โลกความจริงในงานสอบสวน

“ไม่น่าแปลกใจ ที่ตำรวจอยากหนีงานสอบสวน”

พ.ต.ท.สุริยา แป้นเกิด สารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรยะหา จังหวัดยะลา แสดงความเห็นผ่านเพจ Suriya pankerd police อย่างตรงไปตรงมาถึง ร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีเตรียมเสนอฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา

เจ้าของผลงานพ็อกเกตบุ๊ก “ชีวิตพนักงานสอบสวน” ระบายความรู้สะท้อนความจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรรม

โลกสวย

ออกกฎหมายกันสนุก สั่งให้ทำโน้นทำนี่ แต่มีใครคิดถึงคนทำงานบ้าง

“พนักงานสอบสวน อัยการ ต้องเหนื่อยกันอีกเยอะ นี้แค่ แก้ไข ป.วิ.อาญา เดี๋ยวยังมี พรบ.สอบสวนฯ อีก ให้พนักงานสอบสวน ตายหยังเขียด” สารวัตรคนดังว่า

ป.วิ.อาญา แก้ไขเพิ่มเติม คดีเกิน 5 ปี สอบสวนปากคำ ให้บันทึกภาพและเสียงด้วย

“ฝันไปเถอะว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะซื้อกล้องวีดีโอให้ และที่ผ่านมา ห้องสอบเด็ก พนักงานสอบสวนหุ้นกันซื้อกล้องวีดีโอ โทรทัศน์ ไว้ที่สำนักงานอัยการทั้งนั้น”

คดีเกิน 5 ปี มีมาก ต้องใช้กล้องใครกล้องมัน ใช้ร่วมกัน อาจไม่ทัน

ใครเป็นพนักงานสอบสวนเตรียมตังค์ไว้

คดีโทษเกิน 10 ปี หรือมีการร้องขอแจ้งอัยการร่วมสอบสวน

“อัยการยะลา มี 11 คน มี 16 โรงพัก คดีก่อการร้าย พยายามฆ่า ครอบครองยาบ้าเพื่อจำหน่าย ลักทรัพย์ 2 อนุโดยใช้ยานพาหนะ ชิงปล้น โทษเกิน 10 ปี อัยการจะไหวไหม ตระเวนเดินสายร่วมสอบ ในแต่ละวันอย่างน้อย 10 โรงพัก ที่มีคดีโทษเกิน 10 ปี คิดว่า จะใช้อัยการเข้าเวรร่วมสอบกับพนักงานสอบสวนวันละกี่คน” พ.ต.ท.สุริยายกตัวอย่างภาพความเป็นจริงในพื้นที่จังหวัดยะลา

อัยการยังมีอีกหลายหน้าที่ ยังต้องว่าความ ยื่นฟ้องในศาลอีก

อัยการจะพอเข้าเวรร่วมสอบสวนไหม

คิดว่า อัยการจะเดินทางไปสอบที่โรงพักด้วยตัวเอง หรือให้พนักงานสอบสวนแต่ละโรงพักนำผู้เสียหาย พยาน ผู้ต้องหามาสอบที่สำนักงานอัยการ

“ผมว่า น่าจะประการหลัง พนักงานสอบสวนไปนั่งรอคิวกันสำนักงานอัยการ ผู้เสียหาย ลูกถูกยิงถูกแทง อย่าโกรธพนักงานสอบสวนนะ ถ้าลูกตายแล้วยังต้องไปนั่งรออัยการร่วมสอบปากคำอีกเป็นวันๆ”

นอกจากนี้ ยังมีร้องทุกข์ทางไปรษณีย์ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือร้องนอกเขต

ถ้าร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนเห็นว่า คดีเกิน 5 ปี ต้องบันทึกภาพขณะสอบสวน หรือเกิน 10 ปี ต้องแจ้งอัยการร่วมสอบ ต้องเรียกมาสอบ ถ้าเรียกแล้วไม่ยอมมาปวดหัวอีก คดีค้างอีก ถ้าร้องทุกข์แล้วไม่ตัดเลขคดี หรือตัดเลขคดีช้า

ก็จะโดนร้องเรียนวินัยอีก

ตัดเลขทันที เรียกมาสอบแล้วไม่มา คดีค้างล่าช้า โดนอีก

เจ้าตัวยังย้อนถึงสาระสำคัญประกอบความเห็นข้างต้นของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมวิอาญาอีกรอบ

1.กำหนดให้สามารถร้องทุกข์นอกเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนได้ ตามมาตรา 123

  1. กำหนดให้มีการร่วมสอบสวนระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ (โทษเกิน 10 ปี หรือคดีที่กำหนด) ตามมาตรา 121/1
  2. ร้องทุกข์ทางไปรษณีย์หรืออิเล็กทรอนิกส์ได้ ตามมาตรา 124/2
  3. คดีโทษ 5 ปี ขึ้นไป สอบสวนต้องบันทึกภาพและเสียง ตามมาตรา 136

ความเห็นของ พ.ต.ท.สุริยา แป้นเกิด เสมือนตอกย้ำความจริงของ “พวกโลกสวย” รวยความคิดที่เต็มไปด้วยอคติ

ดัดจริต แต่ไม่รู้จักชีวิตพนักงานสอบสวนดีพอ !!!

RELATED ARTICLES