ทำแล้วสุขใจ กำไรด้านจิตใจ

 

“บางครั้งภรรยาผมก็มีบ่นบ้างว่าต้องทำถึงขนาดนี้เชียวหรือ ผมไม่คิดว่าหรอกว่า สิ่งที่เราทำที่มีผลตอบแทนกลับมาอย่างไร ได้ประโยชน์อะไร ควักเงินทำส่วนตัวเป็นแสน แต่เมื่อทำแล้วมันสุขใจ มันคือกำไรด้านจิตใจ เสียสละคือการให้ ให้ด้วยกาย ให้ด้วยใจ ให้ทุนทรัพย์ สิ่งที่ผมให้ทุกคนได้ประโยชน์ สังคมได้ประโยชน์ ได้ปรับปรุงพัฒนา เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และที่สำคัญได้แสดงความจงรักภักดี ได้แทนคุณแผ่นดิน ทำในตอนที่มีกำลังทำได้ ” นี่เป็นประโยคที่ถูกเอ่ยออกมาอย่างจริงใจ ของ นายพิสุทธ์ ภัทรภูมิกุล คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธรปากเกร็ด (กต.ตร.สภ.ปากเกร็ด) และถูกเชิญให้เป็นที่ปรึกษา กต.ตร. อีกหลายแห่งจากการให้ด้วยใจของเขา

นายพิสุทธ์ เป็นเจ้าของกิจการโครงเหล็ก งานเหล็กทุกชนิด งานประติมากรรม ออกแบบตกแต่ง และงานป้ายโฆษณา ที่มีหมวกอีกหลายในอาสาทำงานด้านสังคม ซึ่งนอกจากเป็น กต.ตร.สภ.ปากเกร็ดแล้ว ยังเป็นที่ปรึกษา กต.ตร. อีกหลายโรงพัก อาทิ สน.สายไหม สน.บางโพ ทุ่งสองห้อง และยังเป็น อนุ กต.ตร.บก.น.1 ถือเป็นจิตอาสาที่หลายหน่วยงานอยากให้ร่วมดำเนินงานด้วย เพราะประจักษ์ด้วยการกระทำ แต่ยังถ่อมตนว่าเป็น กต.ตร. มือใหม่ เพราะเพิ่งทำงานด้านนี้มาแค่ 2 ปี เท่านั้น และไม่ใช่ กต.ตร.ที่มีฐานะร่ำรวย แค่พอลืมตาอ้าปาก และยังมีหนี้ในระบบธุรกิจ แต่อยากทำงานช่วยสังคม ช่วยส่วนรวมในส่วนที่พอช่วยได้ แบบตัวเองไม่ทุกข์ ไม่เกินตัว

นายพิสุทธ์ เล่าว่า เป็นคนหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ แต่มาทำมาหากินตั้งตัวอยู่ที่ จ.นนทบุรี ได้ประมาณ 20 ปี ตัวเขาเองเริ่มจากติดลบ ไม่ใช่เริ่มจากศูนย์ ต้นทุนชีวิตไม่ใช่คนร่ำรวย มีทุกวันนี้ด้วยการสู้ชีวิต แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นต้นทุนในตัวคือการชอบทำบุญ ช่วยเหลือส่วนรวม หรือ ที่เรียกว่า จิตอาสา ช่วยตามกำลังศรัทธา มีมากให้มาก มีน้อยให้น้อย แบบที่ตัวเองไม่ทุกข์ ทำแล้วสุขใจก็พอ เมื่อวันหนึ่งพอตั้งตัวได้ ก็อยากแทนคุณแผ่นดิน เริ่มเข้าหาโรงพักแบบไม่มีใครแนะนำ คือ เสนอทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.9 และ ร.10 ให้กับโรงพัก โดยเฉพาะใน จ.นนทบุรี ให้ได้มากที่สุด แต่ละซุ้มใช้งบประมาณเป็นแสน

“ผมเดินเข้าหาเอง มีความตั้งใจทำ เพื่ออยากทำสาธารณะประโยชน์ โดยเฉพาะซุ้มเฉลิมพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เราเทิดทูน ผมคิดและทำสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่ไม่ได้ถูกเชิญมาทำงาน กต.ตร. และการยื่นมือเข้าช่วยเหลือทั้งสิ่งขอและเงินสนับสนุนอีกหลายอย่างหลายแห่งที่ทำ เพราะถือเป็นการคืนกำไรให้สัมคม กระทั่งได้รู้จักกับ พ.ต.อ.ธนากร ก้อนแก้ว ผกก.สน.บางโพ ในขณะนั้น ตอนนี้ย้ายไปที่ สน.สายไหม เป็นคนเชื้อชวนให้ผมมาทำหน้าที่ กต.ตร. แรกๆผมก็ไม่กล้ารับ แบ่งรับแบ่งสู้ กลัวจะทำไม่ได้ แต่เมื่อมองว่าการทำงานด้านจิตอาสา สังคม คนส่วนรวมได้ประโยชน์ก็รับปากทำดำรงตำแหน่งรองประธาน พอพ้นวาระก็ให้เป็นที่ปรึกษาต่อ และก็ถูก สภ.ปากเกร็ดเชิญมาเป็น กต.ตร. ผมรู้สึกภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม ได้ร่วมผลักดันดำเนินโครงการต่างๆ โดยฉพาะโครงการบ้านสีขาวปลอดยาเสพติด” นายพิสุทธ์ แจกแจงที่มาที่ไปของการมาเป็น กต.ตร.

กต.ตร.ผู้มีต้นทุนเป็นจิตอาสาผู้นี้ ยังบอกว่า แรกๆมีความรู้สึกเฉยๆกับตำรวจ ไม่ได้ชอบและไม่ได้เกลียด แต่พอมาสัมผัสคลุกคลี ความรู้สึกไม่เฉยแล้ว เปลี่ยนจากเฉยๆเป็นเห็นใจ โดยเฉพาะตำรวจชั้นผู้น้อย ในความคิดตนเองชั้นผู้น้อยหมายถึงระดับรองสารวัตรลงมาถึงชั้นประทวน เพราะเงินเดินน้อย งานหนัก เวลาให้ครอบครัวก็น้อย ได้รับแรงกดดันจากการทำงาน ซึ่งมีแรงกดดันสองฝั่ง ทั้งฝั่งสายบังคับบัญชา และแรงกดดันจากชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้ทาง กต.ตร.ต้องดูแลเรื่องการปลอบขวัญ ให้กำลังใจ เจ็บป่วยดูแล ทำงานดีมีรางวัล เพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะถ้ากำลังใจดี ปฏิบัติงานเต็มประสิทธิภาพ คนที่ได้ประโยชน์ ทั้งได้รับการอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คือประชาชนคนในสังคม

“การที่ได้เข้าทำงานด้านนี้ ก่อนอื่นต้องมีความเข้าใจในการทำงานของตำรวจ ว่า การที่มาเป็น กต.ตร. นั้น คืออะไร ทางสถานีตำรวจต้องการอะไร  โดยที่ผ่านมาได้เห็นและรับรู้การทำงานของตำรวจแล้ว เราเข้าใจเลยว่าตำรวจไม่ได้สบายอย่างที่คิด แต่ละครั้งในการประชุม ก็จะมีปัญหามากหมาย เช่น ตำรวจไม่เพียงพอ อุปกรณ์ขาด ตำรวจต้องทุ่มเททำงานทุกฝ่าย ประโยชน์ที่ได้คือความสะดวก ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน ดังนั้นเมื่อเข้ามาแล้วรับรู้ปัญหาแล้ว ก็ช่วยกันหาทางแก้ไข เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับตำรวจ ดึงชาวบ้านเข้ามาร่วมงานตำรวจให้มากขึ้น โดยเฉพาะงานด้านป้องกันปราบปราม เมื่อชาวบ้านเข้ามาสัมผัส มาร่วมงานก็มีความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น ปรับเปลี่ยนทัศนคติด้านลบได้เยอะ เทศกาลสำคัญต่างๆก็จัดเพื่อมเสริมกำลังใจ และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะวันเด็ก วันสงกรานต์ มีการมอบทุนเพื่อการศึกษาให้บุตรหลานตำรวจด้วย”นายพิสุทธ์ กล่าวย้ำ

การมี กต.ตร. กับที่ปรึกษา เป็นเรื่องที่ดี และเป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กันกับตำรวจ ประสานงาน ทำงานร่วมกันกับทางโรงพักอย่างเป็นระบบ แม้จะหมดวาระ และต้องเว้นวรรค ก็ยังจะให้การช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา สนับสนุน ช่วยได้จะช่วยอย่างไม่ลังเล ถ้าดูแล้ว พิจารณาแล้วว่าสิ่งที่ให้การสนับสนุนไม่สูญเปล่า เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม แน่นอนว่าการเปลี่ยนผู้กำกับสถานี ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานต่างๆ อาจสะดุดล่าช้าในโครงการของผู้กำกับคนเก่า บางโครงการเดินต่อ บางโครงการยุติ แต่ทุกอย่างก็ราบรื่นผ่านมาด้วยดีทุกผู้กำกับ เพราะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ทิ้งท้ายนายพิสุทธ์ บอกด้วยว่า คนที่จะมาทำงาน กต.ตร. หรือที่ปรึกษา อันดับแรกคือต้องมีจิตอาสาเป็นต้นทุน รู้จักการเสียสละ สละเวลา สละเงิน สละแรงกาย และความคิด ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ไม่ประกอบอาชีพหรือธุรกิจสีเทาหรือสีดำ ควรจะขาวสะอาด 100 เปอร์เซ็นต์ หากจะมองว่า กต.ตร. เป็นกระเป๋าเงินของตำรวจ ก็คงจะจริง เพราะตำรวจไม่มีงบประมาณจะมาพัฒนาหรือทำโครงการอะไรได้บ่อยๆ ส่วนใหญ่คณะ กต.ตร.จะใช้วิธีลงขัน แต่ใช่ว่าจะให้แบบหลับหูหลับตาให้ เพราะเงินที่สนับสนุนไปล้วนไปทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมทั้งสิ้น ฉะนั้นการให้แต่ละครั้งคือเต็มใจและยินดี เนื่องจากเป็นเรื่องของส่วนรวมล้วน อันไหนไม่เหลือบ่ากว่าแรงให้ส่วนตัวไม่ลงขันก็มี สิ่งที่ได้คือความสุขทั้งผู้รับและผู้ให้ ถือเป็นประโยชน์ที่คุมค่าทั้งสองฝ่าย

RELATED ARTICLES