“หนูแค่ต้องการให้รู้ว่า เราไม่มีสิทธิเสรีภาพในการทำงาน”

 ลายเป็นนักข่าวสาวที่โด่งดังเพียงข้ามคืนกับภาพท้าทายเอาเทปกาวปิดปากประกาศถามหาสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนภายหลังประกาศกฎอัยการศึกลงในหน้าเฟซบุ๊กของตัวเอง

ส่งผลให้ต้นสังกัดไล่เธอออกในวันถัดมา

“เจี๊ยบ” พรทิพย์ โม่งใหญ่ อดีตนักข่าวค่ายโมโนทีวี ช่องดิจิตอล 29 ตกงาน แต่ยืนยันในอุดมการณ์ว่า สิ่งที่ทำเพื่อความถูกต้องที่ต้องการเรียกร้องหาสิทธิอันชอบทำในวิชาชีพสื่อมวลชนท่ามกลางสถานการณ์รัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ

สาวคนข่าวใจกล้าเพิ่งเข้าไปอยู่ค่ายน้องใหม่แห่งนี้เกือบ 3 เดือน หลังผ่านประสบการณ์บนสนามข่าวมาจากสถานีวอยซ์ทีวี เดลินิวส์ทีวี และสื่อสาธารณะอย่างช่องไทยพีบีเอส ปกติไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับข่าวการเมือง มันไปเกาะแกะเกี่ยวกับข่าวเรื่องการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ถึงกระนั้นก็มีมุมมองถึงสถานการณ์บ้านเมืองหลังพยายามศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลจากข้อเขียนของนักวิชาการ คอลัมนิสต์ดังหลายคนในหน้าหนังสือพิมพ์

เจี๊ยบบอกว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาทั้ง 2ฝ่ายเหมือนเป็นเบี้ยตัวเล็ก ๆ ที่เติมอำนาจให้กับนักการเมืองในการต่อรองระหว่างกัน เหมือนเป็นเกมต่อรองอำนาจมีประชาชนอยู่ในมือว่า ฉันมีคนมากกว่า เธอมีคนน้อยกว่า การปกครองของประเทศไทยยังไงมันก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในแง่ของประชาชนนัก เหมือนกับกำหนดอยู่แล้วว่าจะไปในทิศทางใด อำนาจไม่ได้อยู่ที่ประชาชนแท้จริง หลังจากที่ได้ประมวลจากบทวิเคราะห์ต่าง ๆ โดยรวมตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน ระบบการเมืองไม่ได้แตกต่างอะไรกันนัก แม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก็ตาม ถามว่า ถ้าปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งมันสามารถทำได้ไหม ถ้าจะปฏิบัติการจริง ๆ โดยที่เอาผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายทิ้งไปมันก็สามารถทำได้ หรือจะปฏิรูปหลังการเลือกตั้ง มันก็ทำได้เหมือนกันถ้าเอาผลประโยชน์ทิ้งออกไป แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ไม่มีใครทิ้งผลประโยชน์ตรงนั้น มันไม่ได้อยู่ที่ว่าจะปฏิรูปก่อน หรือปฏิรูปหลัง

แต่เมื่อสถานการณ์บานปลายมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อมีประกาศกฎอัยการศึกนำไปสู่การรัฐประหารยึดอำนาจขุนทัพทหาร มีคำสั่งหลายอย่างกระทบการทำงานของสื่อมวลชน ทำให้เธอรู้สึกรับไม่ได้ขึ้นมาทันที “จริง ๆ เป็นคนที่คำนึงถึงเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชนพอสมควร มาก ๆ ด้วย หลายคนมองหนูจะเหมือนเป็นเอ็นจีโอขึ้นไปทุกที หนูมองว่า กฎอัยการศึกมีการประกาศขึ้นมา เราเคารพเขาที่กำลังหาทางออกให้กับประเทศ ทว่าไม่เห็นด้วยกับข้อรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในกฎอัยการศึก การรัฐประหารที่มีการจำกัดการทำหน้าที่ของสื่อ หนูเชื่อว่าเหตุผลทั้งมวลที่ก่อให้เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมองแล้วว่าน่าจะทำ ถือเป็นมุมมองที่ดี แต่ว่าอย่างไรก็ตาม ไม่ควรที่จะมาปิดกั้นสื่อมวลชนทั้งในภาพสนาม หรือปิดที่สถานี”

“หนูรับได้ในส่วนของปิดสถานีที่มีความขัดแย้งชัดเจน เพราะกลุ่มสื่อเหล่านั้นมีการให้ข้อมูลอาจจะต่างต่อความจริงทั้งสองฝั่งเพื่อจะเรียกให้มวลชนของตัวเองอยู่ แต่การจะเข้าไปในแง่ของสถานีหลัก หรือสถานีของทีวีดิจิตอลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการห้ามเชิญนักวิชาการมาวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ตรงกันข้ามกับการทำรัฐประหาร หรือคณะรักษาความสงบ หนูว่ามันไม่ใช่ ประชาชนมีสิทธิที่จะมารับรู้ สื่อมวลชนมีสิทธิที่จะนำเสนอในมุมมองต่าง ๆ ได้เหมือนกัน ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการปิดสมอง ปิดหู ปิดตา”

อดีตนักข่าวผู้มากอุดมการณ์ย้ำว่า ยิ่งเสรีภาพของสื่อ ถ้าเราไม่มีสิทธิเสรีภาพในการทำงานนั่นก็หมายความว่า ข้อมูลที่นำเสนอไปสู่ประชาชนไปไม่ถึง เรามองว่า วันนี้จะมีปลายกระบอกปืนมาจ่อหัวนักข่า หรือสถานีข่าวให้เราขีดเขียนไปในทิศทางข่าวที่เขาต้องการให้มีการนำเสนอ แต่เชื่อว่าปลายกระบอกปืนมันไม่มีมากพอที่จะไปคุมประชาชนทุกคนที่ไม่ให้คลิกเมาส์ไปในโซเชียลมีเดียของกลุ่มก้อนพวกเขา ปลายกระบอกปืนจะผลักดันคนไปสู่กลุ่มก้อนของพวกเขาอย่างชัดเจน เมื่อเขาไม่มีข่าวกลางที่สามารถเสพได้  ก็ต้องเลือกที่จะไปเสพข้อมูลข่าวของพวกเขาเอง ในกลุ่มที่เขาเชื่อว่าถูก คิดว่า มันจะทำให้แตกมากกว่า การปิดกั้นสื่อ การไม่ให้มีการนำเสนอข้อมูลที่เกิดความขัดแย้งไม่ให้เกิดปัญหาวุ่นวายก่อนหน้าแล้วคิดว่าจะทำให้บ้านเมืองโดยรวมดูสงบลง มันไม่ใช่ มันจะเป็นคลื่นใต้น้ำที่อยู่ในใจคนเตรียมที่จะตีกลับมาแล้ว และอาจจะแรงกว่าปี 2549

เธอประกาศชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยต่อการปิดกั้นสื่อในหลายเรื่อง โดยเฉพาะสถานีไทยพีบีเอส เป็นสื่อสาธารณะช่องหลักที่หลายคนมองให้ความสำคัญเป็นทางออกทางเดียวในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารถูกให้ปิด เราว่า มันไม่ใช่แล้ว เสรีภาพของสื่อมันหายไป พอวันนั้นได้ไปทำข่าวสโมสรทหารบก เขาให้ไปตามผลการประชุมระหว่างแกนนำ 7 ฝ่ายครั้งแรก บวกกับมีสกู๊ปตัวหนึ่งที่โดนสั่งให้ทำ คือ ภารกิจตามหาทหารหน้าตาดี จังหวะวันนั้นเป็นวันแรกที่มีการกันพื้นที่นักข่าวให้ไปอยู่ลานจอดรถ เรามองว่าทำไมไม่ให้สื่อเข้าไปด้านใน ทั้ง ๆ มีการตรวจ มีการแลกบัตรเรียบร้อยแล้ว สื่อควรได้เข้าไปใกล้ชิดมากกว่านี้ เพื่อสอบถามความคิดเห็น เป็นสิทธิของเราแต่ถูกปิดกั้น เสรีภาพเราหายไปแล้ว การบังคับให้เราไปอยู่จุดใดจุดหนึ่งมันก็หายไปด้วย มองว่า ถึงเวลาที่ต้องแสดงออก แค่ต้องการแสดงออกให้ประชาชนทั่วไปและเพื่อน ๆ สื่อมวลชนให้รู้ว่า เราถูกปิดกั้น แต่ไม่ได้คัดค้านว่า ห้ามรัฐประหาร หรือคัดค้านกฎอัยการศึก

เจี๊ยบระบายความรู้สึกครั้งนั้นว่า สื่อมวลชนหลายคนในภาคสนามมีกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการปิดกั้นเหมือนกัน แต่บางคนบอกว่าช่างมันเถอะ ทำตามของเราไป เรากลับมองว่า ถ้าช่างมันเถอะเพื่อตอบสนองกับเงินที่ได้แต่และเดือน หรือเลี้ยงชีพไปวัน ๆ เท่ากับจรรยาบรรณของความเป็นสื่อมันหายไป เรามองอย่างนั้น แม้ว่าจะเข้ามาอยู่ในวงการข่าวแค่ 4 ปี แต่เราคำนึงถึงเสรีภาพของตัวเองในการทำงานพอสมควร ว่า ต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอ ในการหาข้อมูล ถ้าทำงานแบบหาข้อมูลแค่ฝั่งเดียวมันก็จบ ประเทศมันจะเอียง

“หนูตัดสินใจไปซื้อเทปกาวที่เซเว่นอีเลฟเว่น เป็นเทปกาวสีชมพู ไม่ใช่สีแดง พอโดนแดดมันเลยมองเป็นสีแดง ให้น้องช่างภาพเอามือถือของหนูเองถ่ายให้เอามาลงเฟซบุ๊กของตัวเอง เขียนแค่ว่า ปิดกั้น แต่ปิดให้เราคิดไม่ได้ ให้เพื่อนในวงการสื่อ เพื่อนในเฟซบุ๊กประมาณ 500 กว่าคนได้ดูสนุก ๆ เพราะทุกคนรู้ว่า หนูค่อนข้างซีเรียส แรงในเรื่องของจริยธรรมสื่อ เพราะเวลาที่นั่งคุยเรื่องเสรีภาพ หรือจรรยาบรรณของสื่อเล่น ๆ หนูจะเป็นคนจริงจัง ลงตอนแรก มีแค่เพื่อนมากดไลค์ แซวว่า กล้าเนอะ แรงว่ะ หนูก็ตอบไปเล่น ๆ ว่า มีเทปกาวเหลือเอาไหม ชวนมาร่วมกันแสดงออกว่า เราไม่เห็นด้วยกับการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อในกฎอัยการศึกดีกว่า แต่เพื่อนหลายคนก็ไม่กล้า หนูแค่ต้องการแสดงออก ในฐานะสื่อคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย”อดีตคนข่าวโมโนทีวีว่า

วันรุ่งขึ้น เธอลาหยุดเพื่อพายายไปหาหมอ ปรากฏว่า บรรณาธิการบริหารโทรมาหาแต่เช้าบอกให้ลบภาพในเฟซบุ๊กออกให้หมด เพราะมันเป็นเรื่องแล้ว บริษัทเครียดมาก เจี๊ยบให้เหตุผลสวนไปว่า มันเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของเธอ แต่ผู้ใหญ่ในสังกัดยืนยันคำเดิมคือให้ลบ ด้วยความที่เคารพผู้ใหญ่ก็ไล่ลบจนหมด ท่ามกลางกระแสจากคนในที่ทำงานกระหน่ำโทรมาเล่าถึงบรรยากาศว่า ทั้งบริษัทตึงเครียดมาก ประชุมกันจนแทบจะมีการแถลงข่าว แต่ระงับไว้อยู่ กระทั่งเย็น บรรณาธิการบริหารโทรมาหาอีกว่า ถ้าเสร็จจากโรงพยาบาลแล้วให้เข้าไปคุยที่ออฟฟิศ สุดท้ายเธอกลับบ้านค่ำจึงมีการเลื่อนไปเป็นวันรุ่งขึ้นแทน

วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 เป็นวันเปลี่ยนแปลงชีวิตที่เธอต้องจดจำ นักข่าวสาวหัวใจรักเสรีภาพเล่าว่า ไปถึงบริษัทให้เขียนใบลาออก เครียดบ้าง เขาให้เซ็น เราก็เซ็น ตัดสินใจแล้วออก คือ ออก เมื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นขนาดนี้ อยู่ไปก็อึดอัด เมื่อเสรีภาพเราไม่มี บริษัทให้เขียนเหตุผลที่ลาออก เพราะไม่สามารถปฏิบัติงานได้ แต่ยังกังวลในฐานะที่เราเป็นต้นเรื่อง อาจเสื่อมเสียชื่อเสียงของบริษัท ทั้งที่เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว เราก็ยอมรับผิดชอบเขียนแถลงการณ์ให้ว่า การแสดงภาพตรงนั้นเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของเรา ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรใด ๆ ทั้งสิ้น พร้อมเซ็นชื่อเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเอาไปขึ้นเฟซบุ๊ก แสดงความรับผิดชอบกับสิ่งที่บริษัทมองว่า มันเสื่อมเสียชื่อเสียง เรายอม

ออกจากห้องประชุมเก็บข้าวของที่โต๊ะทำงานและเตรียมพิมพ์แถลงการณ์ เจ้าตัวบอกว่า แถลงการณ์ของบริษัทชิงขึ้นเว็บไซต์ก่อนเลยว่า เราพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานบริษัทแล้ว ทั้งที่เรายังไม่ได้เคลียร์งานเลย แต่ไม่เข้าใจอยู่อย่างเดียวว่า ทำไมต้องส่งจดหมายว่า เราพ้นสภาพจากเป็นพนักงานข่าวของบริษัทโมโนให้กับสมาคมสื่อวิทยุและโทรทัศน์ เหมือนเป็นการดิสเครดิตในตัวเรา “หนูแค่สื่อให้เห็นการจำกัดเสรีภาพทางความคิด ไม่ได้อิงการเมืองแต่อย่างใด ไม่ใช่แดง ไม่ใช่เหลือง หนูแค่ต้องการให้รู้ว่า เราไม่มีสิทธิเสรีภาพในการทำงาน แล้วนี่ยังจะมาปิดกั้นสิทธิในการชี้แจงต่อสมาคมอีก มันเหมือนรังแกพนักงานตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง มองแต่เรื่องเงินทุนจนมองข้ามจริยธรรมของคน”

“กลับบ้านก็มานิ่งคิดว่า สิ่งที่เราแสดงความเห็นเรื่องสิทธิเสรีภาพมันทำให้องค์กรเสียชื่อเสียงจริงหรือ เริ่มลังเงกับตัวเองว่า ตกลงอะไรมันถูก อะไรมันไม่ถูกกันแน่ แล้วเรายังอยู่ในสายสื่อมวลชนต่อไปได้อีกหรือเปล่า ยังเป็นนักข่าวได้อยู่ไหม การจะเป็นนักข่าวอยู่ในจรรยาบรรณ เรียกร้องเสรีภาพของตัวเองตกลงมันผิดหรือมันถูกกันแน่ งง ๆ เครียด  ขณะที่องค์กรสื่อต่าง ๆ ก็ไม่เคยออกมาปกป้อง ถึงวันนี้ก็ไม่มี แค่จะแสดงออกว่าสื่อมวลชนขาดเสรีภาพไปเท่านั้นเอง ไม่ได้อยากดัง ใครอยากดังแบบนี้ โดนไล่ออกจากงาน และยังไม่รู้จะมีที่ไหนรับหรือเปล่า จะตกงานกี่เดือน ใครจะกล้ารับเล่นประกาศกันซะขนาดนี้ เหมือนไม่ให้เกิดในวงการข่าวต่อไปแล้ว แล้วหนูจะเลี้ยงดูยายได้อย่างไร หนูเป็นกำลังหลักของครอบครัว” หญิงสาวตัดพ้อ

เธอถือโอกาสย้อนความรันทดของชีวิตว่า กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ ตากับยายเอามาเลี้ยง พ่อไม่เคยเห็นหน้า ส่วนแม่เพิ่งมาเห็นตอนจบชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชีวิตเจออะไรมาเยอะ ชินกับวิกฤตินี้ เพราะสู้มาตั้งแต่เด็ก เกือบไม่ได้เรียนต่อมัธยม เนื่องจากตาเสีย ไม่มีเงินส่ง ยายไม่ได้ทำงาน เรียนประถมอยู่สารสาสน์ ต้องทำงานตั้งแต่อายุ 12 ปี รับจ้างล้างจานในโรงเรียน โชคดีเป็นคนเรียนเก่ง ทำกิจกรรมเยอะ เจ้าของโรงเรียนเลยให้เรียนฟรีจบไปจบบัญชีที่วิทยาลัยเทคโนโลยีสารสาสน์บริหารธุรกิจกนกอนุสรณ์

เจี๊ยบบอกว่า แต่ใจจริงชอบสื่อสาร อยากเป็นดีเจก็เดินตามฝัน ส่งเดโม่ไปทุกที่ ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ได้เป็นดีเจวิทยุชุมชน เป็นดีเจตามลานโบว์ลิ่ง ตามห้างสรรพสินค้า ทำทุกอย่างที่ได้เงิน ก่อนมาทำประชาสัมพันธ์ของสมาคมประกันวินาศภัย สุดท้ายไม่ชอบสายประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่ตัวเองเลยออกมาทำดีเจเต็มตัว คำนวณแล้วรายได้ดีกว่าสามารถพายายกลับมาอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ หลังจากที่ยายไปอยู่กับน้าแล้วถูกทอดทิ้ง และเพิ่งเก็บเงินดาวน์บ้านให้ยายได้ อยากให้ยายมีที่อยู่ที่สุดท้ายหลังที่ยายสูญเสียไปแล้ว

สาวนักสู้ชีวิตบรรยายฉากชีวิตอีกว่า พอคลื่นวิทยุอิ่มตัว เป็นส่วนหนึ่งที่โดนออกมา ตอนนั้นยังงงชีวิตจะเอายังไงต่อดี เห็นเคเบิลทีวีเกิด ดาวเทียมเยอะ ลองไปสมัครเป็นผู้ดำเนินรายการ พอดีจบปริญญาตรีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ภาคสมทบ คณะวิทยาการจัดการ เอกนิเทศศาสตร์แล้ว  ได้เป็นครีเอทีฟ โปรดิวเซอร์ และดำเนินรายการของเอ็มวีสตาร์แชนแนล ทำได้สักพักทางช่องเริ่มขายของเยอะ มันไม่ใช่แล้ว ไม่มีสาระ ตัดสินใจลาออก ได้คำแนะนำจากสายสวรรค์ ขยันยิ่ง นักข่าวที่เป็นไอดอลตั้งแต่อยู่ไอทีวี ที่เจอกันบังเอิญเลยวิ่งไปขอลายเซ็น บอกเขาว่า อยากทำงานข่าว เขาให้ลองไปสมัครที่วอยซ์ทีวี เป็นผู้สื่อข่าวโต๊ะสังคม ทั้งที่ไม่เคยทำข่าวเลย ตอนแรกไม่เข้าใจ หลัง ๆ เริ่มอินมากขึ้น

“มันทำให้หนูรู้คุณค่าความสำคัญในเรื่องของสิทธิเสรีภาพมากขึ้นว่า ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ความคิดของคนแต่ละคนมันยิ่งใหญ่ แต่ทำไมเราให้ความสำคัญของมันน้อยลง แล้วเราจะอยู่ด้วยอะไร อยู่ด้วยตรีม หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างนั้นหรือ แล้วคุณค่ามันจะอยู่ที่ไหน ถึงแม้หนูไม่ได้ร่ำรวย และยอมรับว่า วินาทีที่ลงรูปไปรู้เลยว่า โดนไล่ออกแน่ ๆ แต่ตัดสินใจแล้ว ถึงไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่ หนูเลือกที่จะรักษาเสรีภาพทางความคิดของหนู วันนี้ก็ไม่เสียใจ ไม่มีน้ำตาเลยในวันที่ถูกไล่ออก หนูพร้อมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่เห็นด้วย เห็นต่าง หรือไม่เอาอะไร มันคือ สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น ในเมื่อเรากล้าขึ้นที่สาธารณะ ก็ต้องรับมันให้ได้ ขณะที่ในอนาคตก็ต้องเดินต่อไป” เธอทิ้งท้ายให้กำลังใจตัวเอง

RELATED ARTICLES