เที่ยวงานประเพณีอัฐมีบูชา พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า

ชมรมสื่อท่องเที่ยวได้เดินทางเที่ยวในโครงการ“แอ่วเหนือม่วนกั๋น…สุขสันต์สุดปี๋ มหัศจรรย์วันธรรมดา” ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดแพร่ น่าน และอุตรดิตถ์ จัดขึ้นกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และลดปัญหาการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในวันหยุด ช่วงเทศกาล และฤดูกาลท่องเที่ยว

สู่จังหวัดแพร่กราบสักการะพระธาตุอินทร์แขวน พระธาตุประจำปีเกิดปีจอ เป็นจุดหมายแรกที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมมหาโพธิวงศาจริยาราม พุทธอุทยานดอยผาสวรรค์ เฉลิมพระเกียรติ ร.9 บ้านนาคูหา เข้ากราบเจ้าคุณพระวิมลกิจจาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร จังหวัดแพร่ ประธานศูนย์ปฏิบัติธรรมมหาโพธิวงศาจริยารามฯแห่งนี้ ท่านเล่าให้ฟังถึงความเป็นมาว่า เมื่อประมาณ 600 กว่าปี บริเวณแห่งนี้เป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีภูเขาหินปูน ตั้งกระจัดกระจาย ต้นกำเนิดของแม่น้ำแม่แคมไหลหล่อเลี้ยงทำการเกษตรผ่านในตัวเมืองแพร่ไหลลงสู่แม่น้ำยม เกิดหมู่บ้านเล็กๆ ขึ้นในหุบเขา ชื่อว่า “บ้านนาดอย” ต่อมา หลวงปู่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ฟู อตฺตฺสิวมหาเถร (บรรเล็ง) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหารได้เพิ่มชื่อคูหาขึ้นอีกท่อนหนึ่ง จึงมีชื่อเรียกใหม่ว่า “บ้านนาคูหา”

ภายในพุทธอุทยานดอยผาสวรรค์ฯ ด้านบนจะเห็นพระเจ้าชยันตีมหัศจรรย์สีทององค์ใหญ่ครึ่งองค์มีพุทธลักษณะงดงามมาก  ส่วนบนยอดผาจะเป็นพระธาตุอินทร์แขวน จำลองมาจากประเทศพม่า  อีกทั้งยังมีพระเจ้าทันใจพระเจ้าสำเร็จเร็วพลัน พระเจ้าหยกทิพย์สีเขียว และ พระไม้ขนุนมงคลคลคีรีศรีภูมิทิพย์ ที่นี่ยังเป็นดินแดนโอโซนอันดับ 7 ของประเทศไทย ใครมีโอกาสได้ไปเมืองแพร่ก็ต้องไปสัมผัสให้ได้นะครับ

กราบสักการะพระธาตุอินทร์แขวนเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตแล้ว เดินทางต่อไปที่พระธาตุดอยเล็ง ปูชนียสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งอยู่บนภูเขาสูงในตำบลช่อแฮ จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในอดีตว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์มาดอยลูกหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของดอยธชัคคะบรรพต เสด็จมาถึงจวนแจ้งปัจจุบันเรียกว่า พระธาตุจอมแจ้ง หลังจากนั้นได้เสด็จมาทางทิศเหนือถึงธชัคคะบรรพตได้ประทับอยู่ที่นั่น มีขุนลัวะอ้ายก้อมเป็นผู้อุปัฏฐาก พระองค์ทรงมอบพระเกศาธาตุให้ คือ พระธาตุช่อแฮในปัจจุบัน และเสด็จขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประทับอยู่ดอยลูกหนึ่งที่สูงกว่าดอยลูกอื่นในเมืองโกศัยประทับแลดู ภาษาเหนือเรียกว่า เล็งผ่อ จึงเป็นที่มาของชื่อดอยเล็งในปัจจุบัน เมื่อกราบสักการะองค์พระธาตุดอยเล็งสีขาวบริสุทธิ์ ยังมีโอกาสสัมผัสทิวทัศน์และภูมิประเทศที่สามารถมองเห็นความงดงามได้ถึง 3 อำเภอ คือ  สูงเม่น  ร้องกวาง และเมืองแพร่  ซึ่งถือว่าเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามอีกจุดหนึ่ง

ดื่มด่ำกับความสวยงามของเมืองแพร่จากมุมสูงจนพอใจต่อไปยัง วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง (วัดพระบรมธาตุ) อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมงานประเพณีอัฐมีบูชา หรือพิธี ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งเป็นวัดโบราณประดิษฐานพระมหาธาตุประจำเมืองทุ่งยั้ง เมืองโบราณตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัย ตามตำนานการสร้างพระบรมธาตุกล่าวว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ผู้ครองเมืองสุโขทัย ได้เชิญพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรจุไว้ในถ้ำใต้ดินโดยขุดลงไปเป็นถ้ำแล้วก่อพระธาตุไว้

เช้าวันใหม่ พวกเรารีบตื่นไปวัดท่าถนน (วัดวังเตาหม้อเดิม)  สักการะหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยเชียงแสน  ตามประวัติกล่าวว่า ในปี 2436 ขณะที่หลวงพ่อด้วงเจ้าอาวาสวัดหมอนไม้ กลับจากรับนิมนต์ที่วัดสว่างอารมณ์ อำเภอลับแล เมื่อผ่านวัดสะแกที่เป็นวัดร้าง  ได้พบเนินดินเป็นจอมปลวกขนาดใหญ่มีเกศพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมา เมื่อขุดดูพบว่าเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ที่มีลักษณะงดงามมาก จึงนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดท่าถนน ประกอบกับเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชรเลยเรียกกันว่า “หลวงพ่อเพชร”

เมื่อได้พรอันประเสริฐ คณะมุ่งหน้าต่อไปสักการะอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เข้าชมพิพิธภัณฑ์ดาบเหล็กน้ำพี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และพิพิธภัณฑ์พระยาพิชัยดาบหัก  ภายในเก็บรวบรวมประวัติของพระยาพิชัยดาบหัก รวมทั้งแบบจำลอง สนามรบ และวิถีชีวิตในสมัยอยุธยาตอนปลาย เครื่องมือเครื่องใช้โบราณจนเพลินก็ได้เวลาอาหารกลางวัน เลยแวะทานที่ ร้านคุณใหญ่  ที่ต้องยกนิ้วโป้งให้ว่า อร่อยจริงๆ แต่ที่ประทับใจ คือการต้อนรับและความมีอัธยาศัยไมตรีของคุณใหญ่เจ้าของร้าน ถ้าไม่เชื่อผ่านไปก็ลองแวะทานดูนะครับ

อิ่มท้องก็มีแรงเดินทางต่อไปที่วัดดงสระแก้ว อำเภอลับแล สร้างขึ้นในปี 2460 โดยคณะศรัทธาของชาวบ้านดงสระแก้วจากการนำของพ่อสุดใจ จันทา แต่เดิมนั้นมีเพียงแค่ศาลาและกุฏิสงฆ์มุงหญ้าแฝกพอกันแดดกันฝนได้ ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างอุโบสถไม้สักทองทั้งหลังทรงล้านนาประยุกต์ สวยงามมาก ยกพื้นสูงประมาณ 60 ซ.ม. ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่ออู่ทองพระประธาน เป็นทองคำมีน้ำหนักประมาณ 200 ก.ก. ศิลปะสมัยอู่ทอง ปางมารวิชัย ความสูง 43 นิ้ว หน้าตักกว้าง 34 นิ้วพ่ออู่ทอง ถูกขโมยไปจากวิหารเมื่อปี 2520 ปัจจุบันยังไม่ได้คืนมา องค์ที่เห็นอยู่ภายในอุโบสถจึงเป็นองค์จำลองที่ทางวัดหล่อขึ้นใหม่ขนาดเท่าองค์เดิม

วัดดงสระแก้วมีชื่อเสียงโด่งในเรื่องของการลอดอุโบสถไม้สักทอง เชื่อว่าใครได้ลอดใต้ฐานอุโบสถเหมือนเป็นการสะเดาะเคราะห์ ต่อดวงชะตา และเมื่อมีการอธิษฐานขอพรในระหว่างการลอดใต้ฐานจะได้พรตามที่ขอเอาไว้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคชนิดต่างๆ ก็จะหายป่วย รวมถึงผู้ที่ประสบความล้มเหลวในธุรกิจจะคลี่คลายไปได้ การลอดนั้นผู้ที่จะลอดจะต้องจุดธูปเทียนอธิษฐานขอพรหน้าเสมาแล้วลอดอุโบสถ 3 หรือ 9 รอบ เมื่อลอด 1 ครั้งให้ตีฆ้องที่ทางวัดเตรียมเอาไว้ 1 ครั้งจนครบจำนวนที่ลอด

ลอดพระอุโบสถอธิษฐานจิตแล้ว เดินทางไปชมพระอกแตก  ณ วัดบ้านแก่งใต้ ที่นับได้ว่าเป็น UNSEEN THAILAND พระพุทธรูปองค์นี้มีชื่อว่า “หลวงพ่อเพ็ชร” สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาในปีทำด้วยศิลาแลง  ต่อม ผุกร่อนมาก  กรรมการวัดเห็นตรงกันว่า จะสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาอีก 1 องค์ครอบองค์เดิมที่ทรุดโทรมแล้วไม่มีผู้ใดสนใจอีกเลย กระทั่งคณะกรรมการวัดบ้านแก่งใต้ได้ว่าจ้างนายนนท์ หมวกอินทร์ ช่างจากจังหวัดพิจิตรมาทำการบูรณะพระอุโบสถและฐานล่างขององค์หลวงพ่อที่ชำรุดทรุดโทรม  ระหว่างนำผ้าไปคลุมองค์หลวงพ่อเพ็ชรป้องกันไม่ให้สีและเศษสิ่งตกลงใส่องค์พระ พบรอยแตกพังทลายออกมาที่หน้าอกองค์พระประธาน และมองเห็นใบหน้ากับเศียรพระพุทธรูปอีกองค์ที่อยู่ด้านใน  จึงได้แจ้งเจ้าอาวาสทราบจนมีชาวบ้านและประชาชนที่ทราบข่าวต่างพากันนำดอกไม้ธูปเทียนและแผ่นทองคำเปลวไปปิดใบหน้าและเศียรพระด้านใน

สิ้นสุดทริปท่องเที่ยวอันแสนประทับใจ สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเที่ยวในโครงการ“แอ่วเหนือม่วนกั๋น…สุขสันต์สุดปี๋ มหัศจรรย์วันธรรมดา” สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ โทร. 054 521 127

 

 

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES