ผมเพื่อนโชค(ร้าย)

ชนวนเหตุของการขอดูใบอนุญาตขับขี่กลายเป็นเรื่อง “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วตามยุคการสื่อสารผ่านโลกออนไลน์

เรื่องที่เกือบไม่เป็นเรื่อง แต่กลับเป็นเรื่องราวลามทุ่ง

โดยเฉพาะอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช แทบลุกเป็นไฟ หลังจาก พ.ต.อ.โชคชัย รักษ์วัฒนพงษ์ ผู้กำกับโรงพักออกคำสั่งสับเปลี่ยนหน้าที่ให้ ส.ต.ต.เอกพล จุ้ยส่องแก้ว ที่ปฏิบัติหน้าที่งานจราจรให้มาปฏิบัติหน้าที่ออกตรวจร่วมกับตัวเองผลัดละ 15 วันเป็นเวลา 1 ผลัด

อ้างเหตุผล เป็น “ตำรวจใหม่” ยังไม่เข้าใจข้อปฏิบัติ และเพื่อลดความกดดันไม่ให้กระทบต่อการทำงานระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานอีก

ทว่าดันบานปลาย เพราะ “คลิปเหตุการณ์” ผ่านโลกโซเชียล

ถึงขนาด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องกำชับผ่าน พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังได้รับรายงานการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของ ส.ต.ต.เอกพล จุ้ยส่องแก้ว กับพวกประจำจุดตรวจหน้าป้อมสายตรวจจราจรตำบลท่ายาง อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติย้าย ส.ต.ต.เอกพล จุ้ยส่องแก้ว กลับไปปฏิบัติหน้าที่เดิม

พร้อมชมเชยให้กำลังใจตำรวจชั้นผู้น้อยในการปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง

ส่วน พล.ต.ต.ฐากูร เนตรพุกกณะ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช พา พ.ต.อ.โชคดี รักษ์วัฒนพงษ์ และ ส.ต.ต.เอกกพล จุ้ยส่องแก้ว เข้ารายงานข้อเท็จจริงต่อ พล.ต.ท.พงษ์วุฒิ พงษ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8

ทว่ายังไม่ดำเนินการเอาผิดอะไรกับใคร แค่ขอเวลาตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน

“ทำการบ้านในหน่วยผมก่อน อย่าเพิ่งขยายวงออกไปกว้างกว่านี้เลย” ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ตั้งแท่น แต่ยอมรับในหลักการว่า เมื่อเจ้าพนักงานมีคำสั่งทั่วไปแล้วจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน กระนั้นก็ตาม การทำงานของตำรวจต้องอดทน และอยู่ในกรอบของกฎหมาย

บางครั้งอาจไม่ถูกใจประชาชน

“กรณีนี้เท่าที่ดูเบื้องต้นคิดว่า ทำงานได้ดี” พล.ต.ท.พงษ์วุฒิว่า

ต่างจากสังคมออนไลน์ที่มีความคิดเห็นกระจายไปหลากหลายมุมคิด

สาระน่าสนใจขออนุญาตยกมุมมองของนายตำรวจคนหนึ่งว่าด้วยเรื่อง “ผมเพื่อนโชค(ร้าย)” กล่าวถึงคำพิพากษาศาลจังหวัดสิงห์บุรี กรณีตำรวจขอดูใบอนุญาตขับขี่

ตอบโจทย์ข้อสงสัย

“คุณมีสิทธิอะไรมาดูใบขับขี่ผม”

คำพิพากษา อธิบายคำถามนี้ (หมายเลขคดีแดงที่ อ.1749/2559)ว่า การแสดงใบขับขี่ หมายถึง การชี้แจง อธิบาย บอกข้อความให้รู้ ทำให้ปรากฏออกมา ซึ้งรายละเอียดต่าง ๆ ของใบอนุญาตขับรถนั้น

มิใช่เพียงการถือไว้ และแจ้งว่า มีใบอนุญาตขับรถ จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะมองเห็นรายละเอียด และตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่

จำเลยเมื่อทราบคำสั่ง ต้องให้ความร่วมมือ และถือปฏิบัติตามคำสั่ง

ส่วนจำเลยจะกระทำผิดหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการอีกส่วนหนึ่ง

ดังนั้น การขับรถต้องมีใบขับขี่(ตัวจริง)ติดตัวไว้เพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานตำรวจจราจรได้ทันที ถ้าไม่นำใบขับขี่ติดตัวมา หรือไม่ยอมแสดงใบขับขี่ให้ตำรวจจราจรตรวจสอบความถูกต้อง มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ( พระราชบัญญัติรถยนต์ พุทธศักราช 2522 มาตรา 42, มาตรา 66)

ปรากฏว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดสิงห์บุรีได้มีการท้าทายจากฝ่ายจำเลย

“ไหนคุณเอาบัตรตำรวจมาให้ดูซิ “

ศาลจังหวัดสิงห์บุรี มีคำพิพากษา อธิบายคำถามนี้ (หมายเลขคดีแดงที่ อ.1749/2559)ว่า…..

“…..เมื่อจำเลยไม่ส่งมอบใบอนุญาตขับรถ แต่กลับขอดูบัตรตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่ในเครื่องแบบบริเวณจุดตรวจ ทั้งที่ไม่มีเหตุอันควรสงสัยหรือระแวงว่า พยานโจทก์ทั้งสามไม่ใช่ตำรวจ ล้วนบ่งชี้ถึงเจตนาของจำเลยที่ต้องการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน”

ข้ออ้างของจำเลยที่ไม่ยอมลงจากรถ ไม่ยอมส่งมอบใบขับขี่ เพราะไม่เชื่อว่าเป็นตำรวจ กลัวถูกทำร้าย จึงไม่เป็นเหตุผลเพียงพอ

นายตำรวจผู้เขียนบทความ “ผมเพื่อนโชค(ร้าย)” ยังทิ้งท้ายไว้อย่างเจ็บแสบ

อย่าอ้างหลักรัฐศาสตร์เพื่อพวกพ้องจนทำให้หลักนิติศาสตร์เป็นเรื่องตลก !!!

RELATED ARTICLES