“ชอบนะ มันเป็นอะไรที่ท้าทายไม่จำเจ”

นข่าวสาวน้อยผู้มาดมั่นแห่งค่าย “โมเดิร์นไนน์ ทีวี”

“ตูน”ขนิษฐา อมรเมศวรินทร์ เกิดเมืองเพชรบุรี จบมัธยมปลายโรงเรียนมัธยมเบญจมเทพอุทิศ ความฝันวัยเด็กอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ มองว่า เท่ดี ชอบผสมสารเคมี แต่พอโตขึ้นอยากเป็นสถาปนิก ที่บ้านกลับไม่โอเค มองเธอเป็นผู้หญิง แม้จะพยายามอธิบายว่า เป็นแนวตกแต่งภายในไม่ใช่สถาปนิกออกแบบอาคาร

“พี่สาวถามว่า จะไปทำงานอะไร เพราะน้องเพื่อนเขาเรียนอยู่ไม่เห็นมีงานทำ พี่คนนี้เรียนเก่ง ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อพ่อแม่ ตูนก็เลยจบเห่” นักข่าวทีวีสาวบอกถึงความผิดหวังวัยเยาว์

เมื่อไม่ได้ลงเรียนสถาปัตยกรรมอย่างที่คาดไว้ ตูนเปลี่ยนไปเอ็นทรานซ์เข้าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอเรียนจริงดันไม่ชอบ มีแต่คนตั้งหน้าตั้งตาเรียน ตัดสินใจเอ็นทรานซ์ใหม่ในปีต่อมา เธอเล่าว่า ตอนแรกไม่รู้จะลงเรียนอะไร แต่แม่อยากให้เรียนจุฬาฯที่เดิมเลยสมัครสอบคณะนิเทศศาสตร์ ผลปรากฏว่าสอบได้เป็นนิสิตใหม่อีกครั้ง

ตูนหมายมั่นปั้นว่า อยากทำโฆษณา แต่ย้ายภาคไม่ทันทำให้ต้องเบนเข็มลงเลือกหนังสือพิมพ์แบบไม่เคยมีความคิดมาก่อนอยากเป็นนักข่าว เพียงแค่มองว่า หนังสือพิมพ์เป็นความรู้ทางทฤษฎีเอาไปใช้ประยุกต์ใช้ได้ ผิดกับสายอื่นเป็นความรู้ทางเทคนิค สามารถไปตามเรียนเอาทีหลังได้โดยไม่ต้องเข้าเรียน เธอยอมรับว่า การเรียนตอนนั้นถูกเคี่ยวเข็ญจากอาจารย์ในคณะพอสมควร เนื่องจากเอกหนังสือพิมพ์มีลงเรียนแค่ 10 คน อาจารย์ถึงเคี่ยวหนัก งานแต่ละชิ้นกว่าจะผ่านได้ใช้เวลาเป็นเดือน แก้แล้วแก้อีก อาจารย์ให้เหตุผลว่า ถ้าจบไปสามารถเป็นนักข่าวได้เลย ไม่ต้องมาฝึกใหม่

“สนุกดี กว่าจะผ่านได้ยากมาก สมัยเรียนก็เกเรไปบ้าง มีดรอปเรียนที่บ้านไม่รู้จนมีจดหมายจากคณะไปตามถึงบ้าน ชีวิตเหมือนนิยาย จะไม่เรียนแล้ว ไม่รู้จะเรียนไปทำไม หาเหตุผลไม่ได้ คิดเลิกเรียนดีกว่า ตอนนั้นอยู่ปี 3 กำลังย้ายภาค พอเรื่องแดง แม่เครียด ตูนเห็นว่า แม่เครียดขนาดนี้เลยหรือ เราเป็นคนเรียนเองยังไม่รู้สึกเลย คิดว่า ถ้าเรียนคงได้ แต่มันไม่อยากเรียน สุดท้ายกลับไปเรียนเพื่อให้แม่สบายใจ เมื่อก่อนถ้ามันไม่มีเหตุผลพอ ตูนจะไม่ทำ” สาวช่อง 9 ย้อนเวลาพร้อมให้เหตุผลว่า “ถามใครว่าเรียนไปทำไม ก็ไม่มีใครตอบได้ ไม่มีใครให้เหตุผลที่จะโอเคได้ ตูนคิดว่า ถ้าไม่เรียนก็ทำงานได้เหมือนกับคนอื่น คิดว่าอย่างนั้น คนที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ตรงเรียนมีตั้งเยอะแยะ ทั้งที่ตัวเองยังไม่คิดเลยว่าจะไปทำงานอะไร”

เธอกลับไปเรียนจนจบปริญญาตรีพร้อมเพื่อน เทอมสุดท้ายขอลงหน่วยเกินเพื่อให้จบสมความปรารถนาของผู้บังเกิดเกล้า ทว่ากลายเป็นเรื่องเศร้าที่เธอต้องสูญเสียแม่ในเวลาต่อมาหลังจากเห็นลูกสาวประสบความสำเร็จรับพระราชทานปริญญาบัตรมาประดับวงศ์ตระกูล ตูนจำภาพนั้นไม่ลืมว่า แม่ดั้นด้นจากเพชรบุรีไปงานรับปริญญาตรี ตกคืนนั้นแม่เข้าไอซียูนอนอยู่โรงพยาบาล เรารับปริญญาวันที่ 9 แม่เสียวัน 23 เราไม่รู้มาก่อนว่า แม่เป็นโรคหัวใจกำเริบ แม่รู้ก่อนหน้านั้นไม่กี่วันตอนไปหาหมอว่า มีอาการกลับมา แต่ไม่ได้บอกเรา และมางานรับปริญญาเรา จากนั้นก็นอนอยู่โรงพยาบาลยาวจนเสีย ยังมีคนบอกเหมือนกัน ถ้าเราเรียนไม่จบ แม่อาจจะอยู่

หมดทุกข์หมดโศก บัณฑิตใหม่จากรั้วพระเกี้ยวได้เข้าฝึกงานอยู่บริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว จำกัด เป็นบริษัทลูกของตลาดหลักทรัพย์ ทำกิจกรรมโรดโชว์ ให้ความรู้นักศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการออม ทำสปอต ด้วยความที่เป็นคนชอบคิด พออยู่ไปสักพักครอบครัวเริ่มกดดันว่า เงินเดือนพอหรือไม่ กระทั่งพี่สาวเห็นโมเดิร์นไนน์เปิดรับสมัครพนักงานเลยมาบอกเธอ แม้เจ้าตัวกำลังสนุกกับงานตรงนั้นไม่ได้คิดว่า ต้องมีงานทำที่มั่นคง

สาวเมืองเพชรบอกว่า ไปยื่นใบสมัคร ไม่ได้ระบุว่า ตำแหน่งอะไร สนใจตำแหน่งอะไร เราก็กาหมดทุกตำแหน่ง รู้ว่า เกรดไม่ดี ถ้าสู้คงสู้ไม่ได้เลยส่งผลงานที่เคยทำไปด้วย ยื่นจนลืมไปเลย นานเหมือนกันกว่าจะเรียกมาสอบข้อเขียน ผ่านรอบสองเรียกสัมภาษณ์กว่าจะได้มาทำงานใช้เวลาครึ่งปี ไปประจำข่าวนิวส์บาร์ คอยรวบรวมข่าวทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กีฬา มาเรียบเรียงออกเป็นตัววิ่งหน้าจอโทรทัศน์ทุกชั่วโมง ทำให้มีโอกาสเรียนรู้ข่าวทุกข่าว

“ใหม่ๆ ก็มีกดดันบ้าง เพราะทำไม่ทัน มันต้องมีทุกต้นชั่วโมง หลัง ๆ ก็เริ่มสบาย ทำเป็นปี เริ่มเบื่อ ไม่ได้ออกไปไหน อยากออกเป็นนักข่าววิ่งข้างนอกบ้าง เข้าไปคุยกับหัวหน้ารอตำแหน่งว่าง อยู่ข้างใน 2 ปี ถึงได้ออกเป็นนักข่าวภาคสนามเสียบอัตราว่างของข่าวสายอาชญากรรมพอดี ชอบนะ มันเป็นอะไรที่ท้าทายไม่จำเจ ไม่รู้ว่าวันหนึ่งจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง”

ประเดิมสนามข่าวแรกของเธอ ตูนถูกส่งไปชิมลางดูสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2551 กลับมาตอนเย็นถึงเช้าวันรุ่งขึ้นเกิดเหตุการณ์สลายม็อบอย่างดุเดือดเป็นประวัติศาสตร์บทใหม่การเมืองไทยปีนั้น เธอว่า สถานีบอกให้กลับบ้านไปนอนพักเพื่อมาสลับเฝ้าม็อบตอนดึกแทน เข้าพื้นที่ตอนค่ำเจอแต่สภาพความเสียหายจากการปะทะกันต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ลุ้นอยู่ว่า คืนนี้จะเกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า แต่ก็สนุกตื่นเต้นดี

ต่อมา เธอโดนส่งไปเป็นนักข่าวประจำศาลอยู่ 5 เดือนก่อนปรับหมุนเวียนสลับประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองปราบปราม กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นต้น เปิดโอกาสให้เรียนรู้ ได้แหล่งข่าวหลายที่ แต่ไม่มีสถานการณ์ใดทำให้เธอประทับใจเท่ากับเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553

ถึงขั้นตกเป็นผู้ต้องสงสัยชี้เป้าให้มือสไนเปอร์ลั่นกระสุนเจาะหัว “เสธ.แดง” พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล นายทหารคนดัง

คนข่าวโมเดิร์นไนน์เล่านาทีระทึกว่า สถานการณ์วันนั้นตึงเครียดมาก มีการยิงเอ็ม 79 หัวถนนสีลม ก่อนเสธ.แดงจะถูกยิง เราอยู่ตั้งแต่ 6 โมงเช้าข้ามคืนถึง 10 โมงเช้าอีกวัน ปรากฏว่า เขาหาว่า เราเป็นคนชี้เป้าให้เสธ.แดงโดนยิง มีคนส่งรูปนักข่าวผู้หญิงสัมภาษณ์เสธ.แดงตอนนาทีสุดท้ายก่อนถูกยิง เหมือนเรามาก รู้ตอนหลังเป็นนักข่าวไทย แต่ทำให้สื่อต่างประเทศ “เขาเข้าใจผิดคิดว่า เป็นตูน วันนั้นทุกคนรู้ว่า ตูนอยู่ที่นั่น เพราะอยู่ตั้งแต่เช้า แต่ตอนที่เสธ.แดงถูกยิง ตูนโดนโยกไปอยู่ประตู 2 สวนลุมพินี ไม่อยู่ตรงนั้น พอเช้าพี่นักข่าวการเมืองเตือนว่า อย่าเพิ่งเข้าพื้นที่ เพราะการ์ดในม็อบตามหาอยู่ว่า ตูนช่อง 9 คนไหน เป็นคนชี้เป้า ข่าวกระจายเร็วมาก วันรุ่งขึ้นออกจากพื้นที่ถึงรู้  ดูรูปแล้วคล้ายมาก ข้างในเลยให้ปิดโซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งหมด และไม่ให้เข้าพื้นที่อีกเลย ไม่ต้องทำงานเกี่ยวกับม็อบ ตูนไม่รู้เรื่องอะไร แต่เวลานั้นเขาคงไม่ฟังเหตุผล”

เก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่หลายปีขยับออกจากภาคสนามเป็นชุดเฉพาะกิจทำรายงานพิเศษอย่างเดียว เจ้าตัวบอกว่า มันหล่อหลอมความคิดที่เราไม่รู้ตัว ทำข่าวสายอาชญากรรมได้ความรู้เยอะ ไปช่วยทุกสาย เหมือนคิดอะไรไม่ออกบอกอาชญากรรม ไปม็อบ ไปน้ำท่วม สำหรับอนาคตก็ยังสนุกกับงานตรงนี้ แม้ไม่ได้ค่อยลงทำข่าวประจำเหมือนเมื่อก่อน

“ชีวิตต้องรีบใช้เพราะมันมีวันหมดอายุ” เธอทิ้งคำคม

RELATED ARTICLES