ก้าวที่ 19 ย้ายเข้าวัง

               

ลตำรวจตรีธีระชัย เหรียญเจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลขมวดคิ้วจ้องหน้าผมถมึงตึง ทำเอาผมต้องหลบสายตายิ้มเจื่อน

“มีไหมครับท่าน” สุวิตร โสรจชนะ คนข่าวรุ่นใหญ่ถามย้ำ

นายพลมาดเข้มเก็บอาการ “จำไม่ได้ว่ะ มันเยอะ”

“น่านะท่าน ขอคนเดียว ผมอยากรู้” เหยี่ยวค่ายบางกอกโพสต์กระเซ้า

แววตาดุดันของพลตำรวจตรีธีระชัย ในวันนั้นผมยังจำได้แม่น ก่อนที่แกจะพยักหน้าหัวเราะคลายความตึงเครียด แม้จะไม่หลุดปากยืนยัน หรือปฏิเสธ แต่ก็ทำให้ผมใจชื้นขึ้นมาบ้างกับการลุ้นเก้าอี้ผู้กำกับของพ่อ

“ขอบคุณครับ” ผมยกมือไหว้

“ขอบคุณเรื่องอะไร อั๊วยังไม่ได้บอกลื้อเลยว่า พ่อลื้อได้เป็นผู้กำกับหรือเปล่า”

“อืมม์ ไม่เป็นไรครับ”

“รอลุ้นเอาก็แล้วกันนะ”นายพลมือสอบสวนทิ้งปริศนา

ผมเดินออกมาจากห้องไม่คิดอะไรมาก เพราะคนที่ลุ้นมากกว่าผมนะจะเป็นสุวิตร นักข่าวรุ่นอาที่สนิทกับพ่อผมมานมนาน

“น่าจะได้นะเที่ยวนี้” แกให้กำลังใจ

“คงแล้วแต่ดวงครับ” ผมว่า

ผ่านไปจนถึงวันเลี้ยงอำลาเกษียณอายุข้าราชการตำรวจนครบาลปลายเดือนกันยายนประจำปี 2535

“อาชีพของเรา การจับกุมคนร้ายได้ จิตใจเราก็เป็นเป็นสุข” พลตำรวจโทณรงค์ เหรียญทอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลที่กำลังจะเกษียณอายุให้โอวาทลูกน้องในห้องประชุม เสียงปรบมือเกรียวกราวทำเอาผมขนลุก แม้ตัวเองไม่ได้เป็นตำรวจ แต่รู้ซึ้งหัวจิตหัวใจของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เป็นอย่างดี นายพลที่กำลังจะกลายเป็นอดีตผู้นำทัพทิ้งคำคมไว้ปลุกวิญญาณนายตำรวจรุ่นต่อไป

คลื่นลูกเก่ากำลังจะไป คลื่นลูกใหม่กำลังจะมาทดแทน

สรุปว่า ผมเปลี่ยนฐานะจากลูกชายรองผู้กำกับเป็นลูกผู้กำกับแล้ว

พันตำรวจโทประสงค์ กฤษณสุวรรณ รองผู้กำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจดับเพลิง เป็นผู้กำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจดับเพลิง

เห็นบัญชีคำสั่งแต่งตั้งแล้วผมก็ค่อยเบาใจแทนพ่อ

เกิดการเปลี่ยนแปลงในอาณาจักรนครบาลยามผลัดไม้ผู้นำไม่น้อย แต่ผมไม่ค่อยซึมซับ เพราะยังไม่ถนัด หรือรู้จักมักจี่ตำรวจมากนักตามประสานักข่าวน้องใหม่ มีคนเดียวที่ผมค่อนข้างสะดุด นั่นคือ การมาของพันตำรวจเอกกฤษฎา พันธุ์คงชื่น ที่ย้ายจากกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติดข้ามห้วยมานั่งเป็นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครเหนือ เบียดเอาพันตำรวจเอกวิบูลย์ศักดิ์ สิทธิเดชะ ผู้กำกับนักสืบคนเก่ากระเด็นไปเป็นผู้กำกับการตำรวจนครบาล 3

เวลานั้นผมกำลังได้แหล่งข่าวชั้นดีอย่างพันตำรวจเอกวิบูลย์ศักดิ์ ตามคำแนะนำของบุญเสริม พัฒฑนะ นักข่าวไทยรัฐ ผมมองว่า เขามีอัธยาศัยดี ถามอะไรตอบหมดไม่ปิดบัง แต่ผมไม่รู้หรอกว่า เขาเป็นนักสืบที่เก่งกาจในแวดวงตำรวจนอกเครื่องแบบหรือไม่ ทว่าหัวสมองอันน้อยนิดของผมขณะนั้นกลับเห็นว่า การเหาะมาของผู้กำกับนักสืบคนใหม่เกิดจากเส้นสายของความเป็นทายาทพลตำรวจเอกมนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อดีตอธิบดีกรมตำรวจผู้ทระนงคนหนึ่ง

ผมเก็บความในใจอยู่นานไม่เอ่ยซักใคร

“สวัสดีครับพี่บี๋ ยินดีด้วยครับ” เจตนา จนิษฐ นักข่าวมติชนเดินเข้าทักทายนายตำรวจหนุ่มที่ยืนอยู่มุมห้องของงานเลี้ยงแล้วสะกิดเรียกสติผมกลับมา

“โต้ง รู้จักพี่บี๋สิ แกเป็นมือสอบสวนเลยนะ”

ผมยกมือไหว้ นายตำรวจร่างโย่งหุ่นสมาร์ทรับไหว้ด้วยรอยยิ้ม

พันตำรวจเอกจักรทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา ผู้กำกับการตำรวจนครบาล 3 กำลังจะเลื่อนขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมทั้งงานผมจำแกได้อยู่คนเดียว รับรู้ถึงชื่อเสียงและฝีไม้ลายมือจากปากของเหยี่ยวข่าวรุ่นพี่ที่พากันโพนทะนาให้จับตานายพันตำรวจเอกอนาคตไกลคนนี้ไว้ เพราะทุกคดีสำคัญระดับประเทศจะมีชื่อของเขาติดอยู่ในกลุ่มคณะพนักงานสอบสวน

“ไว้หมั่นมาคุยกับพี่เขาบ่อย ๆ นะ” หนุ่มมติชนแนะนำ “ฝากด้วยครับพี่ น้องใหม่อยู่ค่ายสยามโพสต์”

ผมเดินติดสอยห้อยตามกลุ่มนักข่าวที่อาบน้ำร้อนมาก่อนแบบมึนเล็กน้อย มือถือแก้วพลาสติกมีน้ำอำพันผสมโค้กให้จิบทั่วงาน นักข่าวประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาลยุคนั้นค่อนข้างสามัคคีกันในเรื่องกิน แต่ไม่ได้ยินพวกเขาคุยจอยหน้างานกันสักเท่าไรนัก ผู้อาวุโสหนังสือพิมพ์หัวสีมักกุมความได้เปรียบตรงความเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการ แต่ใช่ว่าระดับเดลิมิเรอร์ ดาวสยาม บ้านเมือง หรือแม้กระทั่งแนวหน้าจะถูกมองข้ามจากแหล่งข่าวในเมื่อพวกเขามีปากกาในมือกันทุกคน

อยู่ที่ใครจะมือดีสาวได้สาวเอา

สิ้นสุดงานเลี้ยงโบกมือลาพลตำรวจโทณรงค์ เหรียญทอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลส้มหล่นมาจากเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่เลือกเฟ้นให้มาเสียบแทนพลตำรวจโทวิโรจน์ เปาอินทร์ ที่ขยับขึ้นนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ก่อนเกิดวิบัตินองเลือดในพฤษภาทมิฬ

ภาพของพลตำรวจโทณรงค์ต้องถอดเครื่องแบบนายพลทิ้งเหลือเพียงเสื้อยืดขาวตัวเดียวเพื่อหนีความบ้าคลั่งของฝูงชนรักประชาธิปไตยเชิงสะพานผ่านฟ้ายังติดตาผม

“ขอให้พักผ่อนเต็มที่ในชีวิตข้าราชการบำนาญนะครับท่าน” ผมนึกในใจ

พอวันรุ่งขึ้น ผมแทบเป็นลม ได้ศัพท์ใหม่ในวงการสื่อเข้าเต็มเครื่อง

“พวกเราถูกตีหัวว่ะ”

“อะไรหรือครับพี่” ผมถาม

“ไปอ่านมติชนสิ”

ผมเดินไปหยิบหนังสือพิมพ์มติชนมากางอ่านดูข่าวตำรวจ มีการสัมภาษณ์เปิดใจผู้บัญชาการตำรวจนครบาลก่อนเปิดหมวกอำลาตำแหน่งยาวเหยียดล้วนเป็นประเด็นดุเด็ดเผ็ดร้อนน่าติดตาม ผมใจหายวูบ

“ก็ยืนฟังอยู่ด้วยกันนี่หว่า ไม่เห็นพี่แกจดอะไรเลย” ผมย้อนลำดับเหตุการณ์

คำว่า “ถูกตีหัว” ยังก้องหูผมอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นศัพท์ในมวลหมู่เหยี่ยวข่าวอาชญากรรมบัญญัติขึ้นมาถึงพฤติกรรมเพื่อนร่วมอาชีพดอดไปเด็ดข่าวเด่นมาเล่นพาดหัวลำพังฉบับเดียวให้เพื่อนสะเทือนซางจากแรงสั่นกระเพื่อมของหัวหน้าต้นสังกัด

“ไม่เป็นไร ไว้เราหาเอาคืนวันหลัง” พี่นักข่าววัยเก๋าอีกคนปลอบใจ ส่วนผมเริ่มหวาดระแวงพวกทำตัวเยี่ยงผู้เฒ่าอาบน้ำร้อนมาก่อนหลายคนบ้างแล้ว

เปลี่ยนแม่ทัพเป็นพลตำรวจโทจำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ กุมบังเหียน ผู้นำคนใหม่ใช้ฤกษ์วันที่ 14 ตุลาคม 2535 ย้ายที่ทำการแห่งใหม่ไปอยู่วังปารุสกวัน มีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร

มีการพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างพระรูปพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร กรมพระนเรศวรวรฤทธิ์ ประดิษฐานไว้เป็นพระอนุสาวรีย์หน้าอาคารกองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อเป็นที่เคารพสักการะและเป็นศูนย์รวมจิตใจข้าราชการตำรวจนครบาล

จะว่าไปแล้วตำรวจนครบาลปรับเปลี่ยนรูปแบบมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายุคสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจัดการปกครองแบบจตุสดมภ์ (เวียง วัง คลัง นา) เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง หน้าที่ของตำรวจอยู่ในสังกัดเวียง ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งกองตระเวน ก่อนเปลี่ยนเป็นกองตำรวจ ให้หลวงรัฐยาธิบาลบัญชา หรือกัปตัน ซามวล โจทเซ็ฟ เบิร์ต เอมส์ เป็นหัวหน้า ขึ้นกับกรมพระนครบาล

หากจะมาคำนวณอย่างเป็นทางการคงต้องนับจากพระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุยส์ จาติกวณิช) ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนแรกในปี 2465 ถัดจากนั้นเพียง 10 ปี เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการยุบกองบัญชาการตำรวจนครบาลลดฐานะลงเป็นเพียงกองบังคับการ

พวกเขาต้องรอกันถึงปี 2491 ที่มีการเริ่มตั้งกองบัญชาการตำรวจนครบาลขึ้นอีกครั้ง ปรากฏตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทย พุทธศักราช 2491 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2491

จนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน 2504 กองบัญชาการตำรวจนครบาลจึงมีที่ทำงานของตัวเองที่ผ่านฟ้า ถนนราชดำเนิน ในครั้งนี้ได้รวมเอากองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ ใต้ และธนบุรี มาอยู่ตึกกองบัญชาการผ่านฟ้าด้วย กระทั่งถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นวันมหาวิปโยค กองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ผ่านฟ้าถูกเผาทำลายเสียหายหมดสิ้นต้องย้ายที่ทำการมาตั้งอยู่กองบังคับการตำรวจดับเพลิง ถนนศรีอยุธยา

กินเวลายาวนานเกือบ 20 ปี กรุงเทพมหานครมีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และปริมาณงานที่มากขึ้น อาคารที่ทำการเดิมเริ่มคับแคบไม่สะดวกแก่การปฏิบัติราชการบริการประชาชน กรมตำรวจจึงจัดสรรงบประมาณ 165 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่ในบริเวณวังปารุสกวัน

ผมจำเป็นต้องไปค้นคว้าหาประวัติรังตำรวจนครบาลแห่งใหม่เพิ่มเติมเพื่อประกอบการเขียนรายงานพิเศษลงในหน้าหนังสือพิมพ์ของตัวเองเป็นการประกาศชายคาสถานที่ผมต้องพำนักอยู่ให้รับรู้ทั่วกันด้วย

วังปารุสกวัน หรือย่อว่า วังปารุสก์ ตั้งอยู่หัวมุมถนนพิษณุโลก ตัดกับถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นวังที่ประทับของจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหาร จากประเทศรัสเซีย

เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2446 มีการจ่ายเงินค่าก่อสร้างกำแพงยาว 275 เมตร รวมเป็นเงิน 22,075 บาท ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2447 จ่ายค่าก่อสร้างกำแพงส่วนที่เหลืออีกเป็นเงิน 61,173 บาท แต่ยังไม่รวมค่ากระเบื้องหลังคา แรกเริ่มมีสถาปนิก 3 คนช่วยกันออกแบบ คือ นายตามานโญ นายสก็อตส์ และนายเบย์โรเลรี แต่ 2 คนป่วยระหว่างการก่อสร้าง นายตามานโญป่วยเป็นอหิวาตกโรคและต้องเดินทางกลับยุโรป ส่วนนายสก็อตส์ป่วยเป็นไข้ทรพิษและเสียชีวิต เหลือแต่นายเบย์โรเลรี รับผิดชอบ จนแล้วเสร็จเมื่อปี 2448

มีพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่เมื่อวันที่ 5 เมษายน  2449 และได้เสด็จประทับพระตำหนักนี้ตลอดพระชนมายุ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบคลาสสิก ก่ออิฐถือปูน ตามแบบวิลล่าของอิตาลี ก่ออิฐถือปูน ทาสีครีม เดิมตัวพระตำหนักมี 2 ชั้น โดยชั้นล่างเป็นท้องพระโรง และห้องรับแขก ห้องพักผ่อน ส่วนชั้นบนจัดเป็นบริเวณที่ประทับส่วนพระองค์ ห้องพระชายา ห้องพระบรรทม ห้องแต่งพระองค์ ห้องสรง และห้องทรงพระอักษร ต่อมามีการต่อเติมตัวพระตำหนักเพิ่มเป็น 3 ชั้น โดยชั้นบนจัดเป็นห้องพระบรรทม

ส่วนชื่อวังปารุสกวันได้มาจากชื่อสวนของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มี 4 แห่งคือ สวนมิสกวัน สวนปารุสกวัน สวนจิตรลดาวัน และสวนนันทวัน

เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเสด็จทิวงคต เมื่อ 2463 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชอำนาจตามกฎหมายระงับพินัยกรรมของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ที่ทรงระบุให้ยกทรัพย์สินทั้งหมดแก่หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส ชายาพระองค์ใหม่ โดยมีพระบรมราชโองการให้โอนวังปารุสกวันกลับคืนเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 วังปารุสกวัน เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ก่อนจะย้ายไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม และที่เป็นพำนักของ พระยาพหลพลพยุหเสนา ระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรีและพ้นจากตำแหน่งไปแล้วจนถึงแก่อสัญกรรม

ปล่อยทิ้งร้างอยู่นานชื่อของวังปารุสกวันกลับมาโด่งดังอีกครั้ง เมื่อกลายเป็นที่ทำการของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ส่วนตัววังเก่าแก่ดั้งเดิมถูกกำหนดให้เป็นพิพิธภัณฑ์ตำรวจที่ยังคงความงามของศิลปะยุคโบราณ

อาคารใหม่ของกองบัญชาการอยู่ในรั้วอาณาบริเวณวังปารุสกวันสร้างขึ้นสูง 3 ชั้น รวมเอากองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ ใต้ และธนบุรี มีอยู่รวมกัน ส่วนกองกำกับการสืบสวนสอบสวนของทั้ง 3 แห่งยังอยู่ที่เดิม มีสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจนครบาลอยู่ชั้น 2 พลตำรวจโทจำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ แม่ทัพคนใหม่มีพันตำรวจโทจิตติ รอดบางยาง เป็นนายเวร และร้อยตำรวจโทชาคริต มงคลศรี ทำหน้าที่ผู้ช่วยนายเวร

ขณะที่ห้องสื่อมวลชนผูกติดกับแผนกประชาสัมพันธ์ กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล อยู่ชั้นล่างเชิงบันไดทางขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่โอ่โถงไม่อึดอัดเหมือนอยู่ที่เก่า ได้พันตำรวจตรีภิญโญ ใหญ่ไล้บาง เพื่อนนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 35 ของนายเวรคนใหม่ขึ้นมาเป็นสารวัตรแผนประชาสัมพันธ์แทนพันตำรวจตรีพิสิฏฐ โปรยรุ่งโรจน์ ที่ย้ายลงเป็นสารวัตรธุรการ สถานีตำรวจนครบาลบางกอกน้อย

จากที่เคยอยู่แฟลตดับเพลิงเดินลงมาทำงานแค่ไม่ถึง 100 เมตรผมต้องนั่งรถประจำทางอีกหลายกิโลเมตรไปยังรังใหม่ที่อยู่ใกล้ลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแหล่งข่าว และเรื่องราวคดีอาชญากรรมมากมายในเมืองหลวง

ผมเป็นเด็กวังเต็มตัวแล้ว

วังปารุสก์นั่นเอง ฮ่า ฮ่า ฮ่า

 

RELATED ARTICLES