กฎหมายเป็นสิ่งมีชีวิต

“หลายคนคงสติแตก… หลายท่านคงควบคุมอารมณ์ไม่อยู่… หลายคนจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์… หลายคนคอยจับตามองว่าต่อๆ ไปจะเป็นอย่างไร ต่อหลักเกณฑ์อาวุโสที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เสนอ และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรียกว่าครบถ้วนขบวนความไปแล้ว เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561”

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ฐานะคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมเปิดหัวในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าด้วยบทความเรื่อง “ปฏิรูปตำรวจ”(ตอนพิเศษ)

เนื้อหาสาระสะท้อนให้เห็นถึงการกำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโสระหว่างรอการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับงานบุคคลข้าราชการตำรวจ

เป็นเรื่องของการตีความข้อกฎหมายว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

รายละเอียดเชื่อว่าหลายคนคงได้ผ่านตามาบ้างแล้ว

แต่ที่น่าสนใจเป็นเรื่องที่อดีตนายพลมือกฎหมาย ขอเถียงหัวชนฝา (สวมหมวกกันน็อก) เพราะเมื่ออ่านบทบัญญัติ มาตรา 258 ข้อ ง. (4) ประกอบกับมาตรา 26 จ วรรคท้าย คณะรัฐมนตรีจะกำหนดหลักเกณฑ์อาวุโสให้ผิดแผกไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ ความเป็นอาวุโสหาได้ไม่

หากจะตีความกันแบบโปร่งใสไร้มลภาวะต้องเรียงอาวุโส

เพราะตามมาตรา 258 หลักเกณฑ์เรื่องความอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน ทำไม่ทันในกำหนดแล้วนี้ แล้วจะยังกล้าเอาคนอาวุโสปีเดียวมาแต่งตั้ง มาให้ได้ตำแหน่งแซงหน้าข้ามหัวคนอาวุโส 5 ปี 6ปี 7 ปี กันอีกหรือ

ที่อ้างว่าได้หารือกฤษฎีกามาก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอนั้นจริงหรือเปล่า

“แค่ขอความเห็นจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งให้ความเห็นเพียงแค่ ต้องเป็นการกำหนดให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วย มิใช่หรือ”

เจ้าตัวยังบอกว่า ได้ไปบรรยายนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 4 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกรุ่นว่า กฎหมายเป็นสิ่งมีชีวิต นักศึกษาเข้าใจว่าอย่างไร

บางคนก็ตอบว่า “มันดิ้นได้”

น่าเป็นห่วงครับ ถ้าแค่นักศึกษาตอบก็คงเรียกมาตำหนิ หรือให้ตกวิชานั้น แต่ถ้านำมาใช้จริงจะเป็นอันตรายกับสังคม กับองค์กร กับผู้ถูกใช้ หรือได้รับผลจากการใช้อันจะนำไปสู่ความแตกแยก ขัดแย้งในสังคม

     คำว่า “กฎหมายเป็นสิ่งมีชีวิต” มันแปลว่า สิ่งมีชีวิตต้องประกอบด้วยสังขาร (ตัวบทบัญญัติ) และวิญญาณ (เจตนารมณ์) ต้องใช้กฎหมาย ตีความกฎหมายให้ครบทั้งลายลักษณ์อักษร และสมตามเจตนารมณ์  

ถ้ายึดลายลักษณ์อักษรเพียงอย่างเดียวก็เสมือนการตีความอยู่บนซากศพ (สังขาร) หากตีความโดยยึดเจตนารมณ์เพียงอย่างเดียวก็เสมือนการตีความแบบสัมภเวสี (วิญญาณ) จึงต้องตีความให้กฎหมายมีชีวิต เป็นไปตามบทบัญญัติสอดคล้องเจือสมกับเจตนารมณ์

หลักเกณฑ์การแต่งตั้งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอเข้าขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี โดยใช้หลักเกณฑ์คำนึงถึงความอาวุโสและความรู้ความสามารถ ตามมาตรา 258 ข้อ ง. (4) ซึ่งตกไปแล้ว เพราะไม่สามารถปรับปรุงกฎหมายให้เสร็จทันในกำหนด

กลับมากำหนดเป็นหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้ในการแต่งตั้งคราวนี้ ทั้งๆ ที่ มาตรา 260 วรรคท้ายเป็นบทบัญญัติเรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งแบบลงโทษหากปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งไม่ทันในกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าตามหลักอาวุโส

ส่วนอาวุโสตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ถูกต้องหรือไม่ สมเจตนารมณ์หรือไม่

“กับการไปเอาอาวุโสในตำแหน่งปีเดียวแล้วมาบวกด้วยผลงานตีเป็นอาวุโสสูง กับอีกด้านหนึ่งอาวุโสผู้ครองตำแหน่งเท่ากัน ควรจะมีหลักเกณฑ์ตัดสินอย่างไรที่จะถือว่าใครมีอาวุโสสูงกว่า เช่น ดูเงินเดือนใครมากกว่า ถ้าเงินเดือนเท่ากันอีกให้ดูที่อายุใครมากกว่า”

ถ้าอายุเท่ากันอีกดูว่าใครผมหงอกกว่ากันใช่หรือไม่

แบบไหนถึงจะตรงตามเจตนารมณ์

“คงไม่ต้องให้กระผมพูดไปมากกว่านี้ ชัดกว่านี้แล้วนะครับว่า หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่มีการหมกเม็ด ลักหลับ ยัดไส้ วางยา เกิดขึ้นหรือไม่  ถ้ายังถามอยู่อีก กระผมก็จะบอกว่าให้ท่านไปดูเจตนารมณ์ของมาตรา 260 วรรคท้าย กับ มาตรา 258 ข้อ ง. (4) (ถ้ายังไม่เข้าใจโทรหาผมเลยครับ)”

ด้วยความเคารพ พล.ต.ท.อำนวย ทิ้งท้ายยืนยัน ไม่ได้เขียนเพื่อชี้นำผู้ตรวจการแผ่นดิน หรืออวดรู้อวดภูมิปัญญา แต่ด้วยเหตุที่เป็นหนึ่งในกรรมการปฏิรูปตำรวจ เคยเสนอในที่ประชุมว่าคณะปฏิรูปตำรวจควรกำหนดหลักเกณฑ์อาวุโส ตามมาตรา 260 วรรคท้ายเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่คณะไม่เอาด้วย เพราะเชื่อว่าหากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอเข้าไปก็คงเข้าใจเจตนารมณ์ตามมาตรา 260 ดี และน่าจะมีการส่งมาให้คณะกรรมการกฤษฎีกา (ปฏิรูปตำรวจ) มีความเห็นประกอบก่อนอยู่ดี

แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ และแล้วก็เกิดเหตุนี้ขึ้น

ออกตัวนะครับว่าคณะปฏิรูปตำรวจชุด ท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แม้แต่น้อย

จะมีคดีตามมาอีกกี่คดี จะฟ้องร้องกันอีกกี่คดี จะขัดแย้ง โกรธเกลียดกันอีกกี่รายกับการตีความตามกฎหมายที่ผิดเพี้ยนไป จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม (กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา) เดินหน้าไม่ไหว ถอยเถอะน้อง ช้าไปสักปีสองปีคงไม่ตาย

“พี่เป็นรองผู้บัญชาการแค่ 7 ปีเองถึงได้เป็นผู้บัญชาการ”

ผลไม้สุกตามธรรมชาติ จะหวานเจี๊ยบ อร่อยกว่าที่สุกเพราะบ่มแก๊สนะน้อง  

 

 

RELATED ARTICLES