“ชีวิตเรามีค่ามากขึ้นเมื่อสิ่งที่เรารักสามารถเป็นประโยชน์กับผู้คนได้”

ผลผลิตนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงรุ่นแรก เจ้าของเพจ “หมวดคะ” บนโลกโซเชียลที่มีแฟนคลับติดตามนับแสน

ร.ต.อ.หญิง สิริรัตน์ เพียรแก้ว รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรโพธาราม จังหวัดราชบุรี เปิดตัวพ็อกเกตบุ๊กในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชื่อเก๋ไก๋ “เดี๋ยวหมวดตอบให้…ไม่ต้องไปถึงโรงพัก” เปลี่ยนกฎหมายเป็นเรื่องง่ายตามสไตล์ “หมวดคะ” ที่มีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก

เธอเป็นนายร้อยตำรวจหญิงที่มีความฝันและอุดมการณ์สูง มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในการดูแลสารทุกข์สุขดิบประชาชนสมกับวิญญาณผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เรื่องราวของ “หมวดคะ” ที่ปัจจุบันเลื่อนขั้นเป็น “ผู้กอง” มีความเป็นมาอย่างไร ติดตามได้จากนิตยสาร COP’S ที่อยู่ในมือฉบับนี้

 

เนรมิตตำรากฎหมายเข้าใจง่าย ไม่ต้องวุ่นวายให้ชาวบ้านตีความ

ฉากเปิดตัวผลงานบนปลายปากกาล่าสุดของ ร.ต.อ.หญิง สิริรัตน์ เพียรแก้ว “เดี๋ยวหมวดตอบให้…ไม่ต้องไปถึงโรงพัก” หนังสือที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายง่าย ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ได้รับความสนใจจากบรรดานักอ่านในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ มีแฟนคลับแห่ไปซื้อพ็อกเกตบุ๊ก และขอลายเซ็นแน่นขนัด เธอตั้งใจว่า เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายที่เกิดขึ้นใกล้ตัวได้มากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องไปถึงโรงพัก ไม่ต้องให้นักกฎหมายมาพูดศัพท์ทางเทคนิคยาก ๆ หรือคำที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ พร้อมทั้งตัวอย่างสถานการณ์จำลอง

อาทิ รู้เท่าไม่ถึงการณ์แล้วไม่ผิด จริงหรือ ด่าใครก็ได้ในโซเชียลเท่ากับพื้นที่ส่วนตัวเหรอคะ ผ่อนรถไม่ไหว ขายต่อได้ไหม ตบกันไม่ได้ปรับ 500 นะคนดี ทำอย่างไรเมื่อโดนยืมเงินแล้วไม่ยอมคืน เก็บของได้แล้วไม่คืน ผิดโทษฐานลักทรัพย์ไหม ตัวอย่างเหล่านี้เป็นคำถามที่เธอเจอบ่อยระหว่างทำเพจ “หมวดคะ” ในโลกออนไลน์ กลายเป็นที่มาของพ็อกเกตบุ๊กส่วนตัวเล่มล่า

เจ้าตัวบันทึกคำนำในหนังสือว่า คุณเคยรู้สึกว่า กฎหมายเป็นเรื่องยากไหม อ่านหนังสือกฎหมายที่ไรก็ไม่เข้าใจสักที ถามคนที่รู้กฎหมายก็อธิบายภาษาวิชาการ หรือต้องไปเสียเงินว่าจ้างกว่าจะได้คำตอบ พอจะไปปรึกษาตำรวจที่โรงพักก็คนเยอะ เสียเวลาอีก แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าคุณได้ลองอ่านหนังสือ “เดี๋ยวหมวดตอบให้…ไม่ต้องไปถึงโรงพัก” คุณจะรู้ได้เลยว่า หนังสือเล่มนี้ไม่เหมือนหนังสือกฎหมายเล่มไหน ๆ ที่คุณเคยอ่านมาอย่างแน่นอน และกฎหมายไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

วาดการ์ตูนตำรวจหญิง ใช้อ้างอิงตอบคำถามแทนตัวเอง

“เดี๋ยวหมวดตอบให้…ไม่ต้องไปถึงโรงพัก” มีต้นกำเนิดมาจากตำรวจหญิงคนหนึ่งซึ่งตอนนั้นเป็นผู้หมวดที่มีความน่ารัก เซ็กซี่ ขี้เล่น เป็นกันเอง ร.ต.อ.หญิง สิริรัตน์ อธิบายในคำนำว่า คือ ตัวเองที่มักจะถูกคนเรียกว่า หมวดคะ ๆ มีเรื่องปรึกษาหน่อยค่ะอยู่เป็นประจำ จึงได้นำแนวคิดนี้มาทำเพจ “หมวดคะ” ขึ้นบนเฟซบุ๊ก เพื่อรวบรวมข้อสงสัยทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คนมาถ่ายทอดในรูปแบบใหม่ โดยใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่าย เหมือนพูดให้ฟังมากกว่าอ่าน ประกอบกับตัวเองชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ๆ จึงใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่มาประยุกต์เข้าด้วยกัน

เธอวาดตัวการ์ตูนตำรวจหญิงขึ้นมาเพื่อสร้างสีสันให้กับเพจ การ์ตูนในเพจ “หมวดคะ” เป็นเหมือนตัวแทนผู้ที่ให้ความรู้ ตอบข้อซักถามทางกฎหมาย และสนทนากับแฟนเพจด้วยความเป็นกันเอง ให้ความรู้สึกเหมือนแฟนเพจได้มานั่งปรึกษาร้อยเวรด้วยตัวเอง เมื่อเพจหมวดคะได้รับความนิยม เธอได้รับเชิญไปให้สัมภาษณ์ในสื่อต่าง ๆ กระทั่งเข้าตาสำนักพิมพ์อมรินทร์ ที่เธอรู้สึกได้รับเกียรติและยินดีเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมงานกับทางสำนักพิมพ์อมรินทร์ในครั้งนี้ จึงตั้งใจถ่ายทอดความรู้ทั้งสาระที่มีลงในหนังสืออย่างสุดความสามารถ

ร.ต.อ.หญิง สิริรัตน์ ทิ้งท้ายคำนำด้วยการขอขอบพระคุณคุณพ่อสุดใจ และคุณแม่รเมศ เพียรแก้ว ผู้อยู่เบื้องหลังในทุก ๆ ความสำเร็จในชีวิต รวมถึงคนรัก ญาติมิตร รุ่นพี่ เพื่อน ๆ รุ่นน้อง และครูอาจารย์อีกหลายท่านที่ไม่ได้กล่าวชื่อที่ได้ให้ความช่วยเหลือและให้กำลังใจตลอดมา ที่ขาดไม่ได้เลยต้องขอขอบคุณแฟนเพจหมวดคะที่น่ารักทุกคน คอยให้ทั้งกำลังใจและเป็นแรงผลักดันที่ดี ทำให้เธออยากทำผลงานดี ๆ ต่อไป ทำให้เธอรู้สึกว่า “ชีวิตเรามีค่ามากขึ้นเมื่อสิ่งที่เรารักสามารถเป็นประโยชน์กับผู้คนได้”

 

ฝันอยากเป็นคนในเครื่องแบบ  แอบตื่นเต้นที่เห็นรุ่นพี่มาแนะแนว

เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของ นายสุดใจ เพียรแก้ว กับนางรเมศ เพียรแก้ว เกิดจังหวัดอุดรธานี แต่มาใช้ชีวิตอยู่ปทุมธานี เพราะพ่อแม่ทำงานย่านดังกล่าว เข้าเรียนอนุบาลถึงชั้นประถมปีที่ 6 โรงเรียนวัดชินวรารามวรวิหาร (เจริญผลวิทยาเวศม์) ด้วยความที่อยู่โรงเรียนวัดมาตั้งแต่เด็กจะถูกสอนให้ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่ทำงานประดิษฐ์ สอนวิชาชีพ สอนการทำสวน นอกจากวิชาหลัก กลายเป็นเด็กที่ชอบทำกิจกรรม แต่ไม่ทิ้งการเรียน

จบประถมได้เกรดเฉลี่ย 4.00 คว้าโควตาสอบสัมภาษณ์เข้าโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ หอวัง นนทบุรี ในระดับชั้นมัธยมศึกษา เจ้าตัวเล่าว่า จริงๆ แล้วเรียนสายวิทย์-คณิต แต่ก็ทำกิจกรรมมาตลอด โดยเฉพาะงานที่เป็นศิลปะกับคหกรรมจะชอบเป็นพิเศษ วาดฝันอนาคตอยากทำอะไรที่แตกต่างผู้หญิงคนอื่นที่ไม่ค่อยเป็นกัน “เพื่อนๆ ในสายการเรียนเดียวกันมักจะมีเป้าหมายว่า จบมาจะไปสอบเป็นหมอ พยาบาล วิศวะ สถาปัตย์ บ้างก็ครู หลายๆคนก็เชียร์ให้เราไปเรียนสถาปัตย์ แต่ตัวเองอยากไปเป็นคนในเครื่องแบบ เพราะรู้สึกว่า คนในเครื่องแบบเท่มากๆ โดยเฉพาะผู้หญิงยิ่งเท่ไปอีก”

“ถ้าเจอผู้หญิงในเครื่องแบบที่ไหนจะตื่นเต้นทุกครั้ง  มีครั้งหนึ่งเคยไปดูงานวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎ เจอพี่ๆ แพทย์ทหารแล้วชอบมาก ถึงขั้นไปขอถ่ายรูปกับเขา เอาไปเก็บไว้ด้วย ถึงกระนั้นก็ยังรู้สึกว่า ไม่ได้อยากเรียนสายแพทย์ อยากไปสายบู๊ ทำอะไรเท่ๆ การเป็นแพทย์ทหารไม่ได้ตอบโจทย์ตัวเอง” ร้อยตำรวจเอกสาวเล่าเรื่องราวของแรงบันดาลใจในอดีต

 

ประจวบเหมาะเกิดหลักสูตรใหม่ นายร้อยตำรวจหญิงรุ่นแรก

กระทั่งใกล้จบมัธยมปลาย มีการเปิดรับสมัครนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงรุ่นแรกของประเทศไทย เธอสารภาพว่า ตอนนั้นรู้สึกได้ทันทีว่า สิ่งนี้เกิดมาเพื่อเรา เราจะสอบให้ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่า ตัวเองไม่มีความพร้อมอะไรเลยด้วยซ้ำ คือเป็นคนชอบทำกิจกรรม ไม่เคยออกกำลังกาย แต่การสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ต้องสอบทั้งวิชาการ พร้อมทั้งวิ่งและว่ายน้ำด้วย เป็นอะไรที่หนักใจมาก แต่ตั้งใจแล้วว่าจะสอบให้ได้ ก็ต้องทำให้ได้ ยอมทำทุกอย่างให้สอบติดให้ได้

นักเรียนมัธยมสาวเริ่มต้นจากโหลดแนวข้อสอบมานั่งทำ ทำไม่ได้ข้อไหนก็เอาไปถามอาจารยที่โรงเรียน พอกลับมาที่บ้านก็มานั่งอ่านหนังสือ จดช็อตโน้ต เขียนมายแมพไว้ในเรื่องที่อ่าน พอตกเย็น บิดาจะพาไปวิ่งที่สวนสาธารณะ แล้วจ้างครูสอนว่ายน้ำส่วนตัวมาสอนให้ เนื่องจากเกิดมาไม่เคยว่ายน้ำเลยแล้วต้องมาสอบว่ายน้ำให้ผ่านจำเป็นต้องเร่งแบบนี้

“ในช่วงก่อนสอบนั้นยอมรับว่าเหนื่อยมากๆ กับการทุ่มเทเตรียมตัวสอบเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง แถมยังต้องไปรักษาสายตาที่สั้นด้วย จำได้ว่า เคยไปยืมรองเท้าคอมแบตเพื่อนผู้ชายที่เรียนรักษาดินแดน เพื่อมาลองใส่วิ่งดู จินตนาการเองว่า ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจน่าจะให้ใส่รองเท้าคอมแบตวิ่งตลอด ปรากฏวิ่งไปได้ไม่ถึงร้อยเมตรก็ไม่รอดแล้ว” เธอยังนึกขำตัวเอง

ฝ่าด่านก้าวสู่รั้วสามพราน  ฝึกหนักจนอาน ทำร้องไห้ทุกวัน

ตอนแรกเธอสอบตรงติดคณะวิทยาศาสตร์ด้านการอาหาร มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่เลือกมาสอบโรงเรียนนายร้อยตำรวจด้วย วันสอบที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีคนสมัคร 18,000 กว่าคน รับแค่ 70 คน แม้จะดูมีโอกาสน้อยมาก แต่เธอคิดว่า เตรียมตัวมาอย่างดีที่สุดแล้ว ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ไม่เสียใจ พ่อแม่ก็ไม่ว่าอะไร ไม่ได้บังคับ

ร.ต.อ.หญิง สิริรัตน์เล่าว่า ประกาศผลสอบข้อเขียนติด รู้สึกดีใจมาก ทุกอย่างเร็วไปหมด สัปดาห์ถัดไปต้องสอบพละ เตรียมร่างกายแบบแทบไม่ได้นอน อีกทั้งยังต้องไปทำเลนส์กดตาตอนกลางคืน เพื่อเช้ามาจะสั้นน้อยลง ลงทุนขนาดนี้ด้วยความที่อยากเป็นนายร้อยตำรวจ ได้เข้ามาเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงรุ่นแรก ยอมรับว่า เหนื่อย ไม่เหมือนที่คิด ไม่เคยรู้ว่าจะต้องเป็นอะไรบ้าง ไม่มีข้อมูลมาก่อน เห็นแต่ในคลิป เขาฝึก เขาเดิน นึกว่าเป็นเรื่องระเบียบวินัยอย่างเดียว แต่มันต้องสภาพจิตใจด้วย มีความกดดันทุกอย่าง คือ ทุกคนเป็นผู้ชายหมด พวกเราเป็นผู้หญิงเข้ามารุ่นแรก เหมือนแบบว่า คาดหวังไว้เยอะว่าจะต้องเป็นแบบไหน

“มีความท้อ ร้องไห้เกือบทุกวัน บางครั้งก็คิดจะออก แต่ว่า เราเลือกมาแล้ว ก็ต้องอดทน เพื่อนหลายๆ คนก็เป็น แต่บางคนไม่ เพราะเขาชอบอยู่แล้ว ร่างกายเขาแข็งแรง ส่วนเราจะอยู่ท้ายแถวตลอด มาแต่ใจอย่างเดียว เพราะร่างกายไม่แข็งแรง มีบางครั้งเครียดมาก อยากลาออก แต่พอคิดดูอีกที เราไม่ได้เรียนเพื่อตัวเองอย่างเดียว ยังมีพ่อแม่ที่คอยดูวันที่เราสำเร็จอยู่ เลยอดทน แล้วอยู่มาจนจบ”

เขียนบันทึกไดอารีชีวิต วางตัวพิชิตคำสบประมาท

การใช้ชีวิตนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงร่วมกับเพื่อนผู้ชายตลอดระยะเวลา 4 ปี ในรั้วสามพราน เป็นความยากลำบากมากสำหรับผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำแต่กิจกรรม ไม่เคยออกกำลังกาย ก่อนจะปรับตัวได้ ถือเป็นประสบการณ์ที่หาจากไหนไม่ได้อีกแล้ว ร.ต.อ.หญิง สิริรัตน์บอกว่า ครั้งหนึ่งตอนปี 2 เทอมปลายต้องไปเรียนหลักสูตรกระโดดร่มที่ค่ายนเรศวร ตื่นเต้นมากเมื่อถึงเวลาโดดจริง โดดทั้งหมด  6 ครั้ง ไปน็อกที่พื้น 3 ครั้ง เพราะดันลงผิดท่า มีหลายคนก็น็อก บางคนก็ตกน้ำ ตกหลังคาบ้าน ขาหัก ผู้ชายก็มีน็อก แต่ก็ผ่านมาได้ ที่สุดแล้วคือต้องใช้ความอดทน สรุปเข้ามา 70 คน จบไป 68 คน ขาด 2 คน เพราะออกไปเรียนต่อสถาบันใหม่ก่อนหน้า

“ตลอด 4 ปีที่เรียนมา มีเรื่องราวมากมาย ตอนปี 1 เขียนบันทึกไดอารี่ส่วนตัวเก็บไว้ จนมีผู้บังคับหมวดมาเจอ เห็นว่า ดี จึงชักชวนให้เอาไดอารี่เล่มนี้ไปทำเป็นหนังสือ ใช้ชื่อว่า บันทึกนายร้อยตำรวจหญิงปี 1 เป็นผลงานเขียนชิ้นแรกที่ทำให้รู้ตัวเองว่า มีพรสวรรค์ด้านการเขียน เวลาเห็นอะไรประทับใจก็จะเก็บมาบันทึกไว้ ขนาดฝึกภาคสนามยังแอบเขียนไว้เลย”

“คนที่ไม่ได้เข้ามาเรียนกับเราหลายคนมองว่า โอ้ย ฝึกไม่หนักหรอกรุ่นนี้มีผู้หญิงเข้าไป ทำระบบอ่อนลง บ้างก็ว่าจะทำให้เสื่อมเสีย เพราะเรื่องชู้สาว บ้างก็ว่า จบมาแล้วจะมาทำอะไร ฝึกไปทำไม เดี๋ยวก็ได้มาชงกาแฟหน้าห้องนาย กลายเป็นแรงกระตุ้นให้พวกเราต้องพิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นยอมรับให้ได้ เราจะไม่ทำอะไรให้ระบบมันอ่อนลง จะไม่ทำตัวให้มีเรื่องชู้สาวในโรงเรียน พอจบไปแล้วจะไม่ไปชงกาแฟ หรือนั่งสวยๆ หน้าห้อง เราต้องทำอะไรได้มากกว่านั้น” นักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงรุ่นแรกในประวัติศาสตร์สีหน้าจริงจัง

 

ประเดิมลงพนักงานสอบสวน ใจรู้สึกรวนผิดความคาดหวัง

เธอทำคะแนนได้สิทธิเลือกลงเป็นพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองราชบุรี แต่ภาพความเป็นของชีวิตผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กลับต่างจากภาพวาดที่เธอฝันไว้สิ้นเชิง “เราคิดว่าตำรวจต้องไปบู๊ ไปจับโจรผู้ร้าย เหมือนในหนัง พอมาทำงานจริงๆ ต้องมารับแจ้งความ ทำงานเอกสาร ทำเกี่ยวกับกฎหมาย ต้องทำการบ้าน ทำสำนวน มันไม่ใช่อย่างที่คิด”

พนักงานสอบสวนสาวถูกมอบหน้าที่เบื้องต้นรับผิดชอบคดีทางเพศ เริ่มสัมผัสความแตกต่างที่โดนมองจากผู้ใต้บังคับบัญชา หรือนายตำรวจบนโรงพักด้วยความเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงรุ่นแรก แต่เธอไม่มีปัญหาอะไร เข้าใจในสถานการณ์ที่ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือเพื่อนร่วมงานยอมรับว่า ผู้หญิงก็มีความสามารถเป็นผู้นำได้ไม่แพ้ผู้ชาย

“ถามว่า เกินคาดหวังหรือเปล่า ภาพที่คิดไว้จะได้เจอสิ่งที่ต่างจากทฤษฎีที่เรียน ภาพที่คิดว่าเราจะได้ช่วยเหลือชาวบ้าน พอเอาเข้าจริงบางทีมันช่วยไม่ได้ หรือโดนกดดันทุกรูปแบบ โดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ รู้สึกว่า ต้องอดทน แต่ ลึกๆในใจนั้น คิดว่า ถ้าจะให้สอบสวนคดีเด็กและสตรีอย่างเดียว แล้วทำไมต้องให้เรามาฝึกด้วย มาเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ด้วย ถ้าเราทำอย่างอื่นได้ จะมีใครให้โอกาสตำรวจหญิงอย่างเราไหม” ร้อยตำรวจเอกหญิงตัดพ้อ

ลุกขึ้นลุยอบรมยิงปืนกองปราบ โชว์ศักยภาพลั่นไกไม่ด้อยกว่าคนอื่น

ตรงนั้นเองกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอสมัครเข้าไปยิงปืนในหลักสูตร “ยิงปืนพกสั้นรีวอลเวอร์ในระบบต่อสู้ป้องกันตัวภายใต้สภาวะกดดัน” ของกองปราบปราม รุ่นที่ 49 ทั้งๆที่ ไม่มีปืนรีวอลเวอร์ หรือปืนลูกโม่ ไม่มีประสบการณ์การยิงปืนแบบนี้เลยด้วยซ้ำ เจ้าตัวให้เหตุผลว่า อยากลอง อยากพิสูจน์ตัวเองว่า จะทำได้อย่างที่คิดหรือไม่ ผลปรากฏออกมาดีเกินคาด ได้เหรียญเงินกลับมาแบบแผลสะบักสะบอมเต็มตัว แต่ก็เป็นหลักสูตรที่ภูมิใจมากที่สุดหลักสูตรหนึ่ง

เธอบอกตอนแรกคิดว่า มันจะเหนื่อยอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วในหลักสูตรนี้ให้เรามากกว่านั้น ทำให้เรารู้ตัวทันทีว่า ชอบยิงปืนมากๆ ชอบอะไรลุยๆ มันสนุก มันท้าทาย แล้วได้รู้จักรุ่นพี่ รุ่นน้องๆ สังคมในการฝึกที่นั่นดีมาก รุ่นพี่ให้ยืมปืน ให้คำแนะนำ มีรุ่นน้องคอยเชียร์ ครูฝึกสอนแบบทุ่มเท่มาก เป็นเวลา 5 วันที่มีความสุขสุดตั้งแต่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจมาทำงาน

หลังจากวันนั้น เธอได้รับโอกาสให้ไปเป็นกรรมการแข่งขันยิงปืนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติประจำปี 2560 ตลอดระยะเวลา 10 วัน นายตำรวจหญิงรับว่า สนุกมาก ตากแดดกันดำเมี่ยม ยังโชคดีได้ไปลองยิงปืนยาวในรอบ 6 ปี เหมือนไม่เคยจับปืนยาวมาก่อนเลย มีกรรมการที่นั่นแนะนำให้ว่า ต้องทำท่าไหน เล็งยังไง ดูเป้าให้ว่าเข้าหรือเปล่า มีเหรียญทองแดงยิงปืนยาวมาประดับคุณวุฒิอีกใบ

 

ยอมรับในจุดที่ตัวเองอยู่ ตั้งหน้าทำเพจให้ความรู้อีกครั้ง

พอจบการแข่งขันยิงปืนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร.ต.อ.หญิง สิริรัตน์ กลับมาเข้าทำงานสอบสวนเหมือนเดิม แต่โยกโรงพักไปอยู่สถานีตำรวจภูธรโพธาราม เธอบอกว่า ต้องยอมรับ เราทำหน้าที่อะไรอยู่ เราก็ต้องทำหน้าที่เราให้ดีที่สุดในจุดที่เราอยู่ แม้ในใจลึกๆ ยังหวังว่า สักวันจะได้มีโอกาสทำงานที่ได้ยิงปืน ได้ฝึก ได้ทำอะไรเท่ๆ แบบที่ตอนเด็กใฝ่ฝันว่าอยากจะทำก่อนมุ่งมั่นสอบเข้ามาเป็นตำรวจหญิง

อย่างไรก็ตาม เธอไม่ทิ้งงานถนัดในด้านงานศิลปะที่เอามาผสมผสานกับความรู้เรื่องกฎหมายจัดทำเฟซบุ๊กแฟนเพจ “หมวดคะ” ขึ้นอีกครั้ง ถ่ายทอดเรื่องผ่านตัวหนังสือ ประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชาวบ้านมากที่สุด กระทั่งมีเสียงตอบรับมากมายเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ ได้รับเชิญไปออกรายการต่าง ๆ ตามสื่อทีวี และหนังสือพิมพ์

“หมวดคะ เป็นเพจเกี่ยวกับให้ความรู้กฎหมายกับประชาชน เอากฎหมายใกล้ตัวมาอธิบายใหม่ให้เข้าง่ายขึ้น เสียงตอบรับดีมากๆ ยอดไลค์ 50,000 ตั้งแต่ 3 วันแรก แล้วทะลุ 100,000 อัพ ภายในสองเดือน ที่คนไลค์เยอะอย่างรวดเร็ว น่าจะมาจากหัวข้อที่เรานำเสนอไปน่าสนใจ ไปโดนใจคนอ่าน เลยแชร์ต่อกัน เช่นเรื่อง ตบกันไม่ได้ปรับ 500 นะจ๊ะ บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายไหม เรื่องผัวๆเมียๆทะเลาะกัน หรือด่ากันลงโซเชียล อะไรพวกนี้มันเข้าถึงง่าย หลายคนเคยเป็นคู่กรณี เขาเลยชอบกัน”

หวังเป็นส่วนหนึ่งได้ช่วยสังคม อย่างน้อยเรียกเสียงชื่นชมตำรวจบ้าง

ตำรวจหญิงเจ้าของแฟนเพจดังวงการสีกากีเล่าว่า ตอนแรกไม่ได้ออกมาเปิดเผยตัวว่า แอดมินเป็นใคร ใช้การ์ตูนตำรวจหญิงเป็นตัวดำเนินเรื่องทั้งหมด การ์ตูนก็วาดเองในโทรศัพท์มือถือ เพราะชอบวาดรูปอยู่ก่อนแล้ว วาดในโปรแกรมโทรศัพท์มือถือเลยไม่ยาก ดีใจที่เสียงตอบรับขนาดนี้ จริงๆ จุดเริ่มต้นของเพจมาจาก เราคิดว่า ตัวเองมีของ แล้วของเรามีทำประโยชน์กับคนอื่น น่าช่วยใครได้หลายคนเลยลองทำเพจดู กระแสตอบรับก็ดีเกินคาด

รองสารวัตรสถานีตำรวจภูธรโพธารามบอกอีกว่า ได้อะไรเยอะจากการทำเพจ คือ ได้รู้ปัญหาของคนอื่นๆ ได้ช่วยชาวบ้านแก้ปัญหา หลังๆ ออกมาไลฟ์คุยกับคนในเพจด้วย สร้างเสียงหัวเราะให้พวกเขาบ้าง ตัวเราก็รู้สึกมีความสุข มีคุณค่าขึ้นมา และอีกสิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือ เพจนี้ทำให้คนมองตำรวจในแง่ดีมากขึ้น ที่ออกมาให้ความรู้ชาวบ้านแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายอะไร ถ้าเขาไปหาที่ปรึกษากฎหมายที่อื่น คือจะต้องจ้างในราคาที่แพงพอสมควร

“สไตล์ของเพจหมวดคะ คือจะเป็นตำรวจที่เป็นมิตร เป็นกันเอง แซวได้ เล่นได้บ้าง คนที่เข้ามาก็ผ่อนคลาย แนวโน้มด่าตำรวจลดลง สังเกตได้จากความคิดเห็นที่ตอบมา ส่วนตัวคิดว่า ถ้าสื่อที่เราผลิตขึ้นมาด้วยความชอบ แต่มันส่งผลให้คนมององค์กรเราดีขึ้นมาบ้าง ถึงจะแค่เล็กๆน้อยๆ ก็ภูมิใจนะ คิดว่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ อย่างน้อยได้เป็นการพัฒนาตัวเอง หาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมอีก”

 

มองทะลุถึงปัญหาครอบครัว สอดแทรกตัวกฎหมายไขข้อสงสัย

กระจกสะท้อนภาพที่เห็นจากการทำเพจ มีส่วนพาผู้กองสาวมองปัญหาสังคมชัดว่า เรื่องของชู้สาว  เรื่องครอบครัวเป็นหลักมากกว่าเรื่องอื่นๆ สมมติว่า ทะเลาะกันก็มาถามไปถึงเรื่องลูก ไปถึงเรื่องเงิน ไปทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน โพสต์เฟซบุ๊กประจานกัน มีหลายอย่างเริ่มจากสถาบันครอบครัวที่ไม่อบอุ่น เราจะคลี่คลายเหตุให้เขาได้ระดับหนึ่ง ถ้ามาขอคำปรึกษาก็จะให้คำแนะนำไป แต่ที่เป็นคดีก็ทำคดีไป

“เกี่ยวกับเรื่องปัญหาครอบครัว แย่งลูกกัน ชู้สาว หย่าร้าง ยอมรับเลยว่า เราแก้ปัญหาให้เขาไม่ได้หมดหรอก ทำได้แค่ว่า รวบรวมหลักฐานดำเนินคดีแก่คนที่กระทำผิด ทำได้เท่านี้ ส่วนเหยื่อที่จะใช้ชีวิตอย่างไร เราก็ช่วยเขาไม่ได้หรอก เป็นที่ปรึกษาให้ได้ เช่น คดีมันจบไปแล้ว แต่เขายังมีเบอร์ของเรา แล้วโทรมาปรึกษา ก็จะให้คำปรึกษาได้ ส่วนใหญ่จะมาขอคำปรึกษาเรื่องชีวิตแบบนั้น ทั้งที่ชีวิตเรา ก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร”

เจ้าตัวยกหัวข้อเรื่องที่ตีพิมพ์ลงหนังสือ “เดี๋ยวหมวดตอบให้ …ไม่ต้องไปโรงพัก” ที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นคำถามถึงปัญหาครอบครัว มีการนำตัวบทกฎหมายมาสอดแทรกให้เข้ากับเนื้อหา อาทิ เรื่องของเมียน้อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก กับคำถามว่า “หมวดคะ นี่กฎหมายไทยจัดการเมียน้อยไม่ได้เหรอคะ งั้นหนูจะตบค่ะ หนูมีจ่าย” เธอจะอธิบายแบบชาวบ้านเข้าใจง่ายว่า “มาก่อนมาหลังไม่เกี่ยว ขึ้นอยู่กับว่า ได้จดทะเบียนสมรสหรือเปล่า เรื่องของการนอกใจ จริง ๆ แล้วถือว่า ผิดศีลธรรม แต่ไม่ผิดกฎหมายอาญา ไม่มีโทษปรับ หรือจำคุก เมียหลวงอย่าเพิ่งด่าตำรวจเลย” ก่อนแนะนำสาระว่า “เมียหลวงสามารถฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งได้ทั้งกับเมียน้อยและสามีที่หักหลังเรา” (บอกแล้วอย่าเพิ่งรีบตบ)

ใส่ใจในหลายคำถาม ชี้ความกระจ่างให้ชัดขึ้น

เช่นเดียวกับเรื่อง สามี-ภรรยาตีกัน ต้องช่วยไหม มีคำถามว่า “หมวดคะ ถ้าผัวเมียตบตีกัน เมียวิ่งมาขอความช่วยเหลือ แต่ผัวบอก เรื่องของผัวเมียไม่ต้องยุ่ง ควรทำยังไงดี” ประเด็นนี้ ร.ต.อ.หญิง สิริรัตน์ อธิบายชัด หากเป็นกรณีทะเลาะกัน ด่ากันทั่วไป เราอาจจะไม่ต้องเข้าไปยุ่งก็ได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่คนนั้นอยู่ในอันตรายที่อาจถึงแก่ความตาย ต้องช่วยค่ะ เช่น ใช้มีดหรือของมีคมไล่ฟัน ทำร้ายร่างกายกัน ใช้อาวุธทุบตีบาดเจ็บสาหัส หรือใช้อาวุธปืน ข่มขู่จะยิงให้ตาย

เธอเขียนไว้ว่า กรณีแบบนี้เราจำเป็นต้องช่วย แต่ไม่จำเป็นต้องเอาตัวเข้าไปขวาง ถ้าเราไม่มีอาวุธ ไม่มีแรงที่ช่วยได้ เพียงแค่การแจ้งตำรวจให้มาระงับเหตุก็ถือว่าช่วยแล้ว ถามว่า ไม่ช่วยได้ไหม เห็นแล้วยืนดูเฉย ๆ ได้หรือเปล่า หมวดบอกเลยว่า ถ้าบริเวณนั้นมีเราอยู่เพียงลำพัง แล้วเราสามารถช่วยผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ได้ แต่เราไม่ช่วย ในกรณีนี้เรามีความผิดค่ะ “ความผิดฐานละเว้นไม่ช่วยผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 374

เธอให้ข้อคิดในเรื่องนี้ด้วยว่า เพราะฉะนั้นทำหน้าที่พลเมืองดีกัน อย่าไปกลัว (แต่ต้องระวังตัวดี ๆ ด้วย เดี๋ยวโดนลูกหลง) ไม่ใช่แค่เรื่องผัวเมียตีกันอย่างเดียวนะ เด็กจะจมน้ำตาย นักเรียนโดนรุมกระทืบ หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราเห็นว่า เขากำลังได้รับอันตรายอาจถึงชีวิตได้ “เรามีหน้าที่ต้องช่วยเหลือค่ะ”

ช่วยแล้วเขาขอบคุณมา รู้สึกว่า นี่แหละคือ ความสุข

นายตำรวจหญิงภูธรรับว่า บางทีเข้าเวรอยู่เราจะเครียด เพราะทุกคนก็จะมีปัญหาหมด มีสารพัดปัญหา คือ ถ้าทุกคนไม่เดือดร้อน คงไม่มาโรงพัก บางครั้งเราก็ช่วยได้ บางครั้งเราก็ช่วยไม่ได้ ส่วนมากเราก็จะมาเป็นที่ปรึกษา วิธีการหนีความเครียด คือ หนีไปในเพจ หนีไปเล่นกีตาร์ ร้องเพลงออกสดทางเฟซบุ๊กไลฟ์

“แต่จะฝากถึงใครที่มาเป็นตำรวจ อยากจะบอกว่า ให้เตรียมใจมาอย่างเดียว ต้องอดทน ไม่ได้ห้าม เขาอาจจะอยากเป็น เหมือนตอนที่เราอยากเป็น ก็มีคนห้าม บอกว่าตำรวจไม่ดี โน่นนี่นั่น โดนหลายอย่าง แต่เราคิดแล้วว่า จะต้องเป็นให้ได้ ก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เป็น แล้วก็จะเป็นตำรวจที่ดีในสายตาชาวบ้านให้ได้ จริงๆ ก่อนมาเป็น เคยรู้สึกไม่ดีกับตำรวจ รู้สึกแย่มากกับการตั้งด่านลอย พอเข้ามาเลยอยากจะรู้ว่าสังคมตำรวจมันแย่จริงหรือ เหมือนอย่างที่เราคิดหรือเปล่า”

“มันทำให้เราสัมผัสได้ว่า ส่วนดีของตำรวจมีเยอะกว่า เหมือนวัตถุประสงค์ที่มาทำเพจ คือ อยากให้สังคมเห็นว่า มันมีมุมที่ตำรวจก็ช่วยคน เราไม่ได้เอาตังค์อะไรกับใครสักบาท คนถามมาเป็นร้อยเป็นพัน เราก็ตอบให้ ไม่ได้เอาค่าปรึกษาอะไรเลย พอเราช่วยแล้วเขาขอบคุณมา เราก็มีความสุข แค่นี้ก็พอใจแล้ว นี่แหละคือ ความสุข เป็นวิธีระบายความเครียดด้วยการช่วยคนอื่น” เจ้าของเพจหมวดคะว่า

 

ภูมิใจเป็นนายร้อยตำรวจหญิง แม้โลกความจริงไม่สวยอย่างที่วาดไว้

ทิ้งท้าย ร้อยตำรวจเอกหญิงมากความสามารถยังฝากน้องผู้หญิงที่คิดมาสอบนักเรียนนายร้อยตำรวจว่า ถ้าให้พูดตรง ๆ ไม่อยากให้ผู้หญิงมาเป็นนายร้อยตำรวจ ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่บางอย่างไม่ได้เหมือนอย่างที่เราคิด ไม่ได้โลกสวย  ไม่ใช่นางเอกหนังบู๊ในละคร ไม่ได้ทำทุกอย่างตามที่เราคิด บางอย่างเราอยากทำ เราคิดว่าเรามีความสามารถแต่บางครั้งเราก็ไม่ได้มีโอกาสทำ โลกโซเชียล กับโลกความจริงจะต่างกัน เหมือนว่า เขาจะขีดไว้อย่างนี้ คุณต้องเป็นพนักงานสอบสวนเท่านั้น พอแบบต่างจากนี้ก็ไปไหนไม่ได้

“ไปในไลน์ที่ผู้ชายไปได้หรือเปล่า ตรงนี้จริงๆ คิดว่า แล้วแต่ความสามารถ บางเรื่องผู้หญิงอาจจะเก่งกว่าผู้ชายก็ได้ คิดว่า คงไม่ได้จำกัด ห้ามตำรวจหญิงที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจไปเป็นอะไร ถ้าคุณเก่งพอ เก่งกว่าอีกตัวเลือกหนึ่ง คุณอาจจะได้รับคัดเลือก ถ้าคุณไม่เก่งก็ต้องยอมรับไป มันไม่ได้เกี่ยวกับเพศ แต่ต้องยอมรับว่า อาจจะมีความลำบาก เพราะผู้หญิงมีประจำเดือน หรือว่า ถ้ามีลูกก็จะทำงานบางอย่างลำบาก”

ถึงที่สุดแล้ว เธอก็ยังอยากบอกว่า ภูมิใจมากกับการที่ได้เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 66 เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงรุ่นแรก อยากขอบคุณทั้งรุ่นพี่ เพื่อน และรุ่นน้องที่ไม่ได้แบ่งแยกหญิงชาย และปฏิบัติกับเราแบบนักเรียนนายร้อยตำรวจคนหนึ่ง ทำให้ตัวเราตั้งมั่นว่า จะทำงานเป็นตำรวจที่ดี เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมไทย รวมถึงองค์กรของตำรวจ มีมุมมองเกี่ยวกับตำรวจหญิงที่ต่างจากเดิม ให้สมกับคติประจำใจของตัวเอง

“อย่าละทิ้งความฝัน จงใช้พรสวรรค์ที่เรามี สร้างประโยชน์แก่ผู้คน และสร้างคุณค่าให้ตัวเราเอง”

 

RELATED ARTICLES