ย้อนมุมคิดของ “วสิษฐ เดชกุญชร”

ตำรวจที่ดีคงมีแต่ในนวนิยายตามจินตนาการบนปลายปากกาของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร

นายพลตำรวจตงฉินเต็มไปด้วยอุดมการณ์ที่บางครั้งสะท้อนมุมคิดตรงกันข้ามกับโลกความเป็นจริงในวงการสีกากี

เหมือนยืนคนละฟากกับองค์กรเก่าของตัวเอง

เมื่อปี 2550 อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจท่านนี้เคยได้รับการแต่งตั้งจาก พล.ต.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นให้นั่งเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ สังคายนาระบบงานตำรวจ สรุปแนวทางพัฒนาระบบงานตำรวจ 10 ด้าน พร้อมขอแก้ไขพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติปี 2547

เจ้าตัวได้ให้สัมภาษณ์ทีมงานนิตยสาร COP’S ในครั้งนั้นถึงภารกิจหินที่ได้รับมอบหมายเป็นหมอใหญ่ผ่าตัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“ผมรับราชการตำรวจมา 34 ปี เมื่อพ้นตำแหน่งจากกรมตำรวจเมื่อปี 2533 ยังไม่เคยหยุดศึกษาบทบาทของตำรวจ ถ้าอ่านบทความที่เขียนมาตั้งแต่อดีต ผมเขียนวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดเมื่อเริ่มรับราชการ ผมเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรมตำรวจ ช่วงยศ พ.ต.ต.- พ.ต.อ.หน้าสุดท้ายหนังสือพิมพ์ เขียนคอลัมน์พูดจาประสาตำรวจ ได้แสดงความห่วงใย ไม่ได้ห่วงว่า ผู้ใหญ่รู้สึกอย่างไร ผมท้าท้ายรัฐบาลมาตลอดกับกับเรื่องตำรวจจนกระทั่งถูกตั้งกรรมการสอบสวน เพราะเขียนหนังสือ” พล.ต.อ.วสิษฐเปิดปูมหลัง

“หากถามว่าผมคิดว่าอย่างไรกับตำรวจ วันนี้ยังคิดเหมือนเก่าว่า ตำรวจยังไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องชีวิต และความปลอดภัยของประชาชนอย่างแท้จริง เรายอมรับเพียงในหลักการ พอเอาเข้าจริงตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายรัฐบาล มักอ้างเหตุผลความมั่นคงของบ้านเมืองเป็นสำคัญ ที่แล้วมา การใช้ตำรวจเพื่อความมั่นคงยิ่งเห็นชัด  ใช้เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง ตำรวจไปยุ่งด้วยหมด รัฐมนตรีถูกฆ่าตายด้วยมือตำรวจก็ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ เราไม่ต้องพูดอะไรกันอีก”

อดีตนายพลตำรวจเจ้าของนวนิยายดังหลายเรื่องบอกว่า สิ่งที่น่าเสียดาย คือการที่ผู้รับผิดชอบรุ่นหลังจะรู้สึกว่า ต้องเปลี่ยนแปลงภาระหน้าที่ของตำรวจให้ตรงกับคำว่าตำรวจเสียทีไม่มีใครทำได้ บางยุคอธิบดีกรมตำรวจ รมว.มหาดไทย ทำท่าเหมือนอยากให้ตำรวจเปลี่ยนแปลง มีการศึกษา เรามีส่วนเข้าร่วมตั้งแต่ยศยังน้อย ก็ไปไม่ถึงไหน ลงท้ายเป็นเพียงเอกสาร

ตำรวจต้องเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงที่ให้ชาวบ้านนอนตาหลับ ปลอดจากอาชญากรรมถือเป็นหลักสากล

แต่ปัญหาใหญ่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต พล.ต.อ.วสิษฐมองว่า ตำรวจถูกอุปโลกน์ให้เป็นเหล่าที่ 4 ในกองทัพมาช้านาน เริ่มจากการส่งนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรไปโรงเรียนเตรียมทหารปลูกฝังวินัยแบบทหารให้ตำรวจ

แนวความคิดจึงไม่เป็นแบบชาวบ้าน แต่เป็นแบบทหาร มีรุ่น

“เมื่อไปนั่งโรงพักโรครุ่นมันระบาดไปตามโรงพัก หรือตามหน่วยงาน การมีรุ่นเป็นอุปสรรคในการบริหาร  มันทำให้คนมองว่าพวกที่จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เห็นแต่สังคมของตัวเอง ฉะนั้นนายตำรวจที่จบมาจากสถาบันอื่นจึงเป็นพวกนอกสถาบัน ไม่มีรุ่น รุ่นที่ได้รับการอบรมเพียงสั้น ๆ จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจไม่มีความหมายสำหรับพวกนี้” อดีตนายพลตำรวจชื่อดังสะท้อนมุมต่าง

“เมื่อผมทักท้วงว่า อย่าส่งนักเรียนนายร้อยตำรวจไปอยู่โรงเรียนเตรียมทหาร มีคนโต้ว่า เป็นประโยชน์ในการประสานงาน ผมถามว่า ประสานงานกับใคร  ถ้าเช่นนั้นต้องส่งทุกคนเข้าโรงเรียนเตรียมทหารหมด  คนที่ไม่เข้าโรงเรียนเตรียมทหารเขาประสานงานไม่ได้อย่างนั้นหรือ เราจำเป็นที่ต้องทำตำรวจให้เลิกเป็นทหาร การฝึกเชิงทหารจำเป็นในตอนอยู่ในโรงเรียน เพราะตำรวจได้รับอนุญาตให้ใช้อาวุธ การใช้อาวุธต้องมีวินัยที่ต้องได้รับการปลูกฝังทำนองทหาร  โรงเรียนตำรวจทั่วโลกฝึกในเชิงทหารไม่ใช่ฝึกเพื่อให้เป็นทหาร ต้องฝึกตำรวจให้เป็นพลเรือนมือถืออาวุธ”

ทำให้เขาถูกปรักปรำว่าจะยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจยุค พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรียังอยากจะเห็นโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระจายอำนาจให้ระดับกองบัญชาการ ปลอดจากอำนาจนักการเมือง  

ไม่อยากให้นักการเมืองเข้ายึดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ไม่ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติใช้อำนาจกฎหมายแทรกแซงการแต่งตั้ง 

เขาถึงร่างกฎหมายที่แก้ไขเพื่อ ทอนอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดโอกาสให้ผู้บัญชาการหน่วยมีอำนาจในงานที่บังคับบัญชาอย่างแท้จริง

สรุปแล้วร่างโครงสร้างผ่าตัดใหญ่องค์กรตำรวจของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ในครั้งนั้น สุดท้ายกลายเป็นหมัน

ผ่านไป 11 ปี ยังนึกถึงคำพูดประโยคสุดท้ายของอดีตนายพลตงฉิน

“เป็นห่วงอยู่อย่างเดียวประชาชนจะได้อะไรจากการพัฒนาระบบงานตำรวจ”

มาถึงวันนี้ท่านคงไม่ต้องห่วงหรือวิตกกังวลอะไรอีกแล้ว

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES