“จะว่าไปแล้วทำงานเป็นหมอตรงนี้ก็เหมือนจิตอาสา”

คุณหมอสาวสวยมากความสามารถด้านการเล่นดนตรี

พญ.พรปวีณ์ สุวรรณพานิช แพทย์ประจำบ้าน สาขาวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลตำรวจ ยังมีจิตอาสาร่วมกิจกรรมตามโครงการ “ดนตรีกล่อมใจ” ให้ผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการบริเวณชั้น 2 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ โรงพยาบาลตำรวจ เป็นประจำเกือบทุกวันศุกร์

ยินดีที่นำเอาความถนัดของตัวเองมาช่วยมอบความสุขแก่ผู้อื่น

เพราะเธอเชื่อว่า เสียงดนตรีจะสามารถบำบัดความเครียดในร่างกาย ผ่อนคลายอารมณ์บึ้งตึง อีกทั้งยังสร้างสมาธิ ทำจิตใจให้สงบไม่ต้องมาคิดสู้รบปรบมืออาฆาตแค้นกับใคร

เหมือนเช่นตัวเธอที่สัมผัสได้มาตั้งแต่เริ่มจำความ

 

เกิดเป็นลูกสาวคนเดียว เกี่ยวประสบการณ์จนอยากเป็นหมอ

หมอเนย-พญ.พรปวีณ์ สุวรรณพานิช เป็นลูกสาวคนเดียวในครอบครัวที่พ่อแม่ทำงานธนาคาร ชีวิตวัยเด็กค่อนข้างตั้งใจเรียน เริ่มต้นเข้าอนุบาลนนทบุรี ไปต่อมัธยมโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี ตามโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศวิทยาศาสตร์ พาไปสู่สายการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ช่วงขึ้นมัธยมปลาย

 เจ้าตัวรับว่า ตอนแรกไม่เคยคิดอยากเป็นหมอ อยากเป็นกระเป๋ารถเมล์บ้าง ครูบ้างตามประสาเด็ก มาพลิกตอนอยู่มัธยมปลาย เดิมจะมุ่งเรียนวิศวะ เพราะสอบเข้าด้วยวิชาฟิสิกส์ เคมี ไม่ต้องใช้วิชาชีวะ เนื่องจากเกรดชีวะตัวเองห่วยมาก ปรากฏว่า ระหว่างไปเรียนพิเศษโรงเรียนกวดวิชาพิชญ์วิทยา Bio BEAM Center ที่เปิดสาขาแถวบ้าน นพ.พิชญ์ สันติจิตรุ่งเรือง เป็นติวเตอร์ได้เล่าชีวิตการทำงานเกี่ยวกับหมอแล้วน่าสนใจ

“แกเล่าเรื่องเครียดให้มันตลก ฟังแล้วมันน่าจะสนุก พอถึงเวลาสอบเลือกคณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการสอบกลาง คะแนนคิดทั้งสองแห่ง เป็นอะไรที่เกี่ยวกับหมอ รู้สึกว่าอยากเรียนแนวนี้” หมอเนยย้อนความหลัง

 

สอบเข้าวชิรพยาบาล จิตสัมผัสวิญญาณหลอน

แต่พอไปสอบตรงคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เธอก็ติดด้วยเหมือนกันเลยตัดสินใจสละสิทธิ์คณะสัตวแพทย์เข้ามาเรียนหมอเต็มตัวที่วชิรพยาบาล พญ.พรปวีณ์เล่าว่า  ใช้เวลาเรียน 6 ปี เหนื่อยมาก ไม่เหมือนที่เขาเล่าเลย ที่เขาเล่ามันสบายๆ ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่เรียนจริงๆ มีการแข่งขันสูง เพราะเวลาที่ตัดคะแนน ไม่ได้หมายความว่า เราได้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วคือ สอบผ่าน แต่เอาคะแนนทั้งหมดมาเรียงเพื่อเฉลี่ย ใครอยู่ท้ายก็คือตก จำเป็นต้องถีบตัวเองตลอด 6 ปี

      นิสิตเก่าแพทย์วชิรพยาบาลบอกว่า ชอบขึ้นวอร์ดดูคนไข้มากกว่า หลังจากช่วงปีแรก ๆ จะเรียนกับอาจารย์ใหญ่ และเลคเชอร์ทั่วไป ทั้งที่เป็นคนกลัวผี คิดว่าน่าจะทำไมได้ ไม่น่าจะทนได้ แต่สุดท้ายกลัวตกมากกว่า ต้องทำให้ได้ มีที่ต้ตองไปเฝ้าห้องเก็บศพ เหมือนบังคับให้เราต้องจิตเข้มแข็ง เพราะเวลาใกล้สอบเราก็ต้องไปท่องกับอาจารย์ใหญ่ เนื่องจากข้อสอบเกี่ยวกับอาจารย์ใหญ่นั่นแหละ

“ไม่เคยเจอผีนะ แต่จะเฉียดๆ มากกว่า สมัยอยู่โรงพยาบาลเข้าเวรดึก อารมณ์แบบเดินกลับหอตอนเที่ยงคืน รอลิฟต์อยู่ ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถือตามสไตล์เด็กสมัยใหม่ รู้สึกเหมือนกับมีคนเดินตัดหน้าจากอีกฝั่งหนึ่งเข้ามาในลิฟต์ ตาเรามองโทรศัพท์ และตะโกนบอกเขาไปว่า พี่ไปก่อนเลยค่ะ ยังไม่ลง แล้วก็เหมือนเพื่อนมาเอื้อมมือไปกดลิฟต์ทัน ลิฟต์มันยังไม่ปิด เปิดเข้าไป ปรากฏว่า ไม่มีใครเลย ก็เลยเหวอ ตอนนั้นสภาพเหมือนจะร้องไห้ เพื่อนก็ถามว่าเป็นไร เราพูดไม่ได้จริงๆ ไม่รู้ แต่อยู่ไปก็ชิน ส่วนใหญ่พยายามจะไม่คิดอะไร เขาก็ไม่ได้มีอะไรกับเราหรอก เขาอาจจะเดินไปเดินมาของเขา แต่เป็นจังหวะที่มันเห็นพอดี แต่ไม่ใช่คนมีเซ้นท์ ก็ไม่ค่อยเจอ”

 

นักทำกิจกรรมตัวยง พ่อส่งให้ไปเรียนดนตรี

สำหรับการเรียนแพทย์หนักขนาดไหน หมอเนยสารภาพว่า คนที่จบแพทย์มาได้ ร้องไห้เกือบทุกคนแหละ กว่าจะจบ ด้วยเนื้อหาก็เยอะอยู่แล้ว พอไม่ได้นอน สติจะหลุด เราจะคุมสติอารมณ์ไม่ได้ เริ่มเหวี่ยงใส่กัน บางครั้งมีอาจารย์เหวี่ยงใส่ รุ่นพี่เหวี่ยงใส่บ้าง เราต้องนิ่งๆ หาอย่างอื่นทำแทน โชคดีระหว่างเรียนมัธยมปลายเป็นคนทำกิจกรรมเยอะ เป็นคนที่รีแล็กซ์ตัวเองได้ ไม่ค่อยเก็บมาคิด ไปทำอย่างอื่นแทน

กิจกรรมที่ผ่อนคลายได้อย่างดี เธอว่า คือ ดนตรี เป็นเพราะพ่อให้เล่นตั้งแต่เด็ก พ่อไม่เชิงเป็นนักดนตรี แต่ชอบมาก ชอบขนาดที่บ้านมีกีตาร์เป็น 10 ตัว มีเปียโนหลังหนึ่ง เหมือนตั้งวงได้ ส่วนใหญ่พ่อจะชวนเพื่อนๆ กันมา แต่ญาติสายพ่อเป็นนักดนตรีหมด ด้วยความที่มีสายเลือดนักดนตรีอยู่แล้ว พ่อจึงพยายามปลูกฝัง

“เมื่อก่อนไม่ได้อยากเล่นนะ เหมือนโดนบังคับ เล่นตั้งแต่ดูดน้ำหลอก เหมือนเด็กๆ วัย 2-3 ขวบ กินนมหลอก นั่งเล่น ไม่ถึงกับนั่งตักคุณพ่อ แต่คุณพ่อสอนเบื้องต้น ให้จับ ให้ฟัง จิ้มๆ มั่วๆ ไป เหมือนกึ่งๆ โดนบังคับ คุณพ่อก็พยายามพรีเซนต์ ไปซื้อหนังสือเพลงสอนเด็กมาให้ เราก็ยังรู้สึกไม่ชอบ บางครั้งนั่งอ่านโน้ต เหมือนเรียนวิชาการที่เป็นทฤษฎีของเขา เด็กๆ จะรู้สึกว่าไม่เห็นสนุกเลย แต่ถ้าอยากเล่นเพลงไหนจะจิ้มๆ เอา โดยที่ไม่อ่านโน้ต”

 

เลือกเล่นไวโอลิน แถมเข้าวินเป็นครูสอนเปียโน

พอโตขึ้นถึงวัยประถม แพทย์หญิงนักดนตรีจิตอาสาเล่าว่า  พ่อให้ไปเรียนเปียโน ทั้งที่ไม่อยากเล่นเปียโน เนื่องจากยุคนั้นมีวงดนตรีสาวสวยที่มีพรสวรรค์ทางดนตรีชาวอังกฤษเป็นผู้หญิง 4 คน ชื่อ วงบอนด์ เล่นไวโอลิน 2 คน ที่เหลือเล่นเชลโล และวิโอลา เป็นเครื่องสายสุดคลาสสิกทั้งหมด ทำให้ประทับ และอยากลองเล่นไวโอลิน แม้ตอนนั้นยังไม่รู้จักไวโอลิน ไม่บูมเลย ประกอบกับหาที่เรียนยากมาก ไม่มีใครสอน เราก็ไปเสาะหาจนได้ ถือเป็นยุคบุกเบิกแรกๆ

เธอเล่าต่อว่า พ่อสนับสนุนทุกอย่างที่เป็นดนตรี ส่วนแม่จะมาทางสายวิชาการ ไม่อยากให้มาทางพ่อ เพราะว่า นักดนตรีไม่มีกิน ชีวิตดูระหกระเหิน ยิ่งเราเป็นผู้หญิงจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร ไปตระเวนเล่นดนตรีตามผับบาร์กลางค่ำกลางคืน แต่แล้วก็เริ่มเรียนไวโอลินจนได้ เรียนมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ประถม 4 ถึงมัธยมปลายค่อยห่างไป เนื่องจากต้องทุ่มเทให้กับการเรียนเตรียมสอบแพทย์

ส่วนเปียโน เจ้าตัวไม่ได้ทิ้งเช่นกัน หันกลับมาขอพ่อเรียนใหม่ตอนมัธยมต้นเริ่มเรียนจริงจัง แต่ถึงแม้จะมีพื้นฐานด้านดนตรี อาจารย์ที่สอนยังบอกว่า ช้าไปสำหรับคนที่จะเรียนไปเป็นมืออาชีพ เพราะมีเรื่องของสรีระเข้ามาเกี่ยวข้อง “ถ้าคุณเรียนตั้งแต่เด็ก มือมันจะสวยกว่า ตอนโต คือ ผู้ใหญ่มือจะแข็ง เราก็จะกลางๆ และเริ่มสอบเปียโน จ้างครูมาสอนที่บ้านส่งสอบสถาบันทดสอบกลาง กระทั่งได้ดีกรีไปสอนเปียโนเป็นรายได้เสริม ช่วงกำลังเรียนแพทย์ไปด้วย”

 

เสียงดนตรีทำให้ใจเย็น ช่วยไม่ให้เข็นอารมณ์เหวี่ยง

สวมบทครูสอนเปียโนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ วันธรรมดาอ่านหนังสือเตรียมสอบ พญ.พรปวีณ์รู้สึกว่า ค่อนข้างเหนื่อยมาก ไม่รู้ทำได้อย่างไร แต่สิ่งที่ช่วยได้ คือ เสียงดนตรีทำให้ใจเย็นขึ้นเยอะ ถ้าตอนเด็กๆ ถือว่าอารมณ์ร้อนมาก อารมณ์ร้อนถึงขั้นถ้าไม่พอใจมีเขวี้ยงของ เพราะเป็นลูกคนเดียว พ่อแม่ตามใจ แถมเป็นหลานคนสุดท้องของลูกคนสุดท้องของยายด้วย ได้รับการโอ๋เต็มที่ เรียนเก่งด้วยที่บ้านยิ่งโอ๋จนไปเรียนไวโอลิน แล้วอาจารย์ที่สอนไวโอลิน บอกให้ใจเย็นๆ จะรีบไปไหน ใช้เวลาเป็นปี จริงๆ ไวโอลิน ใช้เวลาสูงมาก ถ้าคนสีไม่เป็น เสียงจะเพี้ยน เสียงแบบแปลกๆ ไม่เป็นเสียงเพลงเลย ค่อยๆ ปรับ มาจนถึงเรียนมหาวิทยาลัย

สุดท้ายไม่สามารถเลือกทำสองอย่างพร้อมกันในเวลาเดียวกัน หมอเนยตัดสินใจดร็อปกิจกรรมดนตรีหันไปดูแลคนไข้จริงจัง เมื่อตัวเองใกล้จบแพทย์ไปประจำอยู่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ถ้าต้องลาไปสอนดนตรีเด็กบ่อย เธอมองว่า รับผิดชอบตรงนั้นไม่ได้ ขอพักไว้ แล้วเอาเรื่องเรียนให้จบก่อน แต่พอโรงพยาบาลมีงานก็จะเรียกไปช่วยทำกิจกรรม เพราะอาจารย์ชอบดนตรีเหมือนกัน

พักจากการเป็นครูพิเศษสอนเปียโนที่โรงเรียนดนตรียามาฮ่า เธอมีโอกาสมาช่วยทำกิจกรรมคอนเสิร์ตระดมทุนทางดนตรีให้แก่วชิรพยาบาลเปิดขายบัตรการกุศล ก่อนร่วมทำกิจกรรมอาสามากมายให้สถาบัน เล่นดนตรีนิทรรศการงานวันไตโลก 2014 ทำหน้าที่พิธีกรค่ายเรียนแพทย์พระมงกุฎเกล้า พิธีกรงานเลี้ยงอำลานิสิตแพทย์วชิรพยาบาล รวมถึงงานวันเด็กแห่งชาติ

 

ใช้เงินคืนทุนสถาบันเก่า มุ่งเอาเฉพาะทางโรงพยาบาลตำรวจ

หมอสาวเผยว่า ตัวเองชอบทำกิจกรรมมาตั้งแต่เด็ก มาทางสายพิธีกร เพราะเป็นคนช่างพูด เคยประกวดสุนทรพจน์ โต้วาที ที่ไม่น่าเชื่อว่า จะเป็นหมอได้ ทุกคนก็งงว่า สอบเข้าแพทย์ได้อย่างไร หนังสือก็ไม่ค่อยได้อ่าน ความสามารถเฉพาะตัวก็ไม่มีอะไรมาก เหมือนพอเล่นดนตรีก็มาทางสายดนตรีเลย ซ้อมกันทั้งวันทั้งคืน มีงานทีก็ไม่ต้องเรียน มาซ้อมดนตรี เพราะชอบ ประกอบกับขี้เกียจเรียนอยู่แล้ว คิดแค่ว่า เดี๋ยวไปตามเก็บเอา

“อาจารย์ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยว่าอะไร มองว่า เรารับผิดชอบได้ เราก็ไม่ได้ทำให้เสีย เกรดอยู่ที่ 3.94 ตลอด ไม่เคยตก ติดเป็นอันดับต้นๆ อาจารย์เลยเฉยๆ แบบว่าจะไปไหนก็ไป ขนาดเรียนจบแพทย์ยังได้เกียรตินิยมอันดับ 2 ถ้าไม่เล่นดนตรีอาจจะดีกว่านี้มั้ง”พญ.พรปวีณ์หัวเราะ “แต่คงไม่เกี่ยวหรอก เพราะตัวเองขี้เกียจเป็นนิสัยอยู่แล้ว”

หลังเรียนจบวชิรพยาบาล หมอเนยว่า ต้องใช้ทุนตามกำหนดของแพทยสภา 3 ปีที่ต่างจังหวัด เลือกไปแถวบ้านอยู่โรงพยาบาลชลประทาน ปากเกร็ด นนทบุรี ดูคนไข้เป็นหมอทั่วไป อยู่ปีเดียวขอลาออกมาเรียนต่อเลย แต่หาเงินใช้คืนทุน มองว่า หมอเฉพาะทางเดี๋ยวนี้ตำแหน่งมีน้อย ต้องแย่งกัน กลัวเวลาที่ทำงานใช้ทุนจะไม่มีเวลาเรียน ถึงตัดสินใจมาสมัครเรียนหมอเฉพาะทางที่โรงพยาบาลตำรวจ เรียนโดยเงื่อนไขไม่ได้เอาทุนของโรงพยาบาล

เน้นเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เพราะมีคนเดินไม่มากพอ

เจ้าตัวให้เหตุผลว่า โรงพยาบาลรัฐบาลมีทุนให้เรียนอยู่แล้ว แต่จะอยู่พื้นที่รอบนอกตามนโยบายกระจายแพทย์ออกไปตามชนบท ส่วนตัวไม่อยากไปไกลบ้าน เพราะบ้านอยู่นนทบุรี ห่วงพ่อแม่ ถึงเลือกไม่ใช้ทุนมาเรียนเฉพาะทางโรงพยาบาลตำรวจ และมองว่า มีหลักสูตรเฉพาะทางหลายด้านน่าศึกษา แต่เนื่องจากโรงพยาบาลตำรวจไม่มีนักเรียนแพทย์เอง นักเรียนแพทย์ส่วนใหญ่จะหันไปเลือกต่อเฉพาะทางที่ศิริราช รามาธิบดี วชิรพยาบาล ทว่าในวงการแพทย์จะรู้ว่า ที่ไหนเก่งในด้านอะไร ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนแพทย์ก็ได้ อย่างโรงพยาบาลเลิดสินมีชื่อเสียงเรื่องกระดูก

“เลือกมาเรียนเฉพาะทางเกี่ยวกับเวชศาสตร์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลตำรวจ มองว่า ไม่ค่อยมีใครรู้จัก และขาดแพทย์ด้านนี้มาก คุณหมอที่อยู่ฉุกเฉินปัจจุบันเป็นหมอทั่วไป สำหรับเราคิดว่า ควรต้องเป็นหมอที่เร็ว แล้วก็แม่นในการช่วยชีวิตเบื้องต้น เพราะว่า เราแข่งกับเวลา แพทย์ฉุกเฉินจึงต้องเป็นหมอที่ออกไปก่อน ไปเป็นด่านหน้า ไปกับรถพยาบาลแล้วก็ไปช่วยผู้ป่วยจนถึงโรงพยาบาล มันจำเป็นต้องใช้ความเป็นเฉพาะทางบางอย่าง คือ ถ้าคุณพลาด คือพลาดตั้งแต่ตรงนั้นเลย” แพทย์หญิงมากความสามารถเปิดมุมคิด

“อย่างอุบัติเหตุบ้านเรา บางทีจะมีอาสาสมัครไปช่วยดึงออกมา บางทีไม่มีความรู้อาจทำให้คนป่วยพิการกระดูกสันหลัง จากที่เดิมมันไม่พิการหรอก แต่ตอนไปยกมาอาจเพราะรู้ไม่ถึงการณ์ ปัจจุบันงานด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินกำลังขาดคน เราก็หวังกับตรงนี้มากขึ้น มันเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคนป่วย โรงพยาบาลตำรวจจึงเปิดเป็นเฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน”

ยอมรับเคสน่ากลัวไม่ใช่จะตาย แต่จะเสียหายเพราะวินิจฉัยไม่ออก

หมอสาวรุ่นใหม่อธิบายต่อว่า ถือเป็นของใหม่ แต่ไม่ใหม่มาก ถ้าเทียบอายุรศาสตร์ที่ตั้งกันมานานแล้ว สำหรับแพทย์ฉุกเฉิน เพิ่งตั้งกันมาประมาณน่าจะไม่ถึง 10 ปี ไม่ค่อยมีคนเรียนด้วย เวชศาสตร์ฉุกเฉินของ โรงพยาบาลตำรวจจะเรียนแบบช่วยชีวิตเบื้องต้น แบบฉุกเฉินมาก คนเจ็บจะตายแล้ว เราต้องทำอะไรบ้างให้คนไข้รอดจากตรงนี้ไปได้ จริงๆ เรามาขอฝึกที่นี่ครึ่งปีก่อน จะเรียนต่อปีหน้า มาลองใช้ชีวิตดูว่า ชอบหรือไม่เพราะว่า ข้อเสียของฉุกเฉิน คือ นอนไม่เป็นเวลา เดี๋ยวนอนเช้าบ้าง เดี๋ยวนอนดึกบ้าง เวลาอยู่กลางคืน ถ้าเป็นหมอแผนกอื่น ถ้าเขาไม่มีอะไร เขาได้นอน แต่เราก็ต้องนั่งอยู่จนครบ 8 ชั่วโมง จะไปนอนไม่ได้

พญ.พรปวีณ์บอกว่า สัมผัสมาครึ่งปี รู้สึกชอบนะ สิ่งหนึ่งที่ได้มากกว่าหมอด้านอื่น คือเวลา สามารถจัดได้ เข้าเวร คือเป๊ะ ไม่มีการนอกเวลา ถ้าเป็นหมอแผนกอื่นอาจโดนตาม ขณะที่เราไม่โดนตามแน่นอน เข้าเวร 8 ชั่วโมงอยู่ที่ห้องฉุกเฉิน มี 2 ทีม ทีมหนึ่ง สแตนด์บายตลอดเวลา กับอีกทีมไปกับรถพยาบาลกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ทว่าส่วนใหญ่เราจะรอรับ เพราะตอนนี้หมอเฉพาะทางด้านนี้ยังไม่เยอะ แล้วเราก็ยังไม่เก่งขนาดนั้น

“จริงๆ ต้องบอกว่า หมอฉุกเฉิน เคสที่กลัวไม่ใช่เคสที่กำลังจะตาย เคสที่จะตายเรารู้อยู่แล้วว่า หนัก แต่แบบ 50-50 มันจะมาในอารมณ์แบบปวดท้อง เหมือนเคสที่โดนฟ้องกันบ่อยๆ คือ ที่วินิจฉัยไม่ได้ ยกตัวอย่างปวดท้องธรรมดา เหมือนไม่มีอะไร จริงๆ คุณต้องเข้าใจเราด้วยว่า ตอนที่หมอเฉพาะทางมา คือ เขามีทุกอย่างแล้ว มีผลเลือดแล้ว มีผลเอ็กซเรย์แล้ว แต่เรา คือ คนแรกที่ปะหน้ากับคนไข้คนหนึ่ง มาด้วยอาการปวดท้อง แล้วคนไทยส่วนใหญ่ก็เหมือนจะบอกอาการไม่หมด บอกไม่เหมือนกัน บางทีเราวินิจฉัยไม่ได้ ถ้ามันหลุด ก็จะหลุดที่เรา” แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินสะท้อนความจริง

ได้มุมมองสวมเสื้อกาวน์ รับรู้หลายเรื่องราวของคนไข้

เธอขยายความต่อว่า  หมอฉุกเฉินก็จะกลัวไว้ก่อนว่า ต้องเป็นโรคร้ายแรงอะไรสักอย่าง จริงๆ อาจจะแค่ปวดท้องประจำเดือนก็ได้ เราจะต้องคิดไว้ก่อนว่า แท้งลูกหรือเปล่า มีเลือดออกในช่องท้องหรือไม่ อยากให้ตรวจไว้ก่อน คนไข้หลายคนอาจมองว่า โอเว่อร์ แต่หมอมองว่าเซฟ เป็นการเซฟคนไข้มากกว่า แล้วถึงจะส่งต่อแพทย์เฉพาะทาง ให้มาช่วยดู “ก็สนุกนะ แข่งกับเวลา เคยมองภาพหมอฉุกเฉินเหมือนเมืองนอก เป็นเคสที่ไม่ฉุกเฉินจะไม่ได้เข้ามาเลย มีหน่วยสกัดกั้น แต่เมืองไทยบางทีหมอฉุกเฉินเหมือนหมอทั่วไป คือ คุณจะเป็นอะไรมา เป็นหวัดตอนตี 2 ก็จะมา อะไรอย่างนี้ บางทีคนไข้ไม่เข้าใจ เคยถาม ส่วนใหญ่คำตอบที่ได้ทำเราหงุดหงิดหนักเลย”

“เคยถามว่า ทำไมมาตอนนี้ เป็นมาตั้ง 3-4 วันแล้ว คนไข้จะบอกว่า ไม่ว่าง ทำงาน เราก็รู้สึกว่า เราฝึกมาในลักษณะที่พร้อมที่จะช่วยคนป่วยที่หนัก ถ้าหนักมา ไม่มีใครว่า พอเป็นเคสแบบนี้มาแล้วรู้สึกว่า บางทีทำให้เสียทรัพยากรในการดูแล แทนที่เราจะสแตนด์บายพร้อมรับเคสที่หนักกว่าเข้ามาประมาณนั้นมากกว่า แต่ตอนนี้ก็เหมือนว่า รัฐบาล สาธารณสุขกำลังจะปรับไปในทางที่ดีขึ้น รณรงค์ว่า ฉุกเฉิน คือ อะไร คุณเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ ถ้าไม่เข้าหลักเกณฑ์คุณรอได้ไหม มารอพบหมอตอนเช้า”

คุณหมอสาวสวยหัวใจอาสารับว่า บางครั้งเราก็เข้าใจคนไข้นะ เพราะเขาไม่ใช่หมอ ไม่รู้ว่า แบบไหนเป็นหนัก เป็นน้อยเป็นมาก หรือเป็นอะไร เราอาจจะเข้าใจว่า เป็นไข้หวัด เขาอาจจะมองว่า ตัวร้อนมากเป็นอาการที่ต้องเข้าฉุกเฉิน นี่คือ ยังมีความคลาดเคลื่อนระหว่างของหมอกับของคนไข้ ถ้าคนไข้เข้าใจว่า อันนี้คือฉุกเฉินจะค่อนข้างเครียดที่ต้องมานั่งในห้องฉุกเฉินแล้วต้องรอ จะรู้สึกว่าตัวเองก็รอไม่ได้ ทั้งที่หมอก็มีเคสอื่นที่รอไม่ได้เหมือนกัน

 

บางครั้งไม่โดนใจคนไข้ ต้องอาศัยลูกเล่นเลี่ยงปะทะ

“ถึงอย่างไรก็คิดว่าถูกแล้วที่เลือกเป็นหมอ แม้จะมีเหนื่อยบ้างเหมือนกัน บางครั้งที่เวลาเจอคนไข้ฉุกเฉินแล้ว ญาติด่าบ้าง คนไข้ด่าบ้าง เพราะช้า ไม่ทันใจ ไม่ได้ตรงใจ คือ การรักษาไม่ตรงใจ เช่น คนแก่อ่อนเพลีย ขอน้ำเกลือได้ไหมหมอ แต่เรามองว่า ไม่จำเป็น คนไข้จะรู้สึกว่า ไม่ตรงใจอาจจะมีการตำหนิ ติเตียน ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการใจเย็น ไม่ไปโต้เถียงกับคนไข้”

แพทย์หญิงนักดนตรีเล่าต่อว่า ส่วนใหญ่จะแบบถ้าแรงมา เราจะนิ่ง บางอย่างอาจจะไม่ตรงทางสายกลาง หมายความว่า อาจจะไม่ตรงตามวิชาการเป๊ะ แต่เราจะพยายามสายกลาง เช่น เรื่องให้น้ำเกลือ หรือขอนอนโรงพยาบาลได้ไหม เราดูอาการแล้วเห็นว่า ไม่ต้องนอน เตียงไม่มี ญาติอาจจะรุนแรงเหลือเกิน เราจำเป็นต้องอธิบายให้เข้าใจว่า ตอนนี้คนไข้เยอะมาก เอาอย่างนี้ไหม เดี๋ยวหมอให้รอดูอาการห้องฉุกเฉินก่อน 6 ชั่วโมง สบายใจแล้วค่อยกลับ

“ต้องมีลูกเล่นกันไป ถ้าเราจะเอาตามวิชาการเป๊ะก็จะเกิดการปะทะแน่นอน พังทั้งคู่หากยิ่งปะทะ เราก็ไม่รู้ว่า เขาจะเข้าใจเรามากแค่ไหน เพราะบางทีสิ่งที่เราเข้าใจ กับสิ่งที่เขาเข้าใจมันจะไม่เหมือนกัน สำคัญที่สุด คือ การสื่อสาร ถ้าเราทำความเข้าใจกับญาติแล้วว่า ถ้ามันไม่มีอะไร สิ่งที่คนไข้จะกลับบ้านไปแล้วจะเกิดที่บ้านได้ แย่ที่สุด คือ อะไร ถ้าเราบอกก็ไม่มีอะไรแย่กว่านั้นแล้ว เขากลับมาก็จะเหมือนเดิม เขาจะไม่ว่าเรา”

 

อยากบรรจุโรงพยาบาลนี้ ถ้าที่นี่ให้โอกาสรับเข้าสังกัด

“ยอมรับว่า ทรัพยากรของหมอตอนนี้เรายังมีจำกัดที่จะดูแลคนป่วยให้เร็วขนาดนั้น แต่จะว่าไปแล้วทำงานเป็นหมอตรงนี้ก็เหมือนจิตอาสา กลางคืนเหมือนสนามรบเลย ถ้ากับโรงพยาบาลที่เรามีทรัพยากรสามารถใช้เวลากับคนไข้ได้เยอะ น่าจะโอเค เกิดประโยชน์กับคนไข้ เพราะบางที่ควงเวรกัน เช้าต่อบ่ายต่อดึกมาต่อเช้าอีก ไม่มีเวลานอน หมอก็จะเบลอๆ ด้วย มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ จริงๆ ตามกฎของห้องฉุกเฉิน หมอ 1 คน หรือพยาบาล 1 คนจะไม่มีการอยู่เกิน 8 ชั่วโมง ถือว่า คุณเป็นคนที่ต้องมีสติที่สุดในโรงพยาบาลเพราะอยู่กับคนไข้ที่กำลังจะตาย” พญ.พรปวีณ์ว่า

เธอยังมองว่า โรงพยาบาลตำรวจมีระบบที่ดี แม้ไม่ใช่โรงเรียนแพทย์ที่ตั้งมานาน ไม่ใช่โรงเรียนผลิตหมอที่ยิ่งใหญ่มีชื่อเสียงมาก่อน แต่โรงพยาบาลตำรวจพยายามสร้างในหลายๆ เฉพาะทาง มีอาจารย์ทุกคนพร้อมสอน พร้อมแนะนำ คนไข้ไม่เยอะมาก การมาเรียนรู้ที่นี้ทำให้ได้เวลาในการศึกษาคนไข้แต่ละคนละเอียด ไม่ต้องแบบทำงานหามรุ่ง หามค่ำ มีเวลาอ่านหนังสือพอสมควร มีเวลาดูคนไข้เยอะกว่าโรงพยาบาลที่คนไข้มหาศาล

หมอเนยว่า ตรงนี้อาจเป็นตัวเลือกหนึ่งในการเรียนเฉพาะทางของนิสิตแพทย์หลายคนที่สนใจ เพราะโรงพยาบาลตำรวจกำลังพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป ปัจจุบันอาจจะยังไม่ทันโรงเรียนแพทย์ที่อื่น แต่เป็นตัวเลือกหนึ่งที่ดี และสักวันก็จะยกระดับ ที่สำคัญยังอยู่กลางเมืองด้วย เป็นจุดศูนย์รวมของอะไรหลายอย่าง ส่วนตัวตั้งใจว่า เรียนเฉพาะทาง 3 ปี เสร็จแล้วอยากบรรจุโรงพยาบาลตำรวจ ถ้าที่นี่ให้โอกาส

 

 

 

 

RELATED ARTICLES