“วีร์อยากบอกว่า การเป็นลูกผู้ใหญ่ไม่ได้ช่วยอะไร”

 

ผู้หมวดสาวสวยคนเก่ง เต็มไปด้วยความสามารถ ทายาท อดีตแม่ทัพสีกากี มาดเคร่งขรึมและตงฉิน

...หญิง พิชญ์สินี วัฒนะ รองสารวัตรกองกำกับการ 5 กองบังคับการอำนวยการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ลูกสาวคนที่สองของ พล...โกวิท วัฒนะ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  กับ พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร

ตัดสินใจเดินตามรอยพ่อบังเกิดเกล้าสมัครเข้าสวมเครื่องแบบผู้พิทักษ์สินติราษฎร์ หลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลภายนอกที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรรุ่นที่ 45

เธอไม่ใช่ ลูกเทวดา ที่เลือกทางเดินมา ประดับดาวบนบ่า เพราะมีเลือดเนื้อเชื้อไข “อดีตผู้นำ

ทุกกิจกรรมการฝึกภาคสนาม เจ้าตัวไม่เคยได้สิทธิพิเศษเหนือใคร

 

ฝันอยากเป็นนักการเมือง มองภาพดีเบตฟูเฟื่องในสภา

“หมวดวีร์” ร.ต.ต.หญิง พิชญ์สินี วัฒนะ ลูกคนเล็กของบ้านวัฒนะ มีพี่ชายอีกคน คือ ร.ท.พีรวิชญ์ วัฒนะ นายทหารประสานงานองค์การทหารผ่านศึก เริ่มต้นวัยเรียนที่สาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมปีที่ 6 แล้วไปเรียนต่อคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคอินเตอร์ มีความฝันตอนเด็กอยากเป็นหมอ พอโตขึ้นความคิดเปลี่ยน

“วีร์อยากเป็นนักการเมือง” เจ้าตัวบอกแรงบันดาลใจเมื่อครั้งเรียนอยู่มหาวิทยาลัย เธอรู้สึกว่า สนุก ชอบการดีเบตกันในรัฐสภา มองว่า มีสีสัน อาจด้วยเพราะเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วอยากจะมีส่วนร่วมในตรงนั้น

หลังจบจากรั้วลูกแม่โดม ความคิดที่จะเป็นนักการเมืองยังฝังอยู่ในหัว ทำให้เธอมุ่งหวังอยากไปเรียนเพิ่มเติมด้านสื่อสารการเมืองโดยเฉพาะ แต่ระหว่างรอตัดสินใจมีโอกาสเข้าไปฝึกงานด้านประชาสัมพันธ์กับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถือเป็นเกียรติที่ได้เข้าไปอยู่ในคณะทำงานของรัฐมนตรีที่เคยเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเหมือนบิดา

 

อินจัดเพราะมีแรงผลักดันภายใน ทำหลายอย่างในชีวิตเปลี่ยน

“ตอนนั้นอายุ 21-22 ปี ยิ่งรู้สึกว่า การเมืองมันน่าสนใจ มีหลายมุม ถ้าอนาคตได้ทำงานตรงนี้จะอินมาก ชีวิตเวลานั้นเหมือนมีแรงผลักดันภายในกับภาพนักการเมืองเต็มไปหมด คิดว่า วีร์น่าจะมาทางนั้น ฝึกงานประมาณครึ่งปีสัมผัสการทำงานที่เป็นระเบียบของท่านอดุลย์ท่านมอบหน้าที่ให้พบปะกับผู้ใหญ่ ให้ดูการประชุม ท่านตื่นเช้ามาก 7 โมง ต้องมาโชว์ตัวที่กระทรวงแล้ว” ผู้หมวดสาวย้อนอดีต

เธอพบจุดเปลี่ยนของชีวิตเยอะมาก เรียนรู้ความรับผิดชอบแบบผู้ใหญ่เต็มตัว แทบลาขาดช่วงเวลาวัยรุ่น เพื่อนชวนไปไหนต้องปฏิเสธ เพราะมีงานประชุมศูนย์ปฏิบัติการของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่รอเตรียมข้อมูลอยู่ เตรียมสรุป เริ่มรู้จักคนหลายๆ คน “ต้องดูด้วยว่า เขาเข้ามาแบบมีผลประโยชน์ไหม เข้ามาเพราะอะไร หวังดีแค่ไหน ต้องเริ่มแยกแยะ จัดสรรพื้นที่ส่วนตัว เนื่องจากเริ่มมรคนเข้ามาวุ่นวาย เข้ามาวิ่งเพื่อผลประโยชน์”

เจ้าตัวเข้าใจเลยว่า ด้วยความเป็นลูกของอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่สนิทกับท่านอดุลย์ แสงสิงแก้ว คนส่วนใหญ่จะวิ่งเข้ามาหา หวังให้เป็นสะพานเชื่อมถึงท่าน ทำให้ต้องแยกแยกและวางตัวใหม่จากที่เด็กวัยรุ่นชอบเดินชอปปิ้งตามห้าง ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนภาพลักษณ์ ทั้งคำพูด การวางตัว  เรียกว่าเปลี่ยนไปหมดจริง ๆ

 

บินข้ามโลกเรียนต่ออังกฤษ เกิดความคิดไม่ถึงจิตวิญญาณ

ฝึกอยู่สำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสร็จเรียบร้อย ได้เวลาบินข้ามโลกไปหาความรู้เพิ่มเติมเข้าศึกษาต่อปริญญาโทบริหารต่างประเทศ มหาวิทยาลัยบอร์นมัธ ประเทศอังกฤษ เป็นชีวิตต่างแดนตลอดขวบปีที่ไร้การควบคุมจากพ่อแม่

“ปกติ คือ จะต้องมีคนโทรตามตลอด แต่ที่นั่นไทม์โซนไม่เหมือนกัน วีร์เลยได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นเด็กที่ควรจะเป็น เช่น เล่นกับเพื่อน ได้ทำทุก ๆ อย่างที่อยากทำ สนุก พอใกล้ ๆ จะกลับมามีความรู้สึกว่า จะจบแล้ว ต้องกลับมารับผิดชอบตัวเองแล้ว ชีวิตความเป็นจริง คือ อะไร คิดตลอดว่าจะลองดูฟิลนักการเมืองอีกที แต่มองแค่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์หน้าใหม่ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครก่อนดีไหม”

แม้จะมีแรงผลักดันภายในที่อยากเป็นนักการเมืองอยู่ ทว่าด้วยความที่เธอทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งของประเทศไทย หัวข้อ การสื่อสารอย่างไรที่ประสบความสำเร็จในการเมือง ในการเลือกตั้ง ได้คำตอบที่รู้สึกประเทศไทย ถ้ายังเป็นแบบนี้ ยิ่งทำก็ยิ่งเหนื่อย ไม่อินแล้ว “วีร์ว่า ตัววีร์ยังเข้าไม่ถึงจิตวิญญาณของนักการเมือง รับไม่ได้กับความที่จะต้องแค่ไปหาเสียง พบเจอประชาชน ทั้งที่ต้องใช้จิตวิญญาณ ต้องใช้ความสามารถ ไม่ใช่การแสดงออกแค่ตรงนั้น” เธอว่า

 

หักเหมุมมองอนาคตใหม่ สุดท้ายลงตัวที่อาชีพตำรวจ

เจ้าตัวหันมาทบทวนหามุมมองใหม่ว่า ทำงานอะไรดี เพราะเวลาที่ทุกคนเรียนจบ มักมีคำถามแรกจากพ่อแม่ คือ จบมาทำอะไร พ่อแม่ก็ถามทั้งวันทั้งคืนจริง ๆ เรียกสติกลับมา พ่อแม่อุตส่าห์เสียเงินส่งให้ไปเรียน มีสองทางเลือก อันแรกไปสมัครกระทรวงต่างประเทศ อีกอัน คือ สมัครเป็นตำรวจที่เป็นทางเลือกหลังสุด พอให้ไปเลือกดู

ลูกสาวคนเดียวของบ้านวัฒนะยื่นขอต่อรอง ถ้าสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศไม่ติดจะเป็นตำรวจให้ ปรากฏว่า สอบไม่ติดกระทรวงการต่างประเทศจริง ๆ   “มันยากมาก เลยมาเป็นตำรวจทุกวันนี้” ร.ต.ต.หญิง พิชญ์สินีหัวเราะกับโชคชะตาฟ้าลิขิตให้เดินตามรอยบิดา “ที่มาของการเป็นตำรวจ อาจจะแปลกๆ ชีวิตซึมซับการเป็นตำรวจของคุณพ่อมามาก เท่าที่วีร์จำได้ เกิดมา คุณพ่อก็เป็นนายพลตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน  วีร์โตมาพร้อมกับการเจอแต่ตำรวจรายล้อมเต็มไปหมดแล้ว”

เธอสารภาพว่า ความที่พ่อกับแม่อายุห่างกันกลายเป็นสังคมทำให้ห่างมากไป พ่อจะไม่ค่อยเข้าใจเรา ส่วนเราก็รูสึกว่า ทำไมพ่ออายุมากกว่าพ่อคนอื่น แต่ไม่ได้รู้สึกกดดันที่พ่อเป็นนายตำรวจใหญ่ แต่ที่สะเทือนตอนที่ขึ้นมัธยม ช่วงชุมนุมทางการเมือง มีคนมาล้อมบ้านต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น คิดว่า ทำไมต้องรุนแรงขนาดนั้น ไม่ได้กลัว แต่รู้สึกว่า ทำไมเป็นแบบนี้ โตขึ้นพอศึกษาเรื่องการเมือง หาความรู้ถึงเข้าใจบริบท

 

ฝึกหนักพาน้ำตาตกใน ลูกผู้ใหญ่ต้องโดนดับเบิล

หมวดวีร์เล่าว่า พ่ออยากให้เป็นตำรวจ เมื่อเห็นว่า พี่ชายเป็นทหารแล้ว สมัยเด็กเรื่องของตำรวจเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนซับซ้อนสำหรับเรา บางครั้งไม่เข้าใจ ต้องถามพ่อ พ่อไม่ได้เป็นคนดุ แต่จะห่วงลูกมากกว่า อยากให้เป็นตำรวจคงคิดว่า ตำรวจเป็นอาชีพที่มั่นคงกับบริบทสังคมในปัจจุบัน ถึงเชื่อพ่อ และสมัครเป็นตำรวจเข้าหลักสูตรอบรมเป็นนายร้อย

“คุณพ่อบอกว่า จะเหนื่อยหน่อยนะ ตอนอบรม วีร์เข้าใจ แต่คุณพ่อไม่ได้ตัดสินใจให้ว่า วีร์จะต้องเป็นตำรวจไปตลอดชีวิต แค่ให้ลองเป็นดู แล้วตั้งแต่วีร์เป็นตำรวจเริ่มเข้าใจคุณพ่อมากว่า สิ่งที่คุณพ่อต้องทำ คืออะไร ถามว่า ตอนเข้าไปอบรมกดดันหรือไม่ในฐานะที่เป็นลูกอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตอบได้เลยว่า น้ำตาตกในทุกวัน สัปดาห์แรกๆ คิดว่า สบายไม่มีอะไร  คงเหมือนเข้าค่ายลูกเสือ พอเข้าไปไม่ได้สบายอย่างที่วาดภาพไว้”

รองสารวัตรหญิงเล่าต่อว่า เวลากินเข้าต้องเป็นระเบียบ ต้องนั่งหลังตรง ทำโน่น ทำนี่ ต้องตามกฎระเบียบ จากที่เคยอยู่ในครอบครัวที่สั่ง ๆ ลงมาได้ มาอยู่ตรงนี้สวนทางกันเลย จากบนสุดกลับไปล่างสุด ถึงจะลูกท่านหลานเธอในรุ่น แต่ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจทุกคนเท่ากัน เราต้องเคารพตรงนั้น พ่อสอนด้วยว่า คนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้  พยายามพัฒนาตัวเองเรื่อย ๆ มีระบบสอนให้เราเชื่อฟัง มีโดนซ่อมหนักเหมือนกันด้วยความเป็นลูกผู้ใหญ่จะต้องถูกฝึกแบบดับเบิล ทริปเบิล หนักไปเลย

 

ระบายทุกข์ระดมไปถึงบิดา คำตอบกลับมาคือ ไม่มีอภิสิทธิ์อะไร

“ตอนแรกไม่เข้าใจ ทำไมต้องเรียกวีร์ไปจวก เรียกเข้าไปคุย หลัง ๆ ครูจะอธิบายว่า ถ้าชีวิตในโรงเรียนนายร้อยตำรวจยังรับมือไม่ได้ ชีวิตภายนอก ไปเป็นตำรวจคงรับไม่ได้ เธอต้องทำให้ได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้  ถ้ารับไม่ได้ ไม่ต้องมาเป็นตำรวจ  วีร์โดนเยอะมาก บางเวลาถึงกับร้องไห้ ฝึกหนักแล้วยังถูกจวก ต้องยอมรับทุกอย่าง ถ้าทำผิดก็ยอมรับหมด เคยฟ้องคุณพ่อนะ  ระบายให้คุณพ่อฟัง ตอนนั้นโดนสั่งกัก แค่เรื่องแอบกินขนม” ผู้หมวดสาวว่า

เธอระบายความรู้ว่า มีครูมาถามพี่ชาย ให้กักหรือไม่ พี่ชายบอกให้กักไปเลยจะได้เรียนรู้ชีวิตว่า การไม่ได้กลับบ้านรู้สึกอย่างไร พอเราไปบอกพ่อว่า ถูกกัก พ่อกลับว่า สบาย ๆ ลูก อยู่ไปแค่ 2 วันเอง พ่อไม่ได้ให้ใช้อภิสิทธิ์อะไร ไม่เคยสั่งไปที่ผู้กำกับปกครอง ไม่เคยช่วย ไม่ว่าลูกชาย หรือลูกสาว  อยากจะให้ลูกโตด้วยตัวเอง ด้วยความที่พ่อเป็นตำรวจตระเวนชายแดนเก่าจะเน้นมากเรื่องระเบียบวินัย ลูกชายอยากเป็นตำรวจ สอบไม่ติด พ่อยังไม่ช่วย

“พี่ชายสอบตำรวจ สอบยังไงก็ไม่ติด คุณพ่อก็ไม่ช่วย บอกด้วยว่า ถ้าสอบแค่นี้ยังไม่ติด คงไปทำอะไรไม่ได้ เป็นผู้นำใครไม่ได้ แค่เริ่มต้นจะโกงแล้ว นี่คือ สิ่งที่คุณพ่อพยายามสอดแทรกคำสอน วีร์อยากบอกว่า การเป็นลูกผู้ใหญ่ไม่ได้ช่วยอะไร มีแต่ความรู้สึกว่า ตอนอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ภาพของคุณพ่อ คุณแม่ลอยมาเลย ถ้าเราทำไม่ได้ ทั้งคู่คงรู้สึกแย่ไปด้วย เพราะคุณพ่อคุณแม่จะเลี้ยงดูแบบให้เป็นผู้ใหญ่”

 

แบกชื่อเสียงของพ่อไว้เต็มบ่า ถึงเวลาคงทำได้ไม่ดีเท่า

ผ่านสนามอบรมโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้ประดับดาวบนบ่าสมปรารถนาของบุพาการี ร.ต.ต.หญิง พิชญ์สินีว่า พ่อปลื้มมาก แม่ก็ดีใจด้วย แต่ความรู้สึกของเรา จบจริงแล้ว ได้เป็นตำรวจจริงแล้ว ทว่าต้องตระหนักไว้ตลอด “คุณพ่อทำคุณประโยชน์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้ดี วีร์ต้องแบกชื่อเสียงคุณพ่อไว้ แต่คิดว่า คงทำไม่ได้เท่าคุณพ่อ เคยบอกคุณพ่อไว้แล้วว่า ถ้าเป็นตำรวจ วีร์คงขอเป็นตำรวจอย่างมีความสุข ไม่ได้อยากเป็นตำรวจที่แข่งขัน เหยียบเพื่อนเพื่อให้ตัวเองถึงจุดสูงสุด อยากเป็นตำรวจที่แฮปปี้  ซีเรียสอะไรกับมัน ปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบให้ดีที่สุด”

หมวดวีร์รับว่า ก่อนหน้ารุ่นพี่มักเตือนว่า ก้าวแรกกับการเข้ามาทำหน้าที่ตำรวจจะไม่ซีเรียส พออยู่ไปสักพักจะรู้ว่า สังคมกดดันและบีบให้เราต้องออกไป เราอาจยังไม่รู้สึกถึงจุดนั้น อนาคตไม่แน่เหมือนกัน ปัจจุบันยังยืนยันรักในอาชีพตำรวจ  อยากรู้เหมือนกันว่า ลิมิตได้แค่ไหน อยากรู้ว่า เราจะทำอะไรให้องค์กรได้บ้าง นำเอาความรู้ที่เรียนมาปรับใช้ โชคดีที่ได้รับความไว้วางใจและเมตตาจากผู้บังคับบัญชาให้เรียนรู้ระบบงานประชาสัมพันธ์ของหน่วยเต็มที

  “ปกติคุณพ่อเป็นคนไม่ค่อยพูด เวลาพูดทีจะพูดจริงจัง ตอนติดดาวประดับยศให้ คุณพ่อบอก อดทนนะลูก วีร์ภูมิใจนะที่ผ่านการอบรมมาได้ ผ่านมาได้ยังไงไม่รู้ รู้สึกว่า เปลี่ยนแปลงตัวเองไปมากจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย เหมือนจากโลกที่เราเคยเห็นกับโลกในความจริงที่เป็น เคยเห็นว่า ปกติจะอารมณ์เหมือนโลกยูนิคอร์น โลกสวย  แบบไปไหนก็แฮปปี้ เครียดมากที่สุด คือ แค่ทะเลาะกับเพื่อน พอมาเป็นตำรวจรู้สึก ไม่ได้แล้ว เราต้องอยู่ในกฎระเบียบ อยู่ในสังคมที่เป็นอีกแบบ  มีกฎระเบียบที่กำหนดให้เราควรทำ ต่างไปจากเดิม แต่ไม่อึดอัด เพียงแค่ต้องระวังตัวมากขึ้น”

 

สัมผัสตำรา 3 นายพลใหญ่ สะสมไว้ใช้เป็นประสบการณ์ชีวิต

ลูกสาวอดีตผู้นำปทุมวันย้ำว่า พ่อให้โอกาสในการมาเป็นตำรวจ ไม่ได้คาดหวังว่า ต้องขนาดไหน คงอยากให้ไปสูงสุดในสิ่งที่ทำได้ อยากให้ลูกโตได้ด้วยตัวเอง ส่งมาให้ได้เป็นถึง ร.ต.ต.แล้ว ที่เหลือต้องไปเองแล้ว เช่นเดียวกับท่านอดุลย์ แสงสิงแก้วที่คอยสอนเรื่องความขยัน ความอดทน สอนว่า คนที่ตื่นก่อนมักจะได้เปรียบ หมั่นศึกษาหาความรู้ต่อไป อย่าหยุด อย่าท้อ วันไหนที่รู้สึกว่า ยังทำได้ไม่ดีพอ คือ ให้ทำให้มากกว่าเดิมจนกว่าจะสำเร็จ  ท่านเหมือนเป็นนายคนแรกในชีวิต ท่านสอนเยอะมาก สอนเราเหมือนคนในครอบครัว

“สมัยฝึกงานวันหนึ่งวีร์ไปทำงานสาย ท่านจะไม่ดุ แต่จะให้ตะโกนว่า วีร์อยู่ไหน วันเดียววันนั้นตั้งแต่นั้นวีร์ไปเช้าเลย ท่านจะสอนการวางตัวด้วย สอนทุกอย่าง เป็นครูคนหนึ่งที่เคารพมาก พอมาเป็นตำรวจ ท่านอดุลย์ก็ดีใจ เวลาไปบรรยายที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจตอนวีร์อบรม รู้สึกอุ่นใจเหมือนญาติผู้ใหญ่มาหา สิ่งที่ท่านสอนทุกคนกับที่สอนวีร์ คือ อันเดียวกันเลย อยากให้ทุกคนได้ดี อยากให้ตำรวจทุกคนมีโอกาสพัฒนาตัวเองให้ดีจะทำให้รอบข้างดีด้วย”

นอกจากสัมผัสอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถึง 2 คน คนหนึ่งเป็นพ่อ อีกคนหนึ่งเสมือนญาติ เธอยังได้สัมผัส พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นายเวรเก่าของพ่อ เสมือนผู้มีพระคุณช่วยชีวิตไว้ตั้งแต่วัยเยาว์ หมวดวีร์ไม่เคยลืมความทรงจำตอนอายุ 6-7 ขวบไปเที่ยวทะเลภาคใต้แล้วเกือบจมน้ำในถ้ำ นายเวรของพ่อเป็นคนช่วยดึงชูชีพพาพ้นน้ำหวุดหวิด เมื่อโตขึ้นแล้วมีโอกาสไปนั่งทำงานด้วยกัน เธอได้รับคำสอนเพิ่มเติมเรื่องการคบเพื่อนว่า อย่าเอ็นดูเขาจนเอ็นเราขาด ให้ช่วยตัวเองก่อน การมีน้ำใจเป็นเรื่องดี แต่ต้องดูด้วย ถือเป็นเจ้านายที่มีพระคุณอีกท่าน

 

เพิ่งเข้าใจหัวอกผู้นำทัพสีกากี ในวันที่ต้องแบ่งให้ครอบครัว

สวมเครื่องแบบติดยศ ร.ต.ต.หญิงได้ 2 เดือนกว่าแล้ว เธอยังบอกว่า แม่เป็นผู้ใหญ่อีกคนที่ชอบสอนให้ยืนด้วยขาตัวเอง เราพึ่งใครไม่ได้ วันใดที่พ่อแม่ไม่อยู่แล้ว ตัวเองต้องยืนให้ได้ แม่จะไม่สอนแบบโอ๋เลย ไม่เคยเลี้ยงให้เป็นคุณหนู ให้เราทำด้วยตัวเอง ไม่สอนแบบตามใจ มีแต่ญาติๆ ตามใจ อาจเพราะพ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ ทำแต่งานจริง ๆ เคยน้อยใจเหมือนกัน ทำไมพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ กว่าจะเข้าใจก็ตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

เจ้าตัวขยายความว่า พอมาทำงานแล้ว ยิ่งเข้าใจพ่อแม่ คือ ต้องทำงาน แล้วไม่มีเวลาจริง ๆ ด้วยความต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ ตอนฝึกงานกระทรวงแรงงาน เคยคิดว่า ท่านอดุลย์รับผิดชอบคนทั้งประเทศ แล้วต้องจัดสรรเวลาครอบครัวอย่างไร เพราะน้อยมาก แต่ต้องจัดสรรให้ได้  การที่ปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาระดับแสนคน แล้วไหนจะต้องมาดูครอบครัวอีก เข้าใจพ่อเลย

“ตอนที่คุณพ่อเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคุมกำลังตำรวจ 2 แสนกว่าคน ตอนนั้นคุณพ่อก็จะเหนื่อยมาก ยิ่งอยู่ในช่วงที่มีม็อบก็น่าจะหนัก วีร์ทำได้แค่ให้กำลังใจ แม้สมัยเด็กพอรู้ว่า จะมีปฏิวัติ แค่ไม่ต้องไปโรงเรียน ดีใจตามประสาเด็ก พอโตมาแล้วถึงรู้ว่า ปฏิวัติไม่สนุกเลย ยิ่งมารู้จักเรื่องควบคุมฝูงชนงรู้เลยว่า ตำรวจรับบทหนักจริง ๆ ทุกยุคทุกสมัย”

เผชิญผลกระทบในอดีต ดีดเส้นลิขิตตามรอยผู้บังเกิดเกล้า

ท้ายสุดเธอรำลึกความหลังสมัยเรียนด้วยว่า เมื่อเพื่อนรู้เป็นลูกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บางคนมีกำแพงขึ้นมาทันที ทั้งที่เราไม่ได้อะไรกับใคร เรื่องเพื่อนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนพอสมควร บางคนกลับตั้งแง่ว่า ลูกผู้ใหญ่คงนิสัยไม่ดี มีความคิดฝังใจว่า ลูกผู้ใหญ่คงเกเร มีคนคิดไปเองไม่น้อย บางรายมีแบบอิจฉา เราก็รู้ แต่ไม่ได้เอามาใส่ใจ มองว่า เขามีสิทธิคิด ตราบใดที่ไม่ได้มาล้ำเส้น มานินทาต่อหน้าเราก็ปล่อยเไป แล้วแต่จะคิด เราไม่ยุ่ง แต่อย่ามายุ่งกับเรา

พอสถานการณ์การเมืองรุนแรงแบ่งเป็นฝักฝ่าย หมวดวีร์เจอผลกระทบหนักกว่าเก่าถึงขั้นมีอาจารย์บางคนมาด่ากลางห้องเรียนกล่าวหาพ่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ “วีร์ต้องแก้ไปว่า อาจารย์คะใจเย็น ๆ หนูไม่เกี่ยว เหมือนคุณพ่อเป็นแค่ตัวละครในยุคนั้น  แล้วบังเอิญว่า ครอบครัววีร์เข้าไปอยู่ตรงนั้นด้วย คนจะเห็นภาพลักษณ์ตรงนั้น ไม่ได้มองว่า คุณพ่อทำตามหน้าที่ แต่วีร์ก็ทำอะไรไม่ได้  แต่ก็ผ่านมาได้ ถือเป็นประสบการณ์ชีวิต”

“วีร์คิดว่า ชีวิตวีร์เหมือนเป็นกราฟขึ้นลงตลอด มีขาขึ้น ขาลง คุณพ่อด้วย แต่คุณแม่เป็นอีกแบบหนึ่ง จะนิ่งๆ  ไม่หนักเท่าตำรวจ รู้ว่าหนัก แต่วีร์ก็มาเป็น เหมือนว่า เลือกไม่ได้ เพราะชั่งใจมาตลอด ราวกับเซ็นสำเนาถูกต้องมาแล้ว มีลูกพี่คนหนึ่งเขาบอกว่า ทำไมเราไม่เริ่มจากฐานเสียงของสิ่งที่เรามี คือ บ้านเป็นตำรวจ หนีให้ตายยังไงก็ไม่พ้น ลองเป็นดูสักครั้งให้ชื่นใจ ลองดูว่า ชีวิตตำรวจเป็นอย่างไร” ร.ต.ต.หญิง พิชญ์สินีว่า

 

 

 

 

RELATED ARTICLES