ตำรวจญี่ปุ่นในมุมมองของสื่อแดนปลาดิบ

หนังสือพิมพ์ซังเค มียอดขายติดอันดับ 5 ของญี่ปุ่น ทว่าสร้างเว็บไซต์ข่าวเป็นอันดับ 1 ของบรรดาสื่อหลักในแดนปลาดิบเน้นข่าวการเมืองมากกว่าข่าวอาชญากรรม

ด้วยความที่ประเทศญี่ปุ่นคดีอาชญากรรมเกิดขึ้นรุนแรงและลึกลับซับซ้อนน้อยมาก

ถึงกระนั้นก็ตาม ฮิโรชิ มิกาซ่า หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ซังเค ยอมรับว่า สื่อของญี่ปุ่นมีอิทธิพลที่ส่งผลต่อพรรคการเมืองอยู่ไม่น้อย มีแบ่งข้างแบบเลือกฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา แต่นักการเมืองไม่มีอำนาจพอให้นักหนังสือพิมพ์เขียนข่าวตามแนวที่ต้องการ

ไม่ว่าจะให้เชียร์ หรือจะให้ด่าฝ่ายตรงข้ามไม่ได้เด็ดขาด

จรรยาบรรณของนักหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นสูงพอกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในแดนปลาดิบ

ฮิโรชิ มิกาซ่า เล่าว่า  หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงแรกในญี่ปุ่นมีคดีเกี่ยวกับชิงทรัพย์เยอะมาก เพราะทุกคนอยู่ในสภาวะยากจน ไม่มีเงิน จึงเกิดการก่ออาชญากรรม เพราะต้องการเงิน แต่หลังจากนั้น เมื่อทุกคนเริ่มโอเค หมายถึงประเทศเริ่มฟื้นตัวมาจนในยุคปัจจุบัน คดีแบบนั้นก็หายไปหมด ไม่ค่อยมีขโมย นานครั้งจะกลายเป็นคดีที่ซับซ้อนอย่างเดียว

เขารู้สึกว่า ทุกครั้งนักข่าวญี่ปุ่นจะตกใจ และประทับใจ แล้วอยากทำข่าวเมืองไทยมาก เมื่อเห็นการแถลงข่าวที่เอาคนร้ายมาโชว์ กระทั่งตัวเขายังอยากไปทำเองด้วยซ้ำ เนื่องจากที่ญี่ปุ่นการทำแบบนั้นเป็นอะไรที่ยากมาก ต้องอาศัยพาวเวอร์ของนักข่าว แม้ตำรวจกับนักข่าวญี่ปุ่นจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเสมอ

หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ซังเคยังถามกลับคณะชมรมนักข่าวกองปราบปรามด้วยถึงคดีหวย 30 ล้านบาทว่า มีตำรวจเอี่ยวจริงตามข่าวด้วยหรือ

คำถามนี้เล่นเอานักข่าวไทยหัวเราะ แต่ก็อดตั้งคำถามกลับไปไม่ได้ว่า

ตำรวจญี่ปุ่น มีพฤติกรรมทุจริตบ้างหรือไม่

ฮิโรชิ มิกาซ่า อธิบายด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า เป็นสิ่งที่เป็นความแตกต่างกันของทั้งสองประเทศ พอเวลาเจอคำถามแบบนี้ทุกครั้ง คนญี่ปุ่นตอบยากมาก เพราะเขาไม่รู้สึกไม่ดีกับตำรวจ แม้ว่าเขาเป็นนักหนังสือพิมพ์ก็ตอบไม่ถูกว่า ทำไมตำรวจเขาถึงดี

“ถามว่า ตำรวจญี่ปุ่นมีที่ประพฤติทุจริตหรือไม่ ผมไม่เคยเห็นเลยด้วยซ้ำ ยิ่งปัจจุบัน อะไรที่เกี่ยวกับการทุจริต หรือการประพฤติที่มิชอบของตำรวจไม่มีแน่นอน และด้วยความที่พวกเราเป็นนักข่าวยังไม่เจอปรากฏพฤติกรรมที่ว่านั้นเลย”

บอสใหญ่ของหนังสือพิมพ์ซังเคยังให้เหตุผลว่า ทำไมตำรวจญี่ไม่ทำ หรือว่าไม่มีเหตุการณ์อะไรแบบนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกพอสมควรสำหรับคนญี่ปุ่น

“อาจเพราะว่า มันมีกฎที่รุนแรง ทราบว่า เมืองไทยก็มีกฎ ถูกไล่ออกจากราชการเหมือนกัน แต่การถูกไล่ออกสำหรับคนญี่ปุ่น มันเหมือนการจบชีวิตเลยนะ คนที่มาเป็นตำรวจ ทุกคนอยากเป็นจริง ๆ ถึงได้มาเป็น เพราะฉะนั้นจะไม่มีใครทำลายสิ่งที่ตัวเองรัก สิ่งที่ตัวเองอยากเป็น ทุกคนก็เลยไม่ทำ และไม่กล้าที่จะทำ”

ที่สำคัญ คือ สายตาของประชาชนที่มอง ถือว่า เลวร้ายมาก หากจะประพฤติแบบนั้น

นี่แหละตำรวจญี่ปุ่นในมุมมองของสื่อแดนปลาดิบ

ไม่มีเสียงกระซิบก่นด่าไล่ลับหลังสารพัดเหมือนเมืองไทย

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES