“นครบาลนักข่าวสมัยก่อน ไม่เคยโกรธกัน ในเรื่องตกข่าว ต่างคนต่างเดิน ตกค่ำมานั่งกินเหล้าด้วยกัน”

สู้ชีวิตมาตั้งแต่เด็กกว่าจะถึงวันนี้

“เกรท”เจตนา จนิษฐ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์มติชน อดีตนักข่าวอาชญากรรมมากประสบการณ์ระดับตำนานคนหนึ่งของผู้สื่อข่าวประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล

เกิดที่กรุงเทพฯ พ่อเคยทำงานอยู่กรมทางหลวง แต่พอเขาอายุ 5 ขวบ เกิดไฟไหม้บ้านแทบไม่เหลืออะไรเลย พ่อไม่มีเงินต้องออกจากงานที่กรมทางหลวงไปสมัครเป็นยามรักษาความปลอดภัยธนาคารชาติ เริ่มต้นใหม่ไปเช่าแฟลตการเคหะดินแดง ตรงข้ามโรงเรียนพิบูลย์ประชาสรรค์

ส่งให้เจตนากลายเป็นเด็กแฟลต ต้องดิ้นรนหาเงินเลี้ยงชีพตั้งแต่เรียนประถมโรงเรียนราชประสงค์วิทยา ด้วยการรับของจากตลาดมหานาคมาเดินขายตามแฟลต วันไหนลอตเตอรี่ออกก็ตระเวนขายเรียงเบอร์ วันไหนไม่ไปเรียนก็ออกขายหนังสือพิมพ์ตามสี่แยก เก็บขยะหาขวดขายก็ทำ ไม่รู้อนาคตตัวเองจะเป็นอย่างไร คลุกกับเด็กเกเรในแฟลตหลายปี ทำระเบิดขวดไปปาอริต่างแฟลตก็มี

กระทั่งปี 2518 อาเป็นห่วงเลยพาไปฝากสนามม้านางเลิ้งให้ไปขายหนังสือม้า ได้กินอะไรฟรีบ้าง บางทีหิวไม่มีอะไรต้องเก็บของกินเหลือตามสนาม อะไรที่เป็นเงินเป็นทองเอาหมด เพียงแต่ไม่เคยโกงใคร สุดท้ายผู้เป็นอาลงทุนดาวน์ตึกแถวย่านห้วยขวางให้พ่อ เพราะห่วงอนาคตพี่ชายและหลาน สมัยนั้นห่างไกลความเจริญมากอยู่ใกล้โรงเรียนจันทร์หุ่นบำเพ็ญ แต่ตัวเจตนากลับเข้าเรียนสุรศักดิ์มนตรีตามพี่ชาย ยังไม่วายไล่ตีสถาบันอื่นจามประสาเด็กมัธยมขาสั้น

 พอจบ ม.ศ.5 มุ่งหน้าจะเอ็นทรานซ์เข้านิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามพี่ชายที่เข้าเรียนรุ่นเดียวกับศุ บุญเลี้ยง เนื่องจากเคยไปขลุกอยู่ รู้สึกสนุก ปรากฏว่า เอ็นทรานซ์ไม่ติด มีประชา จนิษฐ์ เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายโยธยา กรุงเทพมหานคร เปิดสำนักงานกฎหมาย เลยเลือกไปลงเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เจตนาเล่าว่า ไม่ค่อยได้เข้าเรียนเท่าไร อาศัยเก็งข้อสอบ อ่านจากตำราที่วางขายริมถนน เพราะมัวแต่ไปทำกิจกรรม อยู่ชมรมชาวเหนือสร้างสรรค์ ไปพรรค 7 คณะ ก่อนเข้าชมรมเชียร์ของมหาวิทยาลัย ช่วยงานหลายปี กว่าจะจบใช้เวลานานถึง 6 ปี วิชากฎหมายยาก ๆ ผ่านหมด ติดตัวเดียวคืออังกฤษ 2 หรือ EN 102 ไม่ผ่านสักที เป็นวิชาบังคับ ถ้าไม่ผ่านก็ไม่จบ ตัดสินใจเสียเงินไปติวในปีสุดท้าย ไม่คิดเหมือนกันว่าจะเสียตังค์กับการไปติว ต้องยอม และผ่านมาได้ ดีใจสุด ๆ

อย่างไรก็ตาม เจตนาบอกว่า ตอนที่เรียนอยู่ก็เริ่มหันไปฝึกงานสำนักงานกฎหมายของอาบ้างแล้ว ได้ฝึกเป็นเสมียนทนาย มีใบมอบอำนาจไปขึ้นศาลเลื่อนคดี ยื่นฟ้อง รู้ขั้นตอนวิธีการหมด ยังนึกว่า ชีวิตน่าจะเดินสายนิติศาสตร์เป็นนักกฎหมายแน่นอน เพราะเส้นทางถูกวางไว้แล้ว “มันมีจุดหักเห ตรงที่ผมเกิดความรู้สึกทำใจไม่ได้เวลาไปยึดทรัพย์เขา ผ่านมาหลายเคส มาเจอเคสคนจนอยู่ในเรือ ถูกออกหมายจับคดีเช็ค ไม่มีจ่ายต้องยึดทรัพย์ เห็นสภาพแล้วมันขัดกับเรา ฝืนความรู้สึกตัวเอง แม้เป็นหน้าที่ เริ่มไม่สนุกแล้ว อาจเป็นเพราะผมเคยเห็นความยากลำบากมาก่อน รู้ว่าคนไม่มีมันเป็นยังไง”

จังหวะเดียวกับพี่ชายเหมือนมีลางสังหรณ์เคยเปรยไว้ว่า หากมีอะไรให้ไปหา สุรวงศ์ เอื้อปฏิภาณ กับกิตติชัย อินทร์นุรักษ์ คนข่าวค่ายมติชน ซึ่งเป็นเพื่อนนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นเดียวกับพี่ชาย เจตนาย้อนอดีตว่า พี่ชายไปทำธุรกิจส่วนตัวคิดป้ายโฆษณาตามทางด่วนพิเศษ ชีวิตกำลังรุ่ง ได้งานใหญ่มา ปรากฏว่า เกิดประสบอุบัติเหตุรถคว่ำเสียชีวิต ทุกอย่างจบเลย ก่อนตายเขาฝากเราไว้ ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร อยากมีงานทำ เห็นมติชนประกาศรับสมัครนักข่าวอาชญากรรมก็เลยมาสมัครดู

เขาบอกว่า ตอนอยู่รามคำแหง ไม่เคยอ่านมติชน แต่รู้ว่าถือมติขนแล้วเท่ ซื้อมาถืออ่านให้เห็นหัวหนังสือมติชนโชว์ทั่วมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้อ่าน ซื้อถือมากกว่า ไม่เคยคิดว่าสักวันต้องมาเป็นนักข่าวมติชน สายข่าวอาชญากรรมว่าง คิดว่า น่าจะทำได้ อาศัยเป็นคนอยากรู้อยากเห็นชอบตั้งคำถาม อะไรที่เขาเสือกกันได้เราไปหมด แม้แต่ข้างบ้านทะเลาะกันตอนเด็กก็อยากรู้อยากเห็น  “ไปหาพี่วงศ์ แต่งชุดเรียบร้อยเหมือนตอนทำงานสำนักงานทนายความ ถือกระเป๋าเอกสารเดินมามัครงานเป็นนักข่าว พี่เขาเห็นแล้วหัวเราะ บอกไม่ต้องแต่งถึงขนาดนี้ก็ได้ ผมไม่รู้สภาพของนักข่าวอาชญากรรมมันเป็นอย่างไร แต่งตัวเท่มาเลย ดีที่ไม่ได้ผูกไท” เจตนาจำเหตุการณ์วันแรกก่อนมาเป็นนักข่าวใหญ่แม่นยำ

หลังจากนั้น เขาแทบไม่ได้เข้าบ้านอีกเลย เพราะไปคลุกคลีอยู่กับสุรวงศ์ เช่าบ้านอยู่กับสำเริง คำพะอุ นักข่าวใหญ่สยามรัฐ ในซอยไผ่เขียว เจตนายอมรับว่า ไม่รู้เลย นักข่าวทำงานกันอย่างไร แค่พิมพ์ดีดได้ ครั้งแรกลงตระเวนข่าว กลัวมากที่สุดข่าวไฟไหม้ มันไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้จะไปเอาข่าวจากใคร อาศัยอ่านจากสไตล์บุ๊กของมติชน ต้องเขียนข่าวอย่างไร แต่เวลาลงสนามจริงมันไม่ใช่ เห็นภาพ แต่ไม่รู้จะเอาข้อมูลจากใคร สั่นไปหมดจนมาเจอพวกตระเวนข่าวฉบับอื่นก็ไปขอพึ่งพา เรียนรู้จากเขา ตอนนั้นใช้โทรศัพท์ส่งข่าว มีเหรียญบาทเต็มกระเป๋า แต่เท่ดี สมัยก่อนสายอาขญากรรมพกวิทยุสื่อสาร มันให้อะไรเราเยอะจากประสบการณ์บนพื้นฐานของข่าวตระเวน

ชีวิตนักข่าวน้องใหม่ของเจตนาเจอบททดสอบค่อนข้างหนักพอสมควร เพราะต้องไปเผชิญข่าวเหตุการณ์ใหญ่ระดับประเทศแทบทั้งนั้น ตั้งแต่ รถแก๊สคว่ำไฟลุกท่วมถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ส่งให้เข้ามีผลงานโชว์ต้นสังกัด เมื่อไปนั่งแช่อยู่บนโรงพักพญาไททั้งคืนเห็นพนักงานสอบสวนเขียนแผนผังจุดเกิดเหตุ พร้อมตำแหน่งรถที่เสียหายนับร้อยคัน ระบุทะเบียนชัดเจน เจตนาไม่รีรอที่จะวาดภาพจดรายละเอียดตาม รุ่งขึ้นนำผังดังกล่าวไปเสนอกองบรรณาธิการทำเป็นกราฟฟิกฉบับเดียวที่ไม่เคยมีฉบับไหนทำมาก่อน

ต่อมา เขายังต้องไปทำงานเครื่องบินเลาดาแอร์ตก ที่ ด่านช้าง สุพรรณบุรี ตีรถไปตั้งแต่วันแรกในสภาพกำลังเมาได้ที่ ไปถึงไฟยังลุกโชน เห็นชาวบ้านและมูลนิธิกำลังแย่งทรัพย์สินจากซากเครื่องบินเดินออกมาเหมือนพวกแร้งทึ้ง อยู่เกาะสถานการณ์นานเกือบเดือนกางเกงในกลับแล้วกลับอีก นอนอยู่ในศูนย์ที่ลำเลียงศพออกมาในวัดท่ามกลางกลิ่นเหม็นเน่าคลุ้ง ก่อนเจอโศกนาฏกรรมโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ไฟไหม้คลอกชีวิตคนงาน 100 กว่าศพ ตึกโรงแรมรอยัล พลาซ่าถล่มที่นครราชสีมา รวมถึงข่าวคดียิงถล่ม “แดง สิงห์ป่าซุง” ที่ชลบุรี

         สะสมประสบการณ์ตระเวนข่าวราว 2 ปี  ขยับเป็นนักข่าวประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้รู้จักการเจาะข่าว ทำข่าวอีกรูปแบบ นำข่าวแถลงไปต่อยอดขยายหาประเด็นเพิ่มเติมเพื่อลึกกว่าฉบับอื่น ไปนั่งเฝ้าตามกองกำกับสืบสวนเหนือ สืบสวนใต้ ถึงเย็นย่ำค่ำคืน เจตนาบอกว่า ตำรวจสายสืบจะเข้ามาที่กองตอนค่ำ เอาตัวพยาน หรือผู้ต้องหาเข้ามา เข้าไปจนหน้าช้ำ โดยเฉพาะ ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา เข้ายากสุด เป็นรอง ผกก. ไม่พูดกับใคร อาศัยนั่งเฝ้า ขอยังไงเขาก็ไม่พูด ไปจนช้ำหน้า ไปเป็นเดือน ไม่พูดไม่เป็นไร มาหามาเยี่ยม มานั่งฟัง เอาโน้นเอานี่ช้ำจนบางทีเราไม่ไป แกกลับถาม มันหายไปไหน ตอนหลังได้รุ่นพี่ต่อสายให้ก็เริ่มคุ้นเคยไว้ใจขึ้น บางข่าวที่เอ็กซ์คลูซีฟแกก็จะเริ่มเปิด

“ผมใช้สไตล์แบบนี้ทำข่าวประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล เดินจนช้ำ ห้องผู้กำกับ ซอยนายพล เห็นอะไรหลายอย่าง รู้จักพี่ที่เป็นตำรวจจากนายเวร ยศ ร.ต.ท. เวลานี้ไปเป็น พล.ต.อ.ตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.หมดแล้ว สนิทชิดเชื้อแบบยกหูโทรหากันได้” เจตนารำลึกความทรงจำ เขาเล่าว่า นักข่าวรุ่นไล่เลี่ยกันยุคนั้น จะมี โย่ง-นพพร เดลินิวส์ ป๊อบ-สุรพงศ์ ทวี เดลินิวส์ เก๋-กิตติพงศ์ นโรปการณ์ ไทยรัฐ เย็น-บุญลือ ประเสริฐโสภา จากบ้านเมือง ชัยวุฒิ มั่นสิงห์ เดอะเนชั่น และจ๋า-ไชยรัตน์ ส้มฉุน สมัยนั้นอยู่เดลิมิเรอร์

“ดีอย่างที่นครบาลนักข่าวสมัยก่อน ไม่เคยโกรธกัน ในเรื่องตกข่าว ต่างคนต่างเดิน ตกค่ำมานั่งกินเหล้าด้วยกัน วันรุ่งขึ้นตีหัวกันแล้ว ทำไมกูไม่ได้ประเด็นนี้ แต่ไม่เคยโกรธกัน วันนี้คนนั้นโดน อีกวันเขาก็หาข่าวมาเอาคืน ทุกคนถือว่า เดินแข่งกันหาประเด็นเดี่ยว เอามาเย้ยกันวันรุ่งขึ้น เท่มาเลยถ้าประเด็นเราขึ้น ทุกคนไม่โกรธ เป็นบรรยากาศที่สนุกมาก ทุกวันนี้ถึงเป็นเพื่อนติดต่อกันอยู่เสมอ”

ถ้าเทียบกับนักข่าวปัจจุบัน เจตนาแสดงความเห็นว่า ไม่รู้นะ ตอนหลังเขาว่า มันเปลี่ยนไปเยอะ บรรยากาศข่าวที่เห็นทุกวันนี้มันมาเป็นแพคเกจเดียวกันหมด ทุกคนสามัคคี ก็ดีรักกันมาก ถึงขนาดฝากไปทำข่าวแล้วเอามารวมกัน ไม่ตก และไม่โดนตีหัว เสียตรงที่ไม่มีอะไรที่จะแข่งกัน ไม่มีอะไรหวือหวา เหมือนกันหมด คนอ่านซื้อฉบับไหนก็ได้ แบบนั้นไม่ดี ใครแหลมไปยังมาโกรธกันอีก จริง  ๆมันต้องแฟร์นะ ใครเดินก็ต้องได้ข่าว ได้ประเด็นมากกว่าคนอื่น

ทำข่าวอยู่นครบาลบางทีก็แวะไปกรมตำรวจบ้าง ไปหาแหล่งข่าวต่อเติม กระทั่งเจตนาได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าวโต๊ะอาชญากรรม มาหัดเขียนคอลัมน์ พิมพ์ข่าวปิดหน้าให้น้องรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน ตอนหลังเปลี่ยนเป็นโต๊ะกระบวนการยุติธรรม มีอัยการ ศาล เข้ากับพื้นฐานของเขาพอดีที่จบกฎหมายมารวบรวมประสบการณ์ความเป็นมาจากพี่เพื่อนน้องก่อนได้เป็นหัวหน้าข่าวโต๊ะกระบวนการยุติธรรม

        “ผมพยายามถ่ายทอดสิ่งที่เรามีอยู่แก่น้อง ก็เคี่ยวหน่อย เราจริงจังกับงาน บางทีก็เกินไปนะ มันไม่เหมือนกัน ต่างจากสมัยเรา การวางตัวที่เราจะไปเอาข่าวจากตรงนั้น มันสอนให้เราคิดถึงแง่การบริหารบุคคล บางทีต้องเข้าใจสภาพของน้องด้วยว่า พื้นฐานมันไม่เหมือนกัน ความรู้ที่มาไม่เหมือนกัน ประสบการณ์ไม่เท่ากัน แต่เราไปตั้งความหวังไว้สูง เอามาตรฐานตัวเองเป็นที่ตั้ง มันไมได้ รุ่นพี่ที่มติชนก็เตือนว่า อย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว เราก็จะได้ตรงนี้เข้ามาช่วย” อดีตหัวหน้าข่าวโต๊ะกระบวนการยุติธรรมบอก

เป็นหัวหน้าคุมโต๊ะข่าวอยู่พักใหญ่ก็ขยับไปเขียนข่าวหน้า 1 ดูภาพรวมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เรียนรู้มากขึ้น มีคอลัมน์ให้เขียน ศึกษาเรียนรู้จนขยับมาเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวดูแลหน้า 1 ในปัจจุบัน เจตนาถ่ายทอดประสบการณ์อีกว่า ที่ผ่านมาอุปสรรคในการทำงานก็มีบ้าง บางทีโดนแรงๆ ก็พยายามทน เจอนายตำรวจบางทีไม่เข้าใจ โดนด่าแจกกล้วยให้ก็มี มันสอนว่า การเขียนเรื่องนิดเดียว เขียนฮา ๆ ขำ ๆ แต่แหล่งข่าวกลับไม่เข้าใจมาโกรธ กลายเป็นเรื่องที่เราต้องระวังด้วย

ยิ่งในยุคปัจจุบันหนังสือพิมพ์มติชนกลายเป็นเป้าหนึ่งในโลกสังคมที่ถูกแบ่งแยก เจตนารับว่า หนักนะ  โดนโจมตีประจำ ถูกแบ่งตามสังคมเหลืองแดง มติชนเป็นโจทก์หนึ่งที่ถูกจับไปชนถ้าคนที่แฟนมติชนมาก่อนจะรู้ว่า เดิมมติชนเป็นอย่างไร ไม่ว่ารัฐบาลเก่า หรือรัฐบาลไหนเราเป็นฝ่ายตรวจสอบ พี่ช้าง ขรรค์ชัย บุนปาน จะวางหลักไว้ สอนทุกครั้ง พูดเสมอว่า การทำหนังสือพิมพ์เราไม่ได้สู้กับคน เราสู้กับความ ความไม่ถูกต้อง ปลูกฝังมาตลอด สิ่งไหนถูกต้องเราพร้อมจะเป็นเครื่องมือ เป็นประโยชน์โดยรวมได้ ส่วนร่วมได้ เพราะเราถูกมองเป็นเครื่องมือเสมอ ประโยชน์ตกกับประชาชนเราพร้อม แต่ถ้าอันไหนไม่ใช่เราก็ไม่เอา

      “ เคสสำคัญที่สุดที่มติชนถูกแบ่งฝ่าย เพราะการชุมนุมคราวนั้น เราไม่ได้มองเป็นฝ่ายไหน เรามองความเป็นประชาชน ความเป็นมนุษย์ คุณอย่าไปทำร้าย คุณไปฆ่าคนไมได้ เราจะไปสนับสนุนให้คุณเอาเจ้าหน้าที่รัฐไปฆ่าคนไมได้ ไม่ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา 14 ตุลา พฤษภาทมิฬ อย่าไปทำร้ายประชาชน เขามาชุมนุมเรียกร้องจะไปล้อมฆ่าโดยถูกต้องตามกฎหมายเป็นไปไม่ได้ ชีวิตคน มติชนถึงต้องออกหมายเหตุ หยุด อย่าทำรายประชาชน กลายเป็นว่า เราปกป้องอีกฝ่าย”

เรื่องราวทั้งหมด เจตนามองว่า ขึ้นอยู่ผู้เสพรู้ตื้นลึกหนาบางมากน้อยแค่ไหน ถ้ารู้ลึกก็จะเข้าใจ ทุกวันนี้โซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นสื่อพวกฉาบฉวยฟังแค่ 3-4 ประโยค บางคนก็เชื่อแค่ 3-4 ประโยคที่ว่า โดยไม่ได้กลับไปดูข้อเท็จจริงก่อนมาเป็นตรงนี้ พอเชื่อแล้วก็ไปบอกต่อ ทำให้มีแฟนคลับ พอแฟนคลับส่งมาก็จะเชื่อ ไม่ดูเบื้องหน้าเบื้องหลังที่มากันก่อน มันจะลามรวดเร็วมาก อันนี้อันตรายมาก น่ากลัวนะ

RELATED ARTICLES