“เราไม่ได้สอนให้คุณเป็นซุปเปอร์แมนยิงไม่เข้า  หลักสูตรนี้สอนให้คุณเอาชีวิตรอดกลับไปหาครอบครัวที่รัก”

ถือเป็นหลักสูตรอบรมตำรวจในภารกิจลับสุดยอดในการต่อต้านการก่อการร้ายที่หนักและดีที่สุดในประเทศไทย

พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บังคับการปราบปราม จึงนำนักเรียนนายสิบตำรวจรุ่นใหม่ 150 นายที่สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เข้าร่วมฝึกอบรมเสริมศักยภาพการทำงานในค่ายพลร่มนเรศวร กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นเวลา 4 เดือนครึ่ง

เพื่อให้พวกเขาก้าวมาเป็น “นักรบติดอาร์ม” รองรับภารกิจพิเศษประจำหน่วยคอมมานโด ภายใต้ปฏิบัติการ “สยบริปูสะท้าน” ที่มีชื่อชั้นไม่เป็นรองใคร

หวังสร้างศักยภาพให้เป็นหน่วย S.W.A.T. เมืองไทย เต็มรูปแบบ

 

เนรมิตตำรวจนักรบพันธุ์ใหม่ รับกองบังคับการใหม่ในอนาคต

การเข้าร่วมฝึกกับทีมนเรศวร 261 ของหน่วยพลร่มตำรวจตระเวนชายแดน พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล บอกถึงที่มาที่ไปว่า ได้ขออนุญาตโดยตรงจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ให้นำกำลังพลของกองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม 30 นาย และนักเรียนนายสิบตำรวจรุ่นใหม่ในสังกัดเข้าร่วมหลักสูตรที่เป็นทักษะชั้นสูงของการเป็นตำรวจปฏิบัติการพิเศษเพื่อพัฒนาศักยภาพของหน่วยที่กำลังจะขยายโครงการสร้างเป็นกองบังคับการใหม่ในอนาคต

“หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่เหนื่อยและเข้มข้มที่สุดของตำรวจนักรบ ผู้ผ่านการฝึกนอกพร้อมปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบแล้วยังจะถูกคัดเลือกเป็นชุดอารักขาถวายความปลอดภัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นชุดรถอาวุธพิเศษที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มขึ้นมากกว่าเก่า เป็นตำรวจรุ่นใหม่ที่ผ่านการคัดเลือกมาอย่างเข้มข้น”

พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ย้ำว่า ตำรวจจำเป็นต้องมีการฝึกทบทวนยุทธวิธีอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้จะมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย แต่สุดท้ายอุปกรณ์เหล่านี้ต้องถูกควบคุมโดยมนุษย์ และเพื่อให้รู้ขีดจำกัดของอาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านั้นว่ามากน้อยแค่ไหน หากไม่ได้รับการฝึกฝนแล้วไปเจอสถานการณ์จริงจะไม่รู้สมรรถนะของอุปกรณ์และความสามารถของตัวเอง เมื่อนั้นจะเกิดความผิดพลาดและเกิดความสูญเสียตามมาอย่างที่ปรากฏเป็นบทเรียนบ่อยครั้ง

 

ติวยุทธวิธีเหนือหน่วยอื่นเข้มข้น พร้อมชนทุกสถานการณ์ตลอดเวลา

“การเข้ามาอบรมหลักสูตรนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย อันดับแรกต้องเตรียมฟิตร่างกาย และจิตใจ เพราะเป็นเคสพิเศษเหนือกว่าการฝึกของตำรวจทั่วไป ฝึกตั้งแต่ความอดทน การปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นมืออาชีพ สอนทักษะให้เป็นธรรมชาติพร้อมรับสถานการณ์ตลอดเวลา ระหว่างฝึกคุณอาจจะป่วยจนถึงที่สุด เป็นไข้หนัก แต่ถ้าคุณไม่รู้ขีดความสามารถของตัวเอง ข้ามไม่ได้ ถือว่าไม่ผ่าน เพราะเวลาเจอสถานการณ์จริงอาจถอดใจไปก่อน หลักสูตรนี้ถึงสร้างคนที่พิเศษ สอนยุทธวิธีแบบเข้มข้นให้เขา” พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ว่า

รองผู้บังคับการปราบปรามบอกอีกว่า ตำรวจที่ผ่านการฝึก ต้องเป็นตำรวจที่พร้อมทำงานแบบเอาชีวิตเข้าแลกตามภารกิจพิเศษ ตั้งแต่ระงับเหตุตัวประกัน ชิงตัวประกัน หรือการก่อการร้ายสากล จำเป็นต้องทดสอบร่างกายทุกสัปดาห์ ไม่ใช่ผ่านการอบรมแล้วปล่อยตัวลงพุง ตำรวจปฏิบัติการพิเศษถึงต้องฟิตร่างกายอยู่เสมอ เช่นเดียวกับการใช้อาวุธที่ต้องหมั่นฝึกให้เกิดความชำนาญ ปืนหลัก ปืนรอง ทุกอย่างต้องเรียนทั้งหมด ถอดประกอบในที่มืด หลับตาคลำถอดสอดใส่ได้ ที่สำคัญต้องทำงานกันเป็นทีม ไม่ใช่วันแมนโชว์

อดีตหัวหน้าหน่วยคอมมานโดมองว่า หลักทฤษฎีกับความเชื่อของคนต่างกัน แต่ทฤษฎีต้องเป็นไปตามที่วิจัยมาว่า ทำอย่างนี้แล้วจะเป็นอย่างนั้นจึงกำหนดมา กลายเป็นทฤษฎีให้เรานำมาใช้ เช่นเดียวกับการฝึกอบรมทุกคนต้องบริหารจัดการตัวเองได้ตามที่สอน แต่ถึงเวลาต้องคิดเอง ทำเอง ทำได้แล้วทำงานเป็นทีม หากใครไม่ไหวให้เดินไปลาออกได้เสมอ เคาะระฆังเก็บกระเป๋าก้มหน้ากลับบ้าน การฝึกอบรมหลักสูตรนี้ถึงสำคัญมาก “ผมจะไม่ยอมให้นักรบอย่างพวกเขาถูกใช้ไปยกของ ขัดห้องน้ำ กวาดขยะ ตัดต้นไม้เด็ดขาด เพราะพวกเขาถูกฝึกมาเป็นหน่วยปฏิบัติการรองรับภารกิจพิเศษ” เจ้าตัวลั่นเจตนารมณ์

 

รูปแบบภัยก่อการร้ายเปลี่ยน แบบเรียนต้องเปลี่ยนตามให้ทันยุค

เขาให้เหตุผลที่ทำไม พ.ต.อ.เด่นหล้า รัตนกิจ ผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม คนใหม่ต้องมาเรียนหลักสูตรนี้พร้อมนายตำรวจในสังกัดเดียวกันอีกหลายคนว่า  เพราะเวลาไปประชุมกับลูกน้อง  เขียนแผน แถลงแผนไม่ได้ เราจะเข้าตี แล้วเราไม่รู้ ถือเป็นผู้นำหน่วยไม่ได้ ต้องแถลงแผน ต้องอ่านแผนเข้าได้ เวลาเราไปร่วมบูรณาการกับกำลังหลักของแต่ละเหล่าทัพ เราเป็นผู้นำหน่วย คุยกับเขาไม่รู้เรื่องความเชื่อถือมันหมดไป ถึงต้องส่งมาร่วมฝึกให้ทำงานด้วยหลักการและภาษาเดียวกัน

เหมือนกับหน่วยอรินทราช 191 ที่ พ.ต.อ.สำราญ นวลมา รองผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษต้องมาอบรมอีก พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ยืนยันว่า เพราะไม่เหมือนกับที่เรียนมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว พัฒนาการของคนร้ายเปลี่ยนแปลงรูปแบบ “ตอนผมไปเรียนที่เอฟบีไอตามหลักสูตรการบริหารเหตุการณ์วิกฤติสมัยก่อนยังต่างกับปัจจุบันที่ในโลกของการก่อการร้ายรูปเปลี่ยนแบบใหม่ มันจะไม่มีแล้ว จับตัวประกันไว้ในห้อง แล้วรอหน่วยสวาทขึ้นไป แล้วก็ยิงกันตายหมด”

“มันไม่มีแล้ว เผาโรงแรมแบบสมัยก่อนแล้วใช้เครื่องบินโรยตัวจู่โจมเข้าไปช่วย เมื่อรูปแบบคนร้ายเปลี่ยนเอารถบรรทุกขับชนผู้คน เหตุกราดยิงฝูงชน นี่แหละเหตุผลต้องมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษจริง ๆ เชี่ยวชาญและชำนาญจริงเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ มันสอนให้เราเข้าไปในรูปแบบการเข้า 2 คน 3 คน 4 คน ปืนที่ใช้ต้องเหนือกว่าคนร้าย ปะทะกับคนร้ายได้ทันที เพราะรูปแบบภัยก่อการร้ายมันเปลี่ยนไปแล้ว นี่คือสิ่งที่เราต้องมาเรียนรู้ และนำมาปรับใช้” รองผู้บังคับการปราบปรามอธิบาย

 

สอนให้ทุกคนเอาตัวรอด ไม่ใช่กอดกันตายในสนามจริง

“ผมเชื่อว่า ไม่มีอะไรเรียนจบหรอก การเรียนรู้ไม่ต่างจากการเติมน้ำ อย่าให้มันเต็มแก้ว แค่นั้นแหละ แล้วมันคือชีวิต สอนเขาไป ผมเน้นสอนวิชาชีวิตให้เขา คุณจบเอฟบีไอ จบนเรศวร จบอรินทราช กระสุนมันไม่รู้หรอก เพียงแต่คุณมียุทธวิธีตรงไหนเท่านั้นเองที่จะไม่ให้กระสุนมันพุ่งเข้าหาตัวคุณ สอนให้คุณมียุทธวิธี  เราไม่ได้สอนให้คุณเป็นซุปเปอร์แมนยิงไม่เข้า หลักสูตรนี้สอนให้คุณเอาชีวิตรอดกลับไปหาครอบครัวที่รัก เราสอนตรงนี้ ตำรวจไม่มียุทธวิธีไม่ได้ เพราะอยู่ในสายตาของประชาชน ถ้าคุณมียุทธวิธี แล้วยังเกิดการสูญเสีย ผมยังตอบลูกเมีย ตอบสื่อมวลชนได้ว่า เราได้ฝึกยุทธวิธีกันขนาดนี้เรายังสูญเสีย แล้วถ้าเราไม่ฝึกเลย เราอาจจะตายหมดก็ได้”

พ.ต.อ.ต่อศักดิ์น้ำเสียงจริงจังว่า ต้องขอบคุณพี่น้องตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่หลายครั้ง พวกเขาเสมือนครูที่จะช่วยเซฟชีวิตตำรวจรุ่นหลัง นี่คือสิ่งที่เราตอบได้อย่างภาคภูมิใจ เพราะเขาเรียนมา เขากล้าที่จะตาย เข้าอย่างยุทธวิธีแล้วยังสูญเสีย เขาเซฟชีวิตเพื่อนอีกเท่าไหร่ แต่ถ้าเราปล่อยออกไปปฏิบัติหน้าที่ตามยถากรรมแล้วตาย เราก็จะไม่มีหน้าไปตอบลูกเมียเขา ต้องหลบหน้าว่า เราไม่ใส่ใจผู้ใต้บังคับบัญชา นี่คือสิ่งที่พูดมาตั้งนานแล้วเรื่องยุทธวิธี ไปโดดถีบประตูรถ  ถีบกระจก ไปถึงไปเปิดประตู เขายิงตายหมด ไม่ได้เลย เราต้องอยู่ในโลเคชั่นที่เหนือกว่า อำนาจการยิงที่เหนือกว่า

“ วันนี้ ถ้าจับไม่ได้ไม่เป็นไร พรุ่งนี้ก็ยังตามจับเขาได้ มีตำรวจ 2 คน คนร้าย 2 คน มันวิ่งแยกกันหนี คุณจะวิ่งแยกกันไปจับหรือ ไม่ต้องแค่ไปจับคนหนึ่ง แล้วอีกคน มันก็ไม่รอดหรอก ทำไมต้องแยกกันไปไล่จับเราต้องถือไพ่เหนือกว่า ยุทธวิธีสอนให้เราต้องเหนือกว่าคนร้าย ถ้าไม่ได้เปรียบก็รอกำลังเสริม ไม่ได้วันนี้ พรุ่งนี้ก็ได้ ไม่ต้องไปตาย แถมภารกิจก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่คุ้มกับชีวิตที่กว่าเราจะสร้างกำลังพลมาได้คนหนึ่งกับการตัดสินใจที่จะเอาแค่เอาชนะ แต่ไม่ได้คำนึงถึงความสูญเสีย มันไม่คุ้มกัน”

 

วาดหวังตกผลึกหลายหลักสูตร เป็นสูตรของหน่วยคอมมานโดเอง

นายตำรวจกองปราบปรามว่า  เรารู้แล้วว่าจะฝึกปรับตัวอย่างไร เพราะสภาพอากาศค่ายนเรศวร ไม่เหมือนที่อื่น การออกกำลังกายของที่นี่โหดที่สุดแล้ว หลักสูตร 261 เป็นหลักสูตรที่แกร่งและแข็งที่สุด บางส่วนที่ผ่านจากตรงนี้เราจะคัดนายตำรวจไปฝึกหลักสูตรทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือหน่วยซีลของทหารเรือ และหลักสูตรแรงเจอร์ หรือเสือคาบดาบของศูนย์สงครามพิเศษเพื่อพัฒนากำลังพล เพราะเราต้องมีหลากหลาย เนื่องจากแต่ละหลักสูตรมีข้อเด่นของเขา จากนั้นจะนำมาผสมผสานกับหลักสูตรของเราให้ตกผลึกเป็นหลักสูตรของหน่วยเราเอง

เช่นเดียวกับทีมสไนเปอร์ พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ยอมรับว่า ต้องผ่านหลักสูตรของนเรศวร 261 ก่อนแล้วคัดตัวไปเรียนหลักสูตรสไนเปอร์ แต่ผู้บังคับบัญชามองว่า เป็นดาบสองคม ก่อนจะเรียนต้องดื่มน้ำสาบาน เพราะถ้านำเอาไปใช้ในทางที่ผิดไม่ได้ ต้องให้ดื่มน้ำสาบานต่อหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่หน้าค่ายเลยว่า ใครเอาไปใช้ในทางที่ผิดขอให้วิบัติ ครอบครัวไม่เจริญ ทั้งที่ หลักสูตรสไนเปอร์จริงๆ แล้วไม่ยากที่จะพัฒนาใครสักคน ยิ่งแล้วเดี๋ยวนี้อาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัย ยิงเป้าหมายโดยที่คนข้าง ๆ แทบไม่รู้ว่า มีการยิงปืนด้วยซ้ำ

“มันถึงอันตราย แต่ที่เราต้องเรียนรู้ เพราะเราต้องการเอาไว้ป้องกัน เป็นการต่อต้านสไนเปอร์อีกที ไม่ใช่เรียนเพื่อเอาไปฆ่าใคร วัตถุประสงค์เราเป็นแบบนี้ เรียนรู้ไว้เพื่อจะได้ดูว่า จุดตรงไหน ถ้าเป็นเรา เราจะวางตัวตรงไหน เหมือนเคมีเดียวกัน เอาไว้ป้องกันมากกว่า แต่ต้องเรียนรู้ทั้งหมด”

 

ต้องผ่านทดสอบทัศนคติ ทำสมาธิเดินวิปัสสนาลดอัตตาในตัว

นอกจากแบบการฝึกปฏิบัติการพิเศษตามแบบฉบับหน่วยนักรบพลร่มที่เข้มข้นแล้ว พ.ต.อ.ต่อศักดิ์สาธยายอีกว่า ทุกคนยังต้องผ่านการทดสอบเรื่องทัศนคติ ลักษณะแนวคิด เพราะพวกนี้มีโอกาสได้ถวายงาน ถวายความปลอดภัยในขบวนเสด็จพระราชดำเนินพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นพวกนี้ก็จะต้องมีทัศนคติที่ดีก่อน แบบทดสอบข้อซักถามเชิงจิตวิทยาจะบอกได้ เราตรวจสอบเข้าไปถึงเฟซบุ๊ก ดูพฤติกรรมการโพสต์ มีความก้าวร้าว รุนแรง โชว์ปืนหรือไม่ ถ้ามีพวกนี้ถือว่า ไม่ได้ อีกทั้งยังต้องมาสัมผัสกับชีวิตประชาชนด้วย จำเป็นต้องคัดเลือกเอาพวกที่มีทัศนคติที่ดีมาทำงาน

นายตำรวจหนุ่มใหญ่บอกอีกว่า ขณะที่ระดับสารวัตรและรองผู้กำกับการที่ย้ายเข้ามาใหม่ เราจะเอาไปบวชหมด ศึกษาธรรมะปฏิบัติธรรมทำสมาธิอย่างน้อย 2 เดือนที่วัดป่าภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ เหตุผลเพราะคนจะเป็นผู้นำหน่วยต้องมีหลักธรรมในการครองใจ งดความเป็นตัวตน ความมีอัตตา ความอะไรต่างๆ ไปได้เยอะ การไปบวชจะได้ปฏิบัติธรรม พระอาจารย์สอนได้ชัดเจน ไปนั่งวิปัสสนา กรรมฐาน ก็จะรู้ ถ้ารู้เขาไปหมด แต่ไม่รู้จักตัวเอง ก็ไม่มีประโยชน์ คนที่รู้ทุกอย่าง รู้จักตัวเองนี่แหละ ประเสริฐที่สุดแล้ว เพราะบอกตัวตนจริงๆ สามารถช่วยในการปกครองคน รู้จักความเป็นอัตตา

“พอเราสวมหัวโขน เป็นนายคนแล้ว ชอบไปนั่งบนหัวคนหรือเปล่า หรือเลือกนั่งในใจเขา ผมถือว่า มันเป็นหัวใจของการทำงาน ถ้านั่งในใจคนได้แล้ว ศักยภาพในตัวของเด็กเราก็จะได้ออกมาเต็มที่ เหมือนอย่างนาฬิกา เราดูแต่เข็มสั้น เข็มยาว แต่เข็มวินาทีกับเฟือง ต้องนึกถึงว่า มันทำงานตรงเวลา วันนี้นาฬิกายี่ห้อคอมมานโดมันเดินตรงเวลา ถ้ามันเพี้ยนไม่ตรงเวลา นายเขาก็โยนนาฬิกายี่ห้อเราทิ้ง เอายี่ห้ออื่นมาใส่ แล้วคุณจะทำยังไง หน้าที่เรา คือ หยอดน้ำมัน คอยปรับแต่งให้มันเดินตรงเวลาเท่านั้น เปรียบดั่งหน้าที่ผู้นำหน่วยทำแค่นี้ ที่เหลืออยู่ที่ตัวอุปกรณ์ เฟืองทุกอย่างมันเดินตามเป็นระบบของมัน”

 

มุ่งคำนึงถึงทีมเวิร์ก เบิกทฤษฎีครองใจลูกน้อง

รองผู้บังคับการปราบปรามสรุปการฝึกอบรมทั้งหมดว่า สอนให้มีทั้งวุฒิภาวะผู้นำ การตัดสินใจ การทำงานเป็นทีม ที่นี่ เราไม่มีชั้นยศ ทุกคนถอดยศหมด ไม่มี พ.ต.ท. พ.ต.อ. ไม่มี ส.ต.ต. ส.ต.อ. เราทำงานเท่ากัน เราตาย คนอื่นก็ทำงานแทนในตำแหน่งเราได้ เป็นทีมเวิร์กทดแทนกันได้ทุกตำแหน่ง  สิ่งสำคัญ คือ หน่วยปฏิบัติการพิเศษต้องทำงานบูรณาการกันหลายหน่วยแล้วเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ไปฝึกจากที่โน่นมา ไปฝึกจากที่นั่นมา พอไปปฏิบัติงานร่วมกันกลับพูดกันคนละภาษา การบริหารจัดการจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

“ผมเลือกเอาบริหารงานจากภาคเอกชนมาใช้ มองว่า สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีจะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านตัวเอง มีความชื่นชม มีความภาคภูมิใจในบ้านของเขา นั่นคือคอมมานโดในทุกวันนี้  เมื่อมีความภาคภูมิใจแล้ว ทฤษฎีต่างๆ ที่เอามาใช้ในการบริหารจัดการ  คือ ทฤษฎีภาวะผู้นำ 10 ข้อ คุณมาเป็นผู้นำหน่วย คุณต้องทำ 10 ข้อ อาทิ ทฤษฎีแรงจูงใจของมนุษย์ ต้องการอะไรเวลาทำความดีก็ต้องมีสิ่งตอบแทนให้เขา มีขวัญกำลังใจให้เขา นี่คือสิ่งที่เราจะต้องทำ”

พ.ต.อ.ต่อศักดิ์บริหารหน่วยคอมมานโด กองบังคับการปราบปราม ด้วยทฤษฎีความต้องการของอับราฮัม ฮาโรลด์ มาสโลว์ ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาชาวอเมริกัน ที่เข้าถึงต้องการปัจจัย 4 ของมนุษย์ การมีส่วนร่วมในองค์กร เมื่อการได้การยอมรับ และได้รับสิ่งตอบแทน ถึงเลือกมาปรับใช้กับการบริหารงานบุคคล การบริหารงานองค์กรของหน่วยคอมมานโดถึงปัจจุบัน “สิ่งที่ตอนเราเป็นเด็ก เราอยากได้อะไร อยากให้นายเขาทำอะไรให้เรา เราก็เอามาทำให้ในวันที่เราเป็นผู้นำหน่วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เห็นคอมมานโดในทุกวันนี้ คือสิ่งที่ผมอยากทำในตอนที่เป็นนายตำรวจยศ ร.ต.ต. หรือ ร.ต.ท. พอมีโอกาสเป็นผู้บังคับบัญชา ผมก็ทำให้เขา”

 

ย้อนประวัติอดีตสิงห์แดงรุ่น 38 มาแผดรัศมีบนเส้นทางนักรบอาร์มสวย 

สำหรับประวัติของ พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นลูกคนสุดท้องของบรรดาพี่น้อง 5 คนเกิดที่จังหวัดเพชรบุรี พ่อทำงานการรถไฟแห่งประเทศไทย แม่เป็นครูใหญ่ เริ่มต้นชีวิตวัยเรียนที่พันธะศึกษา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ก่อนไปต่อมัธยมโรงเรียนโยธินบูรณะ วาดหวังอยากเป็นตำรวจ แต่สอบเตรียมทหารติดถึงสำรอง 2 ครั้ง แต่ก็พลาดโอกาสเลยหันไปเอ็นทรานซ์เข้าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสิงห์แดงรุ่น 38 เปลี่ยนความคิดอยากไปทางปลัดอำเภอ

พอจบออกมาไปงานแซยิดของว่าที่ ร.ต.เสมอใจ พุ่มพวง ปลัดกรุงเทพมหานคร พี่สิงห์แดงรุ่น 1 ปรากฏว่า จันทนี ธนรักษ์ เป็นสิงห์แดงรุ่น 20 แนะนำให้รู้จัก สุขวิช รังสิตพล สิงห์แดงรุ่น 9 ฝากไปเป็นพนักงานบริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ ได้มีโอกาสเรียนรู้งานหลายด้านนาน 7 ปี เงินเดือนประมาณ 90,000 บาท ชีวิตกลับมาพลิกผันเดินตามฝันสอบเข้าอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีวุฒิทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรรุ่น 4 ทิ้งเงินเดือนเกือบแสนมารับแค่ไม่กี่พันบาท

เริ่มต้นตำแหน่งรองสารวัตรรถวิทยุสายตรวจ 191 อยู่ 2 ปี เข้าอบรมหลักสูตรสืบสวนคดีอาญารุ่น 71 สอบได้ที่ 3 เป็นเหตุให้ถูกดึงมาสังกัดกองปราบปราม ทำงานติดอาร์มที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนนาน 17 ปี มีดีกรีเป็นอดีตนักยิงปืนทีมชาติ และครูฝึกยิงปืนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ขยับเป็นสารวัตรตำรวจท่องเที่ยวแค่ครั้งเดียว ก่อนได้รับความไว้วางใจมาคุมหน่วยคอมมานโด ทำหน้าที่ผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กระทั่งขึ้นรองผู้บังคับการปราบปรามเที่ยวที่ผ่านมา

 

………………………………………

“พี่สร้างไว้ ผมก็มารักษาต่องานนโยบาย ทำให้มันดี อย่างที่พี่คาดหวังไว้”

ก้าวมารับไม้ต่อจากผู้นำหน่วยคอมมานโดคนเก่า

พ.ต.อ.เด่นหล้า รัตนกิจ ผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม ยอมรับว่า ตอนแรกมีความหนีกใจ เพราะไม่เคยคุมหน่วยกำลังสำคัญอย่างคอมมานโดมาก่อน โชคดีที่ พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล วางแนวทางและนโยบายการปฏิบัติไว้ชัดเจน ทุกวันนี้ความหนักใจไม่มีแล้ว แต่เป็นความภาคภูมิใจมากกว่าที่ได้มาทำภารกิจปฏิบัติการพิเศษสำคัญหน่วยหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เขาเกิดที่กรุงเทพมหานคร แต่ไปโตจังหวัดสุโขทัยตามแม่ที่เป็นครูโรงเรียนอนุบาลอยู่ที่นั่น เรียนจบโรงเรียนประจำจังหวัด ตั้งเป้าอยากเป็นตำรวจตาม พ.ต.อ.เปรย โรจนะศิริ ผู้เป็นตาที่เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจสมัยอยู่ห้วยจรเข้ อัศวินแหวนเพชรของ “เผ่า ศรียานนท์” และพล.ต.ต.สุประดิษฐ์ โรจนะศิริ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

“อยู่ในใจมาตลอด ไม่เคยอยากเป็นอย่างอื่นเลย ต้องบอกอย่างนี้” พ.ต.อ.เด่นหล้าว่า แม้พลาดหวังจากการสอบเตรียมทหารครั้งแรกตอนมัธยมปีที่ 4 แต่ปีถัดมาทำความฝันสำเร็จเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 38 เข้าเหล่าโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 54 “ความจริงพ่อแม่ไม่ได้อยากให้เป็น อยากให้เบี่ยงไปทางอื่น แต่ผมก็ไม่ยอม ยังคิดว่า ถ้าสอบตำรวจไม่ได้ ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปเป็นอะไร สอบปีแรกไม่ติด ผิดหวังมาก เหมือนกับเราไม่รู้เทคนิค หรือยังไม่ตั้งใจมาก แต่พออีกปีไปสอบใหม่ ตอนสอบยังหนีพ่อแม่ไปสอบอยู่เลย บอกไปกรุงเทพฯ ไปติว แต่จริงๆ หนีไปสอบ จนผลสอบออกมาว่า ติดนี่แหละความถึงแตก เพราะว่าต้องเอาพ่อแม่ไปมอบตัว ตอนนั้น ทั้งคู่ก็ไม่ว่าแล้ว”

รับบทรองหัวหน้านักเรียนสมัยอยู่เตรียมทหาร พอจบออกมาเลยถูกเลือกให้ไปเป็นผู้บังคับหมวดประจำโรงเรียนเตรียมทหารอยู่ 1 ปี แล้วออกมาเป็นพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน แต่ชีวิตไม่ชอบงานสอบสวน ปรากฏว่า พ.ต.อ.จำรูญ รื่นรมย์ ผู้กำกับโรงพัก พ.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ รองผู้กำกับการปราบปรามในสมัยนั้นเห็นประวัติเคยเป็นรองหัวหน้านักเรียนเลยเรียกไปช่วยงานปราบปรามฝึกแถววิ่งและระเบียบวินัยตำรวจทุกวันศุกร์เพื่อประกวดการฝึก

แล้ววันหนึ่งรุ่นพี่มาถามหาว่า พล.ต.ท.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนใหม่ต้องการหาผู้ช่วยนายเวร “มีคนมาตาม ผมก็ไม่รู้จักท่าน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลใหญ่ขนาดไหน เพราะเรายังเด็กมาก สารวัตรปราบปรามเรียกไปก็ตกใจ ให้มาคัดตัว สุดท้ายเหลือผมคนเดียว เป็นผู้ช่วยนายเวรผู้บัญชาการตำรวจนครบาล”

เจ้าตัวยอมรับว่า เครียดมาก แต่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ตามท่านธานีคนเดียว ได้เรียนรู้ความมีระเบียบวินัยจากท่านมามาก ท่านธานีสอนแบบครูบาอาจารย์ที่ดุ ๆ ไม่เคยคุยเล่น อยู่กับท่านนาน 6 ปี 7 วัน แม้จะลงเป็นรองสารวัตรตำรวจทางหลวงจังหวัดชลบุรีก็ยังตามอยู่ พอครบขึ้นได้เป็นสารวัตรประจำสำนักงานรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจนผู้เป็นนายเกษียณ ได้ลงไปเป็นสารวัตรสถานีตำรวจรถไฟหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

“ผมเจอพวกพี่นักข่าวถามว่า อยู่กับนายแล้วทำไมไปอยู่รถไฟ นายเองก็เรียกผมไปถามว่า ทำไมถึงไปลงรถไฟ ผมเลือกเอง เพราะสมัยก่อน ท่านสุชาติ เหมือนแก้ว บอกเป็นสารวัตรตำรวจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตคนแรก ในความรู้สึกของผม การเปิดหน่วยใหม่ มันยากนะในยุคนั้นที่จะได้มาเป็น สารวัตรตำรวจรถไฟหัวหิน มันเปิดใหม่พอดี ผมอยากเป็นคนแรก ได้ไปทำ ไปสร้างเป็นคนแรก เป็นหัวหน้าสถานี แม้ว่าจะเป็นแค่สถานีตำรวจรถไฟ ผมก็ภูมิใจ เริ่มทำตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง แต่ไปอยู่ประมาณ 4 เดือน มีคำสั่งมาอีกรอบ”

เขาถูกปรับเกลี่ยไปลงสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของงานถวายอารักขารักษาความปลอดภัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะทรงประทับวังไกลกังวล และได้รับรางวัลการประกวดสถานีตำรวจทางหลวงดีเด่นจาก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก่อนขึ้นเป็นรองผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เป็นรองผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ งานหน้าใหม่ที่ให้ความรู้ด้านการสืบสวนคดีทางเศรษฐกิจ

หลังจากนั้นย้ายเป็นรองผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 1 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พ.ต.อ.เด่นหล้าว่า  เป็นอีกจุดที่ได้ทำงานอีกแบบ เป็นไปตามวิถีการแต่งตั้งโยกย้าย จริงๆ ก็เป็นส่วนดี เพราะเราไม่เคยอยู่ฝ่ายอำนวยการมาก่อนเลย มีโอกาสได้เรียนรู้งานอีกด้าน “ผมคิดว่า เมื่อมาอยู่ตรงไหนแล้ว แม้เราจะถนัดหรือไม่ถนัด แต่เราอ้างว่าไม่ถนัด แล้วไม่ทำงาน ผมคิดว่ามันไม่ถูกนะ ในความรู้สึกผมเลยคิดว่า อยู่ตรงไหนก็ต้องทำงาน ตั้งใจทำ ไม่รู้ก็ถาม และพยายามเรียนรู้ ถามจากคนที่เขารู้มาบอกเรา ทำไปก็กลายเป็นผลดี คือเรียนรู้ในส่วนงานที่เราไม่เคยรู้”

นายตำรวจหนุ่มมองว่า อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้บังคับบัญชาเห็นผลงาน เราอาจจะติดนิสัยตรงที่ว่า นายใช้ไปหมด ครับอย่างเดียว ไม่เคยปฏิเสธ  บางครั้งไม่ใช่งานเราก็ทำ ตอนนั้นผู้บังคับบัญชาก็เมตตาได้รับการพิจารณาขั้นตลอด 2 ปี แล้วถือเป็นโชคดีที่มาขึ้นเป็นผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปรามแบบไม่เคยคิด

ก่อนหน้านี้คำสั่งออกราว 2 สัปดาห์ พ.ต.อ.เด่นหล้าสารภาพว่า  โดนเรียกตัวมาฝึกที่ค่ายนเรศวร จริง ๆ ถ้าถามเรา ที่ค่ายนี้เป็นเบ้าหลอมสอนเรื่องหลัก สอนให้ฐานแน่น ส่วนการพลิกแพลงเป็นเรื่องของเรา ที่สำคัญ คือ บางอย่างเหมือนทบทวน บางอย่างมาเรียนรู้ใหม่ เช่น การใช้อาวุธที่บางอย่างเราไม่มีโอกาสได้ใช้ในชีวิตประจำวัน  ปกติเราสามารถยิงปืนพกได้ แต่มาอยู่ที่นี่ เราต้องมายิงปืนเล็กยาว ต้องมาใช้ลูกซอง เราต้องมาใช้ปืนหลัก ปืนรอง โอกาสที่จะหาคนมาฝึกน้อย

“เหมือนที่พี่ต่อเขาบอกว่า อยากให้เป็นเบ้าหลอมเดียวกัน ผมจะมาอยู่ที่นี่จะสั่งการลูกน้อง ก็ต้องรับรู้ ทำให้เห็น เรียนรู้เรื่องแผน เรื่องการสั่งการ เพราะผมเป็นหัวหน้าหน่วย บางอย่างออกมาจากโรงเรียนก็รู้มาเท่านั้นแหละ แต่ใครจะไปหาอะไรเพิ่มเติมมา มาฝึกที่นี่มันเป็นระบบ เป็นระเบียบ เป็นแบบแผนที่ต้องการให้ทุกอย่าง เป็นเบ้าหลอมเดียวกัน ฐานเดียวกัน หลักเดียวกัน แต่ใครจะไปดัดแปลงอะไร ก็ว่ากันไป” ผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปรามว่า

“นโยบายการทำงานของหน่วย จริงๆ ผมพูดไปหลายทีแล้วว่า ผู้กำกับคนเก่าสร้างไว้ดีอยู่แล้ว ทั้งเรื่องกำลังพล เรื่องสวัสดิการ วางไว้ดีหมด ผมก็เคยพูดกับพี่เขาว่า พี่สร้างไว้ ผมก็มารักษาต่องานนโยบาย ทำให้มันดี อย่างที่พี่คาดหวังไว้ ตั้งใจอย่างนั้น คือ แค่ทำให้ได้เหมือนพี่เขา เพราะพี่เขาอยู่หน่วยนี้มา 17 ปี เห็นอะไรมาตั้งแต่ดั้งเดิม พอมาทำไว้ เราก็จะต้องทำต่อให้มันดี เราก็จะทำสุดความสามารถ”

พ.ต.อ.เด่นหล้าให้คำมั่นว่า จะพยายามพัฒนากำลังพลอย่างต่อเนื่อง กรวยโครงสร้างที่วางไว้เป็นแบบแผนที่ดีมาก ต่อไปนายตำรวจปฏิบัติการพิเศษที่มาร่วมฝึกอบรมจะกลับไปวางแผนการฝึกเอง กลับไปเป็นแม่ไก่ และที่สำคัญสุด ต้องรักษาทรงตลอดเวลา ถ้าปล่อยตัวก็จบ เมื่อจะไปเป็นครูสอนเขา ต้องให้เขาเห็น และเป็นภาษาเดียวกัน ตั้งแต่การสั่งการจะผิดเพี้ยนไม่ได้

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES