“ผมเป็นคนไทย ถ้าไปดูโอลิมปิกแล้วเชียร์ประเทศอื่นมันก็คงแปลก”

ะบัดธงชาติไทยไกลถึงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์มาแล้วถึง 2 หน

จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ทวีพล ดีสารพัด เจ้าของฉายา “ปุ๊ กว่างโจว” นักธุรกิจหนุ่มบ้าดีเดือดผู้นี้จะควักกระเป๋าเงินตัวเองตามไปส่งเสียงเชียร์ทัพนักกีฬาไทยด้วยหัวใจเกินร้อย

กลายเป็นนักเชียร์ตัวยงที่แหกปากตะโกน “ไทยแลนด์ ไทยแลนด์” กระหึ่มสนามที่สร้างความประทับใจให้แก่ประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขัน และสื่อมวลชนที่ไปเกาะเกมจนเผยแพร่ภาพข่าวกระจายทั่วโลก

ทวีพลคลุกคลีอยู่ในโลกกีฬามาตั้งแต่ลืมตาเกิดในครอบครัวกิจการห้างกีฬาเหรียญทอง ตั้งอยู่สี่แยกปทุมวัน เขาเป็นน้องสุดท้องในบรรดาพี่ 5 คน จบมัธยมต้นโรงเรียนโรจน์เสรีอนุสรณ์ ก่อนมาใช้ชีวิตมัธยมปลายโรงเรียนเทพศิรินทร์ สถานสิขาสง่าพระนาม สำนักกีฬาสง่าสนาม ที่ทำให้เลือดเชียร์ของเขาสูบฉีดเต็มพิกัด เมื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชุมนุมเชียร์และแปรอักษรของโรงเรียนตะลุยงานพิธีปิดกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2528

แถมยังได้ซึมซับยุคทองของมหาอำนาจลูกหนังนักเรียนขาสั้นประกาศศักดาลูกแม่รำเพยเป็นเจ้าแห่งฟุตบอลนักเรียนกวาดแชมป์นับไม่ถ้วน ทวีพลเล่าว่า ที่เทพศิรินทร์ทำให้เราได้ศึกษารูปแบบการเชียร์มากมาย ยิ่งตอนนั้นเทพศิรินทร์มีชื่อเสียงเรื่องฟุตบอล เราก็มีโอกาสไปร่วมส่งเสียงเชียร์บ่อยครั้ง ที่สำคัญเพื่อนร่วมห้องหลายคนล้วนเป็นนักฟุตบอลโรงเรียนที่ก้าวติดทำเนียบระดับเยาวชนทีมชาติมากมาย อาทิ ประสงค์ พันธุ์สวัสดิ์ ถาวร สุริยะผล สมควร จันทร์ขาว เวลาจะแข่งทีไร เพื่อนในห้องก็หายไป 10 กว่าคน เราก็โดดเรียนไปเชียร์เพื่อนแข่งคว้าแชมป์ติดมือกลับโรงเรียนเกือบทุกรายการ

หลังเรียนจบเทพศิรินทร์ ทวีพลสอบเอ็นทรานซ์เข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเลือกให้เป็นประธานปี 1 ของคณะจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อนใหม่ โชว์พลังเชียร์ให้กองทัพสิงห์แดงในกีฬาภายในตามไลน์ที่ตัวเองถนัด กระทั่งเรียนจบเพื่อนยังโหวตให้เป็นประธานรุ่นรัฐศาสตร์ 40 และทำงานอยู่ฝ่ายบุคคล ตำแหน่งพนักงานสัมพันธ์ บริษัท ทีพีไอ จัดกิจกรรมสันทนาการและบันเทิงแบบที่ตัวเองชอบ

“ จริง ๆในชีวิต ผมชอบงานโฆษณา งานบันเทิง แต่ไม่คิดเป็นอาชีพจริงจัง รักเป็นงานอดิเรก ถึงไปเลือกเรียนรัฐศาสตร์ ทว่าก็ไม่ได้ชอบการเมือง ผมถนัดภาษา เก่งภาษาฝรั่งเศส กับอังกฤษ ถึงลงรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พอมาทำงานฝ่ายบุคคล จัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้พนักงานก็ถือเป็นแนวเราอยู่แล้ว คือ การได้ไปสร้างความสุขให้คนทุกคน มีหน้าที่ดูแลสวัสดิการพนักงาน ทำหนังสือจุลสารภายในโรงงาน” ทวีพลบอกตัวตนของตัวเอง

เขาบอกว่า อยู่ทีพีไอปีเศษย้ายไปทำงานบริษัท ฮอนด้าคาร์ จำกัดเป็นฝ่ายดูแลผู้จำหน่าย ทำอยู่ 5 ปี ก็ลาออกไปเรียนต่อบริหารที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ยอมรับว่า ชีวิตช่วงนั้นมีปัญหา หัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะไปอยู่เมืองนอก หรือจะอยู่เมืองไทย ก่อนหน้ามองจะไปทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟในต่างประเทศ เพราะมีพี่ที่รู้จักแนะนำ ญาติทำร้านอาหารอยู่อเมริกา ถ้าจะไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นก็ได้ พอไปเที่ยวดูลู่ทางแล้วถูกใจ คุยกันถูกคอ ปรากฏว่า ปัญหากับแฟนเลยตัดสินใจไม่ถูก วีซ่าที่ได้มาก็มีปัญหา เป็นช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ อเมริกาคิดว่า เราจะไปเป็นโรบินฮูด สุดท้ายไม่ผ่าน เลยไม่ได้ไป

เจ้าตัวบอกอีกว่า ต่อมาก็เลิกกับแฟนคนแรก จิตใจแย่มาก ดีที่ได้ที่บ้านช่วยประคับประคอง ได้เพื่อนเรียนเทพศิรินทร์ดูหมอว่า แฟนคนนี้ไม่ใช่เนื้อคู่กันเลยทำใจ เพื่อนบอกอีกว่า ช่วงชีวิตเราจะดีหลังวันเกิด พอหลังวันเกิดก็มีพี่ชายมาแนะนำให้ไปซื้อใบสมัครปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ตอนนั้นก็ดูข่าวนิด้าเปิดรับสมัครด้วย งานก็ลาออกแล้วเลยลองสอบดู คิดว่า ไม่เสียหายอะไร ก็สอบติดทั้ง 2 ที่ ตอนแรกไม่รู้เลือกที่ไหน เรียนไปพร้อมกัน ว่างอยู่แล้ว ช่วยแค่งานที่บ้าน พอเรียนเทอมเดียวมาเปรียบเทียบบรรยากาศรู้สึกว่านิด้าน่าเรียนกว่าเลยเหลือแค่นิด้าใช้เวลา 2 ปีก็จบ

หนุ่มทายาทตระกูลห้างกีฬาเหรียญทองได้กลับไปทำงานที่ถนัดอีกครั้งกับ บริษัท ไทยยานยนต์ จัด ทำหน้าที่ฝ่ายพัฒนาผู้จำหน่ายให้รถยี่ห้อ ออดี้ กระตุ้นยอดขายรถคันหรูติดตลาดทันตาเห็น ทำงานนาน 2 ปีกว่า ทวีพลเล่าว่า เริ่มรู้สึกไม่ท้าทาย ประกอบกับที่บ้านมาบอกว่า เมื่อไหร่จะมาช่วยงานบ้าน เพราะนอกเหนือจากธุรกิจขายเครื่องกีฬาแล้วยังทำเรื่องนำเข้าสินค้าเองจากประเทศจีนด้วย มีพี่สาวเป็นหลัก และเริ่มขยายตลาดมากขึ้น เปิดบริษัทชิปปิ้งเองรับนำเข้าสินค้าจากจีนโดยตรง ที่บ้านให้ลาออกมาช่วยตรงส่วนนี้โดยจะส่งเราไปประจำที่เมืองจีน

“ผมอิ่มตัวกับการต้องมาเป็นลูกจ้างเขาแล้ว ตัดสินใจตามใจที่บ้าน ลาออกไปเรียนภาษาจีนที่ปักกิ่งใช้ชีวิตอยู่ 2 ปีจนแตกฉานภาษาจีนถึงโดดเข้าทำธุรกิจของตระกูลเต็มตัวอยู่เมืองกว่างโจว นับเป็นจุดเริ่มต้นที่อาจทำให้ผมกลับเข้าสู่มหกรรมกีฬาระดับชาติอีกครั้งก็ได้ เพราะในปี 2008 ปักกิ่งรับเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกเกมส์พอดี”

นักธุรกิจไทยที่ไปใช้ชีวิตอยู่แดนมังกรเผยเบื้องหลังว่า ผูกพันเรื่องกีฬามาตั้งแต่เด็ก และตั้งใจวางเป้าหมายไว้ 3 ข้อที่อยากทำให้ได้ในชีวิต คือ ต้องดูโอลิมปิกให้ได้ ต้องไปดูฟุตบอลโลกให้ได้ และต้องไปดูสนามสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เรารักให้ได้ ตอนนั้น ยังไม่ได้คิดถึงการเชียร์อะไร เป้าแรกสนามแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทำสำเร็จตั้งแต่ยังทำงานอยู่เมืองไทย ได้ไปเหยียบเมื่อปี 2002 อีกเป้าคือ โอลิมปิก เมื่อจะจัดที่ปักกิ่ง เท่ากับโอกาสมาถึงแล้ว เราก็ควรจะไป ประกอบกับ ที่พักที่ปักกิ่ง มีเพื่อนรักอาศัยอยู่ชื่อ เฮง- ณัฐพล จารุสมานกิจ รับปากจะช่วยดูแลหาที่พักให้ ยิ่งลดค่าใช้จ่ายได้พอสมควร ทำให้การตัดสินใจที่จะไปมากยิ่งขึ้น

สัมผัสเกมโอลิมปิกครั้งแรกในชีวิต ทวีพลเล่าประสบการณ์ว่า ซื้อตั๋วดูกีฬาด้วยวิธีจองผ่านอินเตอร์เน็ต เลือกจะไปดูแบดมินตัน มวย เทนนิส และยกน้ำหนัก เราเลือกดูกีฬาที่ชอบ และมีนักกีฬาไทยลงแข่งด้วย เป้าหมาย คือ อยากดูนักกีฬาไทยเป็นหลัก “ผมเป็นคนไทย ถ้าไปดูโอลิมปิกแล้วเชียร์ประเทศอื่นมันก็คงแปลก จับพลัดจับพลูปีนั้น ไปเชียร์นักกีฬายกน้ำหนักชิงเหรียญทอง เจอ หลี่หมิง-สุพัฒน์ ตระกูลพานิชย์กิจ นักจัดรายการของวิทยุ อสมท ที่เราเป็นแฟนรายการประจำอยู่แล้ว เขาเข้าไม่ได้ เพราะไม่มีตั๋วเลยฝากเชียร์เก๋ ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล ให้ด้วย”

นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทวีพล รู้จักคนในวงการกีฬาไทยขยายวงต่อถึงกลุ่มนักกีฬามวยสากลสมัครเล่น รวมถึงผู้ใหญ่ในวงการกีฬาบ้านเรา เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกองเชียร์ทัพนักกีฬาไทยส่งเสียงกระหึ่มอยู่เคียงข้างสามารถ แขนควง โดโด้ และดักแด้ “ความที่ว่า ตอนอยู่โรงเรียนเทพศิรินทร์ก็ทำเชียร์ เวลาร้องเพลงเชียร์ ผมก็จะนำตลอด เสียงผมจะดังกว่าเพื่อน พอเราตะโกนไทยแลนด์ เสียงผมจะดังกว่าคนอื่น กลายเป็นผมถูกกำหนดให้นำตะโกนร้องเพลงเชียร์นักกีฬาไทย และยังแซวโต้ตอบกองเชียร์เจ้าภาพเป็นภาษาจีนอย่างสนุกสนาน สำนักข่าวซินหัวถึงกับถ่ายรูปผมโบกชาติไทยตะโกนเชียร์ แหกปากเสียงดังสะบัดธงไตรรงค์อยู่คนเดียวไปเผยแพร่จนเริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น”

“มันทำให้ผมรู้สึกสนุก คิดว่า ถ้ามีโอกาส มีนักกีฬาจากเมืองไทยมาแข่งเมืองจีน ถ้าอยู่ใกล้ก็จะไปดู ไปเชียร์ให้กำลังใจ ยิ่งด้วยความที่รู้จักกับพวกกองเชียร์ รู้จักนักข่าวสายกีฬา ทำให้อยากมาเป็นส่วนหนึ่งในการเชียร์นักกีฬาไทยในต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมามักไม่มีคนนำเชียร์ พอหมดจากโอลิมปิก ผมก็ต่อด้วยเอเชียนเกมส์ที่กว่างโจว เมืองที่ผมอยู่พอดี ชื่อของปุ๊ กว่างโจว เลยเป็นฉายาที่หลี่หมิงตั้งให้ในรายการวิทยุของ อสมท” นักธุรกิจหนุ่มหัวเราะ

เขาถ่อมตัวว่า ไม่ใช่เป็นผู้นำเชียร์ แต่เป็นเพราะเสียงเราดังมากกว่าเลยถูกมองคล้ายลีดเดอร์ ดังจนสร้างความประทับให้ท่านพิษณุ สุวรรณะชฎ กงสุลใหญ่ นครกว่างโจว ขณะนั้นถึงขนาดเข้ามาขอบคุณเราที่ช่วยส่งเสียงเชียร์ตะกร้อทีมชาติไทยจนคว้าเหรียญในเอเชียนเกมส์ มีภาพเราออกสื่อตลอดในระยะหลังจนแทบมองเป็นส่วนหนึ่งของกองเชียร์นักกีฬาทีมชาติไทยไปแล้ว เราก็ตั้งเป้าว่า ถ้าว่างเมื่อไร มีกฬาไทยมาแข่งก็จะไปเชียร์ เหมือนวอลเล่ย์บอลเวิลด์กรังปรีซ์ที่มาเก๊า เราก็ไปเชียร์ ก่อนจะมีการพูดกันว่า โอลิมปิกที่ลอนดอน เราไปหรือไม่ ตอนแรกบอกไม่แน่ เป็นอะไรที่ท้าทายเราอยู่

ทวีพลกลับมานั่งคิดว่า ในเมื่อเคยไปอังกฤษบ่อยครั้ง ตัดสินใจขอวีซ่าเพิ่มเป็น 2 ปี เตรียมเผื่อถึงโอลิมปิก กรุงลอนดอนไปด้วยดีกว่า ตั้งแต่นั้นก็เริ่มวางเป้าหมายเก็บเงินสะสมไว้ เพราะรู้ว่ามีค่าใช้จ่ายเยอะ หลายคนก็ชอบโพสต์มาบอกว่า อิจฉาเรา อยากไปแบบนี้บ้าง เราจะบอกทุกคนว่า พวกคุณก็ทำได้ ฟุตบอลโลกที่บราซิลก็ไปได้ ขอให้เซ็ตเป้าหมาย เริ่มเก็บเงินตั้งแต่วันนี้ ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ทุกคนทำได้หมด ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ อยู่ที่ว่าจะตั้งใจทำจริงหรือไม่

“ผมก็ทำจนสำเร็จไปโอลิมปิกที่ลอนดอน ก้าวเป็นกองเชียร์นักกีฬาไทยในโอลิมปิกครั้งที่ 2 ของชีวิต ค่าใช้จ่ายหมดเป็นแสน แต่เป็นเงินที่เราสะสมเก็บไว้นาน 2 ปี ส่วนฝันถึงฟุตบอลโลกนะหรือ อาจจะไกลไป แต่ถ้าจะมาคิดว่า มุ่งจะไปเชียร์ทีมชาติไทยในฟุตบอลโลก ผมก็คิดว่า ชาตินี้คงไม่ได้ไป ถ้าจะไปก็อาจไปกาตาร์ปี 2022 วางเป้าไว้ คงไม่คิดจะเอาธงไทยไปสะบัด ขอให้ได้สัมผัสสักครั้งเป็นอย่างน้อย นั่นเป็นการเซ็ตเป้าหมายที่ยังดูว่า นานเกินไป”

“มีคนมองว่า ผมเหมือนคนบ้า ผมว่า ถ้าเราทำอะไรในสิ่งที่เรารักแล้วเรามีความสุข คุณก็ไม่จำเป็นต้องไปแคร์สังคมรอบข้าง ทุกวันนี้เวลาตั้งเป้าหมายอะไรจะไม่มองอนาคต บางคนอาจจะบอกว่า ทำวันนี้ให้ดีเพื่ออนาคต แต่ผมจะบอกว่า ทำวันนี้ให้มีความสุขแล้วทำอนาคตมันก็จะดีเอง มองอดีตเป็นสิ่งที่ผ่าสนมา ไม่ใช่เป็นบทเรียน ชีวิตผมอาจดูสบาย ๆ ส่วนหนึ่ง เพราะไม่มีครอบครัวด้วย การคิดแบบนี้ต้องมองว่า เราตัวคนเดียว คนมีครอบครัวอาจมีภาระความรับผิดชอบมากกว่า คงทำเหมือนผมยาก” หนุ่มนักเชียร์สรุป

RELATED ARTICLES