“การที่เราจะชนะใจประชาชนได้ ต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์”

ดีตผู้บังคับการตำรวจทางหลวง มือปราบบนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์มาดเข้ม

พล...พงษ์สิทธิ์ แสงเพชร ชาวอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เกิดจากครอบครัวพ่อแม่รับราชการครู เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่บ้านเกิดแล้วมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ไปต่อโรงเรียนอำนวยศิลป์ เพื่อปูทางสู่ระดับอุดมศึกษา

“ผมอยากเป็นตำรวจ เพราะชอบมาตั้งแต่เด็ก” พล.ต.ต.พงษ์สิทธิ์รำพันความหลัง “สมัยก่อนเป็นเด็กอยู่แถวท่ารถจะเห็นตำรวจมานั่งกินกาแฟกัน ดูแล้วมันเท่ ตามประสาเด็กบ้านนอก ตำรวจพกปืนมีด้ามโผล่มาเดินไปจับผู้ร้าย กลายเป็นภาพฝังใจ ใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจ”

ตั้งหน้าตั้งตาเรียนไปสอบโรงเรียนนายร้อยตำรวจเข้าเป็นรุ่น 29 เริ่มต้นชีวิตผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ด้วยการบรรจุลงเป็นรองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานตำรวจนครบาลเตาปูน แต่ทำงานสืบสวนสอบสวนควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากเป็นโรงพักที่มีคดีเยอะที่สุด โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับยาเสพติด นาน 3 ปี ย้ายเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง ก่อนออกนอกหน่วยประเด็นไปทำหน้าที่รองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

เจ้าตัวบอกว่า ไม่รู้เหตุผลเพราะอะไร แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งก็ต้องไป สมัยนั้นทุ่งสงคดีเยอะมาก โจรชุม เกือบทุกเช้าจะมีผู้เสียหายมาแจ้งความเรื่องแก๊งปล้นรถทัวร์ โจรจะดักลงมือแถวทุ่งใหญ่มาสว่างทุ่งสงพอดี ร่วมทีมกับทุ่งใหญ่ทำคดี เช่นเดียวกับขบวนการปล้นรถไฟที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เราต้องสืบสวนสอบสวนคลี่คลาย

เก็บเกี่ยวประสบการณ์แดนใต้กว่า 2 ปี ขยับลงเป็นรองสารวัตรแผนก 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจน้ำ คุมพื้นที่สถานีตำรวจท่าเรือที่ยังขึ้นตรงกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แล้วย้ายไปกองบังคับการตำรวจทางหลวง ก่อนกลับมาเป็นสารวัตรแผนก 2 กองกับการ 1 กองบังคับการตำรวจน้ำ หรือสารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจท่าเรือ

“ เริ่มมีทำงานบู๊แล้ว ตอนนั้นท่าเรือคลองเตยเป็นดงยาเสพติด เต็มไปด้วยปัญหาอาชญากรรมลักเล็กขโมยน้อยสินค้าในการท่าเรือ ทั้งในลำน้ำ ทั้งบนบก เข้าไปบริหารจัดการป้องกันปราบปรามคลี่คลายปัญหาได้ระดับหนึ่ง” พล.ต.ต.พงษ์สิทธิ์ว่า วนเวียนอยู่ท่าเรือประมาณ 12 ปี ตั้งแต่ตำแหน่งรองสารวัตร สารวัตร สารวัตรใหญ่ กระทั่งขึ้นรองผู้กำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจน้ำ ที่ยกระดับปรับโครงสร้างโรงพักท่าเรือใหม่ ถึงย้ายเป็นรองผู้กำกับการ 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ ไม่กี่เดือนโยกเป็นรองผู้กำกับการ 2 กองทะเบียน

ต่อมาเลื่อนเป็นผู้กำกับการ 5 กองบังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 1 ดูงานด้านสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน แล้วไปเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรตำบลท่าหิน จังหวัดลพบุรี พอดี ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จัดระเบียบสังคมกวดจับสถานบริการในจังหวัดนนทบุรี มีการย้ายตำรวจพื้นที่ พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ในขณะนั้นเลือกเขามาแก้ปัญหาเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรี

จังหวัดนนทบุรีกำลังเกิดการขยายตัวของจำนวนประชากร ทำให้ปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้นตามมา พล.ต.ต.พงษ์สิทธิ์ ในฐานะหัวหน้าโรงพัก กำหนดนโยบายเข้ม สั่งกำชับผู้ใต้บังคับบัญชาออกติดตามคดีค้างเก่าจนมีผลการจับกุมติดอันดันต้นของประเทศ ได้รับคำชมเชยจากผู้บังคับบัญชา เนื่องจากคดีค้างเก่า เป็นคดีความผิดที่เกิดขึ้นในอดีตและเจ้าหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานเสนอศาลขออนุมัติออกหมายจับ แต่ยังไม่สามารถติดตามตัวมาดำเนินคดีได้ เพราะผู้ต้องหาหลบหนี เป็นหน้าที่ของฝ่ายสืบสวนต้องติดตาม

“ความยุ่งยากของการตามคดีค้างเก่า ส่วนหนึ่งผู้กระทำความผิดพยายามหลบหนีการจับกุมให้ได้จนกว่าคดีจะหมดอายุความอาญา บางครั้งเมื่อหลบหนีไปนาน ตำรวจไม่ตามจับกุม นำมาซึ่งความช้ำใจของผู้เสียหาย หรือญาติที่เคยตกเป็นเหยื่อคดีอาชญากรรม ยิ่งชาวบ้านระดับรากหญ้า ฐานะยากจน ไม่มีเส้นสาย ทำให้เส้นแบ่งความรู้สึกอันดีระหว่างตำรวจกับประชาชนห่างไกลออกไป”  อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรีบอก

พอเขาย้ายมาดำรงตำแหน่งสามารถตามจับคดีค้างเก่ามากมาย  มีทีมงานดีทั้งรองสารวัตร และชั้นประทวนทุ่มเทร่วมแรงร่วมใจ ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากผู้บังคับบัญชา งานถึงสำเร็จลุล่วงตามเป้า หากตำรวจเพิกเฉยไม่สนใจติดตามคนร้ายก็สามารถลอยนวลอยู่ได้ เป็นเหตุผลให้นายพลวัยเกษียณเรียนรู้ว่า เพื่อนร่วมงานทุกคนต้องมีจิตสำนักในการเสียสละความสุขส่วนตัว ชีวิตการเป็นตำรวจเหมือนปิดทองหลังพระ จะกินจะนอนไม่เป็นเวลา โดยเฉพาะฝ่ายสืบสวนบางครั้งต้องติดตามผู้ร้ายอย่างกระชั้นชิดข้ามวันข้ามคืน แทบไม่มีโอกาสพบหน้าครอบครัวลูกเมีย ขณะเดียวกัน นักสืบต้องหูหนักก้นเบา หัวใจของการทำงาน คือ การหาข่าว เพราะฉะนั้นจะเห็นตำรวจนอกเครื่องแบบอยู่ทุกสถานที่ ถ้าการข่าวไม่ดีผลงานก็บอด การพาข่าวต้องคลุกวงใน คนที่ให้ข้อมูลได้ดีที่สุดคือ คนที่รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องในการกระทำผิดกฎหมาย

“เช่นเดียวกัน ผมอยากเห็นภาพชาวบ้านเดินขึ้นมาบนโรงพักแล้วรู้สึกสบายใจ เพราะชาวบ้านที่มาหาตำรวจล้วนมีความเดือดร้อน ผมถึงอยากทำโรงพักให้เป็นโรงพัก เมื่อมาถึงต้องได้รับการต้อนรับขับสู้จากตำรวจเป็นอย่างดี ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาไพเราะ ให้คิดตลอดเวลาว่า ชาวบ้านเปรียบเสมือนญาติพี่น้อง เวลาขึ้นมาบนโรงพักกลับไปบ้านจะได้รู้สึกพึงพอใจมากที่สุด” พล.ต.ต.พงษ์สิทธิ์ว่า

เป็นเหตุผลที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโรงพักเพื่อประชาชนดีเด่น 2 ปีซ้อนของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เหมือนที่ได้รางวัลสมัยเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าหิน จังหวัดลพบุรี และยังได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 โรงพักมาตรฐานสากลของประเทศไทย ด้านการจัดการและสัมฤทธิ์ผลของภาครัฐที่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด มีทั้งระบบข้อมูลที่ครอบคลุม รวดเร็ว ถูกต้อง เชื่อมโยงความทันสมัยเข้าด้วยกัน

“มีหน่วยงานราชการอื่นมาดูงาน เพราะโรงพักเมืองนนทบุรีเป็นต้นแบบ เป็นมุมมองจากคนนอก มองเราในการวางระบบการจัดการเอกสาร การบริการ เรื่องข้อมูลข่าวสารที่เป็นระบบมากขึ้น  ระบบดังกล่าว ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่อยู่คนหนึ่ง สมัยก่อนจะไม่รู้เรื่องอะไร ต้องรอเจ้าหน้าที่คนนั้นมา แต่วางระบบไว้หากเจ้าหน้าที่ไม่อยู่ คนอื่นสามารถทำงานแทนได้ เพราะจะมีเอกสารและลิงก์ไว้อยู่ว่าจะต้องไปดู ไปค้นจากตรงไหน เป็นกลไกที่เรียกว่า PSO สร้างขึ้นโดยนักวิชาการอันเป็นการพัฒนาระบบราชการในสมัยนั้น” หัวหน้าโรงพักเก่าว่า

ทำผลงานอยู่เมืองนนทบุรีนาน 4 ปี ย้ายเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ ก่อนได้เวลาขยับเลื่อนขึ้นรองผู้บังคับการประจำสำนักงาน พล.ต.อ.วุฒิ พัวเวส ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปีเศษลงเป็นรองผู้บังคับการศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 1 แล้วย้ายกลับมาเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี เป็นผู้บังคับการกองตรวจราชการ 1 สำนักงานจเรตำรวจ และเป็นผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ปีสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ

พล.ต.ต.พงษ์สิทธิ์เล่าว่า ตำรวจทางหลวงเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อความปลอดภัยของคนใช้ทางหลวง เราต้องพยายามครองใจลูกน้องให้ได้ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องส่วย ต้องยอมรับว่า ทางหลวงเป็นทางยาวโอกาสที่ลูกน้องจะอยู่นอกสายตาเรามีเยอะ  เราจำเป็นต้องครองใจพวกเขา พยายามน้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ในหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีน้อยใช้น้อย รู้จักประหยัดอดออม ดูแลครอบครัว

“ตอนอยู่ทางหลวงสามารถสกัดจับยาเสพติดได้อย่างมโหฬาร ยาบ้าได้ครั้งละ 2 ล้าน-4 ล้านเม็ด กัญชาทีละ 500 กิโลกรัมไปจนถึง 2 ตัน ผลงานของตำรวจทางหลวงทั่วประเทศเวลานั้น นับเป็นผลงานที่ผมคิดว่า ยิ่งใหญ่ เพราะว่า เรามีแต่คน ไม่มีอุปกรณ์อะไรเลย ยังสามารถจับยาเสพติดรายใหญ่ๆ ได้ จากไหวพริบของตำรวจทางหลวง  ผมแค่เอาประสบการณ์ไปสอนให้คิดแล้วปฏิบัตินำไปสู่ความสำเร็จของเนื้องาน” 

ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา เขายังอยากฝากถึงตำรวจรุ่นน้องด้วยว่า  การเป็นตำรวจที่ดีเป็นเหมือนเรือกับน้ำ หรือเหมือนเสือกับป่า ทำอย่างไรที่เราจะเอาชนะใจคนในพื้นที่ให้ได้  สรุปแยกย่อยลงมา คือ ระดับโรงพัก  “การที่เราจะชนะใจประชาชนได้ ต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ หัวหน้าหน่วยนี่สำคัญที่สุด ตัวผู้กำกับเองสำคัญที่สุด การได้ผู้กำกับที่ดีไปอยู่ในพื้นที่ แล้วพื้นที่นั้นจะดีเอง  หัวหน้าหน่วยดีแล้วทุกอย่างก็จะดี เพราะฉะนั้นการปกครองบังคับบัญชา ปกครองลูกน้องในพื้นที่ถึงสำคัญที่สุด ส่วนปัญหาอุปสรรคที่เจอเป็นเรื่องธรรมดา”

“เมื่อเป็นตำรวจนั้น การบริหารงานด้วยความขาดแคลนในแต่ละด้าน เราจะเอามาเป็นอุปสรรคไม่ได้ เราต้องทำงานไปตามหน้าที่  ต้องรู้จักประสานงานกับหน่วยงานข้างเคียง เช่น ปกครองท้องถิ่นที่จะให้ช่วยสนับสนุนงบประมาณในด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม  สมัยผมอยู่ตำรวจน้ำที่ท่าเรือ มีปัญหามาก ก็ต้องแก้ปัญหาในพื้นที่ โชคดีที่มีงบประมาณจาาการท่าเรือมาช่วย ทั้งเบี้ยเลี้ยง น้ำมัน รถราม้าใช้ สนับสนุนหมด แต่ปัญหาอยู่ที่อาชญากรรม คดีเกี่ยวกับการลักเล็กขโมยน้อยสินค้าที่มากับเรือ หรือใส่รถบรรทุกมา เป็นหน้าที่เราต้องจัดการขจัดปัญหา” 

พล.ต.ต.พงษ์สิทธิ์ขยายความว่า สมัยนั้นระหว่างทางรถบรรทุกขนของจากโกดังมาท่าเรือ จะมีโจรวัยรุ่นกระโดดขึ้นไปตัดกุญแจรถบรรทุกถีบสินค้าลงมา เราต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตรา ส่งฝ่ายสืบสวนไปหาข่าวเด็กคนไหนตัวแสบ มีประวัติเอามาดำเนินคดีจนสามารถควบคุมปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นได้ เหมือนพวกแก๊งแมวน้ำ เราใช้มาตรการเข้มงวดพวกแหล่งรับซื้อของโจร ถ้าขโมยมาแล้วขายไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ ถึงต้องตัดวงจรแหล่งรับซื้อของโจร

ส่วนปัญหายาเสพติดในชุมชนที่กำลังเริ่มระบาด พล.ต.ต.พงษ์สิทธิ์ได้แนวคิดเอาชาวบ้านมาฝึกให้เป็นผู้เป็นตาแทนตำรวจ อบรมอาสาสมัครตำรวจบ้าน ฝึกทักษะกินนอนอยู่กับตำรวจ 2-3 วัน ให้ความรู้ แนะนำ วิธีการป้องกันปราบปราม และเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด ทำให้เราได้มวลชนมาเยอะพอสมควร ฝึกไป 2-3 รุ่น ได้ชาวบ้านช่วยเป็นหูเป็นตาในชุมชนคลองเตยช่วยแจ้งข่าวจับกุมคดียาเสพติด พอเห็นว่า ตำรวจเอาจริง พวกแก๊งยาเสพติดจะหายไปเอง ถือว่า ประสบความสำเร็จ

เจ้าตัวบรรยายเรื่องราวในชีวิตผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ผ่านมาด้วยว่า สมัยอยู่ท่าเรือยังมีหลายเรื่องประทับใจอยากฝากให้หลายคนมองภาพตาม ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น คนทะเลาะกันแค่หมาไล่กัดแม่ค้าถั่วต้ม เกิดความเสียหายร้อยสองร้อยบาท แต่สำหรับชาวบ้านถือว่า มีค่ามาก เจ้าของหมากับแม่ค้าถั่วต้มนั่งเจรจากันทั้งวัน ตกลงกันไม่ได้ เพราะเจ้าของหมาไม่มีเงิน สุดท้ายเราต้องควักจ่ายเอง ลงเอยด้วยดี เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ตำรวจต้องไม่มองข้าม เนื่องจากอาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชาวบ้าน เป็นสิ่งที่ตำรวจต้องเรียนรู้ และจะย้ำลูกน้องเสมอ การบริการเป็นเรื่องสำคัญ อย่างน้อยต้องพูดจาไพเราะ ชาวบ้านบางทีต้องการแค่นั้น เราอาจช่วยไม่ได้ แต่แนะนำชี้ข่องทางออกให้ไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ให้ ชาวบ้านก็พอใจแล้ว

พอเกษียณออกมาแล้วมองกลับไปในองค์กรเก่าเห็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร พล.ต.ต.พงษ์สิทธิ์มั่นใจว่า  มีทั้งความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ตำรวจได้ผู้นำที่เป็นคนหนุ่มไฟแรง แต่ที่ไม่ดีอาจจะมีบ้าง เป็นสิ่งที่เห็นอยู่ เช่น เรื่องงบประมาณ เรื่องเทคโนโลยี ถ้ามีตัวช่วยเยอะคงจะทำได้ดี “ส่วนตัวผมเองภูมิใจที่เป็นตำรวจ เพราะชอบมาตั้งแต่เด็กๆ อยู่แล้ว  การเป็นตำรวจต้องเป็นตำรวจที่ดี แต่ดีอย่างไร ต้องให้ชาวบ้านประเมิน อย่างน้อย เดินไปไหน คนรู้จัก เขาหยุด บางทีหันหลังไปแล้ว เดินผ่านเรา กลับมาสวัสดี ทักทายเรา อย่างนี้โอเค ไม่ใช่ว่า พอเจอหน้าแล้วแกล้งไม่เห็น แบบนี้ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น การเป็นตำรวจที่ดีให้ช่วยคนให้เยอะๆ”

ทิ้งท้าย เจ้าตัวบอกว่า ตั้งแต่เล็กจนโต ไต่เต้าล้มลุกคลุกคลานมาตลอด แต่ได้ข้อคิดดี ๆ จากนายตำรวจรุ่นเก่าที่ประสบความสำเร็จในชีวิตราชการเป็นต้นแบบ ด้วยการยึดสิงคหวัตถุ 4 ประการ คือ  ทาน การให้ การเสียสละ เอื้อเฝื้อ แบ่งปัน ตามด้วย ปิยะวาจา การพูดจาด้วยถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน จริงใจ ไม่พูดหยาบคาย ก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เหมาะกับกาลเทศะ และอัตถจริยา คือ การช่วยเหลือกัน กับ สมานัตตา การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ ประพฤติตัวเสมอต้นเสมอปลาย

เขายังยึดคติประจำใจที่ว่า ทำวันนี้ให้ดีกว่าวันวาน เพื่อปรับปรุงและพัฒนางานที่ได้รับมอบหมายให้ดียิ่งขึ้น

พงษ์สิทธิ์ แสงเพชร !!! 

 

 

RELATED ARTICLES