“ผมคิดว่างานนักข่าวจะเป็นตัวแทนด้านการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้สังคม”

 

  นข่าวอาวุโสของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์  เอกมงคล บางประภา  นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด  วัยเด็กครอบครัวอยากให้เป็นหมอ แต่ด้วยบุคลิกมีความเป็นผู้นำสูง มีแววในเรื่องของการแสดงความคิดเห็น ครูมักจะไว้วางใจให้เป็นตัวแทนนำทำกิจกรรมต่างๆเสมอ โดยเฉพาะเป็นตัวแทนกล่าวสุนทรพจน์ของโรงเรียน  หลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาสายวิทย์  สอบเทียบ จากโรงเรียนบดินทรเดชา ตัดสินใจเอ็นทรานซ์เข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เลือกเรียนด้านวิชาหนังสือพิมพ์

เจ้าตัวมีเหตุผลว่า น่าจะได้เน้นเรื่องการแสดงออก การสื่อสารกับผู้คน การเรียบเรียงความคิดความอ่าน ตรงกับบุคลิกและเอกลักษณ์ของตัวเอง และตรงกับความสนใจในวัยรุ่น ที่อยากเป็นนักข่าว อยากเป็นตัวแทนด้านการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสังคม

  ผมว่ามันเป็นอิทธิพลที่ได้จากตอนเด็กที่ชอบอ่านหนังสือของนักเขียนกลุ่มซีไรต์ กลุ่มที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนที่ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมให้กับสังคม เช่น สุชาติ สวัสดิ์ศรี ชาติ กอบจิตติ ในยุคนั้นคนส่วนใหญ่อาจจะอยากเรียนนิเทศฯ เพื่อเป็นผู้ประกาศอยู่หน้าจอ ส่วนตัวผมคิดว่างานนักข่าวจะเป็นตัวแทนด้านการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้สังคม และการทำหนังสือพิมพ์ คือ ข่าวแบบฮาร์ดคอร์พาเราไปสู่สายนั้นได้มากกว่า

ชีวิตในมหาวิทยาลัย แม้จะทำกิจกรรมอื่นกับเพื่อนฝูง แต่ลือกที่จะไม่แสดงออกเท่าตอนเรียนมัธยม เพราะมองว่า ตัวเองเป็นเด็กสอบเทียบมาเท่ากับเป็นรุ่นน้องของคนรุ่นเดียวกัน  ทว่ามีโอกาสใช้ทักษะด้านสายวิทย์ไปช่วยทำละครของคณะ ทำอุปกรณ์ประกอบฉาก รวมถึงทำกิจกรรมด้านการพูดของมหาวิทยาลัย ยุคที่จุฬาฯ เริ่มใช้คอมพิวเตอร์ระบบ Apple ในการจัดหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นช่วงที่บริษัทนำมาให้ทดลองใช้ที่มหาวิทยาลัย

เขาถือเป็นคนแรกของมหาวิทยาลัยที่ได้ทำและไปช่วยถ่ายทอดต่อคนอื่น ๆ โดยก่อนจะเรียนจบได้ไปฝึกงานที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์  หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษหัวใหญ่ อันดับต้น ๆของประเทศ  จำได้ว่าในช่วงนั้นเป็นช่วงเหตุการณ์การเลือกตั้งพอดี  ได้รับหน้าที่เป็นนักข่าวตระเวนดูการหาเสียงเลือกตั้ง มีงานหลายชิ้นที่ได้ลงตีพิมพ์ บางชิ้นได้ขึ้นหน้า 1 เป็นความภูมิใจ เช่น ภาพของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ขึ้นไปหาเสียง ปีนนั่งร้านที่อยู่ข้างเวที ขึ้นไปถ่ายได้จังหวะที่ได้ทั้งหน้าตาของ พล.ต.จำลองตอนปราศรัย และภาพตบมือแสดงความดีใจของคนที่มาเชียร์  ภาพอธิบายบรรยากาศได้ครบถ้วน การฝึกงานเหมือนทำข่าวจริง เนื่องจาก บางกอกโพสต์จะไม่มีระบบว่า ไปฝึกงานแล้วต้องอยู่ในออฟฟิศ

หลังจากเรียนจบ มงคลต้องไปเกณฑ์ทหาร 2 ปี ก่อนกลับมาเริ่มงานที่ข่าวสด ตอนนั้นมติชนไปซื้อหัว ไปอยู่ในเครือ มีเป้าหมายที่จะสู้กับหนังสือพิมพ์หัวสีสมัยนั้น คือ เดลินิวส์กับไทยรัฐ เน้นทำข่าวสิ่งแวดล้อม และข่าวชาวบ้าน มีรุ่นพี่เห็นฝีไม้ลายมือจากตอนฝึกงานชักชวนมาทำงานด้วย  เป็นนักข่าวประจำรัฐสภา คนละเรื่องกับตอนที่ฝึกงาน เพราะเป็นสถานการณ์จบในเรื่องเดียว

มงคลยอมรับว่า เข้าไปตอนที่กำลังมีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองและกฎหมายแม้แต่นิดเดียว  เหมือนมือใหม่ทำงาน คนมีประสบการณ์จะรู้ว่า ขณะนี้อยู่ในวาระรับหลักการ หรือพิจารณาในมาตรา หรืออยู่ในวาระที่ 3 ที่จะโหวตเห็นชอบหรือไม่ จะเข้าใจง่าย แต่เราไม่รู้จะรู้สึกว่าทุกอย่างมันสำคัญไปหมด ต้องเขียนเป็นข่าวทั้งหมด  จริง ๆ เกินกำลังของคน  ทำให้เราต้องเร่งเรียนรู้การทำข่าวในรัฐสภาอย่างรวดเร็ว  สถานการณ์บีบคั้นให้ต้องรีบรู้ ผ่านไปแค่ไม่ถึง 3 เดือน  สามารถรู้กระบวนขั้นตอนการทำงานในสภา เรียนรู้แนวการทำข่าว เรียกว่า อยู่หมัด  รู้ว่าอะไร คือ ประเด็นข่าว อะไร คือ สิ่งที่แค่ฟังไม่จำเป็นต้องนำเสนอ เพราะไม่ได้มีน้ำหนักมากพอ สิ่งสำคัญ คือ เรารู้ว่าขั้นตอนของกฎหมายเป็นอย่างไร และสามารถนำเสนอประเด็นให้ครบถ้วนชัดเจน

ทำอยู่ข่าวสด 3 ปี รุ่นพี่ที่บางกอกโพสต์บอกว่า จะเปิดฉบับภาษาไทย ชื่อ สยามโพสต์  ตั้งเป้าเป็นคู่แข่งมติชน เขาตัดสินใจไปร่วมงานด้วย เพราะแม้อยู่ข่าวสดสายการเมือง แต่ยังเป็นข่าวแบบชาวบ้าน มากกว่าที่จะเป็นข่าวแนวฮาร์ดคอร์ สาระอย่างที่เราชอบ “วันที่ผมไปยื่นใบลาออกจากข่าวสด  คือ จุดที่ผมอธิบายลำบากที่สุด ผมไม่เคยมีปัญหาอะไร ทุกคนดีด้วยตลอด เพียงแต่ว่า มันเป็นความท้าทาย สยามโพสต์ ในตอนนั้นนำทีมโดย เปลว สีเงิน กอง บก.ตั้งเป้ากันว่า จะทำให้นักข่าวทำเนียบจากปกติที่ถือหนังสือพิมพ์มติชนไปทำงานเพื่ออ่านเพื่อติดตามข่าว ต้องถือสยามโพสต์ไปทำงานด้วยเพื่อที่จะอ่านและไม่หลุดประเด็น

มงคลอยู่สยามโพสต์นานถึง 3 ปี เป็นอีกช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยความท้าทายและสนุกในการทำงาน กระทั่งสยามโพสต์ถูกเทกโอเวอร์ เนื่องจากความที่พาดหัวแรง โดนคดีเยอะ ผู้บริหารไม่อยากที่จะสร้างศัตรู หรือถูกฟ้องร้องแล้ว ขณะเดียวกัน กอง บก. ส่วนหนึ่งออกไปเปิดหนังสือพิมพ์ใหม่ในนาม ไทยโพสต์  ส่วนตัวเขาเป็นจังหวะที่มีรุ่นพี่จากบางกอกโพสต์มาทาบทามชวนไปร่วมงานด้วยจึงเปลี่ยนค่ายไปสังกัดบางกอกโพสต์ตั้งแต่ตอนนั้น และยังเป็นนักข่าวสายการเมืองเช่นเดิม

เขามีโอกาสทำข่าวร่างรัฐธรรมนูญในฉบับปี 2540 ที่เปิดกว้างให้นักข่าวติดตามได้ตลอด แม้กระทั่งกรรมาธิการประชุมกันจะมีที่นั่งให้นักข่าวฟังได้ เหมือนกำลังเรียนปริญญาโท ปริญญาเอกทางด้านกฎหมาย เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญจะเถียงกันทุกคำ ความแตกต่างของการใช้คำว่า “และ”  “หรือ”  เป็นการติดอาวุธในการทำงานเป็นอย่างยิ่งและเป็นอานิสงส์มาตลอดจนได้รับความไว้วางใจจากสำนักพิมพ์ทุกครั้งที่มีการแก้รัฐธรรมนูญ

ผมจะเป็นตัวหลักในการรายงานข่าวจนมีเสียงสะท้อนจากแหล่งข่าว ถ้าเป็นมงคลถาม เขาจะต้องระมัดระวังในการตอบ เพราะคนถามรู้เรื่อง มันจะสะท้อนออกมาผ่านทางคำถาม จริง ๆมันมีส่วนจากการเรียนสายวิทย์ เพราะมันเน้นเรื่องการตั้งสมมติฐาน และพิสูจน์สมมติฐาน มันกระตุ้นให้เราใช้ความคิด และคิดอ่านให้เกิดความหลากหลายของคำตอบ  พิสูจน์ว่า คำตอบไหน คือ คำตอบที่ถูกต้องมากที่สุด หลักการนี้สามารถเอามาประยุกต์ใช้ในการทำข่าวได้ทุกประเภท คนข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์อธิบาย

ตลอด 23 ปี ในสังกัดของบางกอกโพสต์ และอยู่ในสายการเมืองมาตลอด เขาเล่าว่า จะเตือนนักข่าวรุ่นน้องเสมอว่า การทำข่าวการเมืองอย่าไปอินกับมัน เพราะเวลาและประสบการณ์จะสอนเราว่า นักการเมืองเปลี่ยนแปลงได้  จะบอกกับเพื่อนเสมอ เวลาถูกถามว่า ชอบพรรคการเมืองไหนมากที่สุด จะมีคำตอบตรงกันทุกครั้งว่า พรรคการเมืองไม่ได้มีไว้ให้ชอบ แต่มีไว้ให้ใช้ ถ้าคุณรู้ว่าจังหวะไหนใช้พรรคการเมืองไหนแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ เราประชาชนควรจะเป็นตัวขับเคลื่อนนักการเมืองให้ไปทำตรงนั้น ส่วนในฐานะคนข่าว เราต้องไม่รู้สึก มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือมีส่วนเชียร์ หรือแอนตี้พรรคการเมือง หรือนักการเมืองคนไหน การทำข่าวทุกอย่างต้องเป็นภาวะวิสัย ไม่ใช่เอาความเชื่อของเราเป็นตัวตั้ง

เจ้าตัวให้ข้อคิดว่า ครั้งหนึ่งเคยมีการเถียงกันว่านักข่าวต้องวางตัวเป็นกลาง มีคนบอกว่า กลางไม่ได้ จริง ๆแล้ว เอาแค่คุณยึดถือความเป็นธรรม ให้โอกาสกับทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน นี่คือ ความเป็นกลางในหลักความเป็นธรรมของการเป็นสื่อสารมวลชนแล้ว เพราะความเป็นกลางวัดด้วยปริมาณชั่งน้ำหนักไม่ได้ แต่ความเป็นธรรม คือ การให้โอกาสเท่าเทียมกัน

อีกบทบาทหน้าที่หนึ่งในฐานะนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่เขาได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ ในสมัยที่ 2  มงคลบอกว่า เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ช่วยกิจกรรมสมาคมทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมาตลอด ตั้งแต่การจัดอบรมนักข่าวโครงการต่างๆ โดยเฉพาะพิราบน้อย และการอบรมเกี่ยวกับการทำข่าวสิทธิเด็ก  โครงการการทำข่าวในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ Safety Training ต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี  ขยายผลการที่มีนักข่าวจะต้องทำข่าวไปด้วยและใช้ชีวิตเอาตัวรอดได้ด้วยในสถานการณ์วิกฤติต่างๆ ทั้งในเรื่องของพิบัติธรรมชาติ อาชญากรรมขนาดใหญ่ เช่นคดีกราดยิงโคราช นักข่าวจะต้องปรับตัวในการนำเสนอทั้งในเชิงของความระมัดระวังในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง อันนี้เป็นโจทย์ที่สมาคมยังต้องทำอยู่และทำต่อไป

เราไม่ห่วงว่างานสื่อหรืองานนักข่าว จะสูญพันธุ์ไปจากโลก ตราบใดที่สังคมมนุษย์ยังอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ ข่าวสารที่ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสังคมมนุษย์ สื่อหรือนักข่าวที่มีคุณภาพ ก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น ถามว่าในบทบาทความเป็นนายกสมาคม วางแนวทางไว้อย่างไรบ้าง  ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามา เราพยายามเสริมความรู้ในการจัดอบรมต่างๆให้คนสื่อรุ่นเก่าสามารถใช้ หรือเข้าถึงวิธีการนำเสนอด้วยเทคโนโลยียุคใหม่คนที่ทำงานสื่อมานาน มันมีสิ่งที่ติดตัวมา คือ ประสบการณ์ ถ้าเราคิดแค่ว่า ต้องเป็นคนรุ่นใหม่เท่านั้นที่จะใช้สื่อใหมเป็น และปล่อยให้คนสื่อรุ่นเก่าหลุดออกไปจากวิชาชีพ มันจะทำให้เกิดความเสียหายของวงการสื่อ ตรงที่คุณจะได้นักข่าวที่เก่งการใช้เทคโนโลยี แต่จะตกเป็นเหยื่อของแหล่งข่าวได้ง่าย เพราะขาดประสบการณ์”   

  อีกสิ่งที่ทำอยู่ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คือ การผลักดันกฎหมายที่ว่าด้วยการส่งเสริม จริยธรรมสื่อ มีสาระสำคัญ ตรงการมีสภาวิชาชีพ มีกฎหมายรองรับ ให้มีการคัดกรององค์กรสื่อสารมวลชนให้แยกออกไปจากผู้ใช้สื่อทั่วไป เพราะเมื่ออยู่ภายใต้กรอบจรรยาบรรณที่มีการพูดกันจะนำไปสู่การปฏิบัติจริง

มงคลย้ำว่า ทุกวันนี้เรามีสภาการวิชาชีพของสื่อแต่ละประเภทก็จริง แต่เมื่อใดที่มีการลงโทษก็ไม่ได้รุนแรงอะไร แค่ให้ขอโทษ หรือให้แก้ข่าว  ปรากฏว่า บางองค์กรจะใช้วิธีลาออก ทำให้ไม่สามารถลงโทษได้ ส่งผลกับกระบวนการตรวจสอบเป็นหมัน  ถ้ามีกฎหมายตัวนี้ วิธีการที่ทำ คือจะต้องมีร่มของสภาวิชาชีพ 2 ระดับควบคุมกันเอง  ทุกคนต้องสมัครใจเข้ามาอยู่ภายใต้การดูแล “แต่ถ้าคุณไม่ยอม คุณถูกขับออก หรือลาออกปุ๊บ คุณจะอยู่ภายใต้ร่มอีกอันหนึ่ง คือ สภาวิชาชีพ เป็นเรื่องว่าด้วยหลักกฎหมายเลย  คือ ลงโทษในกฎหมายทันที  ตรงนี้สมาคมกำลังพยามที่จะเร่งผลักดันร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนรณรงค์ให้รัฐบาลได้ทำสักที  นักข่าวสายการเมืองค่ายใหญ่บางกอกโพสต์ทิ้งท้าย

RELATED ARTICLES