“ผมเริ่มงานข่าวอาชญากรรม โดยที่ไม่ชอบอ่านข่าวประเภทนี้”

“เด็กๆ ผมอยากเป็นนายอำเภอ” มานพ ทิพย์โอสถ อดีคผู้สื่อข่าวสายการเมืองหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ปัจจุบันเปลี่ยนไลน์ไปสังกัดทีวีดิจิทัลช่อง “พีพีทีวี” ผู้วนเวียนอยู่กับข่าวการเมืองและอาชญากรรมมาร่วม 20 ปีเอ่ย เมื่อถูกถามถึงเส้นทางชีวิตน้ำหมึกของเขา เป็นหนึ่งในความอยาก “เป็น” ตามความฝันของเด็กในต่างจังหวัด ที่มักอยู่กับอาชีพราชการเป็นส่วนใหญ่ ทั้งครู ทหาร ตำรวจ

มานพเป็นลูกคนโตของครอบครัวชาวนาที่อำเภอสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี แต่ความฝันในวัยเด็กมีทางเดินที่ลำบากไม่น้อย เพราะโอกาสในการเรียนหนังสือของมานพเกือบหลุดหายไปในวัยเด็ก “ครอบครัวไม่ถึงกับลำบากจนแทบไม่มีกิน แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสที่จะได้เรียนหนังสือได้ง่ายๆ หลังจบประถม6 เพราะพ่อกับแม่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ  โรงเรียนมัธยมอยู่ไกลบ้านมากกว่าสิบกิโลเมตรถึงตัดสินใจบวชเณร” มานพบอกถึงชีวิตในวัยเด็ก ทั้งที่ไม่มีความผูกพันกับวัดออกจะเป็นคนกลัวพระกลัววัดเสียด้วยซ้ำไป “ที่เลือกบวชเป็นสามเณรเรียน เพราะอย่างน้อยก็เห็นความสำเร็จของครูหลายคนของผมว่า มันทำให้ได้เรียนหนังสือและประสบความสำเร็จในชีวิตได้ตามอัตภาพ” นักข่าวหนุ่มวัย 43 ปีที่ขณะให้สัมภาษณ์กำลังสวมหมวกอุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ ควบบทบาทโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเล่าถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญในวัยเพียง 13 ปี

ถ้าเขาไม่ตัดสินใจบวชเรียน โอกาสที่จะได้เรียนหนังสือก็คงไม่มี พ่อกับแม่ไม่ได้มีความเพียงพร้อมพอในการวางอนาคตให้ลูก ครั้นจะอาศัยเงินของตากับยาย ก็เป็นสิ่งที่มานพบอกว่า นอกจากพ่อกับแม่แล้วก็ไม่อยากไปพึ่งพาใคร เจ้าตัวมองว่า คงไม่ได้เรียนมัธยมต่อเหมือนคนอื่นๆ แต่จะบวชเรียนเอา เพื่อลดภาระของพ่อกับแม่ ที่ยังมีน้องๆ อีก 3 คนที่ต้องส่งเสีย

มานพบวชเป็นสามเณรเพื่อหาช่องทางเรียนหนังสือในช่วงหลังเทศกาลวันสงกรานต์ หลังทราบผลการสอบเข้าเรียนมัธยม 1 ได้ในลำดับที่ 16 จากนักเรียนกว่า 100 คนได้ไม่กี่วัน แต่การเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์เพื่อเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาก็นำมาซึ่งความสะเทือนใจให้เขา และไม่มีวันลืมกระทั่งวันนี้ “วันจะไปวัดให้พระอุปัฌชาย์บวชเณร พ่อค้าควายมาจูงเอาลูกของกาหลง ควายที่เลี้ยงและผูกพัน มาตั้งแต่เริ่มจำความได้ไปฆ่าเพื่อชำแหละเนื้อ  ครั้งนั้นแม้จะเสียใจ แต่ความต้องการดิ้นรนเพื่อให้ได้รับการศึกษาและด้วยความเป็นเด็กทำให้เขายอมทุกอย่าง เพื่อแลกชีวิตของควายเปลี่ยวลูกของกาหลง กับอัฐบริขารสำหรับการบวชเรียน ถ้าเป็นวันนี้เขาจะไม่มีวันยอมทำอย่างนั้นโดยเด็ดขาด

เด็กหนุ่มเมืองสระแก้วบวชเรียนอยู่ 4 ปี 8 เดือน เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เขามีความมุ่งมั่นกับชีวิต และเรียนรู้ในการจัดการวางแผนชีวิตของตัวเองมาตั้งแต่                                                                    เรียนศึกษาผู้ใหญ่จบเทียบเท่ามัธยม 3 ที่วัดหลวงปรีชากูล อำเภอเมืองปราจีนบุรี ก่อนสอบเทียบมัธยม 6 ได้ในปี 2533 พร้อมกับสอบไล่ได้เปรียญธรรม 3 ประโยคได้ในปีเดียวกัน เป็นปีที่ตัดสินใจลาสิกขาออกท่องโลกฆราวาส เพราะวัดในเมืองหลวงปฏิเสธที่จะรับสามเณรอายุ 17 ปีมาอยู่ในสังกัด พวกเขามองไม้แก่ดัดยาก

  เมื่อออกโลดเล่นบนถนนเหมือนคนหนุ่มทั่วไป เขาตั้งเป้าหมายไปการเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์ เพื่อสานฝันในวัยเด็ก แต่ด้วยความชอบอ่านหนังสือ ทั้งหนังสือพิมพ์ วรรณกรรมไทย จีน ฝรั่ง หรือแม้แต่การ์ตูน ทำให้เกิดความอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  หนังสือส่วนใหญ่ที่อ่านและชอบเป็นพิเศษจะออกไปในแนวการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จุดสำคัญ คือการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับแต่เรื่องเทียนวรรณ เรื่อยมาจนเปลี่ยนแปลงการปกครองจนมาถึงเหตุการณ์เดือนตุลาคมวิปโยคทั้งสองเหตุการณ์ ที่ทำให้เขาอยากเป็นนักข่าว เมื่อพบเรื่องราวต่างๆ ที่มีมุมแตกต่างกันจากเหตุการณ์เดียวกัน ถ้าเรามีโอกาสสัมผัส หรือรับรู้ข้อมูลของเหตุการณ์สำคัญๆ ก็น่าจะบันทึกหรือถ่ายทอดออกมาได้ดี ประกอบกับงานเขียนของ “จิตร ภูมิศักดิ์” กับนักเขียนหนุ่ม(28) “รงค์ วงษ์สวรรค์” ก็เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญไม่น้อย

ชีวิตนักศึกษารัฐศาสตร์ รั้วรามคำแหง ภาพที่เจนตาของเพื่อนๆ ก็คือ มานพจะพกหนังสือพิมพ์มติชนทุกวันไม่เคยขาด บวกกับหนังสือของนักเขียนต่างๆ ที่ถือคู่กับหนังสือเรียน เขามักจะบอกเพื่อนๆ ว่าจบไปจะสมัครเป็นนักข่าวการเมืองมติชน กระทั่งใช้เวลาเพียง 3 ปีเศษจบปริญญาตรี มานพเริ่มต้นงานแรกในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง แม้รายได้จะงดงามไม่น้อย แต่ชีวิตยังมีเป้าหมายเป็นคนหนังสือพิมพ์เหมือนเดิม ไม่นานเขาตัดสินใจหันหลังให้งานที่น่าเบื่อหน่ายไปหารุ่นพี่คนหนึ่งที่เป็นนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลเพื่อสมัครเป็นนักข่าว

ทว่าทุกอย่างไม่เป็นใจ หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นอยู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในปี 2538 และปิดตัวลงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ไม่นาน เมื่อไม่มีงานข่าวให้ทำ เด็กหนุ่มตัดสินใจใช้ชีวิต กินเที่ยวและใช้ชีวิตนอกบ้าน เล่นโฟล์กซองในร้านอาหารเล็กๆ ประทังความอยู่รอดจนพ่อต้องส่งข่าวผ่านญาติให้กลับบ้าน  จนหนังสือพิมพ์มติชนเปิดรับสมัครผู้สื่อข่าวการเมือง โอกาสแรกมาถึง มานพจึงไม่รอช้า แต่ก็พลาดโอกาสไป เพราะโต๊ะข่าวได้คนที่ต้องการไปแล้ว ถึงกระนั้นก็ตามเหมือนโชคชะตาจะทำให้ความฝันตอนหนุ่มเป็นจริงขึ้น

“ผมถูกเรียกสัมภาษณ์ในอีกไม่อีกกี่วันในตำแหน่งพิสูจน์อักษร เพราะเขาเห็นว่าเป็นมหาเปรียญมีความรู้ภาษาบาลี ภาษาไทยน่าจะดีในระดับตรวจปรู๊ฟได้ และข้อเสนอที่ทำให้ผมที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ สามารถโอนภายในไปเป็นนักข่าวได้” มานพว่า หลังตรวจปรู๊ฟอยู่ราว 5-6 เดือน มีการเปิดโอนย้ายผู้สื่อข่าวการเมือง มี ต๊ะ-ภาคภูมิ ป้องภัย หัวหน้าโต๊ะข่าวการเมืองตอนนั้นบอกว่า ถ้าไม่ผ่านโปรต้องออกนะ เขาไม่ลังเลรีบตอบไปว่า ยินดี เพราะตั้งใจมากกับงานข่าว แม้จะไม่มีความรู้อะไรติดมาเลยเกี่ยวกับการงานหนังสือพิมพ์ นอกจากการอ่านหนังสือพิมพ์มายาวนานตั้งแต่วัยสิบขวบ ในที่สุดใช้เวลาเพียง 2 เดือนก็ผ่านการทดลองงาน ก่อนถูกเคี่ยวไปตามบุคลิกของหัวหน้าข่าวการเมืองมติชนยุคนั้น ซึ่งมีความโดดเด่นเป็นอย่างมากสำหรับคอข่าวการเมือง ทั้ง ภาคภูมิ ป้องภัย จำลอง ดอกปิก ที่สำคัญ คือไม้โหดอย่าง ภัทระ คำพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

“พี่ทั้่งสามหนักเบาไปคนละรูปแบบ พี่ต๊ะนุ่มนวลอธิบายสอดแทรก พี่จำลองโหดด้วยน้ำเสียงสลับการสอนแบบตลกหน้าตาย ส่วนหนักสุดก็พี่โม่ง-ภัทระที่วางหูโทรศัพท์โครมใหญ่ รู้เรื่องกว่านี้ค่อยโทรมาส่งข่าวใหม่ ก่อนจะสอนเมื่อส่งข่าวรู้เรื่องและเสร็จงาน ที่สำคัญ คือการถูกสอนให้ทำข่าวเดี่ยว ไม่ให้พึ่งพาเพื่อนให้ได้มาซึ่งข่าว เป็นสไตล์ของมติชนในยุคนั้น”  

เขาบอกว่า อยู่ได้ไม่นานก็เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน โต๊ะข่าวการเมืองถูกโยกย้ายกันเกือบหมดโต๊ะข่าว มานพถูกโยกไปประจำกรุงเทพมหานคร ก่อนจะถูกขอสลับกับรุ่นพี่มือข่าวระดับรางวัลของมติชน ภาสกร จำลองราช ผ่าน ภาคภูมิ ด้วยเหตุไม่ถนัดงานข่าวอาชญากรรม ส่วนเราเพิ่งทำงานข่าวไม่นาน      คงปรับตัวกับโต๊ะข่าวและงานใหม่ได้ไม่ยาก กลายเป็นจุดเริ่มต้นของนักข่าวสายอาชญากรรมประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล หลังก่อนหน้าไปประจำกระทรวงมหาดไทยในยุคที่น้าเต็ม เต็มศักดิ์ ไตรโสภณ จากค่ายบางกอกโพสต์ ยังทำงานอยู่ได้ไม่นานนัก

อยู่ที่โต๊ะข่าวกระบวนการยุติธรรม 5 ปีเต็ม ขณะนั้น เกรท-เจตนา จนิษฐ เป็นหัวหน้าข่าวในสายงานตำรวจ มานพเริ่มเข้าใจและเรียนรู้กระบวนการทำหนังสือพิมพ์มากขึ้นเป็นลำดับ จับประเด็นข่าวได้เร็วขึ้น บวกกับพิมพ์คอมพิวเตอร์ไว เลยต้องพ่วงรับข่าวจากนักข่าวตระเวนในบางวันที่ต้องเขาเวร รวมไปถึงตอบจดหมายของผู้อ่าน ดูแง่มุมที่ล่อแหลมที่อาจถูกฟ้องร้องได้ บางครั้งยังรับบทความของ “เหยี่ยว ถลาลม” ที่ส่งทางโทรศัพท์อาศัยทักษะการฟัง และภาษาเพื่อให้ต้นฉบับไม่มีความผิดพลาด หรือคลาดเคลื่อนไป เขาจึงได้คำสอนหนึ่งของ “เหยี่ยว ถลาลม” ที่ถือเป็นคัมภีร์ประจำตัวถึงปัจจุบันก็คือ “นักข่าวต้องหาความรู้ตลอดเวลา อย่างแย่ๆ ต้องรู้ให้เท่าๆ กับแหล่งข่าวที่เราจะไปคุยด้วย ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีประโยชน์ที่จะมาทำอาชีพนักหนังสือพิมพ์”

บนถนนคนข่าวอาชญากรรมสั่งสมให้เขามองโลกมากกว่าหนึ่งมติ แหล่งข่าวจึงมีทั้งบู๊และบุ๋น แม้สายบุ๋นจะเป็นที่มานพชอบมากเป็นพิเศษ แต่การทำงานด้านสืบสวนก็เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับข่าวอาชญากรรม การเรียนรู้จากทั้งนักข่าวและตำรวจจึงมีความจำเป็นทั้งสองด้าน แม้นักข่าวอาชญากรรมส่วนใหญ่จะออกไปในแนวบู๊ แต่ก็มีแนวบู๊หลายคนที่ผสมความเป็นบุ๋นอยู่ในตัว ผ่านทักษะการจดจำและงานเขียนที่น่าอ่าน

“ผมเริ่มงานข่าวอาชญากรรม โดยที่ไม่ชอบอ่านข่าวประเภทนี้ เพราะเห็นแต่ความรุนแรง จึงพยายามทำในมุมที่เป็นวิชาการด้านการสืบสวน เทคนิค และวิธีการทำงานของนักสืบแต่ละคนมากกว่าการถ่ายทอดความสยดสยองของเหยื่ออาชญากรรมหรือโศกนาฏกรรม”

ผ่านเสียงปืน เสียงหวีดร้อง เลือด และความตายที่เดินผ่านหน้าไปไม่น้อย แต่กลิ่นคาวเลือดและศพเน่าเฟะ ก็ยังเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับมานพ เพราะมันทำให้แข้งขาอ่อนได้ทุกเมื่อ “งานข่าวทำให้นักข่าวต้องมีความอดทน ช่างสังเกตสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวและความเคลื่อนไหวของแหล่งข่าว เพราะการเคลื่อนไหวของนักสืบที่ผิดปกติ มักจะมีข่าวใหญ่ตามมาเสมอๆ ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าก็คือความไว้เนื้อเชื่อใจ และความเป็นสุภาพบุรุษหนังสือพิมพ์ ที่คนข่าวต้องมี แต่บางครั้งก็เหมือนโชคช่วย วันหนึ่งผมไปขลุกอยู่ห้องสืบสวนของกองกำกับการสืบสวนนครบาล 4 เพื่อตามคดียิงอัยการปางตาย เดินไปพบขยะใหม่ที่ถูกขยำทิ้งถังหน้าห้องน้ำ หยิบขึ้นมาดูปรากฏว่าเป็นชื่อของมือปืน และคนขี่จักรยานยนต์ ได้พาดหัวไม้แบบไม่ตั้งใจเลย” มานพเล่าถึงความโชคดีและการสังเกตสิ่งของเพียงน้อย ทำให้ได้ข่าวชิ้นสำคัญ จากที่ไม่มีอะไรจะเขียนได้แต่นั่งนอนเฝ้าเกือบ 10 ชั่วโมง

แล้วก็ถึงเวลางานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ไฟที่เคยลุกโชติกับที่ทำงานเดิมค่อยๆ อ่อนล้า งานการจึงไม่ค่อยเป็นที่พออกพอใจของหัวหน้า บวกกับทัศนคติที่อาจจะไม่ตรงกันในบางเรื่อง ทำให้เริ่มหาที่จุดประกายไฟแห่งใหม่ ช่วงนั้น วัสยศ งามขำ เพื่อนนักข่าวสังกัดหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้ชวนไปพบกับ “เป๊ปซี่” เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ หัวหน้าข่าวความมั่นคงของบางกอกโพสต์ ร่วมหารือ ชดินทร์ เทพวัลย์ รองบรรณาธิการข่าว ศลชัย นกพลับ บรรณาธิการข่าว และ อุ๋ย -เนาวรัตน์​ สุขสำราญ ที่กำลังหาคนมาช่วย คุยกันไม่กี่นาทีพวกเขาตกลงรับมานพ เป็นสติงเกอร์ให้พร้อมกับทำงานให้มติชนไปด้วย แม้จะไม่ถูกต้องนัก

“ความสบายที่จะได้เริ่มจุดไฟใหม่ให้กับอาชีพที่เลือกและตัดสินใจทำให้ยาวนานที่สุด เป็นสิ่งที่คิดถึงตอนนั้น  ก็โชคดีอีกครั้ง เพราะสองสามเดือนหลังจากเป็นสติงเกอร์ก็มีตำแหน่งว่าง เพราะนักข่าวเดิมไปสอบเป็นทูต ผมเลยเลือกออกจากมติชนอยู่ยาวกับบางกอกโพสต์มาตั้งเดือนกันยายน 2544” มานพว่า ก่อนถูก นาตยา เชษฐ์โชติรส หัวหน้าข่าวการเมือง ทาบทามให้เปลี่ยนสายไปทำการเมือง ประจำรัฐสภาถิ่นเก่าที่เคยวนเวียนอยู่สมัยเริ่มหัดบิน

  ด้วยความเป็นนักกิจกรรมตัวยงอีกฉากหนึ่ง มานพมีโอกาสเข้าเป็นกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยุค ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ เป็นนายกสมาคม และร่วมประสานงานกิจกรรมของสมาคมเป็นระยะก่อนกลับมาร่วมงานในตำแหน่งอุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูป เพราะ ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคม มองเห็นความสามารถในตัว อีกทั้งเป็นโฆษกสมาคมเพื่ออีกตำแหน่งเป็นครั้งแรกในรอบ 60 กว่าปีที่สมาคมมีกระบอกเสียงเอง วัตถุประสงค์เพื่อต้องการการสื่อสารกับสาธารณะที่รวดเร็วยิ่งขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

มานพบอกว่า แม้จะถูกเหมารวมไปด้วยว่า สื่อกระแสหลักได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทย แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธกระแสนั้นได้  การปฏิรูปสื่อที่ถูกกำหนดและให้มีองค์กรกำกับ ภายใต้ชื่อส่งเสริมและคุ้มครอง เป็นเรื่องที่คนในแวดวงสื่อต้องติดตามและเสนอความคิดเห็นให้มากที่สุด เพราะนี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อทิศทางแห่งสิทธิเสรีภาพของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ “ผมถูกด่ามากนะ ในนามโฆษกสมาคม เพราะมีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เกือบจะถูกเชิญตัวไปครั้งหนึ่ง เพราะไปกระทบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่ด้วยการสื่อสารกันของหลายฝ่าย ทุกอย่างก็จบด้วยดี ที่สำคัญ คือ ผมทำไปตามหลักการ ผมไม่เคยมีวาระซ่อนเร้น” โฆษกสมาคมนักข่าวทิ้งทายถึงการทำหน้าที่หัวหอกในยุคเปลี่ยนผ่านการเมืองและวงการสื่อ

 

 

RELATED ARTICLES