“งานแรกที่ผมได้รับมอบหมาย คือ เป็นนักข่าวอาชญากรรม”

ะว่าไปแล้วเรื่องของ โรม บุนนาค อาจมากกว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เขาเขียน มากกว่าหนังที่เขาสร้าง

เจ้าของรางวัลนราธิป รางวัลเกียรติคุณที่มอบให้กับนักเขียนและบรรณาธิการอาวุโสประจำปี 2557 ในวัยย่าง 82 ปี ยังแข็งแรงมีความทรงจำเป็นเลิศอยู่ในหยักสมอง โรมเริ่มฉากชีวิตว่า เกิดจังหวัดธนบุรีที่ถูกรวมเข้ามาเป็นเมืองหลวงกลายเป็นคนกรุงเทพฯพันธุ์แท้ จบชั้นมัธยม 6 โรงเรียนวัดราชาธิวาส ก็ยังไม่เคยเห็นทะเล เห็นภูเขา นอกจากภูเขาทอง พอดีเพื่อนของพี่ชายที่สนิทสนมกับครอบครัวจบนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในปีนั้นถูกส่งไปประจำค่ายเด่นห้าที่เชียงรายเลยชวนไปเที่ยวด้วยไต่ดอยจนเพลินกลับมาไม่ทันเปิดเทอมใหม่ หาที่เรียนไม่ได้ ต้องไปเข้าเอาในเทอมสอง ทั้งยังเป็นภาคบ่าย

ตื่นเช้าเคว้งคว้างต้องรอไปโรงเรียนถึงบ่ายสามโมง โชคดีที่ตอนนั้นยังไม่มีร้านเกม ไม่มีศูนย์การค้า และเพื่อนชักนำไปในทางที่ดีชวนไปเดินแถวราชดำเนินเมื่อยก็เข้าไปนั่งในห้องสมุดบริการข่าวสารไทย ห้องสมุดสำนักข่าวสารอเมริกันที่อาคารราชดำเนิน ไม่ก็ข้ามสนามหลวงไปหอสมุดแห่งชาติที่สมัยนั้นยังอยู่ข้างวัดมหาธาตุ

ปกติเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือ ขนาดหนังสือนิยายดังๆที่วัยรุ่นยุคนั้นนิยมก็ยังไม่ยอมจับ แต่เมื่อเข้าไปนั่งในห้องสมุดก็จำต้องหยิบหนังสือมาพลิกดูบ้าง แรกๆก็ดูรูปจนไปเกิดติดใจหนังสือเล่มหนึ่งเป็นประวัติชีวิตของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอร์นที่ห้องสมุดยูซิส เกิดสนุกกับเรื่องราว และอยากติดตามให้รู้ว่าคนที่เกิดในกระท่อมไม้ซุงจะไต่เต้าขึ้นเป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ของอเมริกาได้อย่างไร จึงขอยืมไปอ่านต่อที่บ้าน

นับจากนั้น โรมว่า เกิดหลงใหลในชีวิตของบุคคลดังๆ คนที่สนใจเป็นพิเศษอีกคนก็คือ จอมจักรพรรดินโปเลียน ทั้งอ่านและติดตามดูหนังที่เกี่ยวกับนโปเลียนทุกเรื่อง หัดเซ็นลายเซ็นของนโปเลียนจนเหมือน ลุ่มหลงการอ่านจนลามไปถึงหนังสือสารคดี และเรื่องน่ารู้อื่นๆ อย่างหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการ หรืองานแปลจากเรื่องของ เดล คาร์เนกี้

ในคราวสอบกลางปีชั้นเตรียมอุดมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ พญาไท เขาเคยทำให้ อาจารย์พา ไชยเดช ที่ตรวจข้อสอบเรียงความในหัวข้อ การท่องเที่ยวของข้าพเจ้า เอาไปพูดในห้องพักครูด้วยความทึ่ง เพราะบรรยายการท่องเที่ยวในยุโรปหลายประเทศได้อย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้เพราะเพิ่งอ่าน 7 แผ่นดิน ของ เสนีย์ เสาวพงศ์  ก่อนสอบ ความลุ่มหลงในการอ่านหนังสือ เจ้าตัวเปรียบเทียบเหมือนคนเดินผ่านทะเลทรายมาเจอโอเอซิส ทำให้ตอนอยู่ชั้นเตรียมอุดมถูกครูทำโทษเรื่องการอ่านหนังสือเป็นประจำ เพราะแอบเอาไปอ่านในห้องเรียนชั่วโมงที่ไม่ค่อยสนใจ

โรมเริ่มทำหนังสือ เขียนหนังสือ เมื่ออยู่ชั้นเตรียมอุดม เป็นกรรมการจัดงาน อำนวยศิลป์สัมพันธ์ งานประจำปีของโรงเรียน อีกทั้งยังรับหน้าที่จัดทำละครในงานประจำปี นั่งเขียนบทละคร สร้างเกียรติประวัติเป็นละครโรงเรียนที่ใช้ผู้แสดงเป็นชายจริงหญิงแท้ นางเอกเป็นนางเอกหนังใหญ่ที่ฉายศาลาเฉลิมกรุง

หลุดจากโรงเรียนมุ่งไปที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็ยังอดหาเรื่องวุ่นวายไม่ได้ เมื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ปี 1 แค่เขียนป้ายข้อความสั้นๆว่า รักโดม เลือกโรม ไปติดไว้ที่โคนโพธิ์ ได้รับเลือกตั้งมาคู่กับ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ขณะเดียวกัน ตอนนั้นในธรรมศาสตร์มีออกหนังสือพิมพ์กันหลายฉบับ โรมจดทะเบียนกับกองเอกสารหนังสือพิมพ์ กรมตำรวจ ออกเป็นรายปักษ์บ้าง ในชื่อ แนวนักศึกษา เป็นเจ้าของ บรรณาธิการ และผู้พิมพ์ผู้โฆษณาประเดิมตำแหน่งแรกในวงการหนังสือพิมพ์ ก่อนได้รับการชักชวนเข้าร่วมกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน สารเสรี หนังสือชั้นนำในขณะนั้น ด้วยความสนับสนุนของ ทวี เกตะวันดี มี พินิจ นันทวิจารณ์ บรรณาธิการเสียงนิสิต ที่ออกในจุฬาฯ มาร่วมทีมเดียวกัน

งานแรกที่ผมได้รับมอบหมาย คือ เป็นนักข่าวอาชญากรรม รับผิดชอบสายฝั่งธนบุรีทั้งหมด แม้จะเป็นนักข่าวมือใหม่ แต่เผอิญได้อยู่หนังสือพิมพ์ใหญ่ หากตกข่าว หรือได้ข่าวไม่ลึกพอก็จะทำให้ขายหน้ากันทั้งฉบับ กลัวพรรคพวกจะด่าจึงต้องทุ่มเทกับงานเต็มที่ ทำให้ไม่มีเวลาไปฟังเลคเชอร์ แม้แต่การสอบ สมัครแล้วก็ไม่ได้ไปสอบ แต่ก็ยังไม่ยอมทิ้งบทบาทในธรรมศาสตร์ รับตำแหน่งประธานแผนกบันเทิงของสโมสรนักศึกษา ตอนนั้นละครปลุกใจของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติกำลังดังจากเรื่อง อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง อานุภาพแห่งความรัก อานุภาพแห่งการเสียสละจากบทประพันธ์ของ หลวงวิจิตรวาทการ เลยไปขอให้ พี่อู๊ด สุวัฒน์ วรดิลก เขียนบทละครเรื่องอานุภาพประชาชน จัดแสดงในวันธรรมศาสตร์ 5 พฤศจิกายน 2500 ตำนานนักหนังสือพิมพ์รำลึกความทรงจำ

สารเสรียังมีคอลัมน์ให้นักข่าวผลัดกันแสดงฝีมือในชื่อ “จักรวาลชีวิต” มีทั้ง ทวี เกตะวันดี, ศรีพนม สิงห์ทอง, อัมพรชัย โหลทอง, สมาน คำพิมาน, บุญส่ง พ่วงพิพัฒน์ เขาเลยโดดต่อคิวใช้นามปากกา เพลิง สุริยา ทำความภูมิใจให้มาก โรมเล่าว่า การทำหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นตกงานกันง่ายมาก ถ้าไม่ถูกสั่งปิดตามคำสั่งคณะปฏิวัติ ก็ยกสตาฟฟ์ออกกัน เพราะขัดแย้งกับนายทุนด้วยเรื่องความเป็นอิสระในการทำงาน จนมีคำพูดด้วยอารมณ์ขันกันว่า ถ้าจะทำหนังสือพิมพ์ ก็ต้องหาเมียขายข้าวแกงไว้ จะได้ไม่อดตอนตกงาน สารเสรีก็เช่นกัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  รู้กันทั่วไปว่า เป็นเจ้าของตัวจริงได้ปรารภมาตลอดว่า ขายหน้าคนเขา ที่หนังสือพิมพ์ของตัวเองโจมตีรัฐบาลที่ตนร่วมอยู่ด้วยเป็นประจำ ทั้งยังแอนตี้อเมริกันด้วย

จอมพลสฤษดิ์ขอให้เปลี่ยนนโยบายหลายครั้ง สุดท้ายทีมกองบรรณาธิการพร้อมใจกันเซ็นใบลาออกไม่เว้นแต่เด็กรับใช้ในกอง หลังจากนั้นไม่นาน จอมพลสฤษดิ์ ยึดอำนาจตัวเอง ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วกวาดจับนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ กรรมกรไปเข้าคุกมากมาย ทนง ศรัทธาทิพย์ อดีตบรรณาธิการสารเสรีถูกกวาดให้เป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย ทั้งที่มีความสัมพันธ์กันลึกซึ้ง ขนาดเตะก้นหยอกกันเวลาเมา ส่วนโรมกับพวกไปเปิดหนังสือพิมพ์รายวันฉบับใหม่ในชื่อ เอกภาพ ที่มีรูปโฉมใหม่สะดุดตา มีชื่อหน้าพาดอยู่บนสุดทุกหน้า เป็นพื้นดำตัวขาว พราวไปทุกหน้า

ผมได้รับมอบหมายให้จัดทำหน้าบันเทิงขึ้นเป็นครั้งแรกของหนังสือพิมพ์รายวัน แต่ไม่นาน เอกภาพก็ถูกสั่งปิดอีก ผมต้องเวียนว่ายไปตามหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับ เปลี่ยนหน้าที่ทำเกือบทุกหน้า รวมทั้งหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่ง หัวหน้ากองบรรณาธิการ และรักษาการแทนบรรณาธิการในยุคที่นายทุนต้องไปเช่าหัวหนังสือคนอื่นมาทำ ส่วนใหญ่ถูกให้ควบหน้าบันเทิงไว้ด้วยจนคุ้นเคยสนิทสนมกับคนในวงการบันเทิงที่ยังไม่กว้างขวางเหมือนในยุคนี้ ผู้เฒ่าแห่งวงการน้ำหมึกว่า

ต่อมา โรมกลายเป็นคนวงการบันเทิงเต็มตัว เมื่อถูกเลือกให้แสดงนำในละครทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ในยุคขาว-ดำ และต้องแสดงออกอากาศกันสดๆ ไม่ได้ถ่ายทำแล้วตัดต่อก่อนเหมือนในตอนนี้ เรื่องหนึ่งในแนวนักเลงปืน ชื่อ วันเดี่ยว แสดงคู่กับ ส.อาสนจินดา ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เลยต้องไปเป็นพระเอกหนังคู่กับ ส.อีกครั้งได้รับฉายาว่า พระเอกคาวบอยไทยคนแรก แต่ก็ไม่ได้เกิด ตกม้าไหล่หักต้องเข้าเฝือกอยู่ 3 อาทิตย์

นอกจากนี้ โรมยังบอกว่า ผันตัวหันไปเขียนให้นิตยสารบันเทิงหลายฉบับ อย่างเช่น ดาราไทย ผดุงศิลป์ ดารา แดนดารา และรับทำโฆษณาหนังด้วย ในปี 2508 ทำหนังโฆษณาเรื่องปลาบู่ทองเข้าฉายที่ศาลาเฉลิมบุรี และชุมทางเขาชุมทองเข้าที่ศาลาเฉลิมกรุงพร้อมกัน ทำรายได้ดีทั้งคู่ เลยร้อนวิชายื่นเสนอโครงการสร้างหนังนิทานพื้นบ้านเรื่องโสนน้อยเรือนงามให้บริษัทสหซีนีมา และได้รับอนุมัติให้สร้างพร้อมมีเงินสนับสนุน  ได้เป็นผู้อำนวยการสร้างประเภทไอ้เสือมือเปล่าสมใจ แต่พอฉายก็ได้หนี้มาเยอะ กว่าจะหลุดหนี้ได้ก็ต้องทำต่อมาอีกหลายเรื่อง ทั้งในระบบ 16 มม.อย่าง 16 ปีแห่งความหลัง และ 35 มม.ซีนีมาสโคป อย่าง วิวาห์ลูกทุ่ง

อีกเรื่องหนึ่งที่เขาความภูมิใจ เมื่อ วันชัย อรรถเวทย์วรวุฒิ ตั้งบริษัทครีเอชั่น สร้างหนังไทยออกตลาดโลก ได้เลือกเรื่อง สามเหลี่ยมทองคำ ที่เสนอไปสร้างเป็นเรื่องแรก ให้เขียนบทและกำกับการแสดงด้วย นำ หลอหลี เถียนหนี ดาราดังของฮ่องกงมาแสดงร่วมกับ สมบัติ เมทะนี และ ธัญญารัตน์ โลหะนันท์ มี อู๋หม่า เป็นผู้กำกับฝ่ายฮ่องกง ถ่ายทำในระบบพานาวิชั่นเป็นเรื่องแรกของหนังไทย และอาจเป็นหนังเรื่องแรกของโลกที่เป็นเรื่องราวการเดินทางของฝิ่นจากดอกฝิ่นจนถึงชายทะเลไทย ไม่ใช่หนังค้ายาเสพติดในเมือง

ตอนสร้าง วิวาห์ลูกทุ่ง มอบให้อัศวินภาพยนตร์เป็นผู้จัดจำหน่าย มีส่วนให้โรมสนิทสนมกับ  เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร ที่เป็นบุคเกอร์ ตอนที่เกียรติจะตั้งห้างหุ้นส่วนจัดจำหน่ายหนังต่างประเทศช่วยตั้งชื่อ โรมให้ชื่อ ไฟว์สตาร์ พร้อมออกแบบตราเป็นดาว 5 ดวง ล้อมเลข 5 เป็นตราจดทะเบียนด้วย เมื่อเกียรติตั้งบริษัทไฟว์สตาร์โปรดักชั่นสร้างหนังไทยก็เป็นที่ปรึกษาและหาผู้กำกับบางคนไปให้ จนวันหนึ่งเกียรติบอกว่า “ถึงทีของคุณเสียทีสิ”โรมจึงเข้าสังกัดเป็นผู้กำกับของไฟว์สตาร์ เริ่มด้วย รักเธอเท่าช้าง ทำหนังในแนวตลกเป็นหนังครอบครัว และลงทุนไม่มาก รับรางวัล  ล้อฟิล์มทองจากบริษัทโกดักสำหรับหนังที่ทำรายได้เกิน 3 ล้านบาทขึ้นไปในโรงแรก และได้รับอีกจากเรื่อง ยอดตาหลก ในปีถัดมา

นอกจากกำกับการแสดงและเขียนบทแล้ว ผมยังเขียนเรื่องเองด้วย ทั้งๆที่เป็นคนไม่ชอบอ่านนิยาย แต่อาศัยที่ดูหนังมาก เลยพอเข้าใจลีลาของหนังมากกว่าการอ่าน พอคนดูหนังไทยเริ่มเปลี่ยนกลุ่มไปแล้ว มีพรรคพวกมาชวนทำนิตยสารมติครูเลยรับเป็นบรรณาธิการรายเดือน และเป็นครั้งแรกที่ใช้ชื่อจริงเขียนเรื่องในฐานะบรรณาธิการออกเยี่ยมโรงเรียน พบเรื่องแปลกๆเหมือนเรื่องเกล็ดประวัติศาสตร์ที่เขียนอยู่ในเวลาต่อมา จากโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล อย่างในกรุงเทพฯนี้ ใครจะคิดว่ามีถิ่นทุรกันดาร แต่ที่โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ ใกล้ชายทะเลบางขุนเทียน ตอนนั้นครูที่นั่นได้รับเบี้ยกันดารเหมือนครูบนดอย เพราะไม่มีถนนไปถึง ต้องไปทางเรือ และไปเช้าไปเย็นกลับบ้านไม่ทัน น้ำจืดก็ไม่มีใช้ ต้องซื้อน้ำประปาที่มีคนใส่เรือไปขายผู้ช่ำชองในปลายปากกาถ่ายทอดความจริงของประเทศ

โรมว่า ตรงนั้นเป็นจุดหักเหที่มาเขียนเรื่องประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง เพราะพรรคพวกที่ทำหนังสือมติครูเอาหัวหนังสืออีกเล่มมาให้ทำในชื่อเรื่องจริงระทึกใจ ให้หาเรื่องประเภทเหลือเชื่อมาลง แต่ฟังแล้วไม่แฮปปี้ ทั้งยังไม่ตื่นเต้นกับเรื่องประเภทนี้ด้วยเลยเล่าเรื่องที่เคยอ่านจากพงศาวดารให้ฟัง 2-3 เรื่อง ปรากฏว่าคนที่เข้าประชุมชอบกัน จึงลงมติให้ทำในแนวเกล็ดประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยมีนิตยสารในแนวนี้

เมื่อหนังสือออกวางตลาด มีเสียงจากคนที่จับอ่านชื่นชอบพอควร ฉบับต่อมาก็มีคนโทรมาขอซื้อฉบับเก่าๆ บ้างก็ดั้นด้นมาถึงโรงพิมพ์ บอกว่า ไม่นึกว่าจะมีเรื่องอย่างนี้อยู่ในประวัติศาสตร์ ทำเอาคนทำ คนลงทุน หน้าบานไปตามกัน

แต่หนังสือฉบับนี้ทู่ซี้ออกอยู่ได้ปีกว่า คนลงทุนถอดใจ เพราะขาดทุนมาตั้งแต่เล่มแรก คนที่ชื่นชอบกลุ่มนี้น้อยเหลือเกิน ส่วนใหญ่พอรู้ว่าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ก็ไม่ยอมเปิดแล้ว กระทั่งมีนายทุนคนใหม่ชื่นชอบหนังสือในแนวนี้อีกรายเสนอทำในชื่อ เหตุเกิดในแผ่นดิน และประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยเล่มแรกจนได้มาพบ ระวิ โหลทอง บิ๊กบอสของค่ายสยามสปอร์ต ยื่นเสนอแนวเนื้อหาของพ็อกเกตบุ๊ก 3-4 เล่ม แค่พลิกดูไม่กี่นาทีก็บอกว่า ผมเอาหมดนี่แหละ พี่ส่งมาได้เลย และเหมือนรู้ว่าโรมกำลังเหี่ยวแห้ง เลยควักเช็คส่วนตัวเซ็นชโลมใจมาให้หลายหมื่น

เป็นโอกาสสำคัญของชีวิตอีกครั้ง รวบรวมเรื่องเก่าและเขียนใหม่เป็นพ็อกเกตบุ๊กให้สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊คได้ราว 40 เล่ม แต่สำนักพิมพ์กลับไปขายดิบขายดีในนิยายจีน และการ์ตูนญี่ปุ่นจนพิมพ์ไม่ทันขาย ถึงกระนั้น โรมมีความภาคภูมิใจว่า ที่เน้นเขียนเรื่องประวัติศาสตร์สนุกๆ นอกจากจะเป็นรสนิยมของตัวเองแล้ว ยังมีความตั้งใจจะชวนให้คนที่ไม่ชอบอ่านเรื่องประวัติศาสตร์เครียดๆ มาอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ในแนวนี้บ้าง แม้บางเรื่องจะเป็นแค่มโนสาเร่ แต่ก็เป็นภาพย่อยๆที่ต่อกันให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในยุคนั้นๆ ทำให้เกิดความสนใจที่อยากจะรู้เรื่องราวที่มาที่ไปและเรื่องรอบๆของเกล็ดเหล่านั้น จะได้รู้ว่าบ้านเมืองของเราเป็นมาอย่างไรกว่าจะถึงวันนี้ ทั้งยังทำให้รู้จักปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น เกิดความภูมิใจในความเป็นไทยของเรา

 

 

 

 

RELATED ARTICLES