แพ้ที่สุดก็คือ ประเทศชาติ

สู้คดีความกันมายาวนานนับสิบปี หลังเหตุการณ์สลายผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เข้าปิดล้อมรัฐสภาไม่ให้ นายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ นายรัฐมนตรีในเวลานั้นและคณะผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา เข้าไปแถลงนโยบายรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551

ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บจำนวนหลายราย

ฝ่ายผู้ถืออำนาจตั้งแต่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ตกเป็นจำเลยกระทำเกินกว่าเหตุในการใช้กำลังเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม

มีการสอบสวนกันยาวนาน

ต่อมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้อง จำเลย 4 ราย

ปรากฏว่า  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในฐานะโจทก์ กลับยื่นคำร้องอุทธรณ์เฉพาะ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว แก่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เหมือนต้องการหาคนรับผิดชอบจากเหตุการณ์นองเลือดด้วยแก๊สน้ำตา

อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกดดันสู้คดีอย่างโดดเดี่ยวอยู่หลายปี กระทั่งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 องค์คณะวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์คดีนี้

มีมติเสียงข้างมากยกฟ้อง

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การสลายการชุมนุมทั้งช่วงเช้าและบ่ายบริเวณรัฐสภาไปจนถึงตอนค่ำที่บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลนั้น เป็นการกระทำที่สมควรแก่เหตุ เนื่องจากต้องเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าไปประชุมเพื่อฟังการแถลงนโยบายจากรัฐบาล และเป็นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ประกอบกับมีการเจรจาและแจ้งเตือนก่อนที่จะใช้แก๊สน้ำตาแล้ว อีกทั้งผู้ชุมนุมยังใช้หนังสติ๊ก ก้อนหิน แท่งเหล็กใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้จำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาในการควบคุมฝูงชน ส่วนในช่วงค่ำ ผู้ชุมนุมไม่มีเหตุที่จะต้องไปบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล

การพิสูจน์ศพผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นผลจากแก๊สน้ำตา ในทางตรงกันข้ามกลับพบสารที่มีอยู่ในส่วนประกอบของระเบิดซีโฟร์ และระเบิดแสวงเครื่องทำเอง

มีผู้เชี่ยวชาญด้านแก๊สน้ำตายืนยันว่า แก๊สน้ำตาไม่ทำให้ผู้ใดเสียชีวิต

นอกจากนี้ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า แก๊สน้ำตาเป็นเครื่องมือในการควบคุมฝูงชนตามแนวทางของนานาประเทศ

ฟากแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นางมาลีรัตน์ แก้วก่า นายประพันธ์ คูณมี นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสุริยะใส กตะศิลา นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือนายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี นายสำราญ รอดเพชร นายศิริชัย ไม้งาม นายสาวิทย์ แก้วหวาน นายพิชิต ไชยมงคล นายอำนาจ พละมี นายกิตติชัย ใสสะอาด นายประยุทธ วีระกิตติ นายสุชาติ ศรีสังข์ นายสมบูรณ์ ทองบุราณ นายศุภผล เอี่ยมเมธาวี น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก นายพิเชฐ พัฒนโชติ นายวีระ สมความคิด

เป็นจำเลยที่ 1-21 ในความผิดยาวเหยียดฐาน คือ ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่ง อย่างใดทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำมีอาวุธ เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิกมั่วสุม

ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย  อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216, 309 และ 310

ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 มีประเด็นวินัยฉัยว่า

ผู้ชุมนุมจำเป็นต้องปักหลักชุมนุมรอบรัฐสภา เนื่องจากสภาเป็นที่ประชุมตามระบอบประชาธิปไตย แม้การชุมนุมจะกีดขวางการจราจรบ้างเพราะมีผู้ชุมนุมมากก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ปรากฏเหตุวุ่นวายที่มาจากผู้ชุมนุมใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่บุกรุกยั่วยุ

เหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาจากการสลายการชุมนุม ยิงแก๊สน้ำตาโดยไม่แจ้งเตือนล่วงหน้า ทำให้ผู้ชุมนุมไม่ทันหลบหลีกป้องกันตัว ได้รับบาดเจ็บหลายราย เมื่อผู้ชุมนุมรู้สึกโกรธแค้นจึงเกิดความไม่สงบ ใช้สิ่งของขว้างปา เมื่อเห็นตำรวจละเมิดสิทธิก่อน ย่อมเกิดความวุ่นวาย

ยากที่แกนนำจะคาดหมายสถานการณ์ ไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมทำไปเพราะพวกจำเลยยุยงปลุกปั่น เป็นความวุ่นวายที่เกิดจากคนส่วนน้อย ผู้ชุมนุมทำไปเฉพาะตัว จะถือว่าจำเลยทั้งหมดกับผู้ชุมนุมอื่นชุมนุมไม่สงบด้วยหาได้ไม่ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 116, 215, 216

ข้อเท็จจริงเป็นไปได้ว่า ผู้ชุมนุมมีความคับแค้นจากสถานการณ์พาไป เกิดขึ้นทันด่วน ยากที่แกนนำจะควบคุม ซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งหมดมีส่วนยุยงปลุกปั่นตามฟ้อง มีเพียงการกระทำเฉพาะตัวเฉพาะรายของผู้ชุมนุมเอง

พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักมั่นคง พิพากษายกฟ้อง

สุดท้ายน่าสงสารเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บล้มตายที่ต้องกลายเป็น “เหยื่อความขัดแย้งทางความคิด” หาคนมารับผิดชอบไม่ได้

“…ประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคน  สองคน เป็นประเทศของทุกคน ต้องเข้าหากัน ไม่เผชิญหน้ากัน แก้ปัญหา เพราะว่าอันตรายมีอยู่ เวลาคนเราเกิดความบ้าเลือดปฏิบัติการรุนแรงต่อกัน มันลืมตัว ลงท้ายก็ไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่า จะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทางชนะ อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วก็แพ้ที่สุดก็คือ ประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่า กรุงเทพมหานครเสียหาย ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไร ที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองสิ่งปรักหักพัง…” พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2535

ไม่รู้เหมือนว่าจะมีสักกี่คนน้อมใส่ไว้เหนือเกล้าแค่ไหน

 

 

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES