“ตำรวจตระเวนชายแดนมันไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์”

วายงานตามโครงการพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมานานนับตั้งแต่รับราชการตำรวจ

ถึงปัจจุบันเกษียณอายุแล้วก็ยังคงดำเนินการอยู่

พล.ต.อ.สมศักดิ์ แขวงโสภา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือชาวบ้านในพระบรมราชานุเคราะห์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ชาวอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี หลังจบโรงเรียนอำนวยศิลป์เบนเข็มเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเลือกเหล่านายร้อยตำรวจรุ่น 22 ร่วมรุ่นกับ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

สัมผัสชีวิตตำรวจบ้านนอกมาตั้งแต่เด็กด้วยที่พ่อเป็นผู้ใหญ่บ้าน มักมีสายตรวจแวะเวียนมาหาโอภาปราศรัยดี มนุษยสัมพันธ์เยี่ยม ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบชาวบ้าน ทำให้เกิดภาพความประทับใจอยากเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เจ้าตัวเล่าว่า  อาจเป็นเพราะดวงมากกว่า พอเรียนจบนายร้อยตำรวจ มีคำสั่งให้ยกรุ่นไปลงตำรวจตระเวนชายแดน เนื่องจากภัยคอมมิวนิสต์กำลังลุกลามแทรกซึมประเทศไทยอย่างหนัก นับตั้งแต่วันเสียงปืนแตกเมื่อปี 2508 กรมตำรวจต้องการนักเรียนนายร้อยตำรวจจบใหม่ไปคุมกำลังตำรวจตระเวนชายแดนที่ขณะนั้นขึ้นตรงกับกองบัญชาการตำรวจภูธ

เขาย้ายเป็นผู้หมวดอยู่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 9 จังหวัดสงขลา รับผิดชอบพื้นที่ สงขลา พัทลุง สตูล ตรัง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สถานการณ์กำลังรุนแรงครบเครื่อง มีทั้ง ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หรือ ผกค. โจรคอมมิวนิสต์มาลายา หรือ จคม. และขบวนการโจรก่อการร้าย หรือ ขจก.ที่ต่อมาเปลี่ยนรูปแบบเป็นผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.ต.อ.สมศักดิ์บอกว่า รับหน้าที่เป็นผู้บังคับหมวดคุมกำลังจังหวัดยะลา ปะทะกันหลายครั้ง แต่เราจะมีหน้าที่พัฒนา ช่วยเหลือประชาชนให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับตำรวจ ลงไปตอนแรกต้องดู เข้าถึงชาวบ้านก่อน สัมผัสกับชาวบ้านในพื้นที่ เสร็จแล้วลาดตระเวนหาข่าว ปะทะหนักสุดตอนขึ้นเป็นผู้บังคับกองร้อยบนเทือกเขาบูโด  “ผมอยู่ 6 ปี ตั้งแต่เป็นผู้บังคับหมวดจนเป็นผู้บังคับกองร้อย รู้สึกประทับใจเวลาเราลาดตระเวนไปเจอเด็กๆ พบผู้นำหมู่บ้าน โต๊ะอิหม่าม โต๊ะยี ที่เคยได้ไปเมกะ พวกนี้ก็จะเป็นผู้นำชุมชน บอกว่า มีเด็ก 50 กว่าคนข้ามลำธารเพื่อมาโรงเรียนช่วงหน้าฝนไม่ได้ อายุก็เกินเกณฑ์แล้วเลยไม่ได้เรียนหนังสือ มีเยอะมาก”

“พวกเราเลยคิดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นมา ซึ่งจริงๆ ก็มีอยู่แล้ว แต่พื้นที่ตรงนั้นไม่มี ใช้ชื่อโรงเรียนยาสูบ 2 อยู่ที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา พื้นที่ค่อนข้างสีแดงมาก อยู่ที่นั่น 7 เดือนเสนอผู้บังคับกองร้อย เสนอผู้กำกับ และกองบังคับการกระทั่งได้รับอนุมัติให้ตั้งโรงเรียน พอผมเป็นผู้บังคับกองร้อยก็ได้ทำงานต่อเลย เป็นเรื่องที่พยายามจะสร้างมวลชน เป็นลักษณะการสร้างมวลชนแบบปราณีต พอเราเริ่มต้น เอาเด็กเล็กมาเรียนจนกระทั่งชั้นประถมถึงแยก” พล.ต.อ.สมศักดิ์ว่า

นับจากวันนั้นถึงวันนี้กว่า 47 ปีแล้ว โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอำเภอยะหายังคงเป็นสถานที่สานต่อโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีที่ทรงเน้นมุ่งให้ความสำคัญการส่งเสริมโภชนาการแม่และเด็กในถิ้นกันดาร กลายเป็นหน้าที่ครูตำรวจตระเวนชายแดนต้องลงไปดูแลอาหารการกินของแม่และเด็กตั้งแต่อยู่ในท้อง

“ผมถึงบอกว่า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเป็นการทำงานมวลชนอย่างปราณีต ดูเขาตั้งแต่ในท้อง ผมเป็นผู้บังคับกองร้อยจนถึงผู้กำกับผมอยู่ที่นั่นตลอด ภาคอื่นไม่เคยอยู่เลย เพราะฉะนั้นพื้นที่ตรงนี้ ผมยืนยันได้เลยว่า สิ่งที่ตำรวจตระเวนชายแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจะทำงานมวลชน ลักษณะการเมืองนำการทหาร โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจะเป็นจุดหนึ่งที่เราทำแบบละเอียด เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถาวร”

นายตำรวจนักรบป่าเติบโตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จนขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 ก่อนจะขยับเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และเป็นผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนก่อนจะเกษียณอายุราชการ เจ้าตัวเล่าว่า ตำรวจสังกัดตระเวนชายแดนส่วนใหญ่ มีความคิดเติบโตแค่ตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยเท่านั้น ไม่ได้คิดอะไรมาก อีกทั้งไม่มีวิ่งเต้น เพราะวิ่งเต้นไม่เป็น ต้องยอมรับว่า ผู้บังคับบัญชายุคก่อนมีคุณธรรม จะฟังผู้ใต้บังคับบัญชาข้างล่าง

“สมัยผมเป็นผู้บังคับหมวด ผมไม่เคยมากองบัญชาการหรอก เวลามีแต่งตั้งผู้บังคับกองร้อยจะรู้จักผู้บังคับหมวดทุกแล้วก็จะรู้ว่าใครควรขึ้นมาเป็นผู้บังคับกองร้อย ก่อนเสนอผู้กำกับ ผู้บังคับการตามลำดับ ถ้าผู้บังคับบัญชามีคุณธรรมต้องฟังข้างล่างตามลำดับ สมมติว่า ไอ้คนเสนอ ทำไม่ถูกต้อง ไม่มีคุณธรรมปั๊บ ข้างบนก็ต้องรู้ ตรวจสอบกันได้ ไม่ต้องวิ่งเต้น”

อดีตผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนยืนยันว่า เวลาเราขึ้นเป็นผู้นำแล้วจะแต่งตั้งใครก็จะใช้วิธีนี้เหมือนกัน เช็กประวัติจากลูกน้องเก่า ถ้าบอกว่า นายคนนี้ไม่ไหว ไม่อยู่ฐานเลย ชาวบ้านไม่รู้จัก แบบนี้พิสูจน์ง่าย แค่ไปถามชาวบ้านความคิดเห็นว่า ผู้หมวด ผู้กอง ผู้กำกับคนนี้เป็นอย่างไร  เพราะตำรวจตระเวนชายแดนไม่เหมือนโรงพัก ไม่อยู่ไม่ได้ เพราะมีคนมาแจ้งความ แต่ตำรวจตระเวนชายแดนพอปล่อยปั๊บ ไม่อยู่ฐาน ไม่มีใครรู้ มีแต่ลูกน้องรู้ ชาวบ้านรู้ เนื่องจากมันต้องออกลาดตระเวน ออกเยี่ยมเยียนประชาชนในรัศมีที่รับผิดชอบ

พล.ต.อ.สมศักดิ์ว่า เป็นการทำงานที่สนุก สมัยเป็นผู้บังคับหมวด ผู้บังคับกองร้อยเกิดความสนิทสนมกับประชาชน มีส่วนสำคัญในเวลาต่อมา พอหลังเกษียณอายุราชการได้มาดูงานลูกเสือชาวบ้าน เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือชาวบ้านในพระบรมราชานุเคราะห์ เลือกเอาความเหมาะสมจากอดีตผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนที่เกษียณ ก่อนมีการตั้งคณะกรรมการสรรหา ทำไปทำมาไม่มีคนมาแทน ถึงต้องรับหน้าที่ต่อเป็นวาระที่ 4 แล้ว

“ผมถือเป็นการถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท ตำรวจตระเวนชายแดนมันไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” พล.ต.อ.สมศักดิ์ให้เหตุผล

ตลอดชีวิตรับราชการ เขาถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาตั้งแต่เป็นผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน ครั้งแรกเมื่อปี 2516 ขณะพระองค์เสด็จฯ แปรพระราชฐานประทับที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ต้องทำหน้าที่จัดกำลังถวายความปลอดภัย รวมทั้งติดตามขบวนเสด็จฯ ตามแผนกองอำนวยการรักษาความปลอดภัยกำหนด

เจ้าตัวเล่าว่า เห็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงงานหนักมาก พระองค์เสด็จฯ ออกบ่าย บางที 3-4 ทุ่ม ยังอยู่ในพื้นที่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นสุคีริน บาเจาะ พระองค์ทรงงานต่อเนื่อง สิ่งที่รู้สึกเป็นภาพประทับใจ คือ พระองค์พระราชทานความเมตตาแก่กองร้อยถวายความปลอดภัย เสด็จฯเยี่ยมกำลังพลตอนเช้า บางทีไม่รู้แล้ว พระราชทานของแก่กำลังพล ทำให้ตำรวจตระเวนชายแดนที่ถวายงานอารักขารักษาความปลอดภัยต้องตื่นตัวและมีวินัยตลอดเวลา หย่อนยานไม่ได้

ต่อมา เขาย้ายขึ้นเป็นผู้กำกับการ 1 กองบังคับการฝึกพิเศษ ค่ายพระราม6 ตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีโครงการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มอบให้ผู้บังคับค่ายพระราม 6 คือ ผู้กำกับการ 1 ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ดูแลพื้นที่ป่าประมาณ 2 หมื่นกว่าไร่หน้าค่ายพระราม 6 เป็นที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ลักษณะดินเสื่อมโทรม เพราะถูกตัดไม้ทำลายป่ามาก ขาดแคลนน้ำ ฝนไม่เคยตก

ตอนแรก พล.ต.อ.สมศักดิ์สารภาพว่า ไม่มีความรู้เรื่องดังกล่าวเลยต้องอาศัยถามจากชาวบ้าน กระทั่งสัมผัสพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน ตั้งแต่พระราชดำริเรื่องการสร้างอ่างเก็บน้ำ การปลูกต้นไม้เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่า พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนแถวนั้น มีโครงการเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงโค โคเนื้อ แกะ แพะ ไก่ไข่ ไก่เนื้อ และกบ เพาะพันธุ์กระจง ละมั่ง กวางแล้วปล่อยไปในป่า ปลูกหญ้าแฝกเพื่อให้พื้นที่มีความชุ่มชื้น อนุรักษ์ดินและน้ำ ทำศูนย์ให้เป็นลักษณะวันสต็อปเซอร์วิส จะมีองค์ความรู้เรื่องการศึกษา วิจัย ค้นคว้า พัฒนา มีการสาธิตเรื่องการอาชีพ การเลี้ยงแกะ แพะ หมู โค มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ กรมปศุสัตว์ กรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน

“พระองค์ท่านรับสั่งว่า การที่จะทำให้เกิดฝนตก ต้องทำให้ภูเขามีความอุดมสมบูรณ์ มีความชื้น ความเย็น พอเมฆลอยผ่านมาจะจับตัว เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2526 ตอนนี้ก็ 34 ปีแล้ว สมัยก่อนถ้ายืนบนเขากระปุก  ที่ตั้งสำนักงานของโครงการ มีตำรวจตระเวนชายแดนเป็นผู้รับผิดชอบ มองไปทางทะเลจะเห็นทะเลชัดเจนเลย แต่เดี๋ยวนี้ไม่เห็นแล้ว เห็นแต่ยอดไม้  แรกๆ ผมก็ปลูกยูคาลิปตัส ตอนอ่างเก็บน้ำเสร็จแล้ว ดินยังไม่มีหญ้า ไม่มีอะไรเลย พอฝนตกก็ชะเอาหน้าดินลงมาในอ่าง ทำให้อ่างเต็ม กรมชลประทานก็บอกว่า ผมต้องปลูกยูคาลิปตัส เพราะฉะนั้นในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จะทอดพระเนตรครบทุกแง่ทุกมุม”

อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริยังเล่าอีกว่า แรก ๆ เข้าไปพัฒนาที่ดิน ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เพราะพวกเขาบุกรุกที่ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ด้วยความที่พวกเขาอยู่กันมา 20-30 ปี บางคน 50 ปี เราต้องสร้างความเข้าใจ ตรงนี้น่าจะเป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านที่ทรงมอบหมายให้ตำรวจตระเวนชายแดนเป็นผู้อำนวยการศูนย์ เพราะมีพื้นฐานงานมวลชน การเข้าถึงประชาชน การที่จะทำงานของตำรวจตระเวนชายแดนจะใช้ความรุนแรงกับประชาชนไม่ค่อยเป็น จะไปขู่ เราไม่สันทัด การเข้าถึง ช่วยกัน กอดคอกัน ทำด้วยกัน ทุกข์สุขร่วมกัน เราทำแบบนี้มากกว่า

“เพราะฉะนั้นโครงการนี้จึงแตกต่างจากโครงการอื่น เพราะโครงการอื่นจะไม่มีชาวบ้านมาร่วม แต่อันนี้ชาวบ้านเสียผลประโยชน์ และไม่เข้าใจละเอียด กลัวว่าจะเอาที่ดินคืน เขาอยู่มานานแล้ว 30-40 ปี เป็นงานค่อนข้างลำบาก แต่ผมว่า สำเร็จลุล่วงไปด้วยพระบารมี พระองค์เวลาเสด็จฯ ทอดพระเนตรเห็นผมยืนรับเสด็จฯ  พระองค์ก็เสด็จฯมารับสั่งว่า ต้องอดทน ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้รอบคอบ ผมได้ยึดแบบแผนมาตลอดในการทำงานถึงทุกวันนี้”

แม้แต่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนก็เช่นกัน พล.ต.อ.สมศักดิ์เล่าว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมป์ มีอยู่ด้วยกัน 10 โรงเรียน ส่วนใหญ่อยู่ทางเหนือ ตั้งแต่ปี 2507 ให้ตำรวจตระเวนชายแดนดูแลรับผิดชอบ เพราะสมัยนั้นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์กำลังลุกลามเข้ามา จำเป็นต้องให้คนมีความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องภาษา ถ้าพูดกันไม่รู้เรื่องก็จะทำงานกันลำบาก อธิบายอะไรชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ พระองค์ทรงเห็นว่า การศึกษาเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกภูมิภาค และเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงด้วย ถ้าคนมีความรู้ ความเข้าใจ อ่านหนังสือก็จะรู้ว่า ประเทศไทยเป็นอย่างไร เป็นพระราชประสงค์ที่พระองค์ทรงเห็น และทรงสนับสนุนตำรวจตระเวนชายแดนมาตลอด

“ผมรู้สึกว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่สุดแล้ว ที่สุดของพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน ความสามารถของพระองค์มีทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ พระองค์พระราชทานความเมตตาแก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อสายใด เป็นชาวเขา พื้นที่ใด ไม่แบ่งแยก เสมอเหมือนกันหมด แม้กระทั่งพี่น้องชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทรงพระราชทานความช่วยเหลือ เป็นเรื่องที่พสกนิกรชาวไทยต้องจดจำ และน้อมนำปรัญชาของพระองค์เรื่องการทำงานมาใช้ ตั้งแต่ทำอย่างมีระบบ มีการจัดเก็บข้อมูล มีการวิเคราะห์ แล้วท้ายสุด ต้องรู้รักสามัคคี รู้ก็คือ รู้ปัญหา ศึกษาให้ละเอียดถึงสาเหตุของปัญหา รักก็คือ ใส่ใจ ทุ่มเทที่จะทำ และสามัคคีก็คือต้องบูรณาการ ต้องยอมรับว่า เราคนเดียวคงทำไม่สำเร็จ”

อดีตผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนมองว่า หลักการทรงงานของพระองค์มีถึง 23 ประการ สุดยอดทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต้องเดินสายกลาง ต้องมีความพอสมควร มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน แค่นั้นไม่พอ ต้องมีเงื่อนไขเรื่องความรู้ เรื่องคุณธรรม ความรู้ก็ต้องรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง คุณธรรม คือ ซื่อสัตย์สุจริต ขยัน อดทน แบ่งปัน แล้วท้ายที่สุดไม่ว่า เป็นชีวิตก็ดี หรือเรื่องเศรษฐกิจสังคมจะสู่ความสมดุล มีความมั่งคั่งยั่งยืน ชีวิตคนก็จะพอ มีพอกินพอใช้ พอเพียง และสุดท้ายพอใจ เวลาอบรมลูกเสือชาวบ้าน เราจะน้อมนำหลักของพระองค์มาสอนตลอด

เรื่องของความประหยัดของพระองค์ ที่ผมน้อมนำมาปฏิบัติ  เพราะการประหยัดดีกว่าการดิ้นรนแสวงหามามาก และถ้าเราไม่ประหยัดก็จะไม่เหลืออะไร เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงสอนแก่พสกนิกรชาวไทย อยู่ที่ใครจะเลือกนำไปดำเนินชีวิตเท่านั้น”

สมศักดิ์ แขวงโสภา !!!  

 

 

RELATED ARTICLES