หน้าแรกตำนานนักสืบ"ผมคิดว่า คงไม่ได้ใจลูกน้อง นายเอาแต่อยู่ในห้องแอร์ สมัยผมลงไปเอง ลูกน้องได้เห็นเรา"

“ผมคิดว่า คงไม่ได้ใจลูกน้อง นายเอาแต่อยู่ในห้องแอร์ สมัยผมลงไปเอง ลูกน้องได้เห็นเรา”

ดีตนายพลนครบาลผู้เชี่ยวชาญด้านงานจราจรคนหนึ่ง เนื่องจากคลุกคลีลงโบกรถสัมผัสควันดำของเมืองหลวงจวบจนเกษียณอายุราชการ

ทำให้กว่า 20 ปีก่อน หากตำรวจจราจรคนไหนได้ยิน พล.ต.ต.วราห์ เอี่ยมมงคล ออกอำนวยการจราจรเมื่อใด เหล่าบรรดาหัวปิงปองยศน้อยใหญ่จะมีความกระตือรือร้นขึ้นมาทันใด ผิดกับยุคปัจจุบันที่ผู้เป็นนายนั่งเพ้อฝันอยู่ในห้องแอร์ อาหารการกินพอกพูนพร้อมเสร็จสรรพ นั่งควบคุมสั่งการปัญหาจราจรเมืองหลวงผ่านจอมอนิเตอร์ตามเทคโนโลยีล้ำสมัย ไม่เอาใจใส่ผู้ปฏิบัติเท่าที่ควร

พล.ต.ต.วราห์ เป็นชาวกรุงเทพมหานคร จบมัธยมโรงเรียนวัดราชบพิธ มีความคิดอยากเป็นตำรวจ สมัยนั้นยังไม่มีเตรียมทหาร เลยเข้าเรียนเตรียมนายร้อยหลักสูตร 7 ปี จบออกมาติดยศ ร.ต. สังกัดกระทรวงกลาโหม รับพระราชทานกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แล้วถึงไปอบรมที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ  เทียบเท่านักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 12 นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่น 6

ฝึกงานโรงพักสำราญราษฎร์ บรรจุเป็นรองสารวัตรสอบสวนที่โรงพักพลับพลาไชย เขต 2 โยกไปสำเหร่ บุปผาราม บางพลัด ถึงขึ้นสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางยี่เรือ เป็นสารวัตรจราจร สถานีตำรวจนครบาลดุสิต ขึ้น รองผู้กำกับการนครบาล 3 เป็นผู้กำกับการสืบสวนภูธรภาค 1 ไม่นานย้ายกลับเป็นผู้กำกับการอารักขาและรักษาความปลอดภัย กองบังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ขึ้นรองผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล

พล.ต.ต.ทิพย์ อัศวรักษ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เห็นยังหนุ่มยังแน่นเลยโยกให้เป็นรองผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ แต่กลับไม่โตเลยขอย้ายเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือแจ้งเกิดงานกิจการพิเศษและจราจรในภารกิจต้อนรับ “ปุ๋ย”ภรทิพย์ นาคหิรัญกนก ที่เพิ่งได้ตำแหน่งนางงามจักรวาลกลับมาประเทศไทย

เสร็จแล้วขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจจราจรเริ่มต้นประสานข้อมูลดูแลโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ยังเป็นเพียงแผ่นร่างในกระดาษวางรากฐานเสาต้นแรกจนขยายใหญ่โตอย่างปัจจุบันนี้ ขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รับผิดชอบงานจราจรมาตลอด เจ้าตัวย้อนอดีตว่า ช่วงนั้นทำงานเหนื่อยมาก เช้าต้องออกแต่เช้า เพราะตอนนั้นยังไม่มีศูนย์สั่งการอะไร  ทำงานแต่เช้า มีวิทยุติดตัว 1 เครื่อง ไปยืนอยู่ตามแยกต่างๆ ยังไม่มี บก.02 ที่มีจอมอนิเตอร์ดูทั่วทุกแยก คือ เครื่องทุนแรงสมัยก่อนมีน้อย เราไปยืนก็ต้องดมควันพิษ แต่ก็ดีหน่อยที่การจราจรมันยังไม่แน่นขนาดนี้ แต่ก็ถือว่าเริ่มเยอะแล้ว

พล.ต.ต.วราห์เล่าว่า ทำงานจราจรจริงจังตั้งแต่เป็นรองผู้กำกับการนครบาล 3  มายืนที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิทุกเช้า พอประมาณ 9 โมงก็เลิกแล้วเข้าที่ทำงานไปดูสำนวน ไปทำงานตามที่ผู้กำกับมอบหมายถ้าเป็นสมัยนี้คงไม่ได้ เพราะอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิรถติดทั้งวัน สมัยก่อนอย่างแยกราชประสงค์ ก็ไม่เยอะ  เรายังไปยืนที่แยกราชประสงค์ เพราะเป็นแยกสำคัญ ไม่อย่างนั้นจะติดพันกันเป็นวงแหวน ประสาน พล.ต.ต.บริบูรณ์ วุฒิภักดี ที่ตอนนั้นเป็นรองผู้การเหนือ ท่านยืนอีกแยกตรงประตูน้ำ ช่วยกันระบายรถช่วงเย็นที่มีการจราจรคับคั่ง

หลักการทำงานสมัยนั้น พล.ต.ต.วราห์บอกว่า ไม่มีอะไรมาก อาศัยว่ามีความซื่อสัตย์ สุจริตในการทำงาน ไม่ขี้เกียจ ขยันเช้าออกทำงานในท้องถนนแล้วก็เข้าสำนักงาน แล้วเย็นก็ออกไปที่แยกอีกรอบหนึ่ง  เพราะถ้าเราไม่ออก ลูกน้องก็ไม่ออก เราออกปั๊บ ลูกน้องจะได้ยินเสียงวิทยุเรา น.นั่น น.นี่ออกมา ตรงนี้สำคัญมาก ยอมรับว่า เหนื่อย ต้องออกตั้งแต่ดึกๆ ดื่นๆ แต่ก็ยังแข็งแรง เพราะอายุไม่มากเท่าไหร่ พอไหว ยังพอทำได้ ทำจนเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2538

อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นตำราแก้ปัญหาวิกฤติจราจรใจกลางเมืองหลวงเล่าอีกว่า ตอนนั้นสถานีวิทยุ จส.100 เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ๆ เลยถูกเชิญเป็นดีเจพูดคุยเรื่องปัญหาจราจร

ออกจากบ้านตอนเช้าจะแวะกรมการทหารสื่อสารแล้วออกอากาศสด ตอนเย็นก็ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ร่วมรายงานสภาพการจราจร เคยไปกับท่านบรรหาร ศิลปะอาชา สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตรวจดูการจราจรบนถนนลาดพร้าว หารือว่า ควรจะทำยังไง ควรจะปิดจุดกลับรถที่ไหน อะไรยังไง

“ผมดูแลจราจร ผมรู้จักทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ ลูกน้องบางคนอยู่ฝ่ายจราจรยังบอกว่า นายรู้จักมากกว่าเขาอีก เพราะผมไปทั่วทุกจุดที่มีปัญหา แก้เท่าที่ได้ระดับหนึ่ง คอยประสานกับหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ สจร. ที่มีท่านยงยุทธ สาระสมบัติ เป็นเลขาธิการ ประชุมกันอยู่เรื่อยๆ”

อดีตนายพลตำรวจคนดังนครบาลในวัย 80 ปีที่ยังสุขภาพแข็งแรงว่าถึงการแก้ปมจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ สมัยก่อนว่า หลายฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา ทุกหน่วยต้องรู้ถึงสภาพที่เกิดขึ้น ตอนนั้นท่านบุญชู โรจนเสถียร นั่งรองนายกรัฐมนตรี ดูแลงานจราจร เรียกพบทุกบ่ายวันอังคารต้องไปรายงานความคืบหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล มีตัวแทน ขสมก. และการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย เรียกว่า จริงจังมาก เพราะรถไฟมีส่วนทำให้รถติด ท่านจะสั่งให้ช่วงเช้าลดตารางการเดินรถไฟให้น้อยที่สุด ท่านกำชับว่า รถไฟต้องปิดกั้นกี่นาที ถ้าไม่ทำตามนั้น ให้ลูกน้องเรารายงานมา ไม่ฟ้องก็เหมือนฟ้องจะได้ไปกระตุ้น ไม่ได้จับผิด ต้องช่วยกันเพื่อที่จะทำให้การจราจรมันลื่นไหลได้ดีขึ้น พยายามแก้ปัญหาได้

“มันก็แค่นั้นแหละ เหนื่อยครับตอนทำงาน แต่รุ่นหลังๆ เครื่องไม้เครื่องมือเยอะขึ้น ไม่จำเป็นต้องลงไปในพื้นที่ต่างๆ อยู่ในห้องเหมือนวอร์รูม มองเห็นแยกโน้น แยกนี้ วิทยุสั่งการไปได้ งานมันก็สบายกว่า แต่ผมคิดว่า คงไม่ได้ใจลูกน้อง นายเอาแต่อยู่ในห้องแอร์ สมัยผมลงไปเอง ลูกน้องได้เห็นเรา ได้พูดคุยกันบ้าง ถามสารทุกข์สุขดิบกันบ้าง มันก็ดีนะผมว่า” พล.ต.ต.วราห์เปิดมุมคิด

กระนั้นก็ตาม อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลที่รับผิดชอบดูแลงานจราจรมองว่า  แต่มันดีคนละอย่าง สมมติว่า เรานั่งรถไปตรวจได้ 10 แยก 20 แยกก็หมดเวลาแล้ว แต่อยู่บนห้องวอร์รูมมองได้ 50 แยก หรือ 100 แยก สั่งการได้ สมัยก่อนตรวจทั้งเขตเหนือ เขตใต้  ส่วนฝั่งธนก็แทบไม่ได้ไปแล้ว แต่วันไหนออกตรวจฝั่งธน เท่ากับว่า เหนือ และใต้ ไม่ได้ไปเหมือนกัน เรามองว่า ตำรวจยุคนี้อุปกรณ์เยอะ และกำลังพลมีมากกว่าก็น่าจะแก้ปัญหาได้ดีเหมือนกัน

ส่วนปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ของตำรวจจราจรที่ถูกข้อครหาตั้งด่านรีดไถนั้น พล.ต.ต.วราห์เห็นว่า อยู่ที่ตัวบุคคล ตำรวจจราจรไปตั้งด่านตีไก่ ไม่สมควร แต่ต้องรับว่า มีทุกยุคทุกสมัย ขึ้นอยู่ที่นาย สมัยนั้นผู้บังคับบัญชาต้องดูแล ให้สารวัตรจราจรช่วยกำกับดูแล “สำคัญที่สุด ถ้าลูกน้องคุณผิด ผมก็เอาผิดถึงคุณนะ ไม่ใช่คุณลอยตัวนะ เหมือนเดี๋ยวนี้ที่ตำรวจทำอยู่ ไปจับบ่อนการพนันได้ก็ย้าย 5 เสือ เพราะฉะนั้นคุณต้องรับผิดชอบ สารวัตรจราจรต้องรับผิดชอบ เมื่อลูกน้องไปทำผิด ไม่ใช่ว่าลูกน้องโดนดำเนินคดีแล้วไม่ต้องรับผิดชอบนะ เพราะคุณเป็นผู้บังคับบัญชาเขา ต้องรับทั้งผิด รับทั้งชอบ ไม่ใช่ว่าสมัยผมไม่มี ก็มี แต่ผมก็พยายามเข้มงวดผู้บังคับบัญชาเขามาประชุม เรียกสารวัตรจราจรและ รองผู้กำกับดูแลงานจราจรมาประชุมทุกสัปดาห์”

ตำนานนายพลผู้คุมงานจราจรย้ำว่า ตำรวจ หรือทหาร หรือไม่ว่าใคร พอทำงานแล้วมีความหวัง ก็ทุ่มเทได้ ถ้าทำแล้วไม่มีความหวังอะไรเลย เป็นนายดาบแก่ๆ ก็ต้องไปหาเศษหาเลย เงินทองก็ไม่ขึ้น แต่สมัยปัจจุบันดี พออายุ 53 ปีได้ไปอบรมมีโอกาสเป็นนายร้อยเลื่อนไหล  ก่อนจะเกษียณติด ร.ต.อ.ก็เป็นชื่อเสียงวงศ์ตระกูล จะไปพูดว่ามันดีกว่าแต่ก่อน พัฒนากันไป แม้ตำรวจจราจรยังคงจะถูกตำหนิเยอะที่สุด เพราะสัมผัสกับประชาชน รีดไถก็ถูกกล่าวหา ตำรวจที่อยู่โรงพักไม่ได้รีดไถ แต่ก็ไม่มีใครรู้ อาจจะขึ้นโรงพักแล้วสมยอมก็อีกเรื่องหนึ่ง

“ผมก็ไม่โทษตำรวจเลยนะ จริงๆ ต้องโทษคนให้นี่แหละ ผิดจริงก็ไม่สมควรให้ ถ้าไม่ผิดคุณจะให้เขาๆไหม แสดงว่าคุณผิดแล้วคุณไม่อยากเสียเวลาไปโรงพัก ไปเสียค่าปรับ ไปรอเสมียนเปรียบเทียบครึ่งค่อนชั่วโมง เขาถึงเรียกศาลเตี้ย แต่ภาษาผมก็เรียกว่า ตีไก่ มันแก้ยาก ถ้าไม่มีคนให้ก็ไม่มีคนรับ แบบคลองถมที่กรุงเทพมหานครจะจัดระเบียบ ถ้าไม่มีคนไปเดินซื้อของ เขาก็ไม่รู้จะขายใคร อันนี้มันก็เหมือนกำปั้นทุบดิน สมัยผมก็เหมือนกัน เด็กขายหนังสือพิมพ์ กับเด็กขายพวงมาลัย ผมบอกว่า คุณไม่ซื้อ มันเดินอีก 2 วัน มันก็ไม่ขายแล้ว เพราะมันขายใครไม่ได้

พล.ต.ต.วราห์ขยายความให้เห็นภาพชัดว่า  สุดท้ายมีใครเชื่อไหม ถ้าอ่านหนังสือพิมพ์ออกมาจากที่บ้านก็ไม่ต้องมาซื้อตามแยก เหมือนอยากกินกล้วยแขกก็ไปกินที่ถนนจักรพรรดิ จะเอากี่เจ้าไม่ต้องไปจอดรถให้ตำรวจไล่ ตำรวจจับ ถ้าทอดยังไม่สุกก็ไม่ต้องจอดรถรอ เพราะเดี๋ยวนี้มีเดินขายส่งให้ถึงรถ ก็ซื้อได้ อย่างนี้เป็นปัญหาโลกแตก เพราะถ้าไม่ซื้อก็ไม่มีคนขาย ถ้าตรงนั้นไม่มีคนขายก็ไม่มีคนไปเดินซื้อ เหมือนไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไข่

นายพลตำรวจตรีลูกหม้อนครบาลมากประสบการณ์ว่า ทุกอย่างอยู่ที่คน ถ้าคนดีก็ไม่มีปัญหา เช่น หากจับผิดกฎจราจร บอกไปเลยว่า ไม่เอาครับพี่ ขอว่ากล่าวตักเตือนก่อนนะครับ พี่ไม่ต้องมาให้หรอก รัฐบาลให้เงินแล้ว พูดดีแบบนี้ ครั้งนี้ครั้งแรกไม่ออกใบสั่งพี่หรอก แบบนี้ คนโดนจับมันก็ละอาย ไม่อยากทำผิดอีก แต่ไอ้นี่แบบว่า ให้ร้อยนึง เดี๋ยวก็เอาไปพูดกัน ไม่ต้องกลัวหรอก ตำรวจจับเดี๋ยวก็ให้ไปร้อยนึง ก็ปล่อย เป็นอย่างนี้จริงๆ แต่เดี๋ยวนี้คิดว่า ดีขึ้นเยอะ มีทำความเคารพ มีขอโทษ มีสวัสดีครับ

“ตำรวจถูกชาวบ้านด่าก็มี แต่ชมก็มีไม่ใช่หรือ คือ องค์กร ถ้าคนดีน้อยกว่าคนเลว องค์กรนั้นก็อยู่ไม่ได้ ต้องล่มสลาย แต่ถ้ามันอยู่ได้ แสดงว่า ต้องมีคนดีมากกว่าคนเลว ตำรวจถึงอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ มันอยู่ที่คน  ตั้งแต่ผู้ปฏิบัติถึงผู้บริหารที่ต้องมีคุณธรรม มีศีลธรรม เด็กถึงเคารพนับถือ และรักองค์กรพร้อมที่จะทำงานให้กับองค์กร พยายามทุกอย่างที่คิดว่า จะทำให้กับองค์กรได้ มันอยู่ที่คนหรือเปล่า ไม่ได้เกี่ยวกับองค์กร ถ้าคุณไม่ปฏิรูปตัวคุณ มันก็ไม่มีทางจะเป็นอย่างอื่นได้”

วราห์ เอี่ยมมงคล !!!

 

 

บทความก่อนหน้านี้
บทความถัดไป
RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments