วีรบุรุษนาประดู่

“ตำรวจคือผู้รับใช้ประชาชน ไม่ใช่นายประชาชน” เป็นอุดมคติของ “หมู่ตั้ม” ส.ต.อ.เฉลิมพล คมขำ ยึดถือและปฏิบัติมาตลอดการใช้ชีวิตผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

เขากลายเป็นอีก วีรบุรุษที่ไร้ลมหายใจ เมื่อความตายมาพรากชีวิต สังเวยความรุนแรงบนสมรภูมิรบนอกตำราที่ยืดเยื้อเกินกว่า 15   ปี ในดินแดนด้ามขวานประเทศ

หลังจากเหตุการณ์ผู้ก่อความไม่สงบใช้อาวุธสงครามบุกยิงถล่มสถานีตำรวจภูธรนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เมื่อเที่ยงเศษของวันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม 2562 กระสุนเข้าร่าง ส.ต.อ.เฉลิมพล คมขำ ผู้บังคับหมู่หน่วยปฏิบัติการพิเศษของโรงพักเสียชีวิตคาป้อมรักษาการณ์ด้านหน้า

เขาตายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ชาวบ้านหลายคนหยุดพักผ่อนอยู่กับครอบครัว

ถือเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญอีกระลอก

ประวัติของเขาเกิดที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จบวิทยาลัยการอาชีพหลังสวน กำลังจะไปต่อระดับปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยรังสิต ทว่าชีวิตพลิกผัน เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดรับบุคคลภายนอกวุฒิการศึกษามัธยมปลาย หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ ที่เป็นทหารกองหนุน และเคยรับราชการในกองประจำการ หรือเคยเป็นอาสาสมัครทหารพรานรับราชการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อน

บรรจุเป็นชั้นประทวนในศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีพิเศษจำนวน 1,700 อัตรา

ประเดิมเป็น “รุ่นแรก” ที่ทำให้เขาสมัครเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “นักรบสมรภูมิใต้” รับราชการในตำแหน่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษจังหวัดปัตตานี ประจำอยู่สถานีตำรวจภูธรโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2555

ตลอดระยะเวลารับราชการ เขาทุ่มเทสร้างงานมวลชนพบปะผู้คนในพื้นที่จนเป็นที่รักของชาวบ้านและเด็กนักเรียนไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรือมุสลิม

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2562 เพิ่งได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่ประจำเฉพาะกิจหน่วยปฏิบัติการพิเศษปัตตานีที่ 33 เข้าประจำการโรงพักนาประดู่

ก่อนพลีชีพสังเวยความอำมหิตในแผ่นดินปลายด้ามขวาน

มีชาวเน็ตโพสต์ข้อความแสดงความเสียใจมากมายในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขา แต่ไม่ซาบซึ้งกินใจและสุดเศร้าเท่าความรู้สึกของ “แตง”อัจฉรา คมขำ ครูโรงเรียนละแมวิทยา จังหวัดชุมพร น้องสาวที่โพสต์อาลัยแด่พี่ชายที่จากไประหว่างเดินทางไปรับศพ

“รู้ตั้งแต่แรก รู้ตั้งแต่เริ่ม การที่พี่ตัดสินใจมาทำงานที่ตรงนี้มันมีความเสี่ยงสูง แต่พี่ก็มักพูดเสมอว่า ถ้าไม่คนเรามันจะตายยังไงก็ต้องตาย

หนูรู้ว่าสักวันนึงต้องมีวันนี้ แต่พอมาถึงวันนี้ หนูทำใจรับมันไม่ได้จริงๆ จะทำใจยังไงถึงจะไหว ตอนนี้พ่อกับแม่จะอ่อนแอสักแค่ไหน

พี่บอกเสมอพี่รักและภักดีในการทำหน้าที่ตรงนี้ หนูรู้ว่าครั้งนี้พี่ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว พี่อาจมีความสุขที่พี่จากไปในหน้าที่ แต่คนทางนี้ตั้งกี่คนที่เสียใจกับการจากไปโดยไม่ได้ร่ำลา….”

ต้องเสียน้ำตาอีกแค่ไหนถึงจะทำใจได้

เธอยังรำพันด้วยว่า ประโยคที่พี่ชายมักพูดเสมอ เมื่อครอบครัวขอให้ย้ายกลับมาทำงานที่บ้าน

“พี่รักในที่ตรงนี้ เชื่อพี่ คนเรามันจะตาย อยู่ที่ไหนก็ต้องตาย”

น้องสาวของหมู่ตั้มอยากอยากตื่นขึ้นมาแล้วให้ทุกอย่างเป็นแค่ฝัน

“หนูไม่รู้จะเดินหน้าต่อไปยังไง หนูไม่รู้ต้องตั้งหลักยังไงให้ไหว คือ หนูไม่รู้อะไรเลย หนูเชื่อว่าพี่คงไปสบายแล้ว พี่ทำหน้าที่ตรงนั้นดีที่สุดแล้ว พี่ไม่ต้องห่วงทางบ้าน หนูสัญญาจะดูและพ่อแม่และน้องให้ดีที่สุด ให้เหมือนที่เราเคยคุยกันไว้

26 ปีที่มีพี่เป็นช่วงที่ดีที่สุด ขอให้พี่ไปสู่สุขคติ หากชาติหน้าฉันใดหนูขอเกิดมาเป็นครอบครัวเดียวกับพี่อีก หนูรู้พี่มองหนูอยู่ ทุกครั้งที่หนูร้องไห้ พี่จะคอยปลอบ ครั้งนี้ก็ขอให้พี่ค่อยปลอบหนูเช่นกัน”

ทิ้งท้ายกับประโยคที่เธอไม่เคยพูดเลย

รักพี่ตั้ม

ขอสดุดีวีรกรรมที่เสียสละของ ส.ต.อ.เฉลิมพล คมขำ อีกวีรบุรุษตำรวจกล้าแห่งชายแดน 3 จังหวัดภาคใต้

RELATED ARTICLES