่วนเอามาจากโครงการ  “อะพอลโล” ซึ่งยกเลิกไปแล้ว แผงรับพลังงานจากดวงอาทิตย์  2 แผง และระบบควบคุมความร้อนใช้งานไม่ได้ อเมริกาเอาลูกเรือชุดสุดท้ายกลับมาปล่อยให้สกายแล็บลอยเคว้งคว้าง และถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ

องค์นาซาประมาณว่า  ค่ำคืนของวันที่ 11 กรกฎาคม 2522  สกายแล็บจะตกลงสู่โลก    แต่กำหนดไม่ได้ว่าจะตกลงตรงไหนหรือประเทศไหน ชาวโลกตื่นเต้นกันทั่ว  คนไทยก็เช่นกันเพราะมันอาจจะตกที่ไทยก็ได้

เหล่านี้เป็นข่าวล่วงหน้ามาหลายวัน มันดังถึงขนาดคนไทยสร้างรถสามล้อขนาดใหญ่ที่ใช้กำลังเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์ มีที่นั่งโดยสารด้านหลังเป็นสองแถวหันหน้าเข้าหากัน ตั้งชื่อว่า “รถสกายแล็บ”  จากอุดรธานีต้นกำเนิดแพร่กระจายไปทั่วภาคอีสาน

ผมเข้าเวรหัวหน้าข่าวหน้า 1  วันนั้น

5 ทุ่มผมปิดข่าวทุกข่าวเรียบร้อยรอแต่ข่าวสกายแล็บข่าวเดียว ซึ่งองค์การนาซากำหนดเวลาตก 5 ทุ่ม 10 นาที กะว่าไม่เกินเที่ยงคืนผมปิดข่าวทั้งหมดได้เรียบร้อย

ข่าวภาพต่างประเทศยุคนั้น หนังสือพิมพ์ไทยต้องซื้อจากสำนักข่าวต่างประเทศ  ซึ่งมีสำนักงานสาขาในประเทศไทย ทุกฉบับที่เป็นลูกค้าต้องส่งคนไปเอาซองข่าวและภาพเอง

แต่สำหรับการตกสู่พื้นโลกของสกายแล็บ รอข่าวภาพจากสำนักข่าวต่างประเทศไม่ได้

เดลินิวส์ทำอย่างนี้ครับ ใช้เครื่องมือชิ้นเดียวในการปฏิบัติงาน คือ วิทยุขนาดใหญ่ เปิดคลื่นสั้นฟังรายงานข่าวนี้ในห้องหัวหน้ากองบรรณาธิการคืนนั้น  มีเพียง “พี่บรรเจิด ทวี” หัวหน้ากองบรรณาธิการป้ายแดง “พี่ทัศน์ สนธิจิตร” บรรณาธิการข่าว และ“บุญสม รดาเจริญ” หัวหน้าข่าวต่างประเทศต้องเงี่ยหูฟังรายงานภาษาอังกฤษ

เงี่ยหูของ “บุญสม” คือเอาหูไปแนบกับวิทยุ เพราะเสียงรายงานข่าวนั้นเบามาก มือก็จดข่าวที่รับฟังเท่าที่ได้ เป็นรายงานทิศทางของสกายแล็บว่าขณะนี้อยู่ที่ไหน ห่างจากโลกเท่าใด ผมไม่กระดิกหูภาษาอังกฤษก็เร่ไปห้องช่างเรียง กลับมาบอก “บุญสม” ให้รู้ว่าต้องเขียนข่าวยาวกี่นิ้ว

ไม่ถึง 5 ทุ่มครึ่ง โทรศัพท์ที่โต๊ะหัวหน้าข่าวหน้า  1 ดังกังวาน ผมเป็นคนรับสาย ประมุขเดลินิวส์  “แสง เหตระกูล” โทร.มาถามว่าทำไมหนังสือพิมพ์ยังไม่พิมพ์  ผมชี้แจงว่ากำลังรอข่าวสำคัญข่าวเดียว อธิบายความให้เห็นภาพว่า  ขณะนี้พี่บรรเจิด พี่ทัศน์ และคุณบุญสมกำลังทำงานอย่างไร

ผ่านไปประมาณ 5 นาที ประมุขเดลินิวส์โทร.มาอีก ผมรู้ดีว่าท่านเป็นห่วงก็ได้แต่เรียนท่านว่า  ผมกำหนดเวลาไว้แล้ว ผมจะปิดข่าวชิ้นนี้ตอนเที่ยงคืน ได้แค่ไหนเอาแค่ไหน ยอมตกข่าวดีกว่าตกรถ  (“ตกรถ”  คือหนังสือพิมพ์ขึ้นรถสายส่งไม่ตรงตามกำหนด)

ผมเข้าห้องหัวหน้ากองบรรณาธิการบอกว่า ท่านโทร.มาสอบถามเป็นครั้งที่สองแล้ว

อีกไม่กี่อึดใจ โทรศัพท์จากประมุขเดลินิวส์ก็มาถึงผมเป็นครั้งที่สาม ท่านบอกว่าป่านนี้ไทยรัฐคงพิมพ์ไปแล้ว ผมว่าไทยรัฐก็ต้องรอข่าวนี้เหมือนกัน

แล้วท่านก็พูดต่ออีกหลายประโยค ผมไม่บอกละครับว่าพูดอะไรเกี่ยวกับตัวผม แต่คำพูดนั้นทำให้ผมนั่งนิ่งอยู่พักหนึ่ง ผมถามตัวเองว่า ”กูเป็นคนหรือเปล่าวะ”

อารมณ์นั้นเมื่อได้คำตอบ ผมก็พาศักดิ์ศรีของมนุษย์เข้าห้องหัวหน้ากองบรรณาธิการอีกครั้ง ยกมือไหว้  “พี่ทัศน์ สนธิจิตร”  ขอให้พี่ช่วยปิดหน้า  1  ให้ผมด้วย พี่ทัศน์ทำหน้างงคิดว่าผมไม่สบาย  แต่พี่ก็เข้าใจแจ่มเมื่อผมบอกว่า

“ผมขอลาออก ผมกลับบ้านละ”

รถกอง บก.มีโอกาสรับใช้ผมเป็นครั้งสุดท้าย

ดึกแล้ว ผมเดินข้ามถนนสี่พระยาไปขึ้นรถกอง บก. ที่จอดรอฝั่งตรงข้าม หันมามองอาคารทรงโบราณ ที่เคยซุกหัวนอนและทำงานมายาวนาน  5  ปี

ลาก่อน…..เดลินิวส์

 

RELATED ARTICLES