“ความซื่อสัตย์ และจรรยาบรรณถ้าคุณยึดมั่นคุณก็อยู่ได้นาน อยู่ได้ยาว”

ถ่ายทอดชีวิตผ่านเลนส์บันทึกนาทีประวัติศาสตร์บ้านเมืองลงหน้าหนังสือพิมพ์มาไม่น้อย

ช่างภาพฝีมือดีอย่าง ป๋อ-นรรัตน์ ดิษยบุตร ยังวนเวียนไม่ห่างวงการสื่อ ทำงานเป็นแบ็กอัพให้กับฝ่ายช่างภาพ “หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการ” ออกลงสนามบ้างบางเวลาที่มีเหตุการณ์สำคัญเหมือนการชุมนุมใหญ่ของมวลมหาประชาชน

เขาเกิดในครอบครัวข้าราชการ พ่อทำงานอยู่กรมไปรษณีย์ แม่อยู่สำนักงานสถิติแห่งชาติ จบชั้นมัธยมปลายโรงเรียนเทพศิรินทร์ ไปต่อคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ทั้งที่ใจอยากเป็นศิลปินนักวาดรูป แต่ครอบครัวไม่สนับสนุน

เป็นนักกิจกรรมตัวยงตั้งแต่อยู่มัธยมเข้าชุมนุมเชียร์และแปรอักษร พอเรียนมหาวิทยาลัยเลือกทำค่ายอาสา ควบคู่กับงานถ่ายภาพ จบมาตกงานอยู่ 7 เดือน ตั้งใจว่า จะทำงานอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องเป็นครู สมัครไปทั่ว แต่ก็ไม่ได้ พอดี “สืบ นาคะเสถียร” ยิงตัวตายเลยมานั่งถามตัวเองเข้าป่าดีกว่า ถึงขั้นจะไปสมัครเป็นผู้พิทักษ์ป่า เพราะเริ่มท้อ และเบื่อกับการหางาน รู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีประโยชน์ จะไปแบมือขอเงินพ่อแม่รู้สึกว่าไม่ใช่

จังหวะมีเพื่อนจบประสานมิตรด้วยกันโทรศัพท์มาชวนว่า หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นต้องการช่างภาพ เขาเลยไม่ลังเลไปสมัครทันที ผ่านการสัมภาษณ์จากจำลอง บุญสอง หัวหน้าช่างภาพมืออาชีพจนได้รับงานทำเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2533  ถูกหมายงานแถลงข่าวของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่กำลังตั้งพรรคความหวังใหม่ในโรงแรมเอราวัณ

          เจ้าตัวเล่าว่า ไม่รู้อะไรเลย ตอนแรกเก้ ๆ กัง ๆ อยู่แค่ล็อบบี้ไม่กล้าเข้า พอเข้าได้ก็ถ่ายรูปไกล ๆ ไม่รู้แนว หลังจากนั้นก็ได้ไปงานแถลงข่าวเยอะๆ ไปงานสัมภาษณ์ หัวหน้าแนะนำให้ค่อยๆ ปรับ ให้ดูสไตล์หนังสือพิมพ์ที่ลงรูป ดูงานรุ่นพี่ ดูงานที่ใช้ เทียบกับสิ่งที่เราถ่ายไป บางงานเราถ่ายไป 2 ม้วนโดนด่า เละ ด้วยความที่เราไม่รู้ เพราะเขาถ่ายกันแค่ 15 ภาพก็เลิกแล้ว ตอนนั้นเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ต้องหยุดเมื่อไร หลังๆ ถึงได้รู้ว่าต้องหยุดเมื่อไหร่พอแล้ว

เพียงไม่กี่เดือน นรรัตน์ได้โอกาสพิสูจน์ฝีมือจากเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติล่มรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หนุ่มชาวกรุงบอกว่า ข้างในเห็นเรามือใหม่ห้ามลงพื้นที่ เพราะทหารปิดกรมประชาสัมพันธ์ ปิดสถานีโทรทัศน์ เราอยู่ข้างนอกก็ฝืน นั่งรถไปกับเพื่อนมติชน ได้ภาพบิ๊กจ๊อด-พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ตรวจแนวตรึงกำลังอยู่รังสิต เดอะเนชั่นมีเราไปคนเดียว เลยต้องใช้รูปของเรา เพราะความดื้อแท้ ๆ  ตั้งแต่นั้นมาโรงพิมพ์เริ่มวางใจ ให้วิทยุสื่อสารพร้อมนามเรียกขาน ได้กล้อง ได้เลนส์ ทำให้มีผลงานลงมากขึ้น

“พวกพี่เขาจะสอนเสมอว่า ให้อ่านข่าวเยอะ ๆ เพื่อจะจับประเด็นถูก ภาพที่ดี คือ สื่อความหมายได้โดยไม่ต้องอ่านบรรยายใต้ภาพ ยิ่งหนังสือพิมพ์ฝรั่งจะคัดภาพดีที่สุดลงเพียงรูปเดียวในหน้า 1 จะทำอย่างไรที่คนเห็นวางแพงแล้วจะหยิบขึ้นมาทันที มัน คือหน้าที่เราที่ต้องหามุมที่น่าสนใจ มันทำให้ผมต้องทำการบ้านมากขึ้น หามุมกล้องใหม่ ๆ”

จวบจนกระทั่งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 เขาถูกส่งลงสนามโดยไม่มีใครคาดคิดจะมีเหตุบานปลายไปสู่การนองเลือด นรรัตน์จำแม่นว่า ตามเกาะม็อบมาตั้งแต่เริ่มต้นชุมนุมใหม่ ๆ  มองว่า แค่ประท้วงธรรมดา มาระยะหลังเริ่มได้ข้อมูลแนวโน้มจะรุนแรง มีการเตือนสื่อให้ระวังโดนยึดฟิล์ม กระทั่งผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากสนามหลวงเพื่อไปทำเนียบรัฐบาล แต่โดนขึงลวดหนามขวางที่สะพานผ่านฟ้า สถานการณ์ตึงเครียดมีการขว้างปาใส่ตำรวจ เราไม่ได้ประจำตรงนั้น ทว่าติดต่อเพื่อนอีกคนไม่ได้เลยไปตามเจอเหตุการณ์พอดีจึงถ่ายรูปไว้

เขาบอกว่า ผู้ชุมนุมยึดรถดับเพลิงพยายามขับแหกเข้ามา สักพักตำรวจฮือล้อมผู้ชุมนุมคนหนึ่งที่หนีไม่ทัน โดนตำรวจลากเข้ามาเอาไม้หวด จำได้ว่าถ่ายไป 5 ชอต ถ่ายเสร็จก็โดนเพื่อนลากออกมาว่า ให้พอ กลัวจะโดนตีด้วย เพราะตอนนั้นเริ่มมั่วแล้ว ตัดสินใจถอดฟิล์มซ่อนในถุงเท้าเรียกแมสเซนเจอร์มารับ และย้ำไปว่า อย่าทำม้วนสำคัญนี้หาย ม้วนอื่นหายได้ เรามั่นใจว่า ได้ภาพแน่ แต่ไม่คิดว่าจะลงหรือไม่ เนื่องจากสื่อถูกกดดัน

วันรุ่งขึ้นเดอะเนชั่นลงภาพตำรวจรุมทำร้ายม็อบอย่างโหดเหี้ยมเต็มหน้า 1 ฉบับเดียวสร้างความฮึกเหิมให้แก่ม็อบถึงขั้นถ่ายเอกสารประจานความอำมหิตของรัฐบาลทั่วพื้นที่นำไปสู่สถานการณ์ความตึงเครียด เมื่อกองทัพทหารเข้าสลายผู้ชุมนุมมีการใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้บริสุทธิ์ต่อหน้าต่อตาสื่อมวลชน “ มันเหมือนนรกแตก ผมอยู่ในนั้นออกไม่ได้ ยอมรับว่ากลัวเห็นคนถูกยิงร่วง สติแตกต้องวิ่งหนีอย่างเดียว เข้าไปโรงแรมรัตนโกสินทร์ที่เปิดห้องพักไว้ พยายามตั้งสติ อัดบุหรี่ไป 2 มวนตัวยังสั่น ไม่นานมีพี่นักข่าวบอกให้รีบออกมา เพราะทหารจะเข้าเคลียร์เลยพากันหนีออกไปหลบบ้านนักข่าวบางกอกโพสต์ไม่ไกลจากโรงแรม” อดีตช่างภาพเดอะเนชั่นถ่ายทอดนาทีระทึก “ต้องนอนฟังเสียงปืนทั้งคืน ไม่มีใครพูดอะไรสักคำ ปิดไฟเงียบสนิท อยู่ในสภาพเหมือนคนหนีตาย กว่าเหตุการณ์จะคลี่คลาย ทำเอาเกลียดทหารไปเลย”

ปรากฏว่า ภาพบันทึกพฤษภาเลือดของนรรัตน์ ดิษยบุตร ครั้งนั้นได้รับรางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยมของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยในปีถัดมา ก่อนมาได้รางวัลอันดับ 2 ภาพยอดเยี่ยมของอาเซียนปีเดียวกัน นับเป็นรางวัลแห่งความภูมิใจ ทั้งที่ผ่านมาไม่เคยศรัทธาในการประกวด เจ้าตัวยอมรับว่า เราไม่เชื่อว่า งานศิลปะจะถูกตัดสินด้วยคนไม่กี่คนได้ เพื่อนก็ส่งกัน มีแต่เราที่ไม่เชื่อว่ามันจะวัดได้ ถ้ารูปมันดีจริง คนก็ชอบเอง ไม่ต้องมีอะไรมาการันตี มันมีพลังของมันเอง คน 7- 8 มานั่งชี้ว่ารูปนี้สวย มีกรอบเหมือนถูกบังคับ เราไม่ได้สนใจ เรารู้แค่ว่า พ่อแม่ เพื่อนฝูงรู้ว่า เราได้รูป เราก็พอใจ ไม่จำเป็นต้องไปประกาศให้โลกรู้

มือชัตเตอร์ระดับตำนานคนข่าวระบายความอัดอั้นที่ผ่านมาว่า ไม่เคยพูดกับใคร ไม่เคยมาบอกใคร แต่รู้กันเองในวงการ ไม่ได้อยากโชว์อะไรด้วย บังเอิญที่เราอยู่ถูกที่ถูกเวลา เราก็ทำหน้าที่ของเรา มีคนมาถามเหมือนกันว่า ทำอย่างไรถึงได้รางวัล เราก็ไม่ได้ทำอะไร นอกจากทำให้ดีที่สุด รางวัลก็คือรางวัล เป็นผลพวงของการที่ทำอะไรไปแล้วสำเร็จ มันก็คือ รางวัล แต่ต้องเริ่มจากการลงมือทำ แล้วทำให้ดีที่สุดแค่นั้น เดี๋ยวมันมาเอง ถ้าเราวิ่งพยายามหา บางทีก็ไม่เจอ มันจะไม่เต็มที่ เวลาทำก็ต้องทำให้เต็มๆ จะได้ไม่มานั่งเสียดายทีหลัง ถ้าได้หรือไม่ได้จะบอกตัวเองว่า ทำเต็มที่แล้ว

อยู่เดอะเนชั่น 9 ปี นรรัตน์ย้ายข้ามค่ายสลับขั้วไปสังกัดบางกอกโพสต์ตามคำชวนของรุ่นพี่ช่างภาพที่นับถือ ไปเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ในส่วนของระบบภาพ เรียนรู้เรื่องการพิมพ์ การทำงานด้านรูป สะสมประสบการณ์ 5 ปี พี่ที่ชวนไปลาออก เขาเลยขอออกด้วย เพราะนโยบายมุมมองการทำงานเริ่มต่างกัน เมื่อรู้ว่า มันไม่สนุกแล้วก็ตัดสินใจไขก๊อกย้ายสังกัดหนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ที่เปิดตัวใหม่พอดี รับบทเป็นหัวหน้าช่างภาพอยู่ 5 ปี หนังสือพิมพ์เปลี่ยนแนวอุดมการณ์สวนทางความคิดตัวเองอีก ทำให้เขาโบกมือลาหันไปรับงานอิสระเปิดบริษัทรับจ้างทำหนังสือเอง

หายหน้าไป 2 ปี หนังสือพิมพ์ผู้จัดการขาดคนจึงหวนคืนวงการลงสนามข่าวไล่ชัตเตอร์ผ่านมุมมองมากประสบการณ์ของตัวเองอีกระลอก แต่ก็ทำให้รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงในโลกสื่อยุคใหม่ที่นรรัตน์อยากฝากแง่คิดว่า ด้วยความเป็นสื่อ ต้องรู้จักว่า เราเป็นอะไร เป็นใคร มันเหมือนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ทำได้ “ผมเคยทำแล้ว และทำได้ ในเรื่องของจรรยาบรรณ ถ้าเราซื่อสัตย์ ความซื่อสัตย์จะคุ้มครองเรา ถ้าเรามีจรรยาบรรณก็ทำอะไรเราไม่ได้ ยิ่งเรื่องรูป ผมเป็นคนหนึ่งที่ห้ามการขอรูปกันเอง ผมรู้สึกว่า ถ้าคุณขอกันเองในสนามไม่เกี่ยวกับองค์กร มันจะเป็นเรื่องของบุญคุณไม่จบสิ้น เขาจ้างมาถ่ายรูป ไม่ได้จ้างมาขอรูป”

นรรัตน์น้ำเสียงจริงจังว่า  เราควรภูมิใจในรูปตัวเอง ถ่ายมาไม่ดีมันก็ต้องมีรูปที่ดีกว่า อย่าขุดรากตัวเอง ทำอะไรแล้วแต่ อย่าทำลายตัวเอง เพราะมันต้องรู้ว่า เราเป็นใคร ทำอะไร และพยายามอย่าดูถูกตัวเอง คนอื่นดูถูกเยอะแล้ว เราต้องทำให้เห็น เหมือนพี่คนหนึ่งบอกไว้ เวลาไปถ่ายรูป นักข่าวมักมาบอกให้ถ่ายอย่างนั้นอย่างนี้ แกถอดกล้องจากคอแล้วบอกว่า เอาเลย คุณถ่ายได้เลย อยากได้อะไรก็ถ่าย ถามว่าทำไมทำแบบนั้น แกก็ตอบว่า คุณก็ทำหน้าที่คุณไป คุณมีหน้าที่เขียนข่าวให้ดี เขามีหน้าที่ถ่ายรูปให้ดี รู้ว่าต้องถ่ายอะไร อยากได้อะไรก็บอก ไม่ต้องมากำกับ ถ้าแบบนี้ก็มาทำเอง

ช่างภาพหนุ่มรุ่นเก๋ายังเปรียบเทียบว่า บางคนมองการถ่ายภาพง่าย แต่จริง ๆ มันไม่ใช่หวัด ที่ไอจามใส่กัน 2 ทีแล้วก็เป็น มันต้องผ่านการเรียนรู้ ถ่ายรูปมันอาจง่าย แต่ถ่ายแล้วให้ดีเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  ถ้าเราพยายามบอกตัวเองว่า มันเป็นอาชีพ มันเป็นวิชาชีพ เราก็เอาสิ่งที่ดีที่สุดมารวมกันแล้วนำเสนอให้ดีที่สุด เหมือนเวลาแต่งตัว พอเจอหน้ากันดูเรื่องการแต่งกาย เขาก็ดูถูกได้ว่า ช่างภาพแต่งตัวดูไม่ดี ใส่เสื้อยืด มันไม่ใช่ อยู่ทำเนียบรัฐบาล อยู่สภามาใส่เสื้อยืดไม่ได้ มันไม่ใช่ กางเกงยีนส์ยังพอรับได้ ใส่เสื้อโปโล ยังพอทน เราไม่ได้แบกตัวเองไป แต่พาองค์กรไปด้วย พาวิชาชีพติดตัวไปด้วย แต่งตัวไม่ดีก็เท่ากับทำลายตัวเอง ควรแต่งตัวให้เหมาะสม เคารพสถานที่

“ผมเชื่อว่า ความซื่อสัตย์ และจรรยาบรรณถ้าคุณยึดมั่นคุณก็อยู่ได้นาน อยู่ได้ยาว แล้วจะทำให้เขาดูถูกทำไม ควรยืดอกอย่างเต็มที่ ผมแบบนี้ตลอด พยายามทำให้ได้ เวลาทำอะไรต้องมีหลักให้เราจับสักอัน เราจะได้ยืนอย่างมั่นคง สบตาคนได้ ไม่ต้องเขินอาย หายใจก็ไม่ต้องกลัวเปลืองอากาศ” นรรัตน์หยอดข้อคิด

RELATED ARTICLES