ว่าด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติไทย

ประเทศสุดท้ายที่จะนำเสนอผลงานวิจัยการบริหารจัดการตำรวจและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อการดูแลความปลอดภัยสาธารณะประเทศสมาชิกของทีมงาน พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คือ ราชอาณาจักรไทย

สภาพปัญหาอาชญากรรมและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศพบว่า คดีอาญาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรับแจ้งในรอบปีงบประมาณ 2560 มีจำนวน 494,827 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ 459,425   คน คิดเป็นร้อยละ 92.85

คดีที่รัฐเป็นผู้เสียหายมีจำนวนมากถึง 396,454 คดี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของคดีที่รับแจ้งทั้งหมด รองลงมาคือ คดีเกี่ยวกับทรัพย์ 14,832 คดี ส่วนคดีความผิดพิเศษ มี 12,107 คดี

กลุ่มความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหาย สัดส่วนมากสุดเป็นประเภทคดียาเสพติด มีตัวเลขรับแจ้งและจับกุมในปีงบประมาณ 2560 จำนวน 270,065 คดี รองลงมาเป็นการพนัน 45,639 คดี และคดีอาวุธปืน 26,057 คดี

ลักษณะของเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในที่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานคร เป็นการกระทำผิดที่ผู้กระทำผิดไม่เผชิญหน้ากับเหยื่อและการกระทำผิดที่อาศัยช่องโอกาส ได้แก่ วิ่งราวทรัพย์ด้วยการขี่รถจักรยานยนต์กระชากกระเป๋า กระชากสร้อยคอทองคำ ล้วงกระเป๋า กรีดกระเป๋า ลักเล็กขโมยน้อย ใช้กลอุบายเพื่อลักทรัพย์ในร้านค้าทองและอัญมณี หลอกลวงนักท่องเที่ยว เป็นต้น

องค์อาชญากรรมข้ามชาติที่พบในประเทศไทยจะเป็นอาชญากรรมข้ามชาติเกี่ยวกับการฟอกเงิน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก๊งยาเสพติด แก๊งโจรกรรมรถ โจรกรรมทรัพย์สินและฉ้อโกง แก๊งปล้อมเอกสารและปลอมธนบัตร ค้าสัตว์ป่า ค้าอาวุธ และค้ามนุษย์

ขณะเดียวกันไทยยังเป็นพื้นที่แพร่ระบาดและเป็นเส้นทางลักลอบส่งต่อยาเสพติดไปยังประเทศอื่น ประเภทของยาเสพติด คือ ยาบ้า พืชกระท่อม ไอซ์ กัญชา เฮโรอีน เอคตาซี เคตามี ลักลอบเข้าทางชายแดนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่อง ใช้กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นที่พักเก็บยาเสพติดรอการกระจายส่งออกไปจำหน่ายตามพื้นที่ต่าง ๆ

ยาบ้าเป็นตัวยาเสพติดหลักที่เป็นปัญหาหนัก นอกจากนี้มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของไอซ์ เคตามีน และเฮโรอีน ผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เป็นผู้มีอาชีพและรายได้ การจำหน่ายมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงโดยการใช้สื่อออนไลน์และบริการรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์

ผู้กระทำผิดที่ตกเป็นผู้ต้องหาและผู้เสพที่เข้ารับการบำบัดร้อยละ 40 เป็นเด็กและเยาวชน กลุ่มอายุ 20-24 ปี เป็นกลุ่มประชากรที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมากที่สุด แสดงให้เห็นถึงพิษภัยของยาเสพติดที่ส่งผลต่อเด็กและเยาวชนในสังคมไทย

ส่วนปัญหาการก่อความไม่สงบภายในประเทศ มีเหตุความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดยภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานร นราธิวาส และ 3 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547 เหตุการณ์รุนแรงได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชนวนความขัดแย้งมาจากเชื้อชายและศาสนา แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายสากล

รูปแบบโครงสร้างองค์กรและการบริหารงานตำรวจในปัจจุบัน มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นส่วนราชการอยู่ในการบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี แบ่งหน่วยงานออกเป็น 5 กลุ่ม

แบ่งเป็นส่วนบังคับบัญชาเป็นหน่วยของสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าหน่วยยศพลตำรวจโท ได้แก่ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานงบประมาณและการเงิน สำนักงานกำลังพล สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานจเรตำรวจ สำนักงานตรวจสอบภายใน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ

ส่วนป้องกันปราบปรามอาชญากรรม มีกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9   ส่วนป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเฉพาะทาง ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว

ส่วนการศึกษา มี โรงเรียนนายร้อยตำรวจและกองบัญชาการศึกษา กลุ่มสุดท้ายเป็นส่วนบริการ คือ โรงพยาบาลตำรวจ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีกำลังพลจำนวน 214,459 นาย เป็นชั้นสัญญาบัตร 52,254 นาย ชั้นประทวน 162,205 นาย จำแนกตามเพศ เป็นเพศชาย 198,670 นาย เพศหญิง 15,780 นาย หน่วยงานรับผิดชอบป้องกันปราบปรามและให้บริการประชาชนในระดับพื้นที่ คือ สถานีตำรวจจำนวน 1,482 แห่ง ทำหน้าที่งานอำนวยการ งานป้องกันปราบปราม งานสืบสวน งานสอบสวน งานจราจร

กำหนดแผนงานไว้มากมายในการมีส่วนร่วมกับประชาชนและชุมชน เริ่มนำงานมวลชนสัมพันธ์เข้ามาใช้ต่อสู้ลัทธิคอมมิวนิสต์โดยหน่วยงานตำรวจตระเวนชายแดนในช่วงระหว่างปี 2520-2523 ก่อนนำเป็นแนวคิดงานตำรวจชุมชนสัมพันธ์เป็นนโยบายระดับชาติในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 (2530-2534)

มุ่งเน้นการป้องกันอาชญากรรมเป็นหลักเสริมด้วยมาตรการปราบปรามควบคู่กันไป เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับประชาชน กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและบทบาทในการเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตัวเอง

ต่อมา มีแนวคิด “การตำรวจชุมชน” โดยนักวิชาการตำรวจที่จบการศึกษาจากต่างประเทศนำเข้ามาเผยแพร่เมื่อปี 2538 แต่ยังไม่ปฏิบัติแพร่หลายมากนัก จำกัดแค่วงแคบของนักวิชาการตำรวจ กระทั่งยกระดับกรมตำรวจขึ้นเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ พ.ศ.2542

ให้มี “คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจแห่งชาติ” เพื่อต้องการให้เป็นองค์กรที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจในพื้นที่ เป็นแกนหลักในการดึงชุมชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม สร้างสมดุลให้กับสังคม เป็นเวทีที่ทุกภาคส่วนของสังคมมีโอกาสร่วมปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาของชุมชนและท้องถิ่นได้

ล่าสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดยุทธศาสตร์ไว้เมื่อปี 2555-2564

“เป็นตำรวจมืออาชีพ เพื่อความผาสุกของประชาชน”

เหลืออีกแค่ 2 ปีไม่รู้ประชาชนคนไทยมีความผาสุกแค่ไหน

 

RELATED ARTICLES