(25) เรื่อย ๆ  มาเรียง ๆ  ในไทยรัฐ

 

บ้านผมอยู่สุดซอยเผือกจิตร แยกจากซอยเสนานิคม  2  ถนนพหลโยธิน ผมต้องตื่นเช้ามืด แต่งตัวรอ จิ้งโกร่งเขียว มารับไปทำงานที่ไทยรัฐ  

บ้านเกิดเมืองนอนผมอยู่อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี แม้จะอยู่ในตัวเมืองแต่ผมก็สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด อยู่ในบรรยากาศไร้มลภาวะเป็นพิษ มีความสุขตามประสาเด็กบ้านนอกฐานะปานกลาง

ยุคนั้นสมัยนั้นยังไม่มีใครคิดเอาแมลงมาทอดกิน ผมไปท้องนาใกล้วัดมณีชลขัณฑ์ ต.พรหมมาสตร์  อ.เมืองลพบุรี เสาะหาจิ้งหรีดมากัดกัน จิ้งหรีดนักรบของผมต้องสีดำเป็นมันขลับ   เรียกมันว่าไอ้ทองดำ แต่ถ้าตัวใหญ่เบิ้มสีจางออกไปทางซีดเซียว ผมเรียกว่า  “จิ้งโกร่ง”

รถส่งหนังสือพิมพ์ของไทยรัฐที่มารับผมไปทำงานทุกเช้า เป็นรถตู้ขนาดใหญ่สำหรับบรรทุกสินค้าทาสีเขียว ตัวถังสูงทึบหลังคาทรงมนไม่เป็นเหลี่ยม ผมมองมันเหมือนจิ้งโกร่ง พอมาถึงหน้าบ้านผม คนขับลงมาเปิดประตูท้ายให้เข้าไปนั่งข้างใน นั่งกับพื้นรถเอากระดาษหนังสือพิมพ์รองก้น อย่างที่เล่าให้รู้ในฉบับที่แล้ว

ไปถึงไทยรัฐ สิ่งแรกคือหาอาหารใส่ท้อง ความจริงไม่ต้องไปหาที่ไหน เพราะมีโรงอาหารอยู่ด้านหน้า อยากกินอะไรก็สั่งเอา เมื่อท้องอิ่มสมองก็แจ่ม

มื้อเช้าฝากท้องไว้กับร้านค้าในโรงอาหาร กินทุกวันก็จำได้ร้านไหนขายอะไร ตอนหลังพอลงจากรถก็ขึ้นชั้นสองเข้ากองบรรณาธิการ ไหว้วานให้เด็กรับใช้ประจำกองบรรณาธิการ ที่เรียกกันหรูดูภูมิฐานว่า “ออฟฟิศบอย” ไปซื้อข้าวแกงหรือจะเป็นอาหารตามสั่งที่โรงอาหาร มากินที่โต๊ะทำงาน

ออฟฟิศบอยคนนั้นเป็นเด็กคล่องแคล่ว สมกับชื่อ “ฉลาด” คนในกองบรรณาธิการรักใคร่เอ็นดู ไม่ได้ใช้ไหว้วานเปล่า ทุกคนยินดีให้ทิปตอนแทน “ฉลาด” ก็เก็บหอมรอมริบเงินทิป    เอาไปเรียนหนังสือภาคค่ำแล้วเขาก็ไปอยู่อเมริกา ปัจจุบัน “ฉลาด” ปักหลักอยู่ที่นั่น มีครอบครัวมีชีวิตระดับเศรษฐี ถ้ามาเมืองไทยเขาจะไปเยี่ยมเยียนพี่ป้าน้าอาที่ไทยรัฐทุกครั้ง

ทำให้ผมนึกถึงออฟฟิศบอยที่เดลินิวส์ สี่พระยา เด็กคนนั้นชื่อ “เฉลียว” ใช้เวลาตอนค่ำไปเรียนหนังสือเหมือน “ฉลาด”  ไม่รู้ว่าตอนนี้เขาเติบใหญ่ขนาดไหน และอยู่ที่ไหน

ก็ “เฉลียว” คนนี้แหละที่สร้างวีรเวรไว้ให้กับหัวหน้าข่าวคนหนึ่งที่นั่น เป็นหัวหน้าข่าวใส่แว่นตาที่ผมเคยเขียนถึง เขาเป็นคนรักษาสุขภาพดื่มน้ำมาก เขาจะเรียก “เฉลียว” ไปรินน้ำในตู้เย็นใส่เหยือกมาให้ ทั้ง ๆ ตู้เย็นก็อยู่ใกล้กับโต๊ะทำงาน วันหนึ่ง ๆ “เฉลียว” ต้องรับใช้ไปเอาน้ำมาให้หัวหน้าข่าวคนนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง

แล้ววันหนึ่ง “เฉลียว” ก็มาเล่าเรื่องวีรเวรกับผม ไอ้เรื่องถูกหัวหน้าข่าวใส่แว่นเรียกใช้ไปเอาน้ำมาให้นี่แหละ “เฉลียว” เลยตักน้ำในห้องส้วมไปให้หัวหน้าข่าวจอมดื่มน้ำคนนั้นบอกว่าน้ำเพิ่งแช่มันจึงไม่เย็น

ผมสอนว่าแม้จะโกรธจะไม่พอใจที่ถูกใช้งานมาก แต่เราต้องทำเพราะมันเป็นหน้าที่ ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดแล้วความเจริญก้าวหน้าจะมาสู่ตัวเอง ผมกำชับว่าอย่าไปสร้างวีรเวรแบบนั้นอีก    มันจะเป็นบาปทางใจ ผมมั่นใจว่า “เฉลียว” จะไม่ทำอะไรนอกลู่นอกทางนอกเหนือจากหน้าที่

เพราะ “เฉลียว” เคารพผมมาก

มาถึงงานของผมที่ไทยรัฐ ช่วงเช้าทุกฝ่ายข่าวต้องเร่งเครื่องยนต์เต็มพิกัดเพื่อให้หนังสือพิมพ์กรอบแรกไปสู่จังหวัดไกล ๆ ภาคเหนือตอนบน ภาคใต้ตอนล่าง และภาคอีสานตอนบน จากนั้นจึงเป็นกรอบต่อไปสำหรับจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ

ข่าวต่างจังหวัดทยอยเข้าโต๊ะภูมิภาคตลอด 24  ชั่วโมง มีนักข่าวเข้าเวรรอบดึกคอยรับข่าว    ทุกเช้าผมจึงรู้ว่ามีข่าวอะไรที่สำคัญพอจะขึ้นหน้า 1 ได้ ส่วนใหญ่ก็เป็นข่าวอาชญากรรมที่ผมคุ้นเคย ผมมีหน้าที่ไปประสานกับหัวหน้าข่าวหน้า 1 ที่โต๊ะรูปตัวที

ถ้าข่าวไหนขึ้นหน้า  1 และมีประเด็นต้องตามต่อ ผมจะติดต่อกับนักข่าวจังหวัดนั้น ๆ   ให้เจาะประเด็นนั้นประเด็นนี้ เพื่อให้ข่าวชิ้นนั้นสมบูรณ์

ไม่โม้ละครับ สมัยอยู่เดลินิวส์สี่พระยา ผมก็ทำให้เดลินิวส์ได้พูลิตเชอร์มาแล้วจากข่าว   “ฆ่าพระนักสู้” เรื่องราวของพระรูปหนึ่งที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านหาญสู้กับผู้มีอิทธิพลระเบิดภูเขา สู้ยิบตาจนสุดท้ายท่านถูกลอบสังหาร

เดลินิวส์เสนอข่าวนี้ติดต่อกันนานหลายวันจนกระทั่งจับฆาตกรได้ มันเป็นผลงานของนักข่าวสุราษฎร์ธานี ซึ่งทำงานที่สถานีโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ที่นั่น เขาเป็นน้องชายของ   “ตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์”  บรรณาธิการ นสพ.ผู้จัดการรายวัน ต้องขอโทษผมจำชื่อเขาไม่ได้จริง ๆ   เพราะกาลเวลามันผ่านมา  30  กว่าปี

ผมสั่งให้เขาตามประเด็นอย่างต่อเนื่องทุกวันจนข่าวจบลงอย่างสมบูรณ์ ด้วยฝีมือการเขียนข่าวของรีไรเตอร์ที่ชื่อ “สมบัติ คูณสมบัติ” หรือ “จ่าเสี่ย” ผู้ล่วงลับไปแล้ว

กลับมาที่ไทยรัฐ วิภาวดีรังสิต เมื่อหนังสือพิมพ์กรอบแรกถูกลำเลียงขึ้นรถ งานของผมก็เบาบาง อาศัยที่รู้จักมักคุ้นกับผู้ที่เคยร่วมงานกันจากเดลินิวส์สี่พระยา “เฮียโกวิท สีตลายัน”   “โรจน์ งามแม้น” “ชัย ราชวัตร” “อุโฆษ   ขุนเดชสัมฤทธิ์” ก็ไปพูดคุยกันบ้าง หรือไม่ก็ไปทำความรู้จักกับคนอื่น ๆ

อย่างเช่น “สันติ วิริยะรังสฤษฎิ์” เขามาทำงานแต่เช้า ผมกินข้าวเสร็จก็เข้าไปในห้องเขา    ใช้เวลาเล็กน้อยอุ่นเครื่องให้สมองตื่นตัวด้วยการนับตัวเลข ใช้ไพ่  1  สำรับสับให้ถี่ ๆ แล้วหยิบไพ่คนละใบ ใครแต้มมากกว่าก็ชนะ ผู้แพ้ต้องจ่ายเงิน 10 บาท ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ  หยิบไพ่จะหมดสำรับ ได้เสียกันไม่กี่สิบบาท

ไพ่สำรับหนึ่งมี 52 ใบ ผลัดกันหยิบคนละ 26 ใบ ไม่เคยมีใครชนะทั้ง 26 ครั้ง พอจบเกมอุ่นเครื่องมันสมองยามเช้าได้เสียไม่เกิน 20 – 30 บาท เป็นค่าข้าวมื้อเช้า “สันติ” เก็บไพ่ใส่ลิ้นชักแล้วต่างคนต่างทำงาน

หนังสือพิมพ์กรอบแรกออกแล้ว บ่อยครั้งที่ “เฮียโกวิท สีตลายัน” ชักชวนไปกินอาหารมื้อกลางวันข้างนอก ไปกันหลายคนสุดแท้แต่ใครสะดวก “เฮียโกวิท” รู้แหล่งอาหารอร่อยหลายที่    ผมก็พลอยได้ลิ้มรสอาหารอร่อยเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ “เฮียโกวิท” มีความสุขที่เห็นพวกเราเจริญอาหาร และมีความสุขที่ตัวเองได้เป็นเจ้ามือทุกครั้ง

บุญปากของผมที่จดจำจนวันนี้ “เฮียโกวิท” พาไปกินหอยทากฝรั่งเศสบนห้องหมุนชั้นบนสุดโรงแรมมโนราห์ เป็นหอยทากขนาดใหญ่ เหมือนกับที่ผมเห็นมาชินตาที่บ้านลพบุรี แต่พอมาอยู่บนจานมันเป็นหอยทากอบเนย มีคีมคีบเนื้อออกมาจิ้มน้ำจิ้มใส่ปาก แม้กระทั่งได้กินฟองดูร์เป็นครั้งแรกในชีวิตก็  “เฮียโกวิท” คนนี้แหละ

หน้าที่ดูแลข่าวต่างจังหวัดแทน  “พี่เฉลิมชัย ทรงสุข” ไม่ได้เหนื่อยยากอันใด ว่าไปแล้วออกจะสบาย ๆ ด้วยซ้ำ แต่พอนานเข้าผมเริ่มเบื่อเนื้องานในลักษณะผู้บริหาร ไม่ได้ขีดเขียนอะไรเลยก็เลยหางานให้ตัวเอง

ผมเปิดคอลัมน์  “ต้อย ต้นโพธิ์” ในหน้าข่าวต่างจังหวัดก็พอทำให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง    เพราะเรื่องเกี่ยวกับตำรวจนั้น มีให้เขียนทุกวัน

เพียงไม่กี่วัน “คุณคงคา ทับมณี” เลขานุการของ “ป๊ะกำพล  วัชรพล” ก็มาหาผมบอกว่า    ถ้าเป็นเรื่องตำรวจทางหลวงอย่าไปตีแรงนัก เพราะตำรวจหน่วยนี้เขามีน้ำใจกับเรา

บอกกันตรง ๆ แบบนี้ผมชอบ มันเป็นเรื่องของการตอบแทนน้ำใจไมตรีที่ตำรวจทางหลวงเป็นความจำเป็นของ “ม้าด่วน” ที่ต้องใช้ความเร็ว ตีรถไปส่งหนังสือพิมพ์ตามจังหวัดต่าง ๆ

เรื่องอย่างนี้ไม่มีปัญหาครับ ผมเขียนคอลัมน์ด้วยความสบายใจ

ช่วงนั้นใครเป็นหัวหน้าข่าวอาชญากรรมผมจำไม่ได้ แต่ทีมข่าวอาชญากรรมไทยรัฐแข็งแกร่งมาก พรั่งพร้อมทั้งคนและอุปกรณ์ครบครัน

ขำได้แต่ผู้อาวุโสคนนี้ “ลัคนัย กุลมา” เป็นรีไรเตอร์ข่าวอาชญากรรม ร่างผอมสูงผิวเหลือง แต่เก๋ากี้กในวงการตำรวจ นักเลง และนักหนังสือพิมพ์  รุ่นเดียวกับ “พยงค์ อรุณฤกษ์ – เทพ ชาญณรงค์” ผู้เป็นตำนานคนหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

จำได้แม่น น้าลัคนัยสักรูปจิ้งจกที่นิ้วชี้เป็นสัญลักษณ์ที่แวดวงนักเลงรู้จัก

ไปอยู่ไทยรัฐใหม่ ๆ  ผมเข้าห้องส้วมได้ยินเสียงน้าลัคนัยซึ่งอยู่ในห้องติดกันพูดเสียงดังเบากว่าเสียงตะโกนนิดเดียว   ตอนแรกสงสัยว่าน้าเขาพูดกับใคร ทะเลาะกับใคร หรือพูดกับกุมารทอง มาตอนหลังจึงถึงบางอ้อ

น้าลัคนัยอ่านหนังสือพิมพ์ขณะที่ถ่ายทุกข์ทางประตูล่าง  ส่วนประตูบนก็วิพากษ์วิจารณ์ข่าวสารที่อ่านอยู่ “ทำไมมันเป็นยังงี้วะ….ทำไมตำรวจไม่จัดการ” อะไรทำนองนี้แหละซึ่งเป็นความสุขของน้าในห้องส้วม

ยังจำจนบัดนี้  วันหนึ่งน้าลัคนัยมาบอกผม

“เฮ้ยไอ้ต้อย ผู้กำกับ ….   เขาส่งมือปืนจากใต้จะมาล่อกบาลเอง แต่คงไม่เป็นไรเพราะเราเจรจากับผู้กำกับเขาแล้ว”

ผู้กำกับคนนี้มีชื่อพยางค์เดียว ผมรู้กิตติศัพท์ในด้านการปราบปราม หรือผลงานด้านวิสามัญฆาตกรรมของเขาพอสมควร  เป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดภาคใต้ สมัยที่หัวหน้าตำรวจจังหวัด มีตำแหน่งแค่ผู้กำกับการ ยศพันตำรวจเอก

อย่างที่เล่าไว้ในตอนที่แล้ว ผมเปิดคอลัมน์ “ต้อย ต้นโพธิ์” ในหน้าข่าวภูธรไทยรัฐ    และเขียนเรื่องเมียผู้กำกับเป็นเจ้ามือหวยใต้ดิน

มันเป็นความเลวร้ายบวกความอัปยศ เขาและเธอนอนเตียงเคียงคู่กัน คนหนึ่งเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์รักษากฎหมาย อีกคนมีธุรกิจนอกกฎหมายไม่มีใครเขียนถึง ผมเขียนเอง    ยอมรับว่าเสียวกบาล แต่มิอาจปล่อยเรื่องแบบนี้ลอยนวลอยู่ในสังคม เมื่อผู้คนทั้งจังหวัดนั้นเขารู้     แล้วผมก็ตรวจสอบข้อมูลจนแน่ชัด

ขอบคุณน้าลัคนัย แต่ผมก็ไม่ประมาท คนถูกไล่ล่าย่อมมีโอกาสพลาดง่ายผมจึงแคล้วคลาดลูกปืนมาถึงทุกวันนี้

ไทยรัฐครองอันดับหนึ่งของหนังสือพิมพ์รายวันเมืองไทย เพราะมีการทำงานเป็นระบบ    ระเบียบด้วยฝีมือการบริหารของ ผอ.กำพล วัชรพล ผู้ไม่เคยย่ำเท้าอยู่กับที่

ลูกน้องทุกคนจึงเรียก ผอ.กำพลว่า “ป๊ะกำพล” อย่างสนิทใจด้วยความรักและเคารพ

ป๊ะกำพลรู้ดีว่าวันหนึ่งเขาจะต้องจากไป แม้จะยิ่งใหญ่ปานไหนก็หนีไม่พ้นความตาย ถ้าเขาตายใครจะมาทำหน้าที่นี้แทน เป็นทั้งเจ้าของ….ผู้อำนวยการ….หัวหน้ากองบรรณาธิการ

แน่นอน ต้องเป็นทายาทสืบทอดความยิ่งใหญ่เอาไว้

ป๊ะกำพลสมรสกับคุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล (ทุมมานนท์) มีบุตรธิดา 3 คน “ยิ่งลักษณ์ – สราวุธ – อินทิรา” หญิง  2 ชาย  1

มีบุตรธิดากับภรรยาอื่นอีก 5 คน “ฟูศักดิ์ – นำพร – เกรียงศักดิ์ –  พีระพงษ์ – เพ็ชราภรณ์”  ชาย  3 หญิง  2

อันที่จริงเก้าอี้หัวหน้ากองบรรณาธิการสามารถเลือกสรรจากนักหนังสือพิมพ์คนไหนก็ได้    เหมือนเช่น “สมิต มานัสฤดี” หัวหน้ากองบรรณาธิการยุคนั้น แต่ป๊ะกำพลคงอ่านประวัติศาสตร์  “เดลินิวส์” รู้สาเหตุของความผันผวน และวิกฤติที่เกิดขึ้นกับ “เดลินิวส์”

ป๊ะกำพลจึงเล็งเป้าไปที่ลูกชาย “สราวุธ วัชรพล” หรือ “หยี” หนุ่มน้อยเพิ่งสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ

คนที่จะคุมบังเหียนหนังสือพิมพ์อย่างน้อยต้องรู้จักการทำงานจากกระดาษสีขาวกลายมาเป็นหนังสือพิมพ์ มีกรรมวิธีอย่างไร

เหมือนกับบอร์ด ขสมก. รัฐมนตรีว่าการคมนาคมแต่งตั้งคนของตัวเองมาเป็นบอร์ด    ไม่รู้ว่าหมอนั่นเคยขึ้นรถเมล์ไหม ไม่รู้ว่าองค์การนี้มีรูรั่วตรงไหนบ้าง มันทุจริตกันตั้งแต่ในรถ ในอู่   จนถึงห้องแอร์ของผู้บริหาร

รถร่วมเอกชนมีกำไร แต่ ขสมก.ขาดทุนบานเบอะ มีหนี้ท่วมหัวเป็นอันดับหนึ่งของรัฐวิสาหกิจ

ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหน มันก็เป็นอย่างนี้แหละครับ แก้ไขไม่สำเร็จได้แต่ให้กิน “พาราเซตามอล” ประคองไข้

เช่นเดียวกับปัญหารากหญ้าที่คาราคาซังมาหลายรัฐบาล มีสินค้าที่ขายเกินราคาอย่างสง่าผ่าเผย ก็ลอตเตอรี่นั่นแหละครับ เอาตำรวจก็แล้ว  ทหารก็แล้วไปเป็นผู้อำนวยการ แล้วก็ตกไปในวังวนของผลประโยชน์

กลับมาที่ป๊ะกำพลเริ่มฉีดเลือดคนหนังสือพิมพ์ให้ลูกชาย

“สราวุธ วัชรพล” เพิ่งกลับจากเมืองนอกหมาด ๆ สัมผัสงานชิ้นแรกด้วยการเป็นนักข่าวอาชญากรรม  ป๊ะกำพลให้ลูกนั่งรถตระเวนข่าวรอบค่ำเพื่อฝึกงาน มีนักข่าวอาวุโสคนหนึ่งเป็นพี่เลี้ยง

นักข่าวช่างภาพขึ้นโรงพัก “สราวุธ” ตามติดดูวิธีการการทำงานหาข่าวและถ่ายภาพ มีข่าวใหญ่เกิดขึ้น ทายาทป๊ะกำพลคนนี้ต้องจดรายละเอียดของข่าวโดยไม่ต้องพึ่งพี่เลี้ยง กลับเข้าโรงพิมพ์ลงมือเขียนข่าวตามข้อมูลที่ตัวเองได้มา เขียนเสร็จเก็บไว้กับตัวไม่ต้องส่งให้โต๊ะข่าวหน้า 1    รอวันรุ่งขึ้นหยิบไทยรัฐมาอ่านข่าวชิ้นนั้น มันตรงหรือใกล้เคียงกับที่ตัวเองเขียน หรือแตกต่างกันแค่ไหน

นี่คือปฐมบทของการเริ่มต้นขึ้นนั่งเก้าอี้สำคัญของคนชื่อ “สราวุธ วัชรพล” หัวหน้ากองบรรณาธิการไทยรัฐคนปัจจุบัน

ตัวผมเองก็ทำงานไปเรื่อย ๆ เรียง ๆ ดูแลงานด้านข่าวภูธร ไม่สนุกเหมือนกับอยู่เดลินิวส์และเสียงปวงชน มิหนำซ้ำยังเกิดความรู้สึกอึดอัดที่ค่อย ๆ  ทวีขึ้นทุกวัน

ผมไม่ชอบการทำงานแบบข้าราชการ ตื่นเช้าแต่งตัวไปทำงานเหมือนกับทุกวันที่ผมต้องตื่นตามเวลารอรถมารับไปทำงาน

เมื่อความอึดอัดมันท่วมท้นใจ และกำลังจะทะลักออก ผมตัดสินใจเข้าพบพี่สมิต   มานัสฤดี เพื่อพูดเรื่องนี้ ชีวิตผมมันเป็นอย่างนี้…… อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด.

 

 

 

 

RELATED ARTICLES