คำสั่งย้ายโดยมิชอบ

เคยถูกตีตรามีมลทินมัวหมองดองนานข้ามปี

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 พ.ต.อ.พิรพล อัจกลับ สมัยเป็นผู้กำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดบึงกาฬ โดน พล.ต.ต.ศุภลักษณ์ วรรณฤกษ์งาม ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบึงกาฬ ออกคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดบึงกาฬ

อ้างมีหนังสือรายงานพฤติกรรมตำรวจในสังกัดมีส่วนเกี่ยวข้องเรียกรับผลประโยชน์จากการค้าไม้พะยูง 

พ.ต.อ.พิรพล ได้ทำหนังสือร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม

เป็นการใช้อำนาจไม่ถูกต้องตามกฎ ระเบียบ

พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีรยาสรร ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่แทน เลขานุการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจในขณะนั้นได้แจ้งผลการพิจารณาเรื่องกลับมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม2559

ระบุอนุกรรมการข้าราชการตำรวจได้พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของผู้ร้องทุกข์และระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า กรณีกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบึงกาฬมีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติราชการ โดยให้ผู้ร้องทุกข์ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดบึงกาฬ เมื่อพิจารณาถึงระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการสั่งข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติราชการภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552ข้อ(6) ต้องเพราะเหตุที่ข้าราชการตำรวจผู้นั้นประพฤติบกพร่องต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดทางวินัย หรืออาญา หากให้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยเดิมอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้

ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของผู้ร้องทุกข์แล้วก็ไม่ปรากฏแต่อย่างใด อีกทั้งผลการสืบสวนข้อเท็จจริงในกรณีผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ร้องทุกข์ก็มิได้ปรากฏว่า มีผู้ร้องทุกข์เข้าไปเกี่ยวข้อง

การให้ผู้ร้องทุกข์ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดบึงกาฬจึงไม่สมเหตุสมผล

คำร้องทุกข์รับฟังได้

ระบุอนุกรรมการข้าราชการตำรวจจึงมีมติรับเรื่องร้องทุกข์ไว้พิจารณา และให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบึงกาฬ เพิกถอนคำสั่ง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ร้องทุกข์

แต่อดีตผู้กำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดบึงกาฬไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เขาคิดเสมอว่า การล้างมิลทินเที่ยวนั้นเป็น “เพียงยกแรก” ที่ยังมีเรื่องเกาะกินอยู่ในใจ

เรื่องการปฏิบัติหน้าที่มิชอบของผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งเด้งพ้นจากเก้าอี้เพื่อเปิดทางให้ “เพื่อนรักร่วมรุ่นนักเรียนนายร้อยตำรวจ” มานั่งแทน

พ.ต.อ.พิรพล อัจกลับ ทำการบ้านอยู่นานเลือกที่จะไม่ฟ้องศาลปกครองเรียกร้องความยุติธรรม แต่เปลี่ยนไปเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ให้เอาผิด พล.ต.ต.สุภลักษณ์ วรรณฤกษ์งาม อดีตผู้บังคับบัญชาเป็นจำเลย  

ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ทำให้เสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด มาตรา 157,  เป็นเจ้าพนักงานทำให้เสียหายซึ่งเอกสารใดที่เป็นหน้าที่ของตนที่จะรักษาไว้ฯ มาตรา 158 , เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่ มาตรา 161 และผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารที่เกิดจากการปลอม ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นฯ มาตรา 268

สู้คดีกันจนกระทั่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษา

ตัดสินจำเลยได้กระทำผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้เสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

พิพากษาให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 2 ปี ไม่มีเหตุรอการลงโทษ

ส่วนข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ถือเป็นกรณีตัวอย่างของ “ผู้เป็นนาย” ที่เลือกใช้อำนาจหน้าที่ออกคำสั่งย้ายมิชอบ

 

 

RELATED ARTICLES