(28)   บ๊ายบาย “ยักษ์ใหญ่ไทยรัฐ”

 

  อันที่จริงผมอยู่ไทยรัฐก็มีความสุขดีอยู่ แม้จะไม่มีตำแหน่งหลัก ไม่ได้เป็นหัวหน้าข่าว    แต่ก็กินเงินเดือนหัวหน้าข่าว ได้สวัสดิการต่าง ๆ เท่าเทียมกัน มีภาระรับผิดชอบตามสมควร    และมีความสบายใจกับการทำงาน พี่เฉลิมชัย ทรงสุข  หัวหน้าข่าวภูมิภาคปล่อยให้ผมแสดงฝีมือเต็มที่ ไม่เคยมาสั่งการให้ทำโน่นทำนี่แต่อย่างใด    

ไม่ว่าสังคมไหน หรือหน่วยงานใด ต้องมีปัญหาเกิดขึ้นเป็นประจำ สายงานข่าวภูมิภาคของไทยรัฐก็เช่นกัน มีนักข่าวต่างจังหวัดบางคนในภาคกลางที่ใกล้ชิดพี่เฉลิมชัย ไม่พอใจการทำงานของผม คาบข่าวไปฟ้องพี่เฉลิมชัยหาว่าผมไม่ลงข่าวให้เขา ก็เป็นความจริง พราะนักข่าวคนนั้นส่งแต่ข่าวและภาพสังคมอย่างเดียว เห็นไทยรัฐเป็นไม้กันหมากัด ผมไม่แยแสครับจะฟ้องใครก็เชิญ

พี่เฉลิมชัยก็ให้เกียรติผม ให้น้ำหนักมาทางผม ไม่เคยเอาเรื่องเหล่านั้นมาสร้างความกังวลใจแก่ผมเลย น้ำจิตน้ำใจของพี่เฉลิมชัย ทั้งประเสริฐและเที่ยงธรรม

ผมผ่านงานหนังสือพิมพ์รายวันมา 2  ฉบับ เดลินิวส์กับเสียงปวงชน เมื่อมาอยู่ไทยรัฐก็ไม่ได้ปล่อยให้ลมหายใจผ่านรูจมูกไปวัน ๆ  สิ่งที่ผมอยากรู้นั้น ทำไมไทยรัฐจึงเป็นยักษ์ใหญ่ที่ยืนยงคงกระพัน  ไม่มีฉบับไหนมาแย่งกระบองในมือได้

ต้องออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้จบปริญญาด้านสื่อสารมวลชน ความรู้ผมแค่ ม.6 ในยุค

“กล้วยไม้ออกดอกช้าฉันใด การศึกษาย่อมเป็นไปฉันนั้น” ตามคำขวัญของ ม.ล.ปิ่น มาลากุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

แต่ผมผ่านงานการเป็นนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์มาพอตัว ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค

คลุกคลีกับข่าวสารทั้งภาคสนามและในที่ตั้งจึงวิเคราะห์ไปตามภูมิปัญญาและประสบการณ์ ซึ่งผมเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดของหนังสือพิมพ์รายวัน

อยู่ที่  “เสน่ห์”

เสน่ห์ที่ว่านี้คือ  คอลัมน์ต่าง ๆ หลากหลาย  ไม่ว่าจะเป็นด้านการบ้านการเมือง อาชญากรรม เศรษฐกิจ หรือบันเทิง ซึ่งหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับก็มีคอลัมน์เหล่านี้  แต่ขาดคนเขียนคอลัมน์ที่มีฝีมือ มีลีลา มีสำบัดสำนวน สามารถปลุกเสกตัวหนังสือให้มีชีวิต ติดตาและตรึงใจผู้อ่าน เทียบเท่าไทยรัฐได้

หยิบฉบับไหนก็ได้ ไล่เรียงตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย ผมว่าไทยรัฐกินขาดเหนือชั้นกว่าทุกฉบับ จึงครองใจผู้อ่านทุกระดับ ตั้งแต่ยุคนั้นจนถึงยุคนี้

เรื่องข่าวน่ะหรือ ถ้าเป็นสมัยสมาคมนักข่าวตั้งอยู่แถว ๆ โรงเลี้ยงเด็ก ถนนบำรุงเมือง    จนกระทั่งมาปักหลักที่ถนนราชดำเนินกลาง มีการแข่งขันเรื่องข่าวอย่างเข้มข้น นักข่าวต้องใช้ชั้นเชิงหลอกล่อคู่ต่อสู้ โดยเฉพาะข่าวอาชญากรรมงัดวิทยายุทธ์มาห้ำหั่นเพื่อให้ได้ข่าวเดี่ยวเพียงฉบับเดียว เหมือนกับหนังจีน “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด”

แต่มาถึงยุคสมาคมนักข่าวย้ายไปถนนสามเสน งานวันนักข่าวไปจัดกันที่โรงแรม ข่าวทุกชิ้นแทบจะเหมือนกันทุกฉบับ นักข่าวไม่ต้องลำบากลำบนกระเสือกกระสนหาข่าวให้เหนื่อยยาก    เพราะมีการแถลงข่าวทั้งการเมืองและอาชญากรรม เนื้อหาของข่าวมาจากแหล่งเดียวกัน และบางครั้งออกมาเหมือนกันทุกตัวอักษร นั่นเกิดจากการส่งข่าวแทนกัน

นอกจากเสน่ห์แล้ว สิ่งสำคัญสุด ๆ ของหนังสือพิมพ์รายวัน  คือ ต้องเดินก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันทั้งสองขา

ขาหนึ่งได้แก่ “กองบรรณาธิการ” แข็งแกร่งเปี่ยมล้นด้วยคุณภาพของบุคลากรทุกฝ่าย    ตั้งแต่นักข่าวจนถึงหัวหน้ากอง และอีกขาได้แก่  “กองจัดการ” ทั้งฝ่ายจัดจำหน่าย ฝ่ายโฆษณา    ทำงานแข่งกับเวลาเพื่อเสิร์ฟอาหารเช้าให้ผู้คนพร้อมกันทั้งประเทศ

เมื่อสองขาก้าวไปด้วยกันพร้อมกัน จึงไม่มีอะไรจะมายื้อยุดฉุดรั้งยักษ์ใหญ่สีเขียวได้

คอลัมนิสต์ดาวเด่นอีกคนของไทยรัฐ ผมต้องเขียนถึง เพราะเป็นคอลัมน์ในแนวอาชญากรรมที่ผมคุ้นเคย

“ไว ตาทิพย์” เจ้าของคอลัมน์ “กระพริบที่นี่” อยู่มุมซ้ายบนของหน้าสุดท้าย เป็นคอลัมน์ทรงอิทธิพลของกระบวนการยุติธรรม เฉียบแหลมเฉียบคมทุกย่อหน้าทุกบรรทัด

พี่ปั๋น “ปรีชา ทิพยเนตร”  เจ้าของนามปากกา “ไว ตาทิพย์” เป็นคนเหนือผิวขาวละมุน    อ่อนน้อมถ่อมตน มีรอยยิ้มทั้งปากและดวงตา

พี่ปั๋นมาทำงานทุกเช้า จุดแรกมุ่งไปที่โต๊ะตัว ที. หน้าห้องหัวหน้ากองบรรณาธิการ เป็นโต๊ะหัวหน้าข่าวหน้า 1 มี  “พี่มานิจ สุขสมจิตร” นั่งตรงนั้นเป็นที่ปรึกษา พี่ปั๋นไปสำรวจข่าวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นสด ๆ  ร้อน ๆ ทั่วประเทศ

ถ้าเช้านั้นไม่มีข่าวที่มีแง่มุมในการเขียนคอลัมน์ พี่ปั๋นจะกลับไปที่โต๊ะตัวเองหยิบจดหมายผู้อ่านเขียนมา ฉีกซองอ่านทีละฉบับ ส่วนใหญ่เป็นจดหมายร้องทุกข์ และส่วนใหญ่เป็นพฤติการณ์ของตำรวจน้ำเลว

เมื่อได้สิ่งที่ต้องการ พี่ปั๋นจะเขียนต้นฉบับด้วยลายมือ ผมไม่กล้าถามว่า พิมพ์ดีดไม่เป็นหรือไร แต่ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น ใช้เวลาไม่นาน พี่ปั๋นปั่นตัวอักษรเเสร็จสรรพ และเป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจ  ไทยรัฐจึงเป็นที่รวมของคอลัมนิสต์ระดับ “กระบี่มือหนึ่ง” มากมาย

ถ้าไม่ติดธุระข้างนอก พี่ปั๋นจะอยู่ในโรงพิมพ์จนตะวันบ่ายคล้อยจึงยกพลพรรค “แก๊งสี่กั๊กสี่แบน” ซึ่งผมเอ่ยชื่อไว้ในฉบับที่แล้วไปเสพสุราหาความสำราญ เสพสมทั้งรสอาหารและบรรยากาศที่ร้านเจ้าประจำย่านสะพานควาย

ผมรู้จักพี่ปั๋นที่ไทยรัฐ แต่เคยได้ยินกิตติศัพท์ของพี่สมัยพี่อยู่สยามรัฐ อยู่กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นคนตั้งนามปากกานี้ให้ตรงตัวครับ “ไว ตาทิพย์”  คือ “ปรีชา  ทิพยเนตร”

พี่ปั๋นมีลีลาเขียนคอลัมน์ไม่เหมือนใคร มีย่อหน้ามากมาย โดยเน้นความสำคัญและการให้ขนาดของตัวอักษรแต่ละบรรทัด พี่เขาหยอดเสน่ห์ตรงนี้ ทำให้ผู้คนติดกันงอมแงมทั้งประเทศ

ผมออกจากไทยรัฐไปหลายปีแล้วไปเจอพี่ปั๋นอีกทีที่หนังสือพิมพ์ “ภัยรายสัปดาห์”

พี่ปั๋นเลิกชายเสื้อให้ดูรอยแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง บอกหมอห้ามกินเหล้า แต่พี่ปั๋นกระซิบกับผมว่า   ล่อเบียร์แทน

ครั้งหนึ่งเราไปเทศกาลกินเจที่ภูเก็ตตกเย็นนั่งชมวิวอยู่บนยอดเขารัง พี่ปั๋นสั่งเหล้ามาฉลองเทศกาล บอกว่านี่แหละ “ยอดเจ” ของแท้ของจริง ผมเลยต้องฉลองยอดเจกันสองคนกับพี่ปั๋น เพราะพรรคพวกที่ร่วมคณะเขาไม่ถนัดเรื่องนี้

จู่ ๆ  ก็มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งโผล่เข้ามา ไม่รู้ว่าเขารู้จากไหนว่าพวกเราเป็นนักข่าว

เขามาร้องทุกข์เรื่องศาลเจ้าแห่งหนึ่งไม่ยอมให้เขาเป็นม้าทรง  ทั้ง ๆที่เขาทำหน้าที่นั้นมาทุกปี และเป็นทุกปีที่เขาใช้เหล็กแหลมเสียบแก้มข้างหนึ่งไปทะลุอีกข้างหนึ่ง  แต่พอเรารู้สาเหตุที่ศาลเจ้าแห่งนั้นไม่ให้เด็กหนุ่มคนนี้ร่วมวงไพบูลย์ในปีนั้น มันก็ถึงบางอ้อที่พวกเราหัวร่อจนแทบตกเขา เรื่องราวมันพิลึกอย่างนี้ครับ

ก็ไอ้หนุ่มมันพิเรนทร์  คิดว่าถ้าทำแบบที่ต้องการจะกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ไอ้หนุ่มขอใช้เหล็กแหลมแทงอัณฑะตัวเอง ใครเขาจะยอมเสียชื่อศาลเจ้า เพราะมันตายลูกเดียว

พี่ปั๋นล่วงลับไปหลายสิบปีแล้ว แต่ผมยังระลึกถึงพี่อยู่เสมอ หาคนเขียนคอลัมน์แนวกระบวนการยุติธรรมเท่าพี่ไม่มีแล้ว

แต่ก็ดีไปอย่างนะพี่นะ  ถ้าพี่มีชีวิตอยู่และยังอยู่ไทยรัฐ ผมว่าพี่ตกงานแน่ ๆ เพราะหน้าหลังไทยรัฐมีโฆษณาเต็มหน้าทุกวันทั้งปี ไม่เว้นช่องให้พี่ไปกระพริบตรงนั้นเลย

ผมอยู่เดลินิวส์กับเสียงปวงชน ไม่เคยคิดว่าจะต้องอยู่กี่ปีกี่เดือน หรือจะต้องปักอยู่ตลอดไป ที่ไทยรัฐก็เหมือนกัน แค่ไหนก็แค่นั้น กำหนดตัวเองไม่ได้หรอกครับ

แล้วก็ถึงวาระชีพจรลงเท้า เมื่อวันเวลาผ่านไป  1  ปี  6  เดือน ประมาณนั้น

พี่สมิต มานัสฤดี เรียกผมเข้าไปในห้อง มีพี่มานิจ  สุขสมจิตร นั่งอยู่ด้วย พี่สมิตบอกว่าตอนนี้รับนักข่าวเพิ่มมาอีกหนึ่งคน ชื่อ  “ศุภเกียรติ ธารณกุล” ให้มาอยู่ฝ่ายข่าวภูมิภาค ก็อยากให้ทั้งผม และศุภเกียรติช่วยกันดูแลงานในส่วนนี้อย่างเต็มพิกัด

งานที่พี่สมิตพูดถึงคือ  ให้ผมกับศุภเกียรติผลัดกันทำงานภาคกลางคืนคนละ 15 วัน    มาทำงานตอน  4  ทุ่ม นอนในโรงพิมพ์คอยสั่งการควบคุมงานด้านข่าวจนถึง  2  โมงเช้า

พี่สมิตท่องคาถาบทเดิมว่า ผมกับศุกเกียรติต่างเป็นผู้อาวุโส เหมือนกับตอนมอบภารกิจให้ผมกับพี่ไพทูรย์  สุนทร เขียนข่าวสังคมต่างจังหวัดคนละ  2  ภาคนั่นแหละ

ผมไม่รู้จักตัวตนศุภเกียรติ รู้แต่ว่าอยู่เดลินิวส์สี่พระยาก่อนผม อยู่หน้าเศรษฐกิจแล้วออกไปอยู่  “เดลิไทม์”   กับ  “เรือใบ”

สงสัยตระหงิด ๆ  ในใจ  เรื่องนี้พี่เฉลิมชัย ทรงสุข เขารู้หรือเปล่า แต่เอาละไม่ถามดีกว่า    ถือว่าพี่สมิตกับพี่มานิจเป็นผู้บังคับบัญชาก็แล้วกัน แต่เรื่องสำคัญที่ผมต้องถามครับ

ถามว่า การทำงานภาคราตรีที่ว่านั้น มีเบี้ยเลี้ยงหรือเปล่า

จำได้แม่น พี่มานิจเป็นคนตอบ  “ถือว่าเป็นการทำงานปกติ ไม่มีเบี้ยเลี้ยง”

ออกจากห้องพี่สมิตกลับไปถึงบ้าน ผมยังงุนงงกับคำตอบนั้นไม่หาย

ไอ้เรื่องทำงานกลางคืนนอนโรงพิมพ์จนรุ่งเช้า ผมทำมาก่อนครับ ตั้งแต่เป็นรีไรเตอร์และหัวหน้าข่าวหน้า  1 ของเดลินิวส์สี่พระยา มันก็เป็นการทำงานปกติ “เข้าเวร”  ตามหน้าที่

แต่…..มีเบี้ยเลี้ยงครับ

ผมไม่มีรายได้ทางอื่น นอกเหนือไปจากเงินเดือนกับเบี้ยเลี้ยง ไม่เคยเอาความเป็นนักหนังสือพิมพ์  หรือนามปากกาไปทำมาหากินในทางมิชอบ เห็นคอลัมนิสต์หลายคน มีบ้านมีรถเก๋ง ผมเฉย ๆ ครับ ไม่เคยอิจฉาตาร้อน  ทั้ง ๆ  ที่รู้ว่าเขาได้เงินได้ทองมาจากไหน

ผมไม่เคยเกี่ยงงาน ให้ผมทำงานนอนโรงพิมพ์มันเรื่องเล็ก แต่บอกว่าเป็นการทำงานตามปกติ ไม่มีเบี้ยเลี้ยง  ขณะที่การทำงานภาคราตรีนี้ มีนักข่าวหน้าภูมิภาคเข้าเวรรับข่าวตลอดคืน   และมีเบี้ยเลี้ยงตามธรรมเนียมการปฏิบัติภารกิจ มันแปลกประหลาดไม่เคยเห็น

กลับมานั่งทบทวนที่บ้าน ลำดับเหตุการณ์ที่ผ่านมา แล้วก็ได้คำตอบให้ตัวเองในคืนนั้น

ผมทำงานชิ้นใหม่ที่ได้รับมอบหมาย   ไม่ได้ครับ

เมื่อทำไม่ได้ มันก็ต้องอยู่ไม่ได้  การตกงานแม้เป็นสิ่งที่ผมไม่ปรารถนา  แต่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ อะไรจะเกิดมันต้องเกิด

วันรุ่งขึ้น  ผมเข้าโรงพิมพ์แต่เช้าตรู่จัดการพิมพ์ใบลาออก เอาไปวางบนโต๊ะทำงานพี่สมิต    เสร็จแล้วเดินออกประตูด้านหน้า ไม่ได้หันกลับไปมองด้วยซ้ำ โหนรถเมล์กลับบ้านก็แค่นั้นเองสำหรับคนอย่างผม……ฆ่าได้ หยามไม่ได้

ยังเช้าอยู่ครับ ยังไม่มีใครมาทำงานเลยไม่ได้บอกลา “น้าเติม” ทองเติม เสมรสุต…..”เฮียโก”  โกวิท สีตลายัน….. “พี่เหลิม”  เฉลิมชัย ทรงสุข…..อุโฆษ ขุนเดชสัมฤทธิ์ เพื่อนรุ่นน้องที่เป็นคนชักนำผมเข้าไทยรัฐ

กลับถึงเมียร้องถามด้วยความแปลกใจ   “อ้าว เป็นอะไรรึ หรือว่าไม่สบาย”    ผมตอบว่า   “สบายใจแต่ไม่ค่อยสบายกาย ผมลาออกแล้ว”

มีปัญหาอะไรเกี่ยวกับการทำงาน ผมไม่เคยพามันเข้ามาในบ้าน ไม่เคยเอาปัญหานั้น ๆ  มาให้เมียรับรู้  แต่เธอจะรู้ต่อเมื่อปัญหาผ่านไป อย่างการโบกมือลายักษ์ใหญ่ครั้งนี้ ผมก็ต้องเล่ารายละเอียดให้เธอรู้  สรุปว่าการตั้งกฎกติกาให้ผมทำงานภาคราตรี เดือนละ  15  วันโดยถือว่าเป็นการทำงานตามปกติไม่มีเบี้ยเลี้ยงนั้นเป็นเรื่องที่ผมรับไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการทำงานตามปกติและมีเบี้ยเลี้ยง ผมไม่เกี่ยงงอนแต่ประการใด

เมียผมเมียพยักหน้ารับทราบแล้วปลอบใจให้สู้ชีวิต ในทำนอง “หมาข้างถนนยังไม่อดตาย” เมียผมเป็นคนตรงไปตรงมา เป็นนักเลงใจถึงมากกว่าผู้ชายบางคน ถึงได้ใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันยาวนานถึง 45 ปีแล้วมะเร็งลำไส้ก็พรากเธอจากผมไป

นอนในบ้านไม่ได้ไปไหน ยังไม่คิดจะไปเยี่ยมเยียน “เฮียเต็ง” กำพล พิริยะเลิศ อยากรู้เหมือนกันโยกย้ายออฟฟิศ “เสียงปวงชน” ไปอยู่แห่งหนใด แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็ขอนอนพักผ่อนก่อน ไม่ได้ใช้เหล้าความฟุ้งซ่านเหมือนตอนออกจากเดลินิวส์  แม้จะออกจากไทยรัฐโดยไม่ได้รับเงินเดือนงวดสุดท้ายก็ตาม

สองวันผ่านไป เฮียโกวิท สีตลายัน กับ “โรจน์ งามแม้น” มาหาที่บ้านซอยเสนานิคม  2    บ้านหลังนี้เฮียโกกับ “ชลอ อยู่เย็น” เคยมาเยี่ยมเยือนทักทายแล้วจึงรู้จักเส้นทาง  เฮียโกถามว่าไม่เห็นไปทำงาน มีเรื่องอะไรหรือ ผมบอกว่า ลาออกแล้ว ทิ้งใบลาบนโต๊ะหัวหน้ากองบรรณาธิการ    แล้วเล่าเหตุผลให้ฟังก็เรื่องจะให้ทำงานภาคราตรีนั่นแหละ

แต่ไม่วายที่จะบอกความในใจ ผมรู้ว่าพี่สมิตรับศุภเกียรติเข้าไทยรัฐ เพราะรู้จักสนิทกันมาก่อน ศุภเกียรติถนัดงานด้านข่าวเศรษฐกิจ ก็แล้วทำไมจึงเอามาโยนแหมะไว้ที่ฝ่ายข่าวภูมิภาค    ทั้ง ๆ ผมรับมอบภารกิจโดยตรงจาก “พี่เฉลิมชัย ทรงสุข” หัวหน้าข่าวภูมิภาคตัวจริงเสียงจริง    ให้กำกับดูแลงานแทนพี่เขา

อีกอย่างเท่าที่รู้มา ไทยรัฐไม่เคยไล่ใครออก นอกจากไม่อยากให้ใครอยู่ก็ใช้วิธี “บีบ”   จนกระทั่งคนคนนั้นต้องลาออก หรือว่า ผมเป็นอีกคนที่อยู่บนเส้นทางนั้น พี่สมิต หรือพี่มานิจอาจหมั่นไส้ผมก็มิอาจรู้ได้ แต่ผมไม่เคยทำอะไรผิดกฎกติกาและจรรยาบรรณ

วันรุ่งขึ้น เฮียโกวิทมาที่บ้านอีก บอกว่า ไปสอบถามพี่สมิตเรื่องใบลาออกของผม พี่สมิตแจ้งว่า ส่งไปให้กองอำนวยการที่มี “เลิศ อัศเวศน์” เป็นหัวหน้ากองและมีการอนุมัติให้ลาออกแล้ว

เฮียโกวิทถามด้วยความห่วงใย แล้วต่อนี้ไปผมจะไปอยู่สำนักไหน ผมตอบว่ายังไม่รู้    เพราะไม่ค่อยรู้จักใคร เฮียเลยยื่นความปรารถนาดีให้ผมเลือกเอา ระหว่างหนังสือพิมพ์ 2  ฉบับ

จะอยู่  “ดาวสยาม” หรือ “ตะวันสยาม”

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES