ถึงคิวส่องตำรวจเมียนมา

ไล่เลาะมาถึงประเทศเพื่อนบ้านฝั่งภาคตะวันตก

สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวอยู่ลำดับต่ำ แต่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง หลังจากเมื่อปี 2550 รัฐบาลเปิดประเทศประกาศนโยบายเศรษฐกิจเสรีให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตและการลงทุนเพิ่มากขึ้น

ส่วนสภาพอาชญากรรมทั่วไป แม้จะมีไม่การเผยแพร่ข้อมูลสถิติอาชญากรรมอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่จากปัญหาความยากจนในท้องถิ่น และค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รายได้ที่มีเพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของคนต่างชาติ ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นปัจจัยที่นำไปสู่แนวโน้มของปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น

อาชญากรรมที่เกิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ ได้แก่ ปล้นทรัพย์ในเวลากลางคืน คดีเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในถนนสาธารณะ การเข้าไปลักทรัพย์ในบ้าน หรือคดีฆาตกรรม ส่วนคดีเล็กน้อยที่มีการแจ้งเจ้าหน้าที่เป็นอาชญากรรมพื้นฐานที่ไม่มีความรุนแรง อาทิ การวิ่งราวกระเป๋าและลักทรัพย์

ถึงกระนั้น อาชญากรรมจำนวนไม่น้อยที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ถูกบันทึกหรือจัดเก็บเป็นสถิติอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม เมียนมาไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปครอบครองอาวุธปืน อาวุธที่กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นอาวุธมีด แต่เนื่องจากระบบการจัดเก็บข้อมูลยังไม่ครบถ้วนทำให้ตัวเลขอาจไม่สะท้อนคดีที่แท้จริง

สำหรับปัญหายาเสพติด เมียนมาถือเป็นแหล่งผลิตฝิ่นที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลกรองจากอัฟกานิสถาน ส่วนใหญ่นำมาผลิตเป็นเฮโรอีน ขณะที่ยาเสพติดประเภทเมแอมเฟตามีน ก็เป็นยาเสพติด อีกประเภทหนึ่งที่มีแหล่งผลิตในเมียนมา โดยเฉพาะในพื้นที่ “สามเหลี่มทองคำ” และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉานบริเวณตะเข็บขายแดนไทย ลาว และจีน

ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มกบฏอาศัยรายได้จากยาเสพติดในการต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมา ยาเสพติดที่ผลิตในเมียนมาถึงถูกลักลอบขนออกไปจำหน่วยในเอเซียและพื้นที่อื่น ๆ มีฐานการผลิตส่วนใหญ่อยู่ในความควบคุมของกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อย

รูปแบบโครงสร้างองค์กรและบริหารงานตำรวจในยุคสมัยปกครองโดยกษัตริย์ จัดตั้งลักษณะเป็นตำรวจประจำหมู่บ้านและเป็นกองกำลังสำรองของกองทัพ กระทั่งตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษได้จัดการแบบตำรวจเมืองผู้ดี มีสถานีตำรวจแห่งแรกขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1825 มีหน้าที่ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมไม่ร้ายแรงช่วยกองทัพทหารในการตรวจตราพื้นที่

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตำรวจเมียนมาได้รับการจัดตั้งใหม่เป็นตำรวจติดอาวุธ มีบทบาทในการฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องการรักษาความมั่นคงภายในที่มีการคุกคามจากโจรในพื้นที่ติดต่อประเทศอินเดีย ผู้ก่อความไม่สงบคอมมิวนิสต์ และกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ

ต่อมาเมียนมาได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1948 กองทัพมีความเข้มแข็งขึ้นในการบริหารจัดการบริหารกิจการภายในประเทศ สุดท้ายเมื่อเกิดการปฏิวัติโดย “นายพลเนวิน” บทบาทของตำรวจลดลง เป็นตำรวจทหารแห่งสหภาพเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ

จนสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป มีความพยายามปฏิรูปตำรวจให้ปฏิบัติงานตอบสนองประชาชนและชุมชนมากขึ้น ปัจจุบันกองกำลังตำรวจเมียนมา เป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย กองบัญชาการตั้งอยู่ที่กรุงเนปยีดอ เมืองหลวงแห่งใหม่

มีอำนาจหน้าที่ป้องกันอาชญากรรม สืบสวนและดำเนินคดีอาชญากรรม รักษาความสงบเรียบร้อยให้แก่ประชาชน ความมั่นคงสาธารณะ และการบังคับใช้กฎหมายด้านยาเสพติด

ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด คือ “อธิบดีกองกำลังตำรวจเมียนมา” มียศ พลตำรวจตรี ดูแลควบคุมสั่งการกองกำลังตำรวจทั้งหมด ประกอบโครงสร้างด้วย กองบัญชาการ กำลังตำรวจรัฐและเขตการปกครอง หน่วยพิเศษ ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจ หน่วยกำลังสำรอง หน่วยควบคุมกองพันตำรวจต่อสู้

กำลังพลของตำรวจเมียนมามีประมาณ 93,000 นาย แบ่งเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรอาวุโส ชั้นสัญญาบัตร และชั้นประทวน มีสถานีตำรวจ 1,256 แห่ง แม้ในอดีตสถาบันตำรวจในเมียนมาได้รับการกล่าวถึงน้อยมาก บทบาทในการรักษาความมั่นคงและกิจการต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับสถาบันทหารเป็นส่วนใหญ่ แต่ภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปเมื่อส้นยุคของนายพลเนวิน มีความพยายามจะปฏิรูปตำรวจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

มุ่งหมายให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเป็นวิชาชีพ ให้ความสนใจกับงานตำรวจที่ยึดชุมชนเป็นพื้นฐาน ให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือกับประชาชน การใช้สื่อออนไลน์ อีกทั้งกำหนดเป้าหมายแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ได้ภายใน 15 ปี

ถือเป็นนโยบายสำคัญนโยบายหนึ่งของรัฐบาลเมียนมา

RELATED ARTICLES