“ชีวิตไม่เคยคิดมาก่อนจะได้มาถวายงานใกล้ชิดพระองค์”

ดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำที่ถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมานานถึงขนาดพระองค์ท่านทรงมีพระกระแสรับสั่งให้ต่ออายุราชการหลังเจ้าตัวเกษียณอายุเพื่อถวายรับใช้อยู่อีก 12 ปี

พล.ต.อ.เสริม จารุรัตน์ ไม่เคยคิดจะมีโอกาสเข้าถวายงานใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

เขาเป็นลูกชายคนเดียวของทม จารุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสมัยควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี วัยเด็กระหว่างเรียนมัธยมโรงเรียนเทพศิรินทร์ เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารเรียนโดนระเบิดเสียหาย ทำให้ต้องย้ายไปจบมัธยม 8 โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์รุ่นแรก ควบคู่กับการเป็นนักเรียนพลตำรวจประจำกองร้อย 3 ฝึกอยู่ในพระบรมมหาพระราชวัง เพราะเวลานั้น พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปศึกษาต่อต่างประเทศ

“ชีวิตราชการผมไม่น่าเชื่อเลยว่าเริ่มต้นที่วังหลวงแล้วมาจบชีวิตราชการในวังหลวงอีก” พล.ต.อ.เสริม ระบายความรู้สึกรำลึกในอดีต เขาเล่าว่า พอเรียนจบธรรมศาสตร์ ได้รับเลือกจากกรมตำรวจให้ไปศึกษาต่อประเทศอังกฤษ อบรมหลักสูตรผู้นำ 10 สัปดาห์ที่เมืองแคนเทอร์เบอรี สอบผ่านเข้าต่อโรงเรียนเตรียมนายร้อยทหารบกอีตัน ฮอล์ล จากนั้นศึกษาโรงเรียนตำรวจเขต 4 จบแล้วเข้าโรงเรียนสืบสวนสกอตแลนยาร์ด ได้ฝึกงานตามโรงพัก ข้ามโลกไปต่อหลักสูตรปริญญาโทด้านบริหารงานตำรวจที่มหาวิทยาลัยอินเดียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา

กลับมาเริ่มต้นชีวิตราชการตำรวจเป็น ร.ต.ต.ตำแหน่งรองสารวัตร สถานีตำรวจนครบาลบางรัก เป็นสารวัตรสอบสวนโรงพักเดียวกัน ช่วงนั้นกองบัญชาการตำรวจนครบาลจะตั้งศูนย์วิทยุจึงเรียกเขาไปดำเนินการนำระบบการพูดวิทยุสื่อสารแบบของประเทศอังกฤษมาใช้ในกองกำกับการรถวิทยุศูนย์รวมข่าวนครบาลเป็นครั้งแรกกลายเป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์วิทยุผ่านฟ้า (191) ในเวลาต่อมา

ขึ้นรองผู้กำกับการและผู้กำกับการนครบาล 7 ขยับเลื่อนเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้ เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ห้องทำงานถูกเผาวอดไปพร้อมอาคารกองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้า ต้องย้ายมาอยู่รวมกับกองบังคับการตำรวจดับเพลิง พญาไท หลังเหตุการณ์สงบ พล.ต.อ.เสริม เล่าว่า อธิบดีประจวบ สุนทรางกูร ต้องการแก้ปัญหาเรื่องกองทะเบียน กรมตำรวจ ก็เรียกไป ท่านต้องการหาคนที่จะทำงานแบบตรงๆ แล้วเชื่อว่าเราทำได้ ตั้งเป็นหัวหน้ากองทะเบียนเทียบเท่าผู้บังคับการ

   “ผมก็ไปศึกษาดูว่า ทำไมถึงมีปัญหา ปัญหาคือ ทำกันโดยเรียกว่า อะไรก็ไม่ได้รับความสะดวก แต่สัญชาตญาณของคนเราต้องการความสะดวก ถ้าทำอะไรโดยไม่สะดวกก็ต้องซื้อความสะดวก เป็นธรรมชาติของคน ผมไปดู ก็คิดว่า ถ้าเราทำให้เกิดความสะดวก คนเขาก็ไม่ต้องซื้อความสะดวก เมื่อไม่ซื้อความสะดวก ปัญหามันก็ไม่มี ผมเอาระบบการบริหารงานที่จบมาจากอินเดียน่ามาดำเนินการ นำเอาระบบคอมพิวเตอร์มาใช้แก้ปัญหาเรื่องคนได้ดีพอสมควร”

ทว่าพอหมดยุคอธิบดีประจวบ เขาก็ถูกย้ายทันทีเด้งเป็นผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร และผู้บังคับการกองวิจัยและวางแผน ปรากฏ ณรงค์ มหานนท์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เล็งเห็นว่า เขามีความรู้เรื่องรถวิทยุศูนย์รวมข่าวนครบาล จึงดึงตัวกลับถิ่นเก่าเป็นผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษคนแรกของหน่วย ริเริ่มตั้ง “หน่วยสวาท” รองรับปัญหาก่อการร้ายสากลที่กำลังคุกรุ่นลุกลามไปหลายประเทศทั่วโลก

ไม่นานถูกคำสั่งย้ายไปอยู่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนด้วยพิษมรสุมอำนาจการเมือง “หาว่า ผมกับท่านวิฑูร ยะสวัสดิ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจวางแผนยึดอำนาจ สรุปแล้ว สมัคร สุนทรเวช สมัยนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกมาขอโทษบอก ได้รับรายงานผิดพลาด แต่ผมก็ถูกย้ายฟรีไปแล้ว เป็นจังหวะเดียวกับที่ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนมาเล่าให้ผมฟังว่า ได้ไปร่วมรับประทานเลี้ยง ได้ยินพระเจ้าอยู่หัวถามอธิบดีมนต์ชัย พันธุ์คงชื่นว่า ย้ายเสริมไปไหน เพราะพระองค์ท่านรู้เรื่องหน่วยสวาท อธิบดีมนต์ชัยทูลตอบว่า หลบมรสุม”

เป็นเหตุผลทำให้ พล.ต.อ.เสริม ได้รับคำสั่งย้ายกลับมาเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แล้วได้ไปดูงานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยที่ประเทศอังกฤษ เกิดกบฏเมษาฮาวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯประทับนครราชสีมา “ผมกลับมาเตรียมจองเครื่องบินลงเชียงใหม่เพื่อเดินทางต่อไปโคราช แต่เหตุการณ์ยุติก่อน ผู้การ 191 ถูกย้าย มีคำสั่งให้ผมกลับไปรักษาการผู้การอีกตำแหน่ง ตำแหน่งหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำว่างลง ไม่มีใครแล้ว จึงมีการทาบทามผม”

พล.ต.อ.เสริมเล่าว่า ความจริงก่อนหน้าถวายงานรับใช้พระองค์มาบ้างแล้ว แต่ไม่ได้เป็นตำรวจราชสำนัก ครั้งหนึ่งเคยขี่มอเตอร์ไซค์นำขบวนไปส่งเสด็จฯที่วัดราชบพิธ พอลงจอดมอเตอร์ไซค์ ผู้ใหญ่ในกรมราชองครักษ์ เรียกไปตำหนิว่า ขี่รถยังไง ตัดหน้ารถพระที่นั่ง ฉวัดเฉวียน ไปมา รู้ไหมว่า ถ้าเป็นสมัยก่อน ถูกตัดคอเลยนะ พอกลับมาที่ทำงาน กรมราชองครักษ์โทรก็มาตามเข้าวังด่วน

“ผมคิดว่า แย่แล้ว เพราะมีรถนำไปขับผ่านตัดหน้าขบวนเสด็จ ผมก็เข้าไปพบสมุหราชองค์รักษ์ พาผมไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว พอพระองค์ทรงรับทราบ ก็ทรงขำ ตั้งแต่นั้นมา พระองค์ทรงสอนว่าเวลาขี่ ต้องทำให้แข็งแรง เวลาเข้าสี่แยก จอดให้แข็งแรง ผมรับสนองพระราชดำริไว้เหนือเกล้า คราวเสด็จฯวัดทุ่งวชิรธรรมสาธิต สุขุมวิท 101/1 ชาวบ้านรู้พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ก็ลงจากบ้านมาเลย บางบ้านก็เอาดอกไม้ดอกเดียวคอยถวาย ท่านรับสั่งให้หยุด มีพระราชดำรัสว่า เวลาหยุดรถนำขบวน แล้ววิ่งมารถพระที่นั่ง เปิดประตูไม่ต้องกว้าง เปิดแค่พอจะยื่นพระหัตถ์ได้ ให้ผมอ้อมไปรับของอีกด้าน ไปอีกข้างหนึ่ง ของบางอย่างที่ถวายถ้าใส่รถพระที่นั่ง มีกลิ่น ต้องเอาไปใส่รถตามขบวน พระองค์มีพระกระแสรับสั่งกำชับด้วยว่า ถ้ามีรถดับเพลิง หรือรถพยาบาล ผ่านมา ต้องหยุดให้รถพยาบาล หรือรถดับเพลิงไปก่อน เพราะเขาสำคัญกว่า ไม่ใช่ว่า รถพยาบาล หรือรถดับเพลิง จะต้องหยุดรอขบวนพระองค์ ผมยังจำคำสอนของพระองค์แม่น” อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำว่า

เมื่อเข้าเป็นหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำเต็มตัว เทียบเท่าตำแหน่งผู้บัญชาการ พล.ต.อ.เสริมบอกว่า ติดปัญหาอีก เพราะตัวเองเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ต้องเลื่อนเป็นรองผู้บัญชาการก่อน คำสั่งออกมาเป็นรองผู้บัญชาการศึกษา บังเอิญตรงไปเข้าเฝ้าที่พระตำหนักสวนจิตรลดา ในหลวงเสด็จฯลงบันไดทอดพระเนตรเห็นก็รับสั่งว่า ให้ไปอยู่ในวัง ทำไมไปอยู่กองบัญชาการศึกษา เราก็ทูลตอบไปตามความจริงว่า ไม่ทราบพระพุทธเจ้าค่ะ จากนั้นไปพบอธิบดีกรมตำรวจบอกว่า ในหลวงรับสั่งมาแบบนี้จะทำอย่างไร  สุดท้ายกรมตำรวจแก้ปัญหาให้เป็นรองหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำทำหน้าที่หัวหน้าก่อน 1 ปี ถึงให้เป็นหัวหน้า

ถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทหลายปี เจ้าตัวเล่าอีกว่า อธิบดีพจน์ บุณยะจินดา โทรมาบอกว่า กรมตำรวจจะเลื่อนให้เป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ เราก็ถามว่า จะตั้งยังไง ยังไม่ได้ทูลพระเจ้าอยู่หัว เลยต้องรีบไปหาสมุหราชองค์รักษ์ ช่วยกราบบังคมทูลด้วยว่า เราไม่ได้วิ่งเต้น อีกไม่กี่ปีก็เกษียณแล้ว สรุปคือกิน 2 ตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจและหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำด้วย

   “อยู่จนอายุ 60 อีก 10 กว่าจะเกษียณ เก็บข้าวของในที่ทำงาน เครื่องแบบยกให้คนอื่นหมด ท่านราชองครักษ์โทรมาบอกว่า มีโปรดเกล้าให้ต่ออายุราชการ ผมยังถามว่า ต่อได้ด้วยหรือ ทราบว่า พระองค์ทรงให้องคมนตรีประชุม มีวินิจฉัยว่า พระองค์ทรงมีสิทธิจะต่ออายุราชการได้ตามพระราชอัธยาศัยในบางตำแหน่งที่ถูกกฎหมาย แต่บางคนในกรมตำรวจยังไม่วายกลัวว่า หากตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจว่างแล้วผมจะขึ้นทันที จึงมีการประชุมใหม่ให้ผมเป็นหัวหน้าตำรวจราชสำนักประจำตำแหน่งเดียว ผมก็บอกว่า ไม่ต้องห่วงหรอก ความประสงค์ของพระองค์ ทำให้ผมได้ช่วยงานสมเด็จพระเทพฯเวลาเสด็จเมืองนอก ผมไม่ได้อยากเป็นอธิบดีกรมตำรวจ” 

ได้ต่ออายุราชการปีต่อปีถึงอายุ 72 ปี อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ ตัดสินใจกราบบังคมทูลขอพระราชทานพิจารณาเรื่องต่ออายุราชการ เพราะเห็นว่า ตัวเองอายุมากแล้ว อีกอย่างต้องการให้นายตำรวจรุ่นน้องเลื่อนขึ้นมาทำหน้าที่แทนบ้าง “ครบวันเกิดอายุ 72 ปี ผมไปเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลว่า  ข้าพระพุทธเจ้าขอได้โปรดเรื่องต่ออายุราชการด้วย ข้าพระพุทธเจ้าพร้อมจะปฏิบัติตามรับสั่ง พระองค์ตรัสตอบว่า ดี มาพูดอย่างนี้ดีเลย ก็ถูกเขกหัวแรง เพราะผมบอกวันนี้ครบ 72 ขอพระราชทาน เคาะกระหม่อมด้วย พระองค์ยังทรงแซวว่า แก่จริงแล้วนะ”

“ชีวิตไม่เคยคิดมาก่อนจะได้มาถวายงานใกล้ชิดพระองค์ ซึ่งก็เป็นเรื่องประหลาดอยู่เหมือนกัน ในระหว่างที่เป็นนักเรียนไปเที่ยวหัวหินกับเพื่อนใกล้วังไกล วันหนึ่ง มีรถจี๊ปขับผ่านหน้าบ้านท่ามกลางฝนตก เห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงรถมากับพระราชชินี มีราชองค์รักษ์นั่งอยู่ข้างหลัง ปรากฏว่า รถติดหล่มอยู่หน้าบ้าน เลยวิ่งไปกับเพื่อนช่วยเข็นรถจี๊ปพระที่นั่ง เหมือนเป็นการถวายงานครั้งแรกในชีวิตผมเลย มันเป็นเรื่องบังเอิญจริง ๆ พระองค์ยังหันมาแย้มพระสรวล ส่วนผมไม่คิดอะไร ช่วยกันตามประสาเด็ก สนุกที่ได้เข็นรถมากกว่า” นายพลตำรวจเอกผู้ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดในหลวงภูมิพลสารภาพ

ภาพความประทับใจที่มีต่อพระองค์ท่านตลอดระยะเวลารับราชการถวายงานไปตามถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ พล.ต.อ.เสริมว่า พระองค์ทรงห่วงความเดือนร้อนของพสกนิกรอยู่เสมอ ตั้งแต่เวลามีพระสงค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปที่ไหน ทรงเลือกในเวลาที่รถไม่ติด เช่นตอนกลางคืน ยกตัวอย่างเสด็จ ฯ งานพระบรมสมเด็จพระศรีนรินทราบรมราชชนนี พระองค์จะเสด็จฯ หลังสองยาม เพื่อให้รถประชาชนไม่เดือดร้อน เวลาเสด็จฯ ทอดพระเนตรเห็นถนนโล่ง ยังเคยรับสั่งว่า ทำไมถนนโล่ง เพราะปิดถนนใช่หรือเปล่า ทั้งที่บางครั้งไม่ค่อยมีรถ  พระองค์ก็นึกว่า พวกเราไปปิดถนน

พล.ต.อ.เสริมเล่าต่อว่า เวลาเสด็จส่วนพระองค์จะมีรับสั่งให้ใกล้ชิดประชาชน เมื่อทรงเห็นประชาชน ยังอยู่ล้นหลามที่ถนน แทนจะทรงขึ้นรถพระที่นั่งเสด็จฯ กลับเลย พระองค์ทรงให้รถพระที่นั่งเลื่อนไปรอปลายแถวประชาชน พระองค์จะเสด็จฯ เยี่ยมประชาชนที่นอกถนนไปเรื่อยๆ เสร็จแล้วถึงทรงขึ้นรถไป บ่อยครั้งพระองค์ตะตรัสถามชาวบ้านถึงสารทุกข์สุขดิบ ทรงสนพระทัยความเป็นของพสกนิกร บางคนเกร็งเรื่องราชาศัพท์ พูดกันธรรมดา พระองค์จะรับสั่งกันเองไม่ต้องพูดราชาศัพท์ก็ได้

“เหมือนเวลาพูดวิทยุนี่ จะใช้คำวิทยุเลย อย่างนครบาลถวายพระนามเรียกขาน ร.9 พระองค์จะรับสั่ง ร.9 เรียกผ่านฟ้า  ใหม่ๆ ตำรวจประจำศูนย์ผ่านฟ้า พอได้ยิน ร.9 ก็ลุกขึ้นยืนตรงเลย ทั้งๆ ที่พระองค์ตรัสมาจากในวัง และมีพระราชปรารภว่า ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้าข้า หรือว่าเสด็จ ให้ใช้ภาษาธรรมดา สุดท้ายวิทยุ รหัส ว 1 ว 2 ว 3 อะไร พระองค์ทรงรู้หมด”

นายพลตำรวจเอกวัย 87 ปีลำดับเรื่องราวของพระเจ้าแผ่นดินอีกว่า ครั้งหนึ่งพระองค์เสด็จฯถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 เชิงสะพานพุทธยอดฟ้า เนื่องในวันจักรี พอเสด็จฯขึ้นรถพระที่นั่ง มีชายคนถึงถูกตำรวจล็อกไว้ตะโกนเรียก “ในหลวงช่วยด้วย” พระองค์รับสั่งให้หยุดรถพระที่นั่งแล้วพาพาชายคนนั้นมาเข้าเฝ้า ชายคนนั้นตัวสั่น พระองค์ทรงเปิดกระจกรถตรัสถามว่า มีเรื่องอะไร ให้ใจเย็น ๆ ค่อยพูดกัน ชายคนนั้นขอถวายฎีกา พระองค์ก็ตรัสว่า ฎีกาอยู่ไหน พอหายตัวสั่งก็วถายฎีกาเรื่องที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พระองค์ทรงรับส่งให้เจ้าหน้าที่พิจารณา

“ผมมากราบบังคมทูลเรื่องที่เกิดขึ้น พระองค์รับสั่งว่า เวลาตำรวจรักษาการณ์ทางเสด็จ เมื่อก่อนถือประเพณีว่า ให้ยืนหันหน้าเข้าหาประชาชน ทีนี้การหันหน้าหาประชาชน บางทีถ้าประชาชนยืน ตาเรามองเห็นอยู่แค่นี้ แล้วก็ต้องสำรวม ข้างๆ จะวิ่งมาเมื่อไหร่ ไม่มีทางรู้ ผมก็กราบบังคมทูลว่า ถ้าตำรวจรายทางหันหน้ารับเสด็จฯเหมือนในต่างประเทศ ปัญหาที่จะเกิดอย่างวันนั้นตำรวจจะวิ่งไปหยุดทัน ต่อมาพระองค์ทรงวิทยุมายังนครบาลให้ตำรวจพิจารณาเรื่องรับเสด็จเป็นยืนตะแคงข้าง ตอนแรกผู้บังคับบัญชามาว่าผม ไปทูลอย่างไร เพราะทำกันมาแบบนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ไม่มีใครกล้าเปลี่ยน แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้เปลี่ยน ก็ต้องเปลี่ยน พระองค์รับสั่งด้วยว่า ถ้าเผื่อต่างจังหวัดเขตอันตราย ให้ยืนกัน 2 คน อย่าไปยืนคนเดียว มีอะไรจะได้ช่วยเหลือกันได้ หรือหันหลังเข้าหากัน นับว่า พระองค์ท่านทรงสนพระทัยในเรื่องนี้มาก

ความทรงจำถึงพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลของหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำที่ไม่เคยลืมอีกเรื่องคือ พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินลงพื้นที่สีแดง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา โปรดให้เขาขึ้นเครื่องพระที่นั่งไปด้วย ตอนนั้นต้องเปลี่ยนเป็นปืนเอ็ม 16 ไม่ใช่ปืนพก การเสด็จเยี่ยมราษฎรแต่ละครั้งเป็นการส่วนพระองค์ ประทับรถพระที่นั่งพร้อมขบวนตามเสด็จผ่านเทือกเขาบูโด รถขบวนคันหนึ่งเสียขอออกนอกขบวน พระองค์รับสั่งให้หยุดขบวนทันที “รับสั่งต่อว่า เราจะไม่ทิ้งเขา จะรอจนกระทั่งรถวิศวะมาซ่อมให้เสร็จถึงจะไปด้วยกัน ไม่ใช่ทิ้งรถไว้คันเดียวแล้วเสด็จกลับก่อน เทือกเขาบูโดเวลานั้นอันตรายมาก พวกผมต้องวิ่งไปล้อมรถพระที่นั่ง รอจนกว่าวิศวกรซ่อมรถเสร็จ ทรงห่วงทุกคน ถ้าเป็นพื้นที่อันตรายยิ่งต้องระวัง”

ท้ายที่สุด นายพลตำรวจผู้ตามรอยพระบาทในหลวงบอกว่า อาจเป็นเพราะเราเป็นตำรวจนครบาล อยู่แต่ในเมือง พระองค์ท่านถึงมีรับสั่งว่า อยากให้ตามเสด็จไปทุกพื้นที่ เพื่อจะได้รู้พื้นที่อื่นบ้าง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ ทุกวันยังตั้งใจทำตามแนวพระราชดำริ ใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ก็มีความสุขแล้ว

เสริม จารุรัตน์ !!!    

RELATED ARTICLES