เปิดโลกตำรวจสมาชิกอาเซียน

ได้รับเชิญไปร่วมฟังงานเสวนาว่าด้วยหัวข้อ “การบริหารงานตำรวจในประเทศอาเซียน : บทเรียนเพื่อพัฒนาตำรวจไทย” ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน

มี พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน พร้อม ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และ รศ.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยฝ่ายสวัสดิการสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ผู้อนุมัติทุนโครงการวิจัยครั้งสำคัญ

ที่ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าโครงการภายใต้ชื่อ “การศึกษาเปรียบเทียบการบริหารจัดการงานตำรวจและกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อการดูแลความปลอดภัยสาธารณะ”

รวบรวมคณะวิจัยคุณภาพ อาทิ ศ.พล.ต.ต.วีรพล กุลบุตร พ.ต.อ.ปรีดา สถาวร พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รศ.พ.ต.ท.กฤษณพงค์ พูตระกูล ใช้เวลานาน 4 ปี ลงเจาะลึกตำรวจประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน

เพื่อศึกษาเปรียบเทียบสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมและการบริหารจัดการงานตำรวจและกฎหมายที่เกี่ยวข้องของ 10 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนิเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม รวมถึงประเทศไทย

กำหนดกรอบแนวความคิดลงลึกถึงสภาพสังคมและเศรษฐกิจกับอาชญากรรมในแต่ละประเทศ มีทั้งอยู่บนคาบสมุทร และเป็นเกาะหรือหมู่เกาะ ประเทศขนาดใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย เมียนมา ประเทศขนาดเล็ก เช่น สิงคโปร์ บูรไน อีกทั้งลักษณะทางประชากรที่แตกต่างกัน

เหล่านี้ส่งผลต่อความแตกต่างของสภาพอาชญากรรมทั้งภายในประเทศและอาชญากรรมข้ามชาติ

ทีมนักวิจัยพบว่า ระดับความเติบโตทางเศรษฐกิจและการเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นปัจจัยต่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ อาชญากรรมไซเบอร์ และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในภูมิภาคอาเซียน

ขณะที่คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์มีสัดส่วนที่สร้างความเดือดร้อนมากที่สุด

ส่วนปัจจัยด้านอาวุธปืนส่งให้อาชญากรรมที่เกิดขึ้นในบางประเทศมีความรุนแรง

โครงสร้างการเมืองการปกครองของแต่ละประเทศยังมีความสัมพันธ์ต่อการจัดรูปแบบองค์กรและการแบ่งเขตพื้นที่รับผิดชอบขอบหน่วยงานตำรวจในประเทศอาเซียนที่มีความแตกต่างกัน เช่น อินโดนิเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม แบ่งหน่วยงานตำรวจในพื้นที่ออกเป็น 4 ระดับ

ประเทศที่มีขนาดกลาง เช่น กัมพูชา ลาว และไทย แบ่งเป็น 3 ระดับ ประเทศขนาดเล็กอย่าง สิงคโปร์ บูรไน แบ่งเป็น 2 ระดับ

ระบอบการปกครองยังส่งผลต่อลักษณะการจัดโครงสร้างองค์กรของหน่วยงานตำรวจ ตามวิวัฒนการจากประวัติศาสตร์ในแต่ละประเทศ

นักวิจัยได้แบ่งตำรวจแบบแอลโกลประชาธิปไตยแบบพีล (Democratic Anglo-Peelian) ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เน้นบทบาทตำรวจในการป้องกันอาชญากรรม รักษาความสงบเรียบร้อยของชุมชน

ตัวแบบตำรวจภาคพื้นทวีปแบบประชาธิปไตย (Democratic Continental) ได้แก่ กัมพูชา อินโดนิเซีย บทบาทตำรวจมุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมาย ตำรวจมีลักษณะเป็นกองกำลังกึ่งทหาร

ส่วนแบบอำนาจนิยมในรูปแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ มีลาว และเวียดนาม

สุดท้ายแบบผสมระหว่างตัวแบบตำรวจแบบแองโกลประชาธิปไตยแบบพีล กับตัวแบบตำรวจภาคพื้นที่ทวีปแบบประชาธิปไตยอย่างประเทศไทย ได้รับอิทธิพลจากการจัดรูปบบตำรวจทั้งจากอังกฤษและฝรั่งเศส

ทำให้เกิดความแตกต่างของแต่ละประเทศสมาชิกภูมิภาคอาเซียน

แล้วพรุ่งนี้ผู้เขียนจะยกยอดไปว่ากันต่อ

ถึงเหตุผลที่ทำไมต้องเกิดโครงการวิจัยชิ้นสำคัญของตำรวจภูมิภาคอาเซียน

 

RELATED ARTICLES