ก็อดเบอร์!! ตำนานตำรวจเปลี่ยนเมือง

 

ฮ่องกงในอดีต เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ในยุค 70 จะมีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน หรือการรับเงินใต้โต๊ะค่อนข้างเยอะ แต่ตอนนี้กลับมีการพัฒนา ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในแง่ที่ดีขึ้น มีความโปร่งใสชัดเจนอย่างเห็นได้ชัด

เกาะฮ่องกง ในยุคเมื่อ 30-40 ปีก่อนนี้ เรียกว่า “คอร์รัปชั่น” เกือบถึงขั้นกระอักเลือดเลยทีเดียว เพราะในฐานะที่เป็นดินแดนเศรษฐกิจ จึงมีเรื่องฉ้อฉลเกิดขึ้นเต็มไปหมด ตั้งแต่การรับสินบน ข่มขู่รีดไถ มาเฟีย หรือการฮั้วกันระหว่างผู้มีอำนาจ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำหน้าที่เป็นหัวขบวนในการละเมิดกฎหมายมากที่สุด

ตำรวจฮ่องกง ได้รับการขนานนามว่า เป็นตำรวจที่ ” คอรัปชั่นมากที่สุดในโลก”!!!!

แล้วในที่สุด ก็เกิดกรณีของนายตำรวจระดับผู้กำกับนาม “ปีเตอร์ ก็อดเบอร์” และนี่คือ ฟางเส้นสุดท้ายของปัญหาการทุจริตสำหรับชาวฮ่องกงผู้โหยหาความมีขื่อแปของบ้านเมือง

“ปีเตอร์ ฟิตซ์รอย ก็อดเบอร์ “ ชาวเมืองผู้ดีอังกฤษ เป็นอดีตหัวหน้าผู้กำกับการแห่งกรมตำรวจฮ่องกง ตั้งอยู่ในเขตเกาลูน ก็อดเบอร์ใช้ชีวิตอยู่ในฮ่องกงมากว่า 20 ปี ดินแดนที่ซึ่งคอร์รัปชั่นนั้นทำกันเป็นประเพณีและได้แทรกซึมไปทั่วทุกระดับของสังคม สินบนที่เรียกกันว่า “เงินค่าน้ำร้อนน้ำชา” หรือ “เงินใต้โต๊ะ” นั้นเป็นเงินที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับบริการพื้นฐานแทบทุกเรื่อง ในส่วนของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์นั้นเป็นที่รู้กันทั่วว่าทุกชั้นยศล้วนรับสินบนและนับเงินกันจนนิ้วบวมหลายสิบปีแล้ว

ก็อดเบอร์ตกเป็นข่าวฉาวโฉ่ในคดีอื้อฉาวกรณีรับสินบนในช่วงไม่นานนัก ก่อนที่เขาจะเกษียณอายุราชการในปี 2516 เรื่องมันแดงขึ้นมาเอาตอนที่หน่วยตรวจสอบภายในของตำรวจได้พบการโอนเงินอย่างผิดปกติจากฮ่องกงไปยังประเทศแคนาดา แล้วบัญชีธนาคารปลายทางดันใช้ชื่อว่า “พี. เอฟ. ก็อดเบอร์” ยอดที่โอนคือ 12,000 เหรียญแคนาดา ฝ่ายตำรวจได้เริ่มต้นการสืบสวนภายในภายใต้ชื่อรหัสว่า“ฮาวาน่า” แต่เนื่องด้วยอำนาจที่จำกัด การทำงานของหน่วยต่อต้านคอร์รัปชั่นชุดนี้จึงไปไม่ถึงไหน ก็อดเบอร์เองก็นกรู้เริ่มไหวตัวทัน พี่แกเลยชิงทำเรื่องเกษียณก่อนอายุครบ ขอยุติการทำหน้าที่ในตำแหน่งของตัวเองในเดือนกรกฎาคม แต่ชั่วเวลาเพียง 3 เดือนก่อนที่ก็อดเบอร์จะเผ่นออกนอกประเทศกลับไปซุกอ้อมอกแผ่นดินแม่เมืองผู้ดีอังกฤษอันเป็นบ้านเกิด ผู้บัญชาการตำรวจฮ่องกงก็ได้รับเบาะแสสำคัญ ฝ่ายตำรวจได้ติดต่อไปยังธนาคารถึง 480 แห่ง และพบว่ามีเงินจำนวนหลายล้านเหรียญในบัญชีธนาคารทั้งในประเทศและในต่างประเทศล้วนอยู่ในความควบคุมของผู้กำกับตัวแสบนี้ทั้งสิ้น

ว่ากันว่าก่อนจะเกษียณ ก็อดเบอร์ได้สะสมเงินทองไว้คิดเป็นมูลค่ารวมแล้วไม่ต่ำกว่า 4.3 ล้านเหรียญฮ่องกง(หรือตกประมาณ 600,000 เหรียญสหรัฐ)

 

ต่อมาตำรวจหน่วยปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบได้เข้ามาสืบสวนที่มาของทรัพย์สินลึกลับนี้และมีคำสั่งให้เขาชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ทั้งหลายของเขา ก็อดเบอร์นั้นฉวยโอกาสทองช่วงที่ฝ่ายอัยการให้เวลาเขาหนึ่งสัปดาห์เพื่ออธิบายที่มาที่ไปของบรรดาทรัพย์สินที่เขาถือครองอยู่ ก็อดเบอร์จัดการให้ภรรยาของตนเดินทางออกจากฮ่องกงในทันที และต่อมาตัวเขาเองก็ได้ใช้สิทธิพิเศษในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจผ่านทั้งด่านตรวจศุลกากรและด่านตรวจหนังสือเดินทางฉลุยที่สนามบินไคตั๊กเพื่อตรงไปขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเพื่อหลบหนีอาญาแผ่นดิน

การหนีรอดไปได้ของก็อดเบอร์ได้ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อความเที่ยงธรรมในการสอบสวนคดีนี้โดยพวกสีเดียวกันกับก็อดเบอร์  และได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปอย่างเร่งด่วนในเรื่องการดำเนินการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ

ด้านนักศึกษาปัญญาชนก็เคลื่อนไหวด้วยการเป็นหัวหอกในการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สวนสาธารณะวิกตอเรีย (Victoria Park) เพื่อประท้วงและประณามรัฐบาลที่ล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่น เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างฉับไวและให้นำตัวก็อดเบอร์กลับมาขึ้นศาลให้ได้

เพื่อตอบสนองเสียงเรียกร้องของประชาชน รัฐบาลก็ลงมือดำเนินการโดยไม่ชักช้า !!!  หลังจาก ก็อดเบอร์เผ่นออกนอกประเทศไปแล้ว เซอร์ อแลสแตร์ แบลร์-เคอร์ ผู้พิพากษาสมทบอาวุโสได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีการหลบหนีของก็อดเบอร์ เขาได้รวบรวมขัอเท็จจริงและเขียนรายงานขึ้นมา 2 ฉบับ ฉบับแรกให้รายละเอียดพฤติการณ์การหลบหนีของก็อดเบอร์ ในรายงานฉบับที่ 2 นั้น เซอร์อแลสแตร์ชี้แจงว่า “องค์กรผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งหลายมีความเห็นโดยทั่วไปว่า สาธารณชนจะขาดความมั่นใจว่ารัฐบาลนั้นมีเจตนาอย่างแท้จริงที่จะต่อต้านคอรัปชั่นหากสำนักงานปราบปรามการทุจริตไม่ถูกแยกออกจากหน่วยงานตำรวจ….”

สืบเนื่องจากรายงานของเซอร์อแลสแตร์ทั้งสองฉบับดังกล่าว เซอร์ เมอเรย์ แม็คลีโฮส ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงในขณะนั้นชี้แจงแสดงเหตุผลของความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเพื่อต่อต้านการทุจริตในสุนทรพจน์ของเขาที่แสดงต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายนิติบัญญัติในเดือนตุลาคม 2516 จนในที่สุดได้ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งองค์กรอิสระที่เรียกว่า คณะกรรมการอิสระป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ Independent Commission Against Corruption หรือ ไอซีเอซี (ICAC) ขึ้นมาเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2517

แม้แต่ ” กระบวนการเลือกตั้ง” ไอซีเอซีก็เข้าไปมีบทบาทไม่น้อย เพื่อเป็นกันชนไม่ให้นักการเมืองขี้โกงเข้ามามีอำนาจในการบริหารหรือออกกฎหมาย

ระยะเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น สถิติการคอร์รัปชันของฮ่องกงก็ดิ่งฮวบอย่างไม่เคยมีมาก่อน ขณะเดียวกัน ข้าราชการขี้ฉ้อกว่า 100 ชีวิตก็เดินหน้าเข้าคุกอย่างไม่มีข้อโตแย้ง อีกทั้งยังสามารถทำลายทัศนคติแบบดั้งเดิมของชาวฮ่องกงว่า การโกงเป็นเรื่องธรรมชาติ หรือพฤติกรรมการวิ่งเต้น เดินเกมใต้โต๊ะลงอย่างราบคาบ

 

ผลงานแรกที่ไอซีเอซี ทำได้สำเร็จก็คือ ‘การปฏิรูปตำรวจ’ ด้วยการล้างบางเจ้าหน้าที่ชั้นสูง ซึ่งว่ากันว่ามีอภิสิทธิ์และไม่มีใครแตะต้อง ลงมาก่อน หลายรายต้องย้ายที่ทำงานจากโต๊ะในกรมตำรวจ มาอยู่ในซังเตแทน และอีกไม่น้อยที่จะต้องกลับบ้านไปเลี้ยงหลานก่อนวัยอันควร

รัฐบาลตัดสินใจที่จะปฏิรูปตำรวจฮ่องกง ตัวอย่างหลักการสำคัญ  ประมาณ 3 ประการ คือ

ประการที่ 1 ตำรวจที่ยืนได้อย่างมีศักดิ์ศรี ย่อมมีกำลังปกป้องสังคม

ขึ้นเงินเดือนข้าราชการตํารวจ ถ้าจำไม่ผิด  20-25 เท่า ให้ตำรวจสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ระดับคุณภาพชีวิตที่ดีตามสมควร มีผู้ที่ต่อต้านว่า ได้มากเกินไป แต่มีผู้สนับสนุนมากกว่า เนื่องจาก เห็นว่าอาชีพตำรวจ มีความเสี่ยงภัยสูง ควรได้รับค่าตอบแทนสูง และนอกจากนั้น ทำให้ตำรวจหากินเองใต้โต๊ะ จะสามารถหาได้มากกว่านี้เยอะ ตำรวจฮ่องกงจึงมีรายได้สูงสุดอันดับต้นๆของโลก

 

ประการที่ 2 ระบบตรวจสอบเข้มแข็ง

รัฐบาลได้จัดตั้ง ปปช ขึ้นมาเป็นองค์กรอิสระ เพื่อตรวจสอบการทำงานของตำรวจอย่างจริงจัง ไม่มีการลูบหน้าปะจมูก อย่างไรก็ดี ในช่วงแรก ปปช ได้ยกเว้นโทษหนัก แก่ผู้ที่ถูกร้องเรียนมาก่อน แต่สำหรับผู้ที่ ถูกร้องเรียนเรื่องร้ายแรง ก็จะดำเนินการต่อไป มิฉะนั้นจะมีตำรวจเลือกทำงานอยู่น้อยมาก

 

ประการที่  3 แก้กฎหมายให้สอดคล้องกับสังคมความเป็นจริง

มีการ ปรับแก้กฎหมายบางฉบับที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ให้ตำรวจสามารถทำงานได้ ไม่รู้สึกอึดอัดใจ ตัวอย่างเช่น กฎหมายเรื่องการ ห้ามค้าประเวณี ที่ตำรวจบังคับใช้ ม่ค่อยได้ เนื่องจากการค้าประเวณีมีมานานแล้ว เห็นได้จากในหนังจีนกําลังภายในทั่วไปที่มีหอนางโลม เปิดบริการกันมาเป็นพันปี อยู่ๆ มาบอกว่าผิดกฎหมาย แต่ประชาชนมองว่า ตำรวจใช้เป็นช่องทางหากิน เขาหาทางออกให้ทั้งสองฝ่าย  อนุญาตให้ ค้าประเวณีได้ในลักษณะที่เรียกว่า  one apartment service คือ ถ้าหากในอพาร์ตเมนต์ 1 ห้อง มีผู้หญิงอยู่ 1 คน มันก็น่าจะเป็นสิทธิของเขาที่จะอนุญาตให้ใครเข้าออกห้องของเขาได้ และมันก็เป็นตัวของเขา เขาจะมีเพศสัมพันธ์กับใคร มันก็เป็นสิทธิของเขา ตำรวจไม่น่ามีสิทธิมาห้ามมิให้เขามีเพศสัมพันธ์กับใคร แต่ถ้าหาก ใน 1 ห้อง มีผู้หญิงมากกว่า 1 คน ตำรวจสามารถจับกุมได้ เพราะว่า มีสินค้าให้เลือก ถือว่า เป็นทางออกที่ดี กับทั้งสองฝ่าย

เมื่อเวลาผ่านไป ช่วงประมาณ  10 ปีแรก มีตำรวจหัวโบราณที่ไม่ยอมปรับตัวเข้าสู่ระบบต้องถูก ออกจากราชการ และดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก

แต่หลังจากนั้นอีก 20 ปี ตำรวจฮ่องกงได้รับการจัดอันดับให้เป็นองค์กรตำรวจที่โปร่งใส และปฏิบัติงานได้ผลมากที่สุดในโลก ทำให้ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน และเป็นความภาคภูมิใจของประชาชนชาวฮ่องกงจนถึงทุกวันนี้

ใช้เวลาเกือบ 20 ปี ในการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ทำได้สำเร็จในที่สุด

 

ฮ่องกง “ใช้ยาแรง” ล้างบางการคอร์รัปชั่นทั้งระบบอย่างเด็ดขาด ทั้งหน่วยงานตำรวจ ส่วนราชการ แม้กระทั่งกระบวนการเลือกตั้ง ภายใต้หน่วยงานกลางที่ไม่อยู่ใต้อำนาจใคร และทำสำเร็จมาแล้ว 20 ปี

lesson learned จาก “ฮ่องกงโมเดล”  ชวนให้คิดถึงบรรยากาศการปฏิรูปตำรวจในบ้านเราที่กำลังมีกระแสถกเถียง หาจุดลงตัวกันในขณะนี้ …. ไม่ต้องไปแก้อะไรให้ยุ่งยาก ขอแค่ปฏิรูปตามแบบเขา 3 ข้อให้ได้ ก็น้ำตาไหลแล้ว !!

 

RELATED ARTICLES