ข้อควรระวังในการตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหาของตำรวจ

 

วันนี้ทนายคลายทุกข์ ขอนำคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด(ฉบับย่อ) เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการตรวจค้นจับกุมมานำเสนอกับพี่น้องประชาชน และเพื่อนตำรวจได้เก็บไว้เป็นอุทาหรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องใช้ความระมัดระวัง มิฉะนั้น อาจถูกไล่ออกจากราชการได้

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 1308/2560

ข้อเท็จจริงในคดีไม่อยู่ว่า สิบตำรวจเอก ศ. ได้เข้าตรวจค้นนาย ว. ขณะลงจากรถ บริเวณหน้าสถานบริการแห่งหนึ่ง โดยใช้ปืนจ่อที่ศีรษะ แต่นาย ว. วิ่งหนี จึงได้ใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าหลายนัดเพื่อข่มขู่ เมื่อสิบตำรวจเอก ศ. วิ่งตามไปทันได้สั่งให้ นาย ว. นอนคว่ำและใช้เท้าเหยียบที่แผ่นหลังของนาย ว. เพื่อทำการตรวจค้นร่างกาย แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใด ๆ และได้ล้วงเอากระเป๋าของนาย ว. ติดตัวไปด้วย นาย ว. จึงไปแจ้งความและดำเนินคดีอาญากับสิบตำรวจเอก ศ. ฐานพยายามฆ่าและชิงทรัพย์ ต่อมา ผู้บังคับบัญชาทราบเรื่อง จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย โดยสิบตำรวจเอก ศ. ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบสวนว่า ตนได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อล่อซื้อยาเสพติดตามที่ได้รับแจ้งมาจากสายลับ แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวตนไม่ได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบก่อนเนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน รวมทั้งไม่ได้ลงบันทึกประจำวันตามระเบียบของกรมตำรวจ ส่วนผู้บังคับบัญชาของสิบตำรวจเอก ศ. ได้ให้ข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการสอบสวนว่าได้มอบหมายให้สิบตำรวจเอก ศ. ปฏิบัติหน้าที่พนักงานวิทยุ หมวดจักรยานยนต์ และมอบหมายให้ปฏิบัติการชุดปฏิบัติการพิเศษ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยของหน่วยตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แต่ไม่ได้มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ชุดการข่าวหรือชุดป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแต่อย่างใด คณะกรรมการสอบสวนจึงมีมติว่า สิบตำรวจเอก ศ. กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เห็นควรไล่ออกจากราชการ ผู้บังคับการตำรวจตะเวนชายแดนจึงมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ

สิบตำรวจเอก ศ. ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ จึงยื่นอุทธรณ์ แต่ถูกยกอุทธรณ์ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองโดยยื่นฟ้องผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ และเพิกถอนผลการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ รวมทั้งให้ตนกลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม โดยอ้างต่อศาลว่า ตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายอันเป็นอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้ว่าจะไม่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยตรงก็ตาม อีกทั้งผลในทางอาญาศาลจังหวัดได้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอฟังได้ว่าตนพยายามฆ่าผู้เสียหายตามฟ้องและร่วมกับผู้อื่นชิงทรัพย์ผู้เสียหาย จึงเห็นว่าตนไม่ถือเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง การถูกลงโทษไล่ออกจากราชการจึงเป็นโทษที่หนักเกินไป

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้ว เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะได้รับรายงานจากสายลับว่าจะมีการล่อซื้อยาเสพติดก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการกระทำผิดที่จะถือเป็นกรณีเร่งด่วน ซึ่งจะยกเว้นให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการโดยพลการโดยไม่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาและไม่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบได้ และการออกปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้จัดทำหลักฐานสำเนาภาพถ่ายเอกสาร หรือลงบันทึกประจำวันหมายเลขธนบัตรที่ใช้ในการล่อซื้อเป็นหลักฐานก่อนออกปฏิบัติหน้าที่ เป็นการผิดวิสัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะทำการล่อซื้อยาเสพติด ซึ่งจะต้องเตรียมการวางแผนให้รอบคอบ เพื่อประโยชน์ในการรวบรมหลักฐานให้เพียงพอที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไปได้ ประกอบกับผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามระเบียบกรมตำรวจ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2539 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 ที่กำหนดให้ตำรวจต้องลงบันทึกประจำวันหรือรายงานประจำวันที่ตำรวจจัดทำขึ้นเพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ กรณีจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 77 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ที่บัญญัติให้ตำรวจต้องถือและปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ จรรยาบรรณและวินัยของตำรวจโดยเคร่งครัด นอกจากนี้ พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ได้ใช้อาวุธปืนยิ่งขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่บุคคลผู้ต้องสงสัยพร้อมทั้งขู่บังคับให้นอนคว่ำลงแล้วเอาเท้าเหยียบบริเวณแผ่นหลังเพื่อทำการตรวจคันตัวแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายและไม่ปรากฏพฤติกรรมที่แสดงว่ามีการซื้อขายยาเสพติด เป็นการพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตและยิงปืนข่มขู่ผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นผู้รักษากฎหมายได้กระทำการโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายเสียเอง จึงเป็นการกระทำผิดวินัยตำรวจ และได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 79 วรรคหนึ่ง (5) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ซึ่งโทษที่ลงได้คือปลดออกหรือไล่ออก

ดังนั้น คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและคำสั่งยกอุทธรณ์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

RELATED ARTICLES