ใช้สถิติอย่างชาญฉลาดเพื่อสู้อาชญากรรม(1)

มีแนวคิดจาก “แอนน์ มิลแกรม” นักกฎหมายสาวชาวอเมริกัน อดีตอัยการสูงสุดของรัฐนิวเจอร์ซีย์ ได้บรรยายพิเศษสะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของสหรัฐอเมริกาไว้น่าสนใจ

เธอไม่ใช่เก่งแค่ทฤษฎีแต่ลงสัมผัสและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

เมื่อครั้งเป็นอัยการสูงสุด เจ้าตัวว่า มีสองสิ่งที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแนวคิดของเธอเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญา  

สิ่งแรก เธอต้องการเข้าใจคนที่กำลังจะจับกุม ผู้ที่ถูกกล่าวหา และผู้ที่จับเข้าไปขังในเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศว่า ตัดสินใจถูกหรือไม่

แต่ไม่สามารถหาคำตอบนั้นได้

เพราะหน่วยงานใหญ่ด้านคดีอาญาไม่ได้เก็บข้อมูลสำคัญไว้ มันทำให้เธอหัวเสียอยู่ 1 เดือน เดินไปยังห้องประชุมที่เต็มไปด้วยนักสืบ และกองแฟ้มคดีเป็นตั้งๆ

พวกนักสืบนั่งอยู่ตรงนั้นพยายามจะหาข้อมูลเดียวกันกับที่เธอหาอยู่ ด้วยการค้นดูทีละคดี ย้อนหลังไปห้าปี ก่อนจะได้คำตอบว่า พวกเขาทำคดีมากมายเกี่ยวกับพ่อค้ายาเสพติดระดับหางแถวตามท้องถนนที่ไม่ห่างจากหน่วยงานตัวเอง

สิ่งที่สองที่เกิดขึ้น เธอบอกว่า ใช้เวลาวันหนึ่งในกรมตำรวจแคมเดน นิวเจอร์ซีย์ ขณะนั้นคือ เมืองที่อันตรายที่สุดในอเมริกา พบตำรวจทุกคนต่างทำงานหนัก และพยายามที่จะลดอาชญากรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคนใช้กระดาษโน้ตเล็กๆ สีเหลืองเขียนบันทึกแปะไว้บนบอร์ด

หนึ่งในนั้นพูดขึ้นว่า “เรามีคดีลักทรัพย์เมื่อสองอาทิตย์ก่อน แต่ไม่มีผู้ต้องสงสัย”

อีกคนก็พูดขึ้นว่า “เรามีคดียิงกันในย่านนี้ เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว แต่ไม่มีผู้ต้องสงสัย

ทำให้เธอมองว่า ตำรวจไม่ได้ใช้ข้อมูลในการทำงาน เพียงแค่พยายามจะสู้กับอาชญากรรมด้วยกระดาษโน้ตสีเหลือง

สัมผัสได้ถึงความล้มเหลว

เพราะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ใครเคยอยู่ในสารบบอาชญากรของหน่วย ไม่ได้แบ่งปันข้อมูล หรือใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์เพื่อช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นเพื่อช่วยลดอาชญากรรม

แอนน์ มิลแกรม สารภาพว่า เป็นเป็นครั้งแรกที่เธอเริ่มคิดเกี่ยวกับวิธีที่ตัดสินใจ จากเดิมทำงานเป็นอัยการผู้ช่วย เป็นอัยการรัฐบาลกลางมองดูคดีที่อยู่ตรงหน้า ตัดสินใจโดยใช้สัญชาตญาณ และประสบการณ์  เมื่อเป็นอัยการสูงสุด เธอกลับสามารถมองระบบทั้งหมดในภาพรวมที่ไม่ดีเท่าไรนัก

เธออยากทำสิ่งที่แตกต่างออกไป ต้องการที่จะนำเอาข้อมูล และการวิเคราะห์เชิงสถิติอย่างถี่ถ้วน เข้ามาใช้ในงานต่อสู้อาชญากรรม

สั้นๆ คือ เธอต้องการใช้ มันนีบอล (Moneyball) กับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

 

 

 

 

RELATED ARTICLES