ก้าวที่  26 บึมเขย่ารัฐบาล

ย้อนกลับไปหลังเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาทมิฬปี 2535 สงบลง

อำนาจคืนสู่มือประชาชน ประชาธิปไตยคืนร่างออกช่อเบ่งบาน พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง ชวน หลีกภัย ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ในประวัติศาสตร์ผู้นำประเทศเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2535 ท่ามกลางความหวังที่อยากเห็นนักการเมืองรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าประคองประเทศสู่ความเจริญรุ่งเรืองลืมซากปรักหักพังที่เต็มไปด้วยกลิ่นคาวเลือดจากเหตุทมิฬเดือนพฤษภาคม

นายหัวชวน ชาวตำบลท้ายพรุ อำเภอเมืองตรัง จบประถมศึกษา โรงเรียนวัดควนวิเศษ จังหวัดตรัง ผ่านมัธยมศึกษา โรงเรียนมัธยมวัดควนวิเศษ และโรงเรียนตรังวิทยา สำเร็จการศึกษาโรงเรียนศิลปศึกษา แผนกจิตรกรรมและประติมากรรม เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร (วิทยาลัยช่างศิลป์ ในปัจจุบัน)

จากนั้นเข้าเรียนกฎหมายคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กระทั่งพ้นข้อยัดเยียดเรียนจบไปต่อเนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษาทางกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาสมัยที่ 17 คว้าดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยรามคำแหง

เริ่มต้นชีวิตการทำงานโดยการเป็นทนายความ ต่อมาหันเหเล่นการเมืองเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2534 ก่อนหน้าเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการมาหลายกระทรวง ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน

ทว่าการประเดิมของรัฐบาลประชาธิปัตย์ครั้งนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนมีอำนาจมืดจากขั้วอำนาจเก่าจ้องจองล้างจองผลาญเขย่าเก้าอี้ผู้นำประเทศคนแรกในรอบหลายสิบปีที่เป็นพลเรือนมาจากการเลือกตั้ง

ผมเป็นแค่กระจอกข่าวน้องใหม่สายตำรวจ มองข่าวการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่หนังสือพิมพ์สยามโพสต์ให้ความสำคัญกับข่าวการเมืองเป็นหลัก ผมถึงตกสภาพไม่ต่างลูกเมียน้อย หรือลูกคนใช้ ไม่ค่อยได้รับความไว้วางใจให้ถือกระดานข่าวละเลงเลือดลงตีพิมพ์ในหน้า 1 บ่อยหนัก หากคดีอาชญากรรมกลางเมืองหลวงไม่ใหญ่จนน่าสนใจพอ

แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ผมต้องหันมาสนใจอ่านข่าวการเมืองมากขึ้นกว่าเดิมเสียแล้ว หลังจากมีมือดีขว้างระเบิดหน้ากระทรวงมหาดไทยเมื่อบ่ายวันที่ 9 ตุลาคม 2535 ที่รัฐบาลนายกชวน หลีกภัย เพิ่งนั่งเก้าอี้ได้ไม่ถึงเดือน

ยามนั้น “บิ๊กจิ๋ว” พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ กินตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก้นยังไม่ทันอุ่น ทีเอ็นทีหนักครึ่งปอนด์รัศมีทำลาย 5 เมตรถล่มป้อมตำรวจหลังกระทรวงคลองหลอดพังยับ

ทันทีที่เกิดตูมสนั่น ผมกูลีกูจอไปทำข่าวด้วยความตื่นเต้น อานุภาพของแรงบึมทำเศษกระถางต้นไม้ เศษปูนกระจายเกลื่อนพื้นถนน พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ พลตำรวจโทจำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนใหม่ และพลตำรวจโทพิบูลย์ กุลละวณิชย์ ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล สีหน้าเคร่งเครียดไม่ยอมตอบคำถามอะไรแก่ผู้สื่อข่าว

มีการเดากันไปต่าง ๆ นานาว่า เป็นเรื่องแย่งชิงอำนาจการเมือง กับเรื่องส่วนตัวของตำรวจประจำป้อมยามรักษาความปลอดภัยที่โดนถล่มเหลือแต่ซาก

ผ่านไปหลายวัน ตำรวจยังงมโข่ง งมเข็มในมหาสมุทรจับมือใครดมไม่ได้ ประมุขกระทรวงคลองหลอด อดีตนายพลทหารคนดังอ้อมแอ้มออกมาให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า ระเบิดครั้งนั้นน่าจะมีเบื้องหลังมาจากการเมือง

ผมก้มหน้าก้มตาทำงานประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาลตามปกติ เมื่อเสียงบึมที่เกิดขึ้นกระทรวงมหาดไทยท้าทายอำนาจรัฐบาลถูกลงความเห็นน่าเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ผมเลยมองว่า ก็ต้องปล่อยให้การเมืองทำหน้าที่เลียแผลตัวเอง เพราะโชคดีไม่มีใครเจ็บใครตาย มีแต่ผู้ใหญ่เสียหน้า

“มันก็แค่สร้างสถานการณ์เขย่ารัฐบาล” นายตำรวจคนหนึ่งลงความเห็น “คดีการเมืองจับยากน้อง มันไม่ใช่ความขัดแย้งส่วนตัวที่มีมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิด” เขาบอกเหตุผลที่คดีครึกโครมใจกลางกรุงไม่มีความคืบหน้า

“แต่อย่าเอาไปลงข่าวนะว่าพี่พูด”

ผมกำลังหาประเด็นส่งโรงพิมพ์อยู่แล้วเลยชะงักรีบวางปากกาเก็บสมุดจดข่าวเหน็บกระเป๋ากางเกงหัวเราะหน้าเจื่อน “ได้ครับ ผมจะจำเอาไว้เป็นความรู้”

รัฐบาลนายกชวน หลีกภัย เดินหน้าแถลงนโยบายการบริหารประเทศตามสไตล์พรรคการเมืองเก่าแก่ ชาวกรุงยุคนั้นสนใจการเมืองน้อยมาก เพราะยังเข็ดขยาดกับภาพเลือดนองแผ่นดินเดือนพฤษภาคมกลายเป็นความขมขื่นที่คนไทยเบือนหน้าหลีกหนีนักการเมือง แม้จะมีการเลือกตั้งในรูปแบบของประชาธิปไตยเต็มตัว

ถึงกระนั้นก็ตาม ผมและสายข่าวพันธมิตรไทยรัฐ บางกอกโพสต์ เดอะเนชั่น เดลิมิเรอร์ ไม่วายกระแทกข่าวใหญ่ทำลายขวัญคนกรุง เมื่อพลตำรวจตรีชัยสิทธิ์ กาญจนกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแย้มว่า กำชับให้ตำรวจระวังจะมีการก่อวินาศกรรมกรุงเทพ 10 จุดในช่วงเวลาก่อนเทศกาลปีใหม่

ข่าวที่สะพัดออกไป แม้ภายหลังมีหน่วยข่าวกรองออกมาปฏิเสธ ขณะที่ พลตำรวจตรีชัยสิทธิ์ เริ่มค้อนปิดปากไม่พูดกับพวกผมต่อ แต่กลิ่นทะแม่งของความไม่ชอบมาพากลเริ่มเข้ามาหนาหู

สุดท้ายเหตุการณ์ขวัญผวาก็เกิดขึ้นอีกครั้งก่อนเทศกาลฉลองคริสต์มาสเพียง 2 วัน

ทั้งรุนแรง และน่ากลัวอย่างไม่มีใครคาดคิดว่า จะเกิดในสยามที่ขนานนามจากทั่วโลกเป็นเมืองเต็มไปด้วยรอยยิ้ม

“ระเบิดอู่รถเมล์สาย 4” ชัยวุฒิ มั่นสิงห์ คนข่าวเดอะเนชั่นกระตุกสติผม “ไปด้วยกันไหม”

ผมพยักหน้ากูลีกูจอตามขึ้นรถเกาะอีกตามเคย โชเฟอร์ตีนผีห้อตะบึงด่วนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจุดหมายปลายทางอยู่ที่อู่รถขนส่งมวลชนกรุงเทพ สาย 4 ปากทางเข้าวัดปากน้ำภาษีเจริญ ถนนเทอดไท แขวงปากคลอง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

เวลาเกิดเหตุประมาณ 15.10 นาฬิกาของวันที่ 23 ธันวาคม 2535 ร้อยตำรวจเอกธำรง รับพร ร้อยเวรสถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ รับแจ้งจากศูนย์วิทยุกรุงธนบุรี ไปตรวจสอบที่เกิดเหตุในเวลาไล่เลี่ยกับร้อยตำรวจโทมนัส รุ่งนาค รองสารวัตรปราบปรามทำหน้าที่หัวหน้าสายตรวจ ก่อนยืนยันว่า มีเหตุเกิดขึ้นจริง และพบผู้เสียชีวิตหลายราย

พวกผมนั่งฟังรายงานวิทยุใจจดใจจ่อ การจราจรยามบ่ายปกติของฝั่งธนบุรีจอแจอยู่แล้ว พอมีเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นยิ่งมีสภาพติดหนึบไม่ต่างรถกาวคว่ำขวางถนน เมื่อถึงปากทางเข้าวัดผมเปิดประตูแจ้นวิ่งลงไปเจอฝูงไทยมุงนับร้อย มีตำรวจเอาเชือกกั้นผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าในบริเวณเกิดเหตุ มือผมถือสมุดจดข่าวสั่นระริก เพราะภาพที่เห็นมันไม่ต่างนรก เศษเนื้อมนุษย์เกลื่อนคลุกเคล้ากลิ่นคาวเลือด ยิ่งเดินย่ำ ยิ่งเหมือนเหยียบย้ำเข้าไปในกองซากศพ อาคารบ้านเรือน และอู่รถประจำทางถูกฉีกแหลกละเอียดเป็นจุณ ชาวบ้านบางคนร้องตระหนกตกตื่นด้วยความหวาดผวา

ความเสียหายของแสนยานุภาพอาวุธสังหารที่ทรงพลังเกิดเป็นวงกว้าง ตัวถังข้างซ้ายของรถเมล์สาย 4 หมายเลขข้างรถ 4-70314 เลขทะเบียน 11-6416 กรุงเทพมหานคร วิ่งระหว่างตลาดพลู-คลองเตย พังทั้งแถบ มีภาพชนวนสยดสยองของร่างนายวิรัตน์ ทองมีศรี อายุ 35 ปี โชเฟอร์รถเมล์ใบหน้าตลอดจนกะโหลกหายไปซีก ตามตัวพรุนไปด้วยตะปู ไม่ห่างกันพบศพนายอำนวย เมืองมูล อายุ 38 ปี คนขับรถมินิบัสสาย 4 ร่างแหลกเละ หน้าบ้านเลขที่ 209 ที่ถูกแรงอัดระเบิดพัง มีศพนายธีระศักดิ์ หรืออ้น ผลระย้า อายุ 24 ปี กระเป๋ารถเมล์ ลำตัวฉีกขาดเป็น 2 ท่อน และศพนายวิเชียร วงศ์หลวง อายุ 25 ปี พ่อค้าขายลูกชิ้นปิ้งไส้ทะลักอเนจอนาถเลือดนอง

จากเหตุวินาศกรรมถล่มป้ายรถเมล์ฝั่งธนบุรีครั้งประวัติศาสตร์นี้ยังมีเหยื่อบริสุทธิ์ไม่รู้อิโหน่อิเหน่นำส่งโรงพยาบาลอาการสาหัสอีก 3 ราย ทราบชื่อ นายอุทัย เกิดไผ่ล้อม นายท่ารถ นางวรรณา เยี่ยมสันเทียะ อายุ 38 ปี แม่ค้าข้าวแกง และนางสมาน อาจมงคล อายุ 35 ปี ช่างทำรองเท้า

ต่อมา สุทัศน์ เงินหมื่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ พลตำรวจโทจำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรีธีระชัย เหรียญเจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรีทวี ทิพย์รัตน์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรีพงษ์ศักดิ์ กนิษฐกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรีวรรณรัตน์ คชรักษ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี และนายอโณทัย อุเทนสุต ผู้อำนวยการขนส่งมวลชนกรุงเทพ รุดไปยังที่เกิดเหตุ

ผมพยายามตั้งสติ ไม่ทำตัวเป็นไก่ตาตื่นคอยเดินเก็บรายละเอียดของข่าวเพื่อส่งต่อรีไรเตอร์ที่เรียกวิทยุเร่งให้โทรศัพท์กลับไปส่งข่าวด่วนให้มากที่สุด

“พิฆเนศเรียกคลองเตย 33 เรียกคลองเตย 33 เรียกคลองเตย 33”

“ว.2 เปลี่ยน”

“ให้ ว.13 01 เวลานี้เปลี่ยน”

“คลองเตย 33 ทราบ”

ตอบวิทยุเสร็จก็หงุดหงิดทันที นึกในใจทำไมเร่งอยู่ได้  สมัยนั้นโทรศัพท์มือถือก็ไม่มี ตู้โทรศัพท์สาธารณะก็โดนระเบิดพัง  แพ็กลิงก์ โฟนลิงก์ ติดข้างเอวก็ระดมส่งสัญญาณเตือนจนผมรู้สึกรำคาญ แต่ไม่ถึงกับลนลาน

ใช้เวลาเก็บรายละเอียดแข่งกับเวลาตีพิมพ์เพียง 30 นาที สรุปได้ว่า นายวิรัตน์ ทองมีศรี ขับรถเมล์เริ่มต้นรับผู้โดยสารจากคลองเตยมุ่งหน้าสู่ปลายทางตลาดพลู เมื่อรถถึงสี่แยกบ้านแขก ฝั่งธนบุรี เป็นจังหวะติดไฟแดง มีชาย 2 คนขึ้นมาทางประตูหลัง คนแรกสวมเสื้อลายสกอต กางเกงยีนส์ อีกคนสวมเสื้อเหลือง กางเกงยีนส์  อายุ 28-30 ปี ทั้งคู่ หิ้วกระเป๋าทำด้วยผ้ายีนส์มีตัวหนังสือเขียนคำว่า ธนาคารมหานครแล้ววางไว้ที่ท้ายรถ พอรถแล่นไปได้เพียงป้ายเดียวก่อนจะถึงวงเวียนใหญ่ ชายทั้งสองก็ผลุนผลันลงรถทิ้งประเป๋าไว้

กระทั่งถึงอู่ ผู้โดยสารลงจากรถหมดแล้ว อำนวย เมืองมูล คนขับมินิบัสชะตาขาดนั่งอยู่บนรถเห็นกระเป๋าก็เข้าไปหยิบเอามาวางที่โต๊ะนายท่าและพยายามจะเปิดดู มีเสียงเตือนพูดทีเล่นทีจริงจากผาง รอนยุทธ กระเป๋ารถบอกว่า อย่าเปิดสุ่มสี่สุมห้าเป็นระเบิดจะยุ่ง ก่อนเจ้าตัวจะเดินไปห้องน้ำ คล้อยหลังไม่นานก็เกิดเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว

พันตำรวจเอกเรวัต เทียนศรี ผู้กำกับการ 3 กองสรรพาวุธ พลาธิการตำรวจ นำกำลังเก็บหาพยานหลักฐานเจอสะเก็ดระเบิดเศษตะปูตอกคอนกรีตขนาด 1 นิ้ว ไม่ต่ำกว่า 20 ดอก เศษลวดทองแดง สายไฟฟ้าหลายชิ้นกระจัดกระจาย และพบเศษกระเป๋าหิ้วสีน้ำเงินของธนาคารมหานครตกอยู่ในสภาพรุ่งริ่ง

“มันเป็นระเบิดแบบไหนครับ” นักข่าวอาวุโสชิงถาม ผมถือโอกาสทองเงี่ยหูฟัง

นายพันตำรวจมือเก็บกู้วัตถุบึมแจงเบื้องต้นว่า เป็นระเบิดชนิดแสวงเครื่องแบบสังหาร บรรจุดินระเบิดทีเอ็นที หรือซีโฟร์น้ำหนัก 2 ปอนด์ ใช้เศษวัสดุ จำพวกกรวด ตะปูตอกคอนกรีตยาว 1 นิ้วเป็นสะเก็ดทำลายล้าง จุดชนวนระเบิดด้วยแบตเตอรี่ มีซิบกระเป๋าเป็นตัวชนวนสายไฟฟ้าให้ไปจุดระเบิด “ระเบิดลูกนี้อานุภาพมาก มีอำนาจการทำลายล้างสูง ความเสียหายจะมากกว่านี้ ถ้าบริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่อับทึบ” เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันเบื้องต้น

ผมถึงกับขนลุกยืนอึ้งตอบไม่ได้ว่า พระสยามเทวาธิราชมีจริงหรือไม่ เพราะหากมีใครดันไปเปิดกระเป๋าบนรถเมล์ห้วงเวลาที่เต็มไปด้วยผู้โดยสารแออัดยัดทะนาน ภาพสูญเสียอาจมากมายกว่าสภาพที่ชวนสลดตรงหน้า ยิ่งตัวผมผูกพันนั่งรถเมล์สาย 4 เป็นประจำสมัยในเรียนยามเดินทางมาค้างบ้านตากับยายที่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 3 ตรงข้ามซอยวัดท่าพระ บางวันต้องมาลงวงเวียนใหญ่เพื่อจับรถต่อ บรรยากาศผู้คนบนรถเมล์สายมรณะนี้ ผมถึงซึมซับความทรงจำมันเป็นอย่างดี

“ทำไมคนเรามันโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ปานนี้” ผมคิดในใจ “ถ้ามันระเบิดตรงวงเวียนใหญ่คงมีคนตายเป็นเบือ”

โทรศัพท์ส่งข่าวเข้าโรงพิมพ์เสร็จเอาเกือบพลบค่ำ กลับมานั่งโซ้ยสุราที่ชุมทางนักสืบในซุ้มมะรุม ดับเครียด คดีสะเทือนขวัญระดับประเทศถูกนำมาเป็นกับแกล้มประกอบบทสนทนากันหน้าดำ พวกเขามีความติดตรงกันว่า จิตใจอำมหิตของผู้อยู่เบื้องหลังบงการลอบวางระเบิดรถประจำทางเพื่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตคนบริสุทธิ์จำนวนมากมันทำด้วยอะไร

“เพียงแค่เกมชิงอำนาจในการดิสเครดิตรัฐบาลอย่างนั้นหรือ” ผมกระดกแก้วระบาย

บางคนมองไปถึงการเลื่อยขาเก้าอี้อธิบดีกรมตำรวจที่ลือหึ่งหนาหูมาตั้งแต่ระเบิดตูมแรกที่กระทรวงมหาดไทยรับน้องใหม่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง

“และทุกครั้ง ตำรวจไม่เคยจับคนร้ายได้” พี่นักข่าวรุ่นเดอะอีกคนว่า

“คดีการเมืองจับยากน้อง มันไม่ใช่ความขัดแย้งส่วนตัวที่มีมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิด” คำพูดของนายตำรวจมือปราบคนหนึ่งยังคงก้องกูผม

มันสะท้อนความจริงมาถึงยุคปัจจุบัน

 

 

RELATED ARTICLES