“สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมมาจากกรรม แต่จากชาติไหน ผมไม่รู้”

ชีวิตยิ่งกว่านวนิยายเล่มหนา โชคชะตาพลิกผันในบั้นปลายกลายเป็นนักโทษถูกจองจำอยู่ในคุก

ตำนานมือปราบระดับอาจารย์ชื่อดังเป็นที่น่าเกรงขามของโจรผู้ร้าย สุดท้าย พล...รณพงษ์ ทรายแก้ว อดีตรองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี เรียนรู้และเข้าใจสัจธรรม

เขาเป็นคนตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร พ่อเป็นครูประชาบาล มีพี่น้อง 7 คน แต่คนแรกตายตั้งแต่เขายังไม่เกิด พ่อแม่ต้องทำงานหนักมาเพื่อเลี้ยงลูก 6 คนและส่งเสียให้เรียนหนังสือจนจบด้วยความเป็นครูของพ่อ มองอนาคตอยากให้ลูกได้ดี พยายามปลูกฝังเรื่องการเรียน การศึกษา ส่วนแม่จะฝึกในเรื่องความขยัน อดทน ตามแบบฉบับแม่ค้า

วันเด็กเดินไปกลับโรงเรียนประถมวันละ 10 กิโลเมตร พอขึ้นประถม 6 เริ่มปั่นจักรยานไปเรียน ไม่เคยคิดอยากเป็นตำรวจ เพราะสภาพแวดล้อมแถวนั้นเป็นตำรวจกันน้อย คิดแต่ว่าตั้งใจเรียนให้ดี ก่อนไปต่อมัธยมโรงเรียนศรียาภัย พลิกผันตอนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 2 พล.ต.ต.รณพงษ์เล่าว่า เป็นไส้ติ่ง พ่อพาไปโรงพยาบาลประจำจังหวัด ถ้าช้ากว่านิดเดียวไส้ติ่งแตกอาจตายได้ ฉีดยาทุกครึ่งชั่วโมง นอนรักษาตัวจนขาดเรียน เป็นช่วงสำคัญของวิชาพีชคณิต พอไม่ได้เรียนก็ไม่ค่อยเข้าใจ เป็นเหตุให้การเรียนตก ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยน หนีออกจากบ้านนาน 2 เดือน

“ทะเลาะกับที่บ้าน กะว่าจะไม่กลับไปแล้ว ตั้งใจจะไปรับจ้างทำแร่ที่ระนอง คิดตามประสาเด็ก ไม่ก็ลงเรือประมง คิดแค่ว่า ถ้าอดทนก็มีรายได้ดี เงินหลักพันสมัยนั้นถือว่า เยอะแล้ว ตอนหลังเจอเพื่อนเป็นแชมป์มวยภาคใต้ ชวนกันไปซ้อมมวยค่า ส.ท่ายาง แต่ตอนหลังเพื่อนห้าม ไม่อยากให้มาทางนี้ เพราะกลัวเสียอนาคน สมองจะเสื่อม” พล.ต.ต.รณพงษ์ว่า

ตัดสินกลับบ้านมาเรียนจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วตามพี่ชายเข้ากรุงเทพฯ ไปต่อโรงเรียนวัดราชโอรส ยังคงติดค่านิยมเด็กใต้ที่ส่งเสริมให้ต้องเป็นคนนำเพื่อน ออกตัวแทนเวลามีปัญหา แต่กว่าจะจบมัธยมปลายได้ทุลักทุเลพอสมควร ก่อนเอ็นทรานซ์เลือกคณะวิศวกรรมศาสตร์เพราะอยากเป็นวิศวกรเหมือนพ่อแม่ปลูกฝังไว้

“มันจะไปติดได้อย่างไร คะแนนไม่ดี” เจ้าตัวหัวเราะเล่าเรื่องราวของอดีตต่อว่า ไปเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ฉีกแนวเพราะตามเพื่อน เหมือนความคิดของตัวเองยังไม่มีกรอบในการคิดจะดำเนินชีวิตอย่างไร ตอนนั้นบอกตรง ๆ ว่า ไม่ได้ตั้งใจเรียน  การพนันไม่เคยเล่นก็ไปเล่นจนรู้เลยว่า การพนันอันตรายมาก สุดท้ายสาบานว่าจะเลิกเล่นการพนัน แล้วก็เกลียดการพนัน เพราะเรารู้ว่า โกง ถึงอยากไปเป็นตำรวจเพื่อมาจับการพนัน คิดแค่นั้นเอง คือ ไม่ชอบการโกงกัน

แอบสมัครสอบเข้าโรงเรียนตำรวจนครบาลรุ่น 48 ไม่ได้บอกพ่อแม่ เข้าไปถึงรู้จากรุ่นพี่ว่าจบสายวิทยาศาสตร์ วุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีสิทธิ์สอบโรงเรียนนายร้อยตำรวจด้วย เจ้าตัวเล่าว่า เงินประกันค่าเสื้อผ้า ของใช้จิปาถะแค่ 900 บาทยังไม่มี ต้องไปยืมน้าชาย ตอนหลังพ่อรู้ว่าเป็นตำรวจก็ไม่ได้ว่าอะไร เนื่องจากเคยเห็นค่อนข้างเกเรไม่อยู่ในกรอบแล้ว ไปรับราชการยังดีกว่า

เป็นนักเรียนพลตำรวจจบออกมาไปสอบเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจติดข้อเขียน สอบพละ สอบสัมภาษณ์ตก อดติดดาว เขากลับไปทำหน้าที่พลตำรวจ สังกัดพลาธิการ แผนกซ่อมยานพาหนะ ควบคู่กับเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงต่อ ปีถัดมาตั้งใจไปสอบโรงเรียนนายร้อยยตำรวจอีก คราวนี้ติดข้อเขียน แต่ดวงยังไม่มีโอกาสเมื่อไปธุระบ้านเพื่อนแล้วทะเลาะกับกลุ่มวัยรุ่น ถูกยิงด้วยลูกซองกลางหลัง ส่วนคู่กรณีก็โดนเรายิงด้วย ทำให้พลาดสนามต่อไป

ปลายปี 2521 สร้างวีรกรรมยิงนักเลงคุมซ่องคาโรงแรม 88 ย่านบางขุนพรหม  มีประวัติฆ่าตำรวจกองปราบ ถูกดำเนินคดี ขอย้ายไปอยู่จเรตำรวจ สู้คดีจนหลุด กระทั่งสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีนิติศาสตร์ เข้าไปอบรมโรงเรียนนายร้อยตำรวจนาน 4 เดือนได้การเลื่อนเป็นสัญญาบัตรบรรจุเป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา นาน 3 ปีย้ายไปอยู่เมืองระนอง เริ่มรับบทบู๊

“เมื่อก่อนนิสัยส่วนตัวไม่ใช่เป็นคนบู๊นะ แต่เป็นคนไม่ยอมคน ถ้าโดนหาเรื่องก่อน แต่จะหาเรื่องคนอื่น ไม่มี ผมไม่มีลูกนักเลง ผมไม่สูบบุหรี่ ไม่ได้ขี้เมาหยำเป ไม่เป็นคนอย่างนั้น แค่เป็นคนไม่ยอม สมัยเด็กที่พยายามไปชกมวย เพราะคิดว่า ถ้าใครข่มเหงจะสู้ ไม่ยอมให้ใครรังแก อาจด้วยสภาพแวดล้อมมันเป็นตัวกำหนดให้ผมเป็นแบบนี้”

เขาย้อนความว่า ทั้งบ้านเป็นคนเรียบร้อย พ่อรับรางวัลพ่อแห่งชาติ แม่ค้าขาย แต่ละแวกบ้านนักเลงเยอะ พยายามจะมาปล้นแม่  ทำให้เราฮึด มีความคิดว่า เราจะต้องปกป้องครอบครัวเราให้ได้ ถึงไปฝึกมวย ตามประสาความคิดตอนนั้น พอมาเป็นนายร้อยนิสัยไม่ยอมคนยังมี

จังหวะนั้นเอง เขาได้เจอกับ “สุนทร ซ้ายขวัญ” ขณะเป็นผู้บังคับการเขต 10 คุม 5 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่ ชุมพร ระนอง สุราษฎรธานี พังงา ภูเก็ต ถูกเรียกใช้มาอยู่สำนักงานจนเห็นนิสัยใจคอ พอผู้เป็นนายขึ้นตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการ เขาขอกลับถิ่นเกิดเป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวนปากน้ำชุมพร และได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจทำคดีสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ เสมือนเป็นจุดสตาร์ตของการทำงานปราบปรามแบบเต็มตัว

ขึ้นสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองระนอง เป็นหัวหน้าโรงพักเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ยังคงทำหน้าที่หัวหน้าชุดเฉพาะกิจของตำรวจภูธรภาค 8  มี พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 สางคดีสำคัญเคียงข้าง พ.ต.อ.ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ พ.ต.อ.วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์ จนสนิทสนมกลมเกลียวกัน แล้วย้ายกลับไปอยู่ชุมพร

“ผมเป็นคนพวกเยอะ คบเพื่อน จริงใจกับพวก ปรากฏว่า พอเป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจกลับโดนมองเป็นผู้มีอิทธิพล ถูกร้องเรียนว่า ไม่ควรอยู่ในพื้นที่ ได้เมตตาจากท่านมนัส ครุฑไชยันต์ ขณะนั้นอยู่กับนายกฯ ชวน หลีกภัย เป็นคนพิจารณาข้อเท็จจริงจนได้กลับไปอยู่ชุมพร ตำแหน่งรองผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอทุ่งตะโก พื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตมือปืนจังหวัดหนึ่งของเมืองไทย” อดีตมือปราบคนดังภาคใต้ว่า

เขาพยายามทำวิจัยศึกษาหาสาเหตุทำไมหลายคนในจังหวัดกลายเป็นมือปืนและพยายามแก้ปัญหาด้วยการดึงเอามาเป็นพวก ให้โอกาสทุกคน บางคนลงทุนซื้อเลื่อยให้ไปรับจ้างเลื่อยไม้ยางเพื่อให้เลิกเป็นมือปืน เป็นความภูมิใจที่ได้ช่วยเปลี่ยนวิถีชีวิตนักฆ่ารับจ้างหลายคน

ปี 2543 ขยับเป็นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 ผ่านผู้บัญชาการมาถึง 5 คนที่ไว้ใจในฝีไม้ลายมือไม่เปลี่ยนเขาออกจากเก้าอี้หัวหน้านักสืบของหน่วย ก่อนขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วกลับมาเป็นรองผู้บังคับการศูนย์สืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 ยาวจนครบขึ้น “นายพล”  เกิดปัญหากับผู้ใหญ่บางคนไม่พอใจเรื่องไปขวางผลประโยชน์ที่ดินมหาศาล สะดุดเล็กน้อยกว่าจะเป็นผู้บังคับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้วโยกนั่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์

อยู่สุรินทร์ 3 ปีเต็มเกือบเจอมรสุมการเมือง พล.ต.ต.รณพงษ์ยืนยันว่า บางคนชอบคิดว่าเราอยู่ฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ ไม่รู้เบื้องหลังเราว่า ถ้ารู้จัก พวกก็คือพวก ไม่เกี่ยวกับการเมือง เพราะเราไม่ได้เล่นการเมือง รู้จักสนิทนักการเมืองหลายคน อยู่ที่ใครจะคบได้ หรือคบไม่ได้ ไม่อยากคบ และอาจเป็นมูลเหตุส่วนหนึ่งทำให้ต้องเจอวิบากรรมในบั้นปลายชีวิต

เด้งจากเมืองช้างเข้ากรุจากเหตุผลทางการเมืองด้วยเรื่อง “วางตัวไม่เป็นกลาง” แต่พอคลื่นลมสงบได้เก้าอี้คืนเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช เสร็จสรรพขึ้นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ไม่ถึงปี โดนอำนาจนักการเมืองแทรกซ้อนอีกระลอก ทำกระเด็นไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนย้ายไปพักเป็นรองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี

ทั้งที่ตลอดชีวิตราชการมีอุปนิสัยส่วนตัวเหมาะเป็นผู้นำ รักลูกน้อง  เอาจริงเอาจังกับงาน บู๊ล้างผลาญกลุ่มอิทธิพลและมือปืนรับจ้างในพื้นที่แบบไม่ยอมสยบก้มหัวให้เหล่านักเลงทรชนที่กระทำผิดกฎหมายสร้างความเดือดร้อนแก่สุจริตชน

สมัยเป็นผู้บังคับการตำรวจจังหวัดนครศรีธรรมราชเปิด “ยุทธการสะท้านคนคุก” นำกำลังจู่โจมเรือนจำกลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ยึดโทรศัพท์มือถือ ยาบ้า-ยาไอซ์ ตรวจฉี่นักโทษเป็น “สีม่วง” กว่าครึ่งพันคาเรือนจำเมืองคอน กระทั่งโดนหมายหัวจากผู้สูญเสียผลประโยชน์มูลค่ามหาศาลในอาณาจักรคนคุก

เจ้าตัวไม่สะทกสะท้านแถมประกาศท้าทายหมายปั้นผลงานให้เป็น “นครศรีธรรมราชโมเดล” จนได้รับการเสนอชื่อรับรางวัล ‘ข้าราชการไทย หัวใจสีขาว’ ตามโครงการเฟ้นหาข้าราชการต้นแบบที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ

ปีเดียวกัน สมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย มอบรางวัล สุดยอดเกียรติตำรวจไทย สาขา ปราบปรามยาเสพติด มี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานมอบ ครั้งนั้น เจ้าตัวเปิดอกกับทีมข่าวสำนักข่าวอิศราไว้ “รางวัลนี้ผมภูมิใจมากกว่าได้ตำแหน่งอีกนะครับ เพราะอยากสร้างแรงจูงใจให้กับข้าราชการ ให้คนที่มีความมุ่งมั่นในการทำงาน เพื่อบ้านเมืองมีกำลังใจกันต่อไป”

ส่วนเรื่องที่ถูกตั้งค่าหัว อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราชหัวเราะและยืนยันเสียงหนักแน่น  “ส่วนตัวผมไม่ได้กลัวอะไร มันเป็นวิถีชีวิตของอาชีพตำรวจ เพียงแต่ไม่ถึงกับสบายใจซะทีเดียว เพราะเวลานอกราชการจะออกไปไหนมาไหนคนเดียว ลูกน้องก็ไม่กล้าปล่อยให้ไป แต่อย่างที่ว่า เรื่องยาเสพติดมันก็ไม่มีอะไรง่ายดายขนาดนั้น เพราะรายใหญ่บางรายเป็นถึงผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่นก็มี ค้าขายกันข้ามชายแดน มีเครือข่ายเต็มไปหมด”

เล่าด้วยว่า พ่อค้ายาเสพติด ยังมียุทธวิธีอื่นที่ใช้ต่อกรกับเจ้าหน้าที่ เช่น ร้องเรียนชุดปฏิบัติการยาเสพติดที่เป็นผู้จับกุม  เป็นเรื่องปกติมาก ตัวเองเคยโดนสมัยเป็นรองผู้กำกับโรงพักทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร ทำหน้าที่เป็นชุดเฉพาะกิจจังหวัด ถูกฟ้อง ถูกร้องเรียนว่า ค้ายา แต่ก็ไล่บี้ไอ้คนที่กล่าวหาไปถึงคนสุดท้าย ปรากฏว่าเกี่ยวข้องพัวพันกับพวกค้ายา เรื่องก็จบเลยไป

นายพลตำรวจมือปราบได้เตือนสติรุ่นน้องไว้ว่า การรับราชการอย่าทำเพื่อรางวัล อย่าทำเพื่อตำแหน่ง แต่ให้ทำเพื่อหน้าที่ ทำเพื่อบ้านเมือง คำนี้ก็ตรงกับสิ่งที่ตัวเองถูกปลูกฝังจากครอบครัวมา บางครั้งถ้าทำอะไรผิดมากๆ ก็นอนไม่หลับ คิดถึงคำสอนพ่อแม่

 “การเป็นข้าราชการไม่จำเป็นต้องดี  100 เปอร์เซ็นต์ แค่เป็นคนที่ทำงานเพื่อส่วนรวมมากกว่า คิดถึงตัวเองน้อยลงหน่อยก็จะเป็นตัวอย่างของคนรอบข้าง ลูกหลานได้ ผมก็ไม่ใช่คนที่ดีเด่ 100เปอร์เซ็นต์ เคยทำผิดเหมือนกัน” 

“ผมไม่กลัวความลำบาก เข้าตาจนก็พร้อมทำทุกทางที่เป็นอาชีพสุจริต” พล.ต.ต.รณพงษ์เล่าว่า สมัยยังเป็นพลตำรวจเคยขับรถแท็กซี่หารายได้เสริมอยู่ในเมืองหลวงนานกว่า 2 ปี ยอมรับว่า หลายคนที่ไม่มีความพร้อม อาจมีวิสัยมนุษย์ที่ต้องดิ้นรน ไขว่ขว้าตำแหน่งเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่มากขึ้น

ตำแหน่งที่ว่า คือ ต้องซื้อจากนักการเมือง

ตำนานมือปราบคนดังภาคใต้สรุปไว้ว่า  รากเหง้าของปัญหาก็มาจากการซื้อขายตำแหน่งจากนักการเมือง ทำให้ตำรวจต้องไปเอื้อกับกลุ่มธุรกิจนอกระบบเอามาเป็นทุน แต่ถ้านักการเมืองไม่เอา หัวไม่ส่ายหางก็ไม่กระดิก อธิบดีคนไหนไม่เข้าท่าก็ปลด ย้าย ที่นี้ไม่มีใครกล้าแน่นอน

“แต่ยุคหลัง อำนาจการแต่งตั้งไม่ได้อยู่ที่ผู้บังคับบัญชา เดี๋ยวนี้เลยกลายเป็นว่า ถึงเวลาไม่วิ่ง ไม่ได้จริงๆ ทว่าอย่าไปโทษใคร ผู้ใหญ่ผู้บริหารทั้งฝ่ายข้าราชการ ฝ่ายนักการเมืองต้องร่วมกันแก้ไข มีระบบคุณธรรมให้มากขึ้น เห็นแก่คนดี คนทำงาน เรื่องเหล่านี้ก็จะค่อยๆหายไป” กระนั้นก็ตาม เขายังเชื่อว่า ในองค์กรตำรวจมีคนดีอยู่เยอะกว่าคนไม่ดี ไม่เช่นนั้นองค์กรคงอยู่ไม่ได้ เพียงแต่ว่าเรื่องราวของคนดีไม่ได้รับการตีแผ่ กลับไปยกย่องแต่คนมีเงิน มีฐานะ มีตำแหน่งเท่านั้น

ด้วยการทำงานอย่างจริงจังไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม เขาถึงได้รับการยอมรับในพื้นที่ภาคใต้ที่วนเวียนใช้ชีวิตปราบปรามผู้มีอิทธิพล และมือปืนรับจ้างแบบบู๊ล้างผลาญ กระทั่งพลาดพลั้งตกเป็นผู้ต้องหาโดนร้องเรียน

ท้ายสุดสิ่งที่ทำมาตลอดชีวิตราชการกลับมาเจอ “นักการการเมืองอิทธิพล” ทำตัวนักเลงในถิ่นชักใยทำลายคุณงามความดีที่สะสมมา “นักการเมืองบางคนประกาศเลยว่า ยังไงต้องเอาผมให้ติดคุก” นายพลมือปราบเก่ามองเกมออก เหตุจากความขัดแย้งภายในถิ่นที่เจ้าตัวไม่ยอมก้มหัว ไม่วิ่งเข้าหา เนื่องจากไม่ได้หวังความก้าวหน้าด้วยการเอาใจนักการเมือง คิดว่าเกษียณยศ พ.ต.อ.ก็เอาแล้ว ยิ่งพอลงไปสืบสวนเรื่องบุกรุกที่ดินมูลค่ามหาศาลยิ่งสะสมความแค้นฝังใจแก่นักการเมืองคนนั้น

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2545 เกิดคดียิง นายเกษม คงตุก สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางริ้น  อำเภอเมืองระนอง ขณะนั้นเป็นเขาผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 แกะรอยจับกุม นายวิโรจน์ สุวรรณี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง นายวินัย ขุนแผ้ว และนายกรีฑา ยกย่อง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางริ้น ในข้อหาร่วมกันฆ่าและจ้างวานฆ่า

คดีกันไปมาเกมพลิก เมื่อฝ่ายผู้ต้องหาฟ้องกลับ “รณพงษ์ ทรายแก้ว” กับลูกน้องรวม 14 คน ในข้อหา เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น กักขังหน่วงเหนี่ยว ทำร้ายร่างกายผู้อื่นให้ได้รับอันตรายสาหัส

หลังจากคุมตัวเข้าเซฟเฮาส์เอาไฟฟ้าช็อตให้รับสารภาพ แต่เจ้าตัวยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม มั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง

ถึงชั้นศาลฎีกาตัดสินจำคุก 15 ปี ก่อนที่เขาจะเกษียณอายุราชการไม่กี่เดือน

“ผมพยายามสู้คดี แต่ผมเป็นคนรักลูกน้อง ถ้าผมให้การอีกแบบ ลูกน้องติดคุก ผมทำไม่ได้ สิ่งที่ผมสร้างมาตลอดชีวิตมันสูญ ผมไม่กล้าทำแบบนั้น ให้การไปคิดไม่ถึงว่าศาลลง ถ้ามีความรู้เรื่องกฎหมาย แล้วเอาคำพิพากษาของคดีของไปอ่านจะเห็นชัด” เขาอธิบาย แต่ไม่อยากสวนกระบวนการยุติธรรมที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาสิ้นสุดไปแล้ว

พล.ต.ต.รณพงษ์ยอมรับว่า เริ่มระแคะระคายแนวทางของคำพิพากษาศาลฎีกา ตัดสินใจลาออกก่อนเกษียณ 2 เดือน 10 วัน ไม่ได้คิดหนี แต่เพื่อใช้เวลาจัดการตัวเอง ดูแลเรื่องลูกที่เรียนอยู่ต่างประเทศ 3 คน นายบางคนยังไม่อยากให้มอบตัวด้วยซ้ำ ใครจะมาจับให้รู้กันไป แต่เราแค่รอให้ลูกกลับมาจากต่างประเทศ พอศาลอ่านคำพิพากษาลับหลัง จัดการเรื่องราวต่าง ๆ เรียบร้อยก็เข้ามอบตัว

“ไม่เคยคิดว่า ชีวิตจะต้องมาเจอแบบนี้” นายพลตำรวจหมดอิสรภาพอยู่ 2 ปี 11 เดือน 11 วัน ได้รับการอภัยโทษจนออกมาใช้ชีวิตปกติ เขาระบายความรู้สึกว่า อยู่ในคุกไปเจอผู้ต้องหาเก่าที่เคยจับหลายคน แต่ไม่กล้าทำอะไรเรา เชื่อเสียงของเรา รู้ว่า เราเป็นคนอย่างไร เราทำงานมาตลอดชีวิต ผู้ต้องหาที่เราจับไม่เคยเห็นใครโกรธเรา ติดคุกอยู่ระนอง ผู้ต้องขังอยู่บางขวางเจอโทษตลอดชีวิตยังส่งจดหมายมาหาเขียนว่า ไม่เคยโกรธนาย เพราะนายเป็นคนทำงานตามหน้าที่   “ผมผ่านชีวิตการต่อสู้มาเยอะ เคยลำบาก เคยผ่านคดีฆ่ามาแล้ว 2 ครั้ง ตอนที่เป็นรองผู้กำกับการ และตอนวัยรุ่นที่ยิงนักเลงตาย มีคำสั่งไม่ฟ้อง ทำจริง แต่ทำตามหน้าที่ ไม่ติดคุก แต่มาติดคุกไม่ใช่คดีฆ่าคนตาย ตลกดีไหม”

อดีตนายพลคนคุกได้โอกาสเข้าไปสัมผัสอีกมุมหนึ่งของชีวิตมนุษย์ว่า  สิ่งที่เคยคิดว่า เรารู้จริง เราก็รู้ไม่จริง เรื่องเรือนจำ เราน่าจะเป็นนายตำรวจอีกคนที่รู้เรื่องนี้เยอะ เพราะศึกษาเรื่องเรือนจำ ค้นเรือนจำมามากกว่าเพื่อน จริง ๆ แล้วไม่ใช่ พอเข้าไปสัมผัสแล้วรู้เลยว่า มีการทุจริตในกรมราชทัณฑ์มหาศาล เรียนรู้ว่า คนที่ไม่ได้ทำผิดจริงแล้วมาติดคุกมีเยอะมาก และเรายังได้มีเวลาศึกษาธรรมะ อ่านหนังสือเยอะมากเกี่ยวกับหลักศาสนา คำสอนของพระพุทธเข้า

“ถามว่า จะทำตัวให้ได้เหมือนที่คิดไหม ก็ไม่ง่าย ยังบอกกับใครต่อใครว่า อย่ามายุ่งกับกู อย่ามากวนกูได้หรือเปล่า กูไม่อยากจะฆ่าใครแล้ว นี่พูดตรง ๆ  ผมไม่คิดจะทำอะไรใคร ไม่คิดจะอาฆาตแค้น ปล่อยเป็นเรื่องของกรรมใคร กรรมมัน ผมยังคิดเลยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมมาจากกรรม แต่จากชาติไหน ผมไม่รู้ อาจด้วยความที่ผมเคยสู้ชีวิตมามาก กลายเป็นจิตใจอาจจะเข้มแข็งกว่าคนอื่น”

อดีตรองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดียังมองว่า ตอนเข้าพลตำรวจตั้งใจไว้ ถ้าไม่ได้เป็นนายร้อยจะลาออก พอเป็นนายร้อยคิดว่า ได้เกษียณถึงสารวัตรก็ดีแล้ว พอเป็นสารวัตรคิดว่า ได้แค่ผู้กำกับ ไม่ได้คิดจะเป็นนายพล ถ้าได้คงปลายอายุ 58-59 ก่อนเกษียณ ทว่าสมัยก่อนคนทำงานประเภทแบบเรามีน้อย ผู้ใหญ่ถึงผลักดันให้เจริญเติบโต

พล.ต.ต.รณพงษ์อยากฝากด้วยว่า องค์กรตำรวจต้องแก้ไขปัญหา นักสืบทั่วประเทศต้องเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เมื่อก่อนต่างคนต่างทำ เก็บความลับไว้ บังกันเอง ทำแบบนั้นไม่ได้ ต้องให้มีการประชุมทุกเดือน ผู้กำกับสืบสวนทั้งประเทศต้องมา เมื่อไว้ใจกัน ให้ละลายพฤติกรรม  ประชุมเสร็จ ไปกินกันสักคืน เมากัน ตอนหลังเวลามีคดีหนีไปเชียงราย ไม่ต้องเสียค่าน้ำมันรถ ไม่ต้องเสียงบประมาณรัฐ โทรศัพท์ประสานต่างหน่วยช่วยจับ

ตำนานมือปราบแดนสะตอทิ้งท้ายว่า  เป็นคนโชคดี ส่วนหนึ่ง คือ ต้องย้อนคำพูดที่ว่า มีพ่อมีแม่ดี แม่ปลูกฝังเรื่องการต่อสู้ชีวิต พ่อปลูกฝังในเรื่องของการศึกษา แถมเป็นคนพวกเยอะ สำคัญสุด เราทำความดีไว้ พี่ทำให้ไม่ได้โดนคดีทุจริต ไม่ได้โดนคดีทำชั่ว นอกจากเป็นเรื่องการทำงาน และไม่เคยกลั่นแกล้งใคร วิบากกรรมชีวิตที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของกรรม

รณพงษ์ ทรายแก้ว !!!   

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES