อิ่มบุญ อุ่นใจไป 3 เวียง ร่วมสืบชะตาแบบล้านนา

 

ารท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย (สนท.) และสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ (สสทน.) จัดทริปท่องเที่ยวในโครงการ “อิ่มบุญ อุ่นใจ ไป 3 เวียง (เวียงละคอน  เวียงหละปูน  เวียงพิงค์)”  พวกเราจึงออกเดินทางตามเส้นทาง เริ่มจากเวียงละคร สักการะพระธาตุลำปางหลวง พระธาตุประจำปีฉลู  ณ  วัดพระธาตุลำปางหลวง ขึ้นบันไดนาค ผ่านซุ้มประตูโขงไปเป็นวิหารหลวง ภายในบรรจุมณฑปพระเจ้าล้านทองที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง ด้านหลังก็เป็นพระธาตุลำปางหลวง เจดีย์ทรงกลมก่ออิฐถือปูนแบบล้านนา ภายนอกบุด้วยทองจังโก ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ  ภายในบรรจุพระเกศา และพระอัฐิธาตุพระนลาฎข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง  บริเวณรั้วรอบองค์พระธาตุยังมีรูกระสุนปืนที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศ

ที่นี่ยังมีภาพจิตรกรรมศิลปะล้านนาที่ว่าเก่าแก่ที่สุด และหลงเหลือเพียงแห่งเดียวในไทย ปัจจุบันภาพลบเลือนไปมาก และวิหารพระพุทธที่สร้างคู่กับวิหารน้ำแต้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยงดงามมาก  ส่วนวิหารพระเจ้าศิลาประดิษฐานพระเจ้าศิลา พระพุทธรูปพระนาคปรกเก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้สมัยนั้น รวมทั้งรอยพระพุทธบาทไม้ศิลปะล้านนา เป็นรอยพระพุทธบาท 4 รอย สลักรอบพระบาทเว้าเข้าไปในพื้นไม้ ร่องรอยบนพื้นรักเป็นลวดลายต่าง ๆ และที่สำคัญคือเงาพระธาตุและพระวิหารหัวกลับ ที่เกิดจากการหักเหของแสงในซุ้มพระบาทที่ถือว่าเป็น UNSEEN เมืองไทย

ชมพระธาตุหัวกลับแล้วก็เดินทางไปวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามที่อายุนับ 1,000 ปี เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ชมพญาธาตุ มณฑปศิลปะแบบพม่า ประดับลวดลายด้วยกระจกมีสีสันงดงาม ประดิษฐานพระพุทธรูปบัวเข็ม ถัดไปเป็นองค์พระบรมธาตุดอนเต้า เจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ตามด้วยวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่มีอายุเก่าแก่พอๆ กับวัด และยังมี วิหารหลวงที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย, วิหารพระเจ้าทองทิพย์ประดิษฐานพระเจ้าทองทิพย์ และวิหารลายคำสุชาดารามที่มีจิตรกรรมฝาผนังลวดลายทองงดงาม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเชียงแสน

ต่อด้วยการเยือนพิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี เรียนรู้ประวัติชามตราไก่ที่มีต้นกำเนิดมาจากจีน  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ่อค้าชาวจีนตลาดเก่า ถนนทรงวาด ได้สั่งนำเข้าชามไก่ ต่อมาชาวจีนที่เคยทำชามไก่ได้ย้ายถิ่นฐานมาไทย  ได้สร้างโรงงานและเตาเผาชามตราไก่ขึ้น ในช่วงนั้นชามไก่มีไม่มากนัก เนื่องจากขาดดินคุณภาพดี จนปี พ.ศ.2498 อาปาอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน ได้ค้นพบแร่ดินขาวที่บ้านปางคำ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ได้ก่อตั้งโรงงานเซรามิคแห่งแรกของลำปางเมื่อ พ.ศ.2508 เพื่อผลิตชามตราไก่ด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงการเผาด้วยเตามังกร (เตาฟืนโบราณ) เมื่อเดินในพิพิธภัณฑ์ เราจะเห็นการผลิตชามตราไก่ทุกขั้นตอน  ตั้งแต่นำดินมาขึ้นรูป การวาดลาย จนถึงการเคลือบผิวชามแล้วนำไปเผา ที่นี่ยังมีชามไก่ขนาดเล็กที่สุดในโลก คือเล็กกว่าเมล็ดข้าวเปลือก ต้องมองผ่านแว่นขยายจึงจะเห็นลวดลายบนชาม และที่สำคัญคือเราได้เห็นเตาเผามังกรโบราณที่มีอายุกว่า 100 ปีที่ยังคงสภาพเดิมอยู่

พวกเรายังนั่งรถม้าชมเมือง เดินทางสู่หอศิลป์ลำปาง เพื่อทราบรายละเอียดของโครงการ “อิ่มบุญ อุ่นใจ ไป 3 เวียง (เวียงละคอน  เวียงหละปูน  เวียงพิงค์)” จากนางสุจิตรา จงชาณสิทโธ ผู้อำนายการภูมิภาค ภาคเหนือ ททท. นางนาถนรี  ธนปัญโญ  ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำปาง ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ดร.กิตติภูมิ นามวงศ์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง นายธนา แก้วนิล นายกสมาคมท่องเที่ยวนครลำปาง และนายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนายการ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางในโครงการ “อิ่มบุญ อุ่นใจ ไป 3 เวียง” ตั้งแต่วันนี้-30 กันยายน 2556 นี้ จะได้รับเกียรติบัตรลงนามของเจ้าอาวาสทั้ง 9 วัด เพื่อแสดงว่าท่านเป็นนักท่องเที่ยวแสวงบุญ  โดยสามารถรับได้ที่ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ และสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร.053-276140-2  หรือ www.tourismthailand.org  พร้อมรับประทานอาหารแบบกาดหมั้ว

วันรุ่งขึ้นคณะเราเดินทางสู่เวียงหละปูน ไปสักการะอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี องค์ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย ก่อนเดินทางไปวัดพระบรมธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร  เพื่อสักการะพระธาตุหริกุญชัย พระธาตุประจำปีระกา  เมื่อผ่านซุ้มประตูวัด ก็จะเห็นวิหารหลวงที่ประดิษฐานพระแก้วขาว พระเสตังคมณีศรีเมืองหริภุญชัย ประทับนั่งอยู่เหนือบุษบก ถัดไปก็เป็นองค์พระบรมธาตุหริภุญชัย เจดีย์เก่าแก่ทรงลังกาที่ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อันมี ธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตร

เมื่อเดินมาทางขวาก็จะเป็นสุวรรณเจดีย์ (ปทุมวดีเจดีย์) เจดีย์ทรงปราสาทสร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ  ที่บรรจุพระเปิม พระพิมพ์ที่มีชื่อเสียงของลำพูน  นอกจากนี้ยังมีหอไตร สถานที่เก็บรักษาคัมภีร์พระไตรปิฎกครบทั้ง  85,000  พระธรรมขันธ์ พร้อมทั้งอรรถกถาฎีกาและอนุฎีกา รวมทั้งสิ้น 420 พระคัมภีร์  วิหารพระละโว้ประดิษฐานพระละโว้ วิหารพระพุทธที่ประดิษฐานพระพุทธ วิหารพระทันใจประดิษฐานพระทันใจ  และวิหารพระบาทสี่รอย ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทที่มีถึง 4 รอยซ้อนกันต่อด้วยวัดมหาวันวนาราม วัดนี้พระนางจามเทวีสร้างขึ้น และได้อัญเชิญพระพุทธรูป 2 องค์ คือ พระแก้วขาว (พระเสตังคมณี) และพระศิลาดำ (พระพุทธสิกขิ) พระศิลาประดิษฐานอยู่  ณ วัดมหาวัน

จากนั้นเราก้าวสู่เวียงพิงค์  นมัสการพระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุประจำปีมะแม ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ชมเจดีย์สีทองตั้งตระหง่านเปล่งแสงทองเหลืองอร่ามยามต้องแสงตะวัน เป็นเจดีย์ทรงเชียงแสน ฐานสูงย่อมุมระฆังทรงแปดเหลี่ยมปิดด้วยทองจังโก 2 ชั้น ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เดินท่องความงดงามของพระธาตุจนเพลิน ก็ได้เวลาเดินทางกลับที่พัก รอตะวันรุ่งตื่นไปทำบุญตักบาตรที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร พระวิหารขนาดเล็กศิลปะล้านนา ผนังภายในประดับด้วยลายคำและจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสังข์ทอง สุวรรณหงส์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ (พระสิงห์) พระคู่บ้านคูเมืองของชาวล้านนา เมื่อเดินชมความสวยงามภายในวัดจนได้เวลา พวกเราจึงกลับเข้าไปในวิหารหลวง ร่วมพิธีสืบชะตาหลวงแบบล้านนา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ขจัดปัดเป่าทุกข์โศกทั้งหลาย

ออกจากวัดพระสิงห์วรมหาวิหารสู่วัดเจ็ดยอด วัดที่กษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งรายสถาปนาขึ้น และใช้เป็นสถานที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก มีโบราณสถานโบราณวัตถุที่ล้ำค่า โดยเฉพาะเจดีย์เจ็ดยอด  เป็นเจดีย์ทรงอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง ตัวอาคารมหาวิหารก่อผนังทึบล้อมสามด้าน เว้นด้านหน้าเปิดเป็นทางเข้าออกมหาวิหาร เชิงผนังตอนในสุดของวิหารก่อแท่นแก้วประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย พระประธาน  หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก ผนังภายนอกฉาบปูนและตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นรูปเทวดาในลักษณะนั่งขัดสมาธิเพชรและยืนถือดอกบัว  ชั้นบนเป็นหลังคาทรงตัดประกอบด้วยเจดีย์ 7 องค์  ผู้คนจึงเรียกว่า “วัดเจ็ดยอด”

ปิดท้ายทริปนี้ด้วย พระธาตุเจดีย์หลวง ณ วัดเจดีย์หลวงวรมหาวิหาร เป็นพระธาตุที่มีความสูงที่สุดในล้านนา บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมรูปทรงแบบโลหะปราสาทของลังกา รูปลักษณ์ทรงเจดีย์แบบพุกาม  ซุ้มจระนำด้านตะวันออกเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตนานถึง 80 ปี ประดับด้วยประตูโขงทั้ง 4 ด้าน มีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งในโขงทั้ง 4 มีรูปพญานาค 5 เศียร อยู่ 2 ข้างบันได และ รูปปั้นราชสีห์ 4 ตัว ตั้งอยู่ตรงสี่มุมของมหาเจดีย์  มีรูปปั้นช้างค้ำรายล้อมรอบองค์เจดีย์  ในสมัยมหาเทวีจิระประภา รัชกาลที่ 15 แห่งราชวงศ์มังราย เกิดพายุฝนตกหนัก แผ่นดินไหว พระมหาเจดีย์หลวงได้พังทลายลงมาเหลือเพียงครึ่งองค์  เมื่อเดินภายในวัดจะเห็นพระวิหารหลวงทรงล้านนา ภายในประดิษฐานพระอัฎฐารส พระประธานทองสำริดปางประธานอภัย    ตามด้วยพระวิหารจัตุรมุข ซึ่งเป็นที่ตั้งของเสาอินทขิล (เสาหลักเมืองเชียงใหม่) เป็นเสาอิฐก่อปูนตัดกระจกสี  บนเสาอินทขิลมีพระพุทธรูปทองสำริดปางรำพึง ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบก

RELATED ARTICLES