ประเด็นร้อนสะท้อน “ส.ว.ทรงเอ”

 

“บุคคลย่อมเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย” พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์  สารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลพญาไท ทิ้งท้ายในเอกสารแจงข้อเท็จจริงถึงคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมที่หลุดกระจายว่อนโลกโซเชียล

เจ้าตัวมองว่าการประวิงเวลาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการดำเนินคดี สมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อความศรัทธาของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม และการเพิกถอนหมายจับด้วยเหตุผลว่าผู้ถูกออกหมายจับเป็น “บุคคลสำคัญ” เป็นการทำลายหลักการของกฎหมาย

เขาเล่าเรื่องราวยาวเหยียดเป็นกระดาษเอ 4 ถึง 7 แผ่น “แฉไทม์ไลน์” ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล จับกุม นายทุน มิน ลัต (Mr.Tun Min Latt) สัญชาตเมียนมา พร้อมกับพวกรวม 4 คนในความผิดเกี่ยวกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงิน

ผู้ถูกจับบางส่วนสมัครใจให้การซัดทอด สมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่ง เป็นผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดพร้อมแสดงหลักฐานประกอบคำให้การ

หลังจากนั้นส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 3 หน่วยงานที่รับผิดชอบการสอบสวนคดี อ้างว่า ระหว่างสืบสวนขยายผลได้รับการติดต่อจากนายตำรวจระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตัดพยานหลักฐาน ที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกวุฒิสภาออกจากคดี

เชื่อได้ว่า มีเจตนาขัดขวางไม่ให้นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

เขารวบรวมพยานหลักฐานและเอกสารทั้งหมดไปยื่นคำร้องขอหมายจับในความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงิน ระบุไว้ในคำร้องชัดว่า เป็นสมาชิกวุฒิสภา ไม่ได้ปิดบังข้อเท็จจริง พร้อมคำร้องขอหมายค้นเพื่อจับกุม

ทุกอย่างเหมือนผ่านพ้นไปด้วยความราบรื่น แต่ไม่กี่ชั่วโมงนัดมา เขาถูกเรียกไปพบกับเจ้าหน้าที่ตุลาการกล่าวหาว่า เขาจะล้มอำนาจนิติบัญญัติของประเทศ แถมพูดทำนองเป็นตำรวจไม่มีวินัย ไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ไว้ผมรองทรง ยาวกว่าตำรวจทั่วไป

ไม่ฟังคำอธิบายว่า ดำรงตำแหน่งในสายงานสืบสวนที่ต้องออกปฏิบัติการภาคสนาม การตัดผมสั้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน

ตอกกลับเขาด้วยว่า ใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ เพราะได้มีการร้องขอออกหมายจับสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่มีพฤติกรรมหลบหนี

ลงเอยด้วยการเพิกถอนหมายจับ

เขายังแสดงความเห็นไปด้วยว่า หากจะไม่ได้มีการออกหมายจับสมาชิกวุฒิสภา เชื่อได้ว่า ในอนาคตจะไม่ได้มีการดำเนินคดี ทั้งที่มีพยานหลักฐานอย่างแจ้งชัด และเชื่อได้ว่า อาจจะมีการ “ล้มคดี” ที่ได้มีการสอบสวนเอาผิดสมาชิกวุฒิสภาคนดังกล่าว

จุดประเด็นร้อนสะท้อนกระบวนการยุติธรรมเมืองไทย

ขณะที่ พล.ต.ต.คมสิทธิ์ รังไสย์ ผู้บังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ออกตัวว่า มีการส่งผู้ต้องหามาให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 3 ดำเนินคดี ก่อนร้องทุกข์ให้เอาผิดสมาชิกวุฒิสภาเพิ่มอีกราย อัยการสูงสุดมองว่า “คดีนี้เป็นความผิดตามกฎหมายไทยที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร ต้องอยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุด”

พฤติการณ์ผู้ต้องหาเข้าข่ายเป็น “องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 9 ราย ไม่รวมกับรายของสมาชิกวุฒิสภาที่แยกดำเนินคดีเป็นอีกสำนวน

“คณะพนักงานสอบสวนและคณะพนักงานอัยการได้ร่วมกันสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอดอย่างรวดเร็ว” พล.ต.ต.คมสิทธิ์ว่า

บอกเหตุผลที่ยังไม่ออกหมายเรียกสมาชิกวุฒิสภาคนดังด้วยว่า พยานหลักฐานในสำนวนหลายประการยังไม่มีความสมบูรณ์ เนื่องจากมีเอกสารที่ไม่ใช่ภาษาไทยจำนวนมากประมาณกว่า 1,0000 แผ่น จะต้องจัดแปลให้เป็นภาษาไทย เพื่อจะพิสูจน์ความผิด

ไม่ถือว่าล่าช้า แต่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์ในการอำนวยความยุติธรรมและพิจารณาสั่งคดีของอัยการสูงสุด

ยืนยันว่า คณะพนักงานสอบสวนและคณะพนักงานอัยการ ไม่มีบุคคลใดทั้งฝ่ายผู้กล่าวหา และฝ่ายผู้ต้องหา หรือผู้บังคับบัญชาทั้งสองฝ่ายทั้งตำรวจและพนักงานอัยการเข้ามากดดันการสอบสวน หรือสั่งการในการสอบสวนเพื่อช่วยเหลือบุคคลใด ๆ ทั้งสิ้น

ผู้รับผิดชอบจะต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาตามพยานหลักฐานที่ปรากฏจริง

 

 

RELATED ARTICLES