ร่างตำรวจใหม่ใครได้ประโยชน์

เหตุผลที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาผ่าน ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ….

เพราะมองประโยชน์ที่รับจากภาพส่วนรวม

เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสมและแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ

มีหลักประกันว่า ข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม

ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย 

การพิจารณาบำเหน็จความชอบตาม “ระบบคุณธรรม” ที่ชัดเจนจะทำให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อย และการรักษาความปลอดภัยของประชาชนได้อย่างมีอิสระและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ประกอบกับการที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ให้ความสำคัญกับหน่วยงานระดับตำรวจภูธรจังหวัดและสถานีตำรวจ เป็นหน่วยงานที่ให้บริการประชาชนและใกล้ชิดประชาชนที่สุด

กำหนดให้มีการจัดสรรทรัพยากร ทั้งอัตรากำลังพลและงบประมาณให้แก่หน่วยงานดังกล่าวก่อนเป็น “อันดับแรก”

เชื่อว่า จะช่วยให้การบริการประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจเรียกโดยย่อว่า “ก.ร.ตร.” มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำหรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจอันมิชอบ หรือการประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ

น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนที่ประชาชนได้รับจากการประพฤติปฏิบัติของข้าราชการตำรวจ

องค์กรดังกล่าวยังเป็นกลไกสำคัญในการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องและตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจด้วย

สำหรับ ร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. ….

คณะกรรมการกฤษฎีกามีความมั่นใจว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนยิ่งขึ้นในการแจ้งคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ

กล่าวคือ กำหนดให้พนักงานสอบสวนในทุกท้องที่ มีหน้าที่และอำนาจรับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษ ไม่ว่าเหตุจะเกิดขึ้นในท้องที่ใด ประชาชนจึงได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น

สามารถที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษแก่สถานีตำรวจท้องที่ใดก็ได้

เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษแล้ว จะต้องสอบสวนเบื้องต้นเท่าที่จะพึงทำได้ แล้วรีบส่งคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนเบื้องต้นไปยังพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

อีกทั้งยังได้กำหนดให้กรณีที่ทรัพย์สินสูญหาย ประชาชนไม่จำเป็นต้องไปแจ้งความต่อตำรวจก่อนแล้วจึงไปขอยังเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นอีกเพื่อให้ออกบัตร หรือเอกสารใหม่กรณีนี้จึงได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่รับแจ้งและออกเอกสารหรือหลักฐานให้แก่ประชาชนผู้แจ้งได้

อย่างไรก็ดี ไม่ห้ามพนักงานสอบสวนที่จะรับแจ้งได้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

สุดท้ายการปรับปรุงระบบการสอบสวนโดยให้พนักงานอัยการสามารถเข้าร่วมให้คำแนะนำในการสอบสวนได้ตั้งแต่ต้นจะช่วยอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญาให้แก่ประชาชนได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

คงต้องรอเมื่อถึงเวลากฎหมายมีผลบังคับใช้จริงจะมี “พวกลิงหลอกเจ้า” หรือเอาอำนาจบาตรใหญ่มากร่างใส่อำนาจหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างแท้จริงอีกหรือไม่

 

RELATED ARTICLES