“ผมไม่เคยไปขอเงินใครสักบาท ธุรกิจผมมี ผมอยู่ได้ ไม่เดือดร้อน”

ยู่ในสนามข่าวภูธรมาหลายสิบปี

“แดง”ภุชงค์ ทิพยะวัฒน์ ผู้สื่อข่าวภูมิภาคของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประจำจังหวัดนครปฐม ถือเป็นสื่อคนหนึ่งที่ช่ำชองพื้นที่แกะรอยคดีดังสำคัญมาไม่น้อย

ชาวบ้านโป่ง ราชบุรี จบมัธยมต้นโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัยแล้วเข้ากรุงไปต่อโรงเรียนอำนวยศิลป์ แต่เกเรตามประสาวัยรุ่นทำให้เรียนไม่จบ ทว่าพกพาความกล้าหาญเกินเด็กหันมาจับธุรกิจปั๊มน้ำมันที่บ้านเกิดเมืองโอ่ง

วันหนึ่งได้มารู้จัก สุทธิพร เข็มแดง ผู้จัดการฝ่ายจัดจำหน่าย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่แวะมาเติมน้ำมัน พูดคุยกันถูกคอจึงรู้จักกันนับแต่นั้นมา ยิ่งได้ฟังการทำงานเกี่ยวกับด้านข่าว ยิ่งทำให้เด็กหนุ่มบ้านโป่งอยากหัดเป็นนักข่าวดูบ้าง

มีจุดหักเหสำคัญ เพราะถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ผู้ถือกฎหมาย

ภุชงค์เล่าว่า ลงทุนทำปั๊มน้ำมันแล้วมีปัญหา ตำรวจยกกำลังมาตั้งด่านตรวจอยู่หน้าปั๊ม ทำให้ไม่มีรถเข้ามาใช้บริการ ไปขอร้องก็ไม่ยอม มันฝืนจิตใจเรามาก เราทำอาชีพสุจริตเหมือนถูกกลั่นแกล้ง ขาดทุนแล้วใครจะมารับผิดชอบเมื่อไม่มีรถเข้า ตำรวจตั้งด่านตรวจกันเป็นเดือนจนเราทนไม่ไหว ไปหาทั้งผู้กำกับ หาทั้งผู้การ ไปลักษณะขอร้อง เขาก็อ้างเป็นหน้าที่ จริง ๆ แล้วจะไปตั้งตรงไหนก็ได้ ไม่ใช่มาตั้งตรงนี้ ไม่ได้เป็นจุดล่อแหลมเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม เหมือนเราโดนกลั่นแกล้ง

“ผมถึงเริ่มคิดว่า หากเป็นนักข่าว ตำรวจอาจเกรงใจบ้าง”เจ้าตัวย้อนความหลัง

เขาจึงนึกถึงคำชวนของผู้จัดการจัดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ค่ายยักษ์ใหญ่หัวเขียวไปขอสมัครงานเป็นผู้สื่อข่าวภูมิภาคกับประพันธ์ มณีโรจน์ ประธานกลุ่มนักข่าวไทยรัฐภูมิภาค ได้โอกาสเข้าอบรมดูงานในโรงพิมพ์ริมถนนวิภาวดีรังสิต มีคณาจารย์จากจุฬากรณ์มหาวิทยาลัยเป็นติวเตอร์ ภุชงค์บอกว่า ไปสัมผัสแล้วชักสนุก ได้เห็นคนที่มีความลำบากมาร้องทุกข์ ก็เริ่มชอบ หันมาทำข่าวจริงจัง ควบคู่กับธุรกิจปั๊มน้ำมันที่ตอนหลังเปลี่ยนเป็นโรงแรม

แม้ลงเป็นนักข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดราชบุรี ภุชงค์ยังมองว่า ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองกับครอบครัวได้ อาชีพผู้สื่อข่าวภูธรกินเงินเดือนแค่ 1,500 บาท มันอยู่ไม่ได้ ถึงต้องเดินหน้ากิจการธุรกิจส่วนตัวประคองชีวิตไว้ กระทั่งได้ไปเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี สมัยนั้นถนนหนทางยังไม่ดี ทำให้เล็งเห็นโอกาสเหมาะที่จะขยายธุรกิจโรงแรม ดูแล้วว่า สุพรรณบุรีมีแหล่งท่องเที่ยว และเป็นจุดกึ่งกลางพักรถ แต่ที่พักน้อยมากถึงจับเอาจุดตรงนี้มาหาซื้อดินทำโรงแรมเล็ก ๆ กลางเมืองสุพรรณบุรี มีประมาณ 20 ห้อง ก่อนขยายเป็น 60 ห้องในเวลาต่อมา

การเข้ามาเปิดธุรกิจเมืองขุนแผนครั้งนี้เอง มีส่วนให้ภุชงค์ขยับไปเป็นนักข่าวไทยรัฐประจำจังหวัดสุพรรณบุรี เพราะต้องหอบครอบครัวลูกเมียมาคุมกิจการถึงตัดสินใจทำเรื่องเสนอเฉลิมชัย ทรงสุข หัวหน้าแผนกข่าวภูมิภาค ขณะนั้นมาขอเป็นนักข่าวสุพรรณบุรี เป็นจังหวะเหมาะเจาะกับที่ศิระ รุ่งเรืองศรี นักข่าวพื้นที่คนเก่ารุ่นอาวุโสกำลังหาลูกมือช่วยพอดี

  “ผมทำอยู่สุพรรณบุรีนาน 8 ปี ตามข่าวทุกอย่าง กีฬาก็ต้องทำ การเมืองก็ต้องทำ เพราะสุพรรณบุรีเป็นเมืองของนักการเมืองระดับชาติ  อาชญากรรมก็เยอะ ทำข่าวคดีดังได้รางวัลดีเด่นมากมาย ตั้งแต่คดีโจ ด่านช้าง คดีฆ่าเผาภรรยาตำรวจ ได้รับรางวัลผู้สื่อข่าวและภาพยอดเยี่ยมเกือบทุกปี” มือข่าวภูธรภาคกลางว่า

แต่ข่าวที่สร้างชื่อให้แดง-ภุชงค์ โด่งดังมากที่สุดกลับกลายมาอยู่ถิ่นสามพราน จังหวัดนครปฐม ในคดีนายจำรูญ ม่วงชุม คนขับแท็กซี่ และด.ช.ณัฐวุฒิ ม่วงชุม อายุขวบเศษ ถูกอุ้มไปฆ่าเผาทิ้งบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 24 ถนนบรมราชชนนี ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยฆาตกรอำมหิต คือ ร.ต.อ.สุเทพ วิสุมา รองสารวัตรจราจร สถานีตำรวจนครบาลหลักสอง โหมกระพือข่าวกลายเป็นที่มาของฉายา “ผู้กองถังแดง”

เบื้องหลังคนข่าวผู้แกะรอยคดีร้อยตำรวจเอกใจทมิฬจนคว้ารางวัลภาพและข่าวยอดเยี่ยมแห่งปี 2539 ได้มาจากความสนิทสนมส่วนตัวกับ พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ทำให้ได้ข้อมูลเปิดประเด็นข่าวพาดหัวฉบับเดียวตามตั้งแต่ต้นกระทั่งคลายปมจู่โจมเข้าจับกุมผู้กองโหดกลายเป็นภาพยอดเยี่ยมประจำปีดังกล่าว

ถัดจากนั้นไม่นาน ภุชงค์ก็ต้องย้ายก้นมาปักหลักทำข่าวอยู่จังหวัดนครปฐมถาวรด้วยความที่มากประสบการณ์

“พอดีผู้สื่อข่าวจังหวัดนครปฐมถูกปลด มีคนใหม่มาแทนพฤติกรรมไม่ดีก็ถูกปลดอีก โรงพิมพ์หาคนไม่ได้ ตอนนั้นสุพรรณบุรี มีนักข่าวแข็งอยู่ 2 คน คือ ผมกับเด่นชัย เด่นชัยประดิษฐ์ กองบรรณาธิการอยากสลับให้มาอยู่นครปฐมคนละ 3 วันระหว่างที่ยังหานักข่าวไม่ได้  ผมเป็นคิวแรกอยู่ 3 วัน พอครบกำหนด อีกคนติดธุระมาไม่ได้ ไป ๆ มา ๆ ผมเลยต้องอยู่ยาว ยอมทิ้งธุรกิจให้ภรรยาดูแล ตัวเองก็เดินทางไปกลับสุพรรณบุรี-นครปฐม”

ปัจจุบันกินเวลา 10 กว่าปีแล้วที่ภุชงค์โยกเป็นผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดนครปฐม จากเริ่มต้นมาใหม่ ๆ ไม่รู้จักใครเลย ตำรวจเก่า ๆ ที่เคยคุ้นหน้าก็ย้ายหมด ต้องมาสร้างแหล่งข่าวใหม่ แถมเจออุปสรรคผู้มีอิทธิพลทางการเมืองในพื้นที่  “นักการเมืองที่นี่แรง นักข่าวคนเก่าเคยโจมตีพวกนี้ไว้ มีมือปืนเต็มไปหมด กว่าผมจะทำความรู้จักได้แทบแย่ แต่เราอย่าเข้าไปสนิทกับเขา ให้เขาเกรงใจเรา ในอดีตสื่อมวลชนที่นี่เขาจะดูแล แต่ผมไม่เอา นักการเมืองที่นี่มี 2 ขั้ว ฝ่ายหนึ่งชวนผมไปนั่งกินกาแฟทุกเช้า อีกขั้วเสนอจะปลูกสำนักงานให้ ผมไม่เอาเลย ขืนทำแบบนั้นแล้วผมจะเข้ากับใครได้ ถ้าอยู่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด สุดท้ายเช่าบ้านอยู่เองดีกว่า” ภุชงค์ระบายความรู้สึก

นักหนังสือพิมพ์อาวุโสเมืองพระปฐมเจดีย์ยอมรับว่า เวลามีข่าวพัวพันไปถึงนักการเมืองทรงอิทธิพล เราก็ต้องพูดกันก่อน เขาเคยถามเราเหมือนกันว่าจะทำอย่างไร เราก็บอกไปตรง ๆ ลักษณะว่า ถ้ามีชาวบ้านมาร้องเรียน อันนี้เราต้องทำ เพราะไม่ทำไม่ได้ ที่สำคัญ เราไม่ต้องไปแบมือขอเขา ทำให้เราไม่ต้องเกรงใจ ให้เขาเกรงใจเราแทน  มีเรื่องอยู่เรื่อย ๆ ที่พาดพิงถึงพวกเขา เราก็เล่นในลักษณะของตำรวจพูด เล่นไปตามน้ำ ไม่ถึงกับโจมตีให้เขาไม่มีทางออก

“หลายครั้งก็โดนขู่ แต่โดนจนชิน ผมถึงไม่ยุ่งสถานบริการ ผมมาอยู่นครปฐมไม่เคยเหยียบ ไปได้แค่อุดหนุน ไม่เคยไปขอกินฟรี เพราะสถานบริการ ผับ เธค ทุกแห่ง หรือการค้าอะไรใหญ่ ๆ อยู่ในวงจรของอิทธิพลเหล่านี้ ผมคุยกันเขา เขาก็รับได้นะ บางทีเขาก็จะโทรมาถามว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร ผมก็แนะให้เขาไปดำเนินการแก้ไขเอง ย้ำว่า ขืนปล่อยไว้แล้วเรื่องจะบานปลาย ต้องตัดไฟแต่ต้นลม เขาถึงเกรงใจผม”

  ผ่านสนามข่าวมา 3 จังหวัด ภุชงค์เปรียบเทียบว่า นครปฐมเป็นเมืองอยู่สบาย ผู้คนโอบอ้อมอารี เอาพวกเอาฝูง ส่วนราชบุรีเป็นบ้านเกิด ไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว ขณะที่สุพรรณบุรีลึก ๆ มีอิทธิพลกลุ่มเดียว สมัยทำข่าวอยู่ก็เคยมีปัญหากับบรรหาร  ศิลปอาชา ที่จะมาบังคับเราทำข่าวให้เขาพอใจฝ่ายเดียว ทั้งที่มันไม่ได้ ยกตัวอย่าง หอคอยบรรหาร เมื่อก่อนเป็นเรือนจำ บรรหารเอางบประมาณหลวงย้ายเรือนจำออกไป ตรงนั้นกลายเป็นสวนสาธารณะ หวังจะทำเป็นปอดของคนสุพรรณบุรี เรี่ยไรเงินบริจาค เราเองยังโดนไป 2 หมื่นบาทในฐานะเจ้าของกิจการ เขาบังคับมาเลย สถานบริการทุกแห่งโดนหมดอ้างเพื่อทำปอดตัวนี้

อดีตผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสุพรรณบุรีพ่นความอัดอั้นว่า ไป ๆ มา ๆ สวนสาธารณะกลายเป็นของส่วนตัว เป็นของมูลนิธิ ทั้งที่มาขอเรี่ยไรเงินชาวบ้าน แบบนี้เรามองว่า ไม่ถูกต้องเลยตีข่าว เท่านั้นแหละ บรรหารไม่พอใจ เรามีเหตุผล แม้ควักกระเป๋าเรี่ยไรเสียเงินบริจาคเอง ถ้าทำเพื่อส่วนรวมเราก็โอเค แต่แบบนี้มันไม่ถูกต้อง คนของเขาก็มาเขม่นเรา ไม่พอใจเรา และคงเป็นชนวนหนึ่งที่ทำเอาเราพ้นจากสุพรรณบุรี ไม่ได้อยู่เป็นก้างทิ่มแทงใจเขา

ชายผู้มากเรื่องราวสมรภูมิข่าวภูธรวางแนวการทำงานต้านอิทธิพลว่า การเป็นนักข่าวภูมิภาค ต้องเข้ากับพวกชาวบ้านให้ได้อย่างเดียว เอาชาวบ้านมาเป็นพวกจะไม่มีปัญหาอะไรเลย อย่างตำรวจก็คบให้เขาเกรงใจ อย่าไปเอาเงินเขา ถ้าเราไปรับเงินเขา ความเกรงใจมันก็ไม่มี

“ผมไม่เคยไปขอเงินใครสักบาท ธุรกิจผมมี ผมอยู่ได้ ไม่เดือดร้อน” หนุ่มใหญ่วัยเกษียณแสดงน้ำเสียงจริงจัง

เขาเปรยด้วยว่า อีก 2-3 ปีจะวางมือแล้ว เพราะอายุมากขึ้นจะให้ไปลุยเหมือนเมื่อก่อนไม่ไหว ทุกวันนี้ทำงานให้ไทยรัฐเกินร้อย เป็นมือที่ต้นสังกัดไว้ใจคนหนึ่ง สั่งอะไรมาก็ต้องทำให้ได้ เพราะไม่ค่อยมีปัญหาอะไรกับใคร แต่ตอนนี้รู้สึกเบื่อจะไม่เอาแล้ว

ส่งสัญญาณสิ้นสุดเส้นทางการเดินทางบนสนามน้ำหมึกที่ยาวนานไว้เป็นตำนานให้อินทรีผู้กระหายข่าวรุ่นต่อไปได้ศึกษา

 

RELATED ARTICLES