“ผลงานของอิศราที่ผ่านมาเห็นชัดว่า เราเสนอข่าวตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น”

 

ยู่ในแวดวงข่าวมานานผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน แต่ไม่เคยท้อ หรือทิ้งวงการที่รัก วันนี้ ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นั่งแท่นเป็นผู้อำนวยการสถาบันอิศรา เปิดสำนักข่าวอยู่ในเว็บไซต์ที่กำลังฮอตในหลายประเด็นข่าวที่เกิดกระแสสังคมอย่างกว้างขวาง

หนุ่มเมืองกรุงเรียบจบคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการหนังสือพิมพ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานหมกมุ่นอยู่กับน้ำหมึกนาน 20 กว่าปี ถึงหันไปศึกษาเรื่องกฎหมายเพิ่มเติมจนจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เริ่มต้นชีวิตทำงานตั้งแต่เป็นนิสิตเรียนอยู่ชั้นปี 4 เลือกเข้าหนังสือพิมพ์มติชน ตามความฝัน เพราะมองว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่ดีที่สุด ประเดิมสายข่าวการศึกษา สะสมประสบการณ์เชิงข่าวสืบสวนสอบสวน คว้ารางวัลข่าวยอดเยี่ยม มูลนิธิอิศรา อมันตกุล เรื่อง “ทลายขบวนมาเฟียทุจริตเครื่องราชอิสริยาภรณ์” ประเดิมเมื่อปี 2530 ก่อนกวาดรางวัลมากมาย อาทิ “ทลายขบวนการนักธุรกิจการเมืองกลุ่ม 16 ผลาญเงินบีบีซี 80,000 ล้าน”  ข่าวซุกหุ้นภาคแรก เรื่อง “คนใช้ ซุกหุ้นหมื่นล้านพิสดารแจ้งเท็จ ป.ป.ช.” อีกทั้งข่าวการซุกหุ้นภาค 2  “ผ่าเครือข่ายเอื้อประโยชน์ชินวัตร ขายหุ้น 73,000 ล้าน”

อยู่ค่ายมติชนแทบเรียกได้ว่าเป็นลูกหม้อกระทั่งขึ้นเป็นบรรณาธิการบริหารก่อนขยับเป็นบรรณาธิการอำนวยการ แต่ไม่มีหน้าที่ชัดเจน ตัดสินขอลาออกแยกทางกับหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่บนถนนประชาชื่น จึงมาทำงานกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่ตัวเองเคยเป็นนายกสมาคมอยู่เต็มตัว ก่อนจะเป็นผู้บริหารสถาบันอิศราเมื่อปี 2554

                 อิศรา ไม่ใช่เป็นสำนักข่าวอย่างเดียว แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสถาบันอิศรา ประสงค์อธิบาย ถึงกระนั้นสำนักข่าวอิศราก็กำลังเป็นที่อ้างอิงน่าเชื่อถือ เขาบอกว่า  แม้ยอดวิว จะไม่สูงนัก แต่คิดว่า มันเข้าถึงคนที่มาอ่าน กลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาอ่าน น่าจะเป็นระดับสูง คือกลุ่มข้าราชการระดับสูง นักปกครอง นักการเมือง แม้แต่นักข่าวด้วยกันเอง หรือคนที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็จะเข้ามาอ่าน ยอดวิวจะไม่เป็นหลักแสนเหมือนสื่อกระแสหลัก หรือสื่ออื่นๆ แต่คิดว่ามันก็มีผลกระทบ เพราะกลุ่มคนอ่านเป็นกลุ่มชนระดับสูงที่มีมากพอสมควรอยู่

มันเกี่ยวข้องกับพวกเขา เพราะมีเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สิน เรื่องการบริหารท้องถิ่น เรามีหมดทุกอย่าง พวกนี้เขาจึงต้องติดตาม ในส่วนสำนักข่าว มีทีมงานแค่ 8-9 คนเท่านั้นเอง แล้วส่วนที่ทำข่าวสืบสวนก็มีแค่ 2-3 คน ทำข่าวสืบสวนหาข้อมูล ที่เหลือก็เป็นข่าวนโยบายสาธารณะ ข่าวทั่วๆ ไป ศูนย์ข่าวภาคใต้ โต๊ะชุมชน ทำสืบสวนแค่ 3 ไม่เกิน 4 ที่ช่วยงาน ประสงค์ว่า

หลักการทำงานของสำนักข่าวอิศรา ผมให้อิสระกับกอง บก. ตั้งแต่บรรณาธิการ ถึงตัวนักข่าวอย่างเต็มที่ บนเงื่อนไขที่ต้องตกลงกันอย่างชัดเจน คือ ต้องเป็นเรื่องที่มีสาระ มีประโยชน์ ตามกรอบที่เราวางไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายสาธารณะ หรืออะไรต่างๆ ต้องไม่ลงเหลวไหลไร้สาระ เลอะเทอะ ไม่เอา จะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนด้อยโอกาส หรืออะไรต่างๆ ต้องไม่ละเมิดจริยธรรมเท่าที่เราจะทำได้  พอจินตนาการออกแต่ให้น้อยที่สุดจะบอกว่า ไม่มีเลยก็เป็นไปไม่ได้ แต่ก็จะรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด และไม่ละเมิดกฎหมาย รวมทั้งให้ระมัดระวัง โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวกับสถาบัน

อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยยอมรับว่า ข่าวที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงและเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ส่วนการละเมิดต่อตัวนักการเมืองนั้นก็มีบ้าง แต่ไม่มาก ถ้าอยู่ในเงื่อนไข 4-5 ข้อนี้ คุณทำงานได้เต็มที่เลย ถ้าพาดหัวมาผิด ไม่ถูกต้องอะไรพวกนี้ก็จะแก้ไขให้ แต่จะไม่แทรกแซงการทำงาน อันนี้ยืนยันได้จากคนที่ทำงานจะรู้ว่าเราไม่เคยเข้าไปแทรกแซง ตามหลักการที่ตกลงกัน เพราะอะไร เพราะเราเคยโดนมาแล้ว ก็ไม่อยากให้เหตุการณ์มันซ้ำรอย แบบที่เราโดน แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ตกลงกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เงื่อนไขที่ผิดหลักการอะไร เป็นเรื่องที่ทำให้เราไปได้ด้วย ก็จะให้ทำได้เต็มที่ทั้งหมด

ข่าวของอิศราเริ่มกลายเป็นที่สนใจมากขึ้นหลังตีแผ่เรื่องราวภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่มีการโกงกัน 3-4 พันล้านบาท เรียกความสนใจให้คนเริ่มเกาะติดกันมากขึ้น แต่ที่มาฮือฮามากก็คือ เรื่องบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา และเรื่องขายที่ดินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทั่งการเปิดเผยบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการของ สปช.ซึ่งเป็นญาติ เป็นลูก เป็นพี่เป็นน้องของ สปช. เป็นสื่อแรกที่ขยับนำมาตีแผ่ให้สังคมรับรู้กว้างขวางขึ้น

  ผมเชื่อโดยสุจริตนะว่า เมื่อเราไม่มีผลประโยชน์อะไร ทำตามหน้าที่ ผลงานของอิศราที่ผ่านมาเห็นชัดว่า เราเสนอข่าวตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ได้สนใจว่า ไอ้คนนั้นมันเป็นใครยังไง ตอนแรกก็โดนด่า เสื้อแดงก็ด่า แต่ทีนี้หลังจากเรานำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับรัฐบาลนี้ ก็เริ่มมีเสียงเชียร์ ก็จะบอกว่านี่ไง เห็นไหม เราไม่ได้อยู่ฝ่ายไหน เราเล่นไปตามความสามารถที่เราจะเข้าถึงข้อมูล และต้องเสนอสิ่งที่สื่ออื่นยังไม่เล่น เลือกเล่นในสิ่งที่คนอื่นเขายังไม่มี หลักมันก็แค่นั้นเองผู้บริหารหลักของสำนักข่าวอิศราว่าถึงนโยบายการทำงาน

ประสงค์บอกว่า ตลอดการทำงานเกินกว่า 30 ปี ไม่มีเคยมีใครเรียกร้องขอให้ทำอะไร มีบ้างเรียกไปหาข้อมูล เหมือนทีมงานของอิศราหลายคนอินกับการทำข่าวสืบสวนสอบสวนอยู่แล้ว ทำให้สนุก ประกอบกับการทำงานในทีมของอิศรามีความแตกต่างจากสื่ออื่น คือ แต่ก่อนนั้นมันมีเจ้านาย เสนอข่าวต้องดูหน้าดูหลัง อันนี้ก็ต้องดู แต่ต้องวินิจฉัยด้วยตัวเอง ฉะนั้นไม่มีใครมาคุมเรา ยกเว้นว่าเราจะต้องเซฟคอนโทรล คือ ต้องควบคุมตัวเองให้อยู่ในกรอบที่ดี เพราะไม่มีใครมาสั่งเราแล้ว แต่เราต้องกำกับดูแลตัวเอง

เขาสารภาพว่า ที่ผ่านมาอาจจะมีบ้างที่ว่า ต้องเตือนกันว่าช่วงนี้ต้องระวังหน่อยนะ เพราะไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แต่การระวัง กับการไม่เสนอข่าว คนละเรื่องกัน อันนี้ต้องเข้าใจก่อน แค่ต้องนำเสนอข่าวอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น วิธีการเขียน วิธีการนำเสนอให้รอบด้าน รอบคอบมากขึ้น ไม่เฉพาะเจาะจง เมื่อก่อนก็รอบคอบอยู่แล้ว แต่ต้องรอบคอบมากขึ้นไปอีก หากพลาด โดนถล่มแน่นอน ยิ่งสำนักข่าวอิศรานำเสนอข่าวที่เรียกง่ายๆ ว่า ชกสิบทิศ

ผมก็เชื่อว่านักข่าวหลายๆ คนอยากจะทำงานให้ได้ดีที่สุด แต่ก็ติดอยู่ที่นโยบายองค์กร โดยเฉพาะองค์กรทีวี ปัจจุบันมี 24 สิ่งแรกที่เจ้าของ หรือนายทุนสื่อทีวีทำก่อน คือ ต้องหาทุนคืน แล้วการหาทุนคืนวิธีการง่ายที่สุด คือทำยังไงก็ได้ให้มีเรตติ้ง ส่วนใหญ่มักจะไม่คำนึงถึงเรื่องคุณภาพ ผลกระทบ เสรีภาพของการทำข่าว สนใจเพียงว่าจะทำยังไงให้ได้เงินคืน เลยต้องยอมรับสภาพว่า นักข่าวรุ่นใหม่ หรือรุ่นเราเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนก็อ่านหนังสือน้อยลง ภูมิหลังก็น้อย การตั้งคำถาม การหาข่าวก็ไม่ลึกซึ้ง เมื่อคุณไม่มีความรู้ นักการเมืองพูดมาเรื่องหนึ่ง แต่คุณไม่มีความรู้พอที่จะถามแย้งเขา ซักเขา มั่วซั่วเลย  ฉะนั้นเด็กรุ่นใหม่ การทำข่าว การตั้งคำถามจำนวนมากที่ไม่ลึกซึ้ง ทำเป็นแต่ข่าวปิงปอง บางทีก็ตั้งคำถามไม่ถูกประเด็น นั่นคือภาพรวมหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น

สมัยก่อนพวกผมไม่ได้ต้องการมีเซเลปข่าว นับตั้งแต่มีทีวีมากขึ้น ก็มีนักข่าวเป็นเซเลป เป็นฮีโร่ของคน ทีนีไปเลย ตัวพอง แต่รู้ลึกซึ้งจริงหรือเปล่า แล้วพอมองกันว่า คนนี้เป็นแม่แบบ ก็ยิ่งไปกันใหญ่เลย ทำข่าวแล้วอยากเป็นอะไร ก็บอกว่าอยากรายงานข่าวสด บางคนอยากเป็นอะไร อยากเป็นพิธีกร แต่ความรู้ข่าวไม่มี เป็นภาพปัญหาที่เราจะทำยังไงให้ความเป็นนักสื่อสารมวลชนมันอยู่ในจิตวิญญาณ มากกว่าการเข้ามาเพื่อเท่ เป็นทางผ่านไปสู่การเป็นพิธีกรดัง หรืองานอื่นๆ สื่อมวลชนผู้อาวุโสมองปัญหาขาด

  ผู้อำนวยการสถาบันอิศราเห็นว่า สะท้อนจากเด็กที่เรียนวารสารศาสตร์ ทุกคณะ ทุกมหาวิทยาลัยเลย น้อยลงมาก บางมหาวิทยาลัยต้องปิดปรับปรุง นอกจากน้อยแล้ว ไปถามคนที่เรียนยังบอกว่า ไม่รู้จะเรียนอะไรเลยเลือกมาเรียน เรื่องของจิตวิญญาณถึงคิดว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปลูกฝัง เมื่อมันน้อยลงจากรุ่นก่อนๆ ที่เรามีจิตวิญญาณเรื่องนี้สูง แต่ก่อนทำข่าวแข่งกัน ใครตกข่าว ไม่โกรธกัน แล้วรุ่งขึ้นเราก็จะทำข่าวแข่งกันใหม่

ความแตกต่างระหว่างยุค ประสงค์ยังมองว่า เรื่องวิธีคิด การสังสรรค์ก็น้อยลง เลิกงานแล้วก็จบเลย ไม่ยุ่ง มันก็เปลี่ยนวิธีคิด แต่ก่อนเราทำงานกันดึกๆ ดื่นๆ เฝ้าแหล่งข่าวจนถึงดึก 4-5 ทุ่ม เที่ยงคืน เดี๋ยวนี้จะถามมาแต่ว่า กลับบ้านได้ยัง พี่กลับได้หรือยัง ไม่เหมือนสมัยก่อน ที่ไม่มีใครยอมกลับเขากลัวตกข่าว แต่เดี๋ยวนี้นัดกันกลับ บอกหัวหน้าข่าวว่า ไม่มีใครอยู่แล้วนะ นี่คือเรื่องของความอดทน เรื่องจิตวิญญาณ

คนข่าวยอดอุดมการณ์ชำแหละอีกว่า คุณภาพของข่าวทุกวันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย อยู่ที่เรามองคุณภาพข่าว คืออะไร อย่างเช่น ความลึกซึ้งของข่าวไม่ค่อยมี เพราะอะไร คือ คนในโลกออนไลน์ ต้องการข่าวอะไรสั้นๆ บริโภคข่าวบางทีแค่เห็นหัวข่าวก็แชร์กันแล้ว เป็นสังคมสมาธิสั้น อ่านน้อย ชอบอะไรง่ายๆ ถ้าคุณจะสนองตอบกลุ่มนี้ ก็ต้องทำให้สั้นให้ง่าย ความสั้นในที่นี้ บางครั้งมันอาจจะดูง่าย เข้าใจง่าย แต่มันไม่ลึกซึ้ง เมื่อเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ต้องมีการอธิบาย บางทีอะไรที่สั้นๆ มันอาจจะบอกได้แค่ภาพรวมกว้างๆ ได้

สำนักข่าวอิศรา เราถึงเน้นเรื่องเนื้อหา เน้นเรื่องความลึก แต่ความหลากหลาย และสีสัน ก็ต้องมีด้วย เพราะอะไรถ้าเกิดคุณเอาแต่ลึก ไม่มีวิธีการนำเสนอที่ดี มันก็ขายไม่ออก ไม่มีคนมาดูอีก ก็พยายามผสมผสานชั่งน้ำหนักให้สมดุลมากที่สุด แต่ไม่ถึงขั้นนำเสนอเรื่องเหลวหล เช่น ม้าออกลูก 5 ขา แบบนี่ไม่เอานะ เจ้าตัวหัวเราะแต่หน้าตาจริงจัง

 

RELATED ARTICLES