เธอผู้ปิดทองหลังพระ

เสียสละทำงานอยู่เบื้องหลังมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

วิสัญญีแพทย์ ผู้ที่มักถูกลืม ทั้งที่มีความสำคัญในการผ่าตัด การลดความเจ็บปวดของคนไข้ เป็นแผนกที่ขาดไม่ได้ไม่ต่างจากศัลยแพทย์

แต่แทบไม่ค่อยมีใครรู้จัก

เสร็จภารกิจตามหน้าที่ก็จะหันหลังหายหน้าออกจากห้องผ่าตัด

คนไข้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า คณะแพทย์เหล่านั้นเป็นใคร

เหมือนอดีตอาจารย์หมอท่านหนึ่งที่ปัจจุบันร่วมมาเป็น “วิสัญญีแพทย์จิตอาสา” ดูแลผู้ป่วยในโครงการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักใน ตามกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

จะว่าไปแล้วอาจารย์หมอท่านนี้เป็นจิตอาสาช่วยราชการตามหน้างานถนัดมาตลอด 10 กว่าปีที่เกษียณอายุแล้ว

 พล.ต.ท.หญิง สุวัฒนา โภคสวัสดิ์  ข้าราชการบำนาญของโรงพยาบาลตำรวจ นับตั้งแต่เกษียณอายุราชการในปี 2546 ยังอาสากลับมาช่วยงานที่โรงพยาบาลเป็นวิสัญญีแพทย์สัปดาห์ละ 2 วันจวบจนปัจจุบัน

เธอเป็นประธานรุ่นนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2506  และเป็นประธานรุ่น 20  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งเป็นประธานที่ปรึกษาของสมาคมอุปกรณ์การแพทย์ไทย

สร้างคุณูปการไว้กับโรงพยาบาลตำรวจไว้มากมาย หลังจากจบแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2512 ก็เข้ามาทำงานเป็นแพทย์อยู่โรงพยาบาลตำรวจในปีถัดมา

ขณะนั้นโรงพยาบาลตำรวจมีอยู่เพียงไม่กี่ตึก แพทย์จำนวนแค่ 20-30 คนช่วยกันทำงานสู้กันมาเพื่อพัฒนาโรงพยาบาล

กลายเป็นความผูกพันที่อยู่เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน

ร่วมกันหาทุนสร้างอาคารโรงพยาบาลและหาบุคลากรมาเพิ่มจนแทบจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของโรงพยาบาลคนหนึ่ง

เจ้าตัวเล่าว่า ขณะนั้นมีห้องผ่าตัดประมาณ 14 ห้อง จำนวนเตียงคนไข้ 400-500 เตียง  แต่มีวิสัญญีแพทย์เพียง 3 คน รับมาก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะลาออกไปโรงพยาบาลเอกชน  ที่เหลือต้องทำงานบริหาร  งานบริการ อยู่เวรเกือบทุกวัน และยังช่วยทำงานเป็นปฏิคมให้สมาคมวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ต่อมาเปลี่ยนเป็นราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์อยู่ 9 สมัยเป็นเวลา 18 ปี

กระทั่งเกษียณราชการ เธอบอกว่า มีอาจารย์แพทย์หลายท่านชวนไปทำงานโรงพยาบาลเอกชน บางท่านชวนให้ไปช่วยบริหารโรงพยาบาล หรือจะทำวิสัญญีด้วยก็ได้ 

สุดท้ายเธอเลือกจะปฏิเสธ เพราะมีใจผูกพันกับโรงพยาบาลตำรวจ

เธอขอมาช่วยทำงานโรงพยาบาลตำรวจต่อทุกวันเป็นเวลา 3-4 ปี วันละ 8 ชั่วโมง  ก่อนลดลงเหลือสัปดาห์ละ 2 วันจนถึงปัจจุบัน  ยิ่งเมื่อมีงานจิตอาสาก็พยายามมาช่วย  ถ้าไม่สามารถมาได้จะฝากเงินช่วย เป็นค่าใช้จ่าย ช่วยเหลือคนไข้ที่ขัดสน

“หมอมีความสุขมากเวลาเห็นเพื่อนร่วมงานมีความตั้งใจช่วยกันทำงาน  และคนที่ได้รับการช่วยเหลือยกมือไหว้พวกเราท่วมหัวขอบคุณพวกเรา  บางคนมาแล้วไม่มีเงินค่ารถกลับ พวกเราก็ช่วยกันรวบรวมเงินช่วยเหลือไป” วิสัญญีแพทย์วัยเกษียณระบายความรู้สึก

เธอตั้งใจว่าจะพยายามทำต่อไปจนกว่าจะหมดแรง

 

RELATED ARTICLES