การพรากสิทธิ

การประชุมรัฐสภาพิจารณาวาระร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ  พ.ศ…. เที่ยวล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ผลเป็นไปตามคาด

ยังหาข้อสรุปขบกันไม่แตก

ในทันทีที่พิจารณามาตรา 169/1 พล...ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะกรรมาธิการลุกขึ้น ขอเพิ่มข้อความในมาตรา 169/1

ระบุว่า ในวาระเริ่มแรกภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ การคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ใช้บังคับอยู่ ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ในกรณีที่ไม่อาจนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขมาใช้บังคับได้ตามวรรคหนึ่ง ก็จะดำเนินการประการใดให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจกำหนด ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ 

สาเหตุที่เพิ่มข้อความในมาตราดังกล่าว พล.ต.อ.ปิยะบอกว่า เนื่องจากผลกระทบจากกรณีที่มีการเอาเนื้อความบางส่วนไปใส่มาตรา 69 ส่งผลกระทบให้ เมื่อพิจารณาจำนวนปีจะเชื่อมโยงไปมาตรา 80 และมาตรา 2 โดยมาตรา 80 ระบุว่าให้เป็นไปเพื่อความเที่ยงธรรมในการแต่งตั้ง

ดังนั้นจะทำให้ระยะเวลาในการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น มีผลใช้ทันทีจะส่งผลต่อตำรวจที่มีสิทธิเลื่อนตำแหน่งตามกฎหมายเดิม ถูกตัดสิทธิทันที 

  แบ่งเป็นกลุ่มผู้บังคับการ 72 ราย รองผู้บัญชาการ 49 นาย รวม 121 นาย เกิดเป็นปัญหา การพรากสิทธิ และเนื่องจากระยะเวลาในการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นในรายละเอียดต้องมีการจัดตำรวจเข้าในกลุ่มสายงานต่าง ๆ มีระยะเวลากำหนด 

แต่การมีผลบังคับใช้ทันทีจะไม่เปิดโอกาสให้ตำรวจที่ได้รับผลกระทบได้เลือกเส้นทางการดำเนินชีวิตของตัวเอง เพราะระยะเวลาไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเดิม 

พล.ต.อ.ปิยะ อธิบายอีกว่า เนื่องจากในวาระเริ่มแรก การย้ายข้ามหน่วย ข้ามภูมิลำเนา จะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อข้าราชการชั้นผู้น้อย โดยเฉพาะชั้นประทวน และระดับรองสารวัตร มีเงื่อนไขการย้าย คือ ในทุกปีจะมีภาพรวมช่วงเวลาการแต่งตั้งที่จะมีระดับรองสารวัตรไม่น้อยกว่า 400 นาย ชั้นประทวน 3,000 กว่านาย ร้องขอกลับภูมิลำเนาแต่เงื่อนไขใหม่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาว่าจะรับหรือไม่รับก็ได้

 ทว่าตามกฎหมายเดิมจะเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ตรากตรำครบ 4 ปี จะหมุนเวียนให้กลับภูมิภาคได้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแจงรายละเอียด  

ขณะที่ พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภาและประธานวุฒิสภา แจงต่อที่ประชุมว่า คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะไม่มีใครแปรญัตติ และเป็นร่างที่ยกขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ มีสมาชิกขอผู้สงวนความเห็น 3 ท่าน ขอให้ตัดมาตราดังกล่าวออก แต่ถ้าคณะกรรมาธิการต้องการจะเพิ่มข้อความจริง ๆ จะต้องถอนไป

ทั้งนี้ ภายหลัง พล...ปิยะ อุทาโย เสนอเพิ่มมาตราเสร็จสิ้น มีสมาชิกรัฐสภารุมทักท้วงว่า ไม่สามารถทำได้ ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนข้อบังคับ เพราะ พล.ต.อ.ปิยะ ไม่ได้เป็นผู้แปรญัตติ หรือสงวนคำแปรญัตติเอาไว้ว่าแต่ต้น อยู่ ๆจะมาเสนอเพิ่มมาตรากลางที่ประชุม

 นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลแสดงความเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติตำรวจพิจารณากันมานานแล้ว ทุกคนกำลังรอว่า เมื่อไหร่จะเสร็จ “ แว่วว่าที่คณะกรรมาธิการจะมาเสนอให้เพิ่มมาตราดังกล่าวนั้น เพื่อช่วยใครบางคนหรือไม่ ขอเสนอให้เดินหน้าพิจารณาต่อให้จบ อีกไม่นานจะจบแล้ว

ด้าน พล...ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกวุฒิในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ เห็นว่า ประเด็นที่ถกเถียงเป็นปัญหาการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับการคัดเลือกแต่งตั้งที่นำมาจัดอยู่ในกฎหมายที่อยู่ในช่วงการแต่งตั้งประจำปี หากกฎหมายฉบับนี้ออกมาจะมีผลกระทบกับการแต่งตั้งที่กำลังดำเนินการอยู่ จำเป็นต้องรอบคอบ เพื่อให้เป็นไปตามข้อปฏิบัติและกฎหมาย

สุดท้ายมีการปิดประชุม และนัดหารือคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. ในประเด็นการแก้ไขร่างมาตรา 169/1 ของบทเฉพาะกาลใหม่ในวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00 น.

ลุ้นรอเวลาจะพาให้ไปต่อหรือจ่อคว่ำกระดาน

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES