ก้าวที่ 51 นางฟ้าตัวน้อย

รรยากาศการเมืองไทยต้นเดือนมีนาคม 2539 เริ่มคุกรุ่น เป็นยุคของบรรหาร ศิลปอาชา นั่งเก้าอี้ผู้นำเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ในประวัติศาสตร์ต่อจากชวน หลีกภัย

       เขาขึ้นแท่นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทยเมื่อปี 2537 รับบทผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมัยรัฐบาลชวน ทั้งที่ก่อนหน้าเป็นผู้แทนได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในหลายกระทรวงมาแล้ว

ตั้งแต่ปี 2519 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีครั้งแรก ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ถัดจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมัยรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และโยกเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลเดียวกัน

ต่อมา พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นผู้นำ ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จวบจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหารโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร แต่ยังได้รับความไว้วางใจเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ปี2538  บรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทย พลิกชีวิตเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกของพรรคได้รับเลือกตั้งมากที่สุด และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฎาคม

ถือเป็นอาชีพนักการเมืองที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่จังหวัดสุพรรณบุรีบ้านเกิด ถึงกระนั้นก็ตาม เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของบิ๊กเติ้ง-บรรหาร ศิลปอาชา ไม่ได้ราบเรียบอย่างที่คิด

เมื่อเช้าวันที่ 1 มีนาคม 2539 มีการประชุมสุดยอดผู้นำทั้ง 25 ชาติ เอเชีย-ยุโรป หรืออาเซม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถนนพระราม 4 เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ท่ามกลางอารักขาอย่างแน่นหนาของกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ

แต่ปรากฏว่า เหตุการณ์เริ่มตึงเครียดเมื่อผู้ชุมนุมขนาดย่อมจำนวนราว 360 คนจากอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี นำโดยปรีดา เตชะคำภู อายุ 48 ปี รวมพลโดยสารรถไฟมายังหัวลำโพงแล้วลงเดินมุ่งหน้าไปชุมนุมประท้วงบริเวณหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานที่จัดการประชุม แต่ถูกพลตำรวจโทโสภณ วาราชนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นำกำลังหน่วยปราบจลาจลกว่า 200 นายสกัดไว้ที่หน้าสวนลุมพินี ไม่ให้กลุ่มเกษตรกรจากแดนอีสานเดินทางไปยังสถานที่ประชุมสุดยอดได้

กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามที่จะฝ่าแนวกั้นของตำรวจ เกิดการปะทะกัน สิบตำรวจตรีเสถียร กิ่งแก้ว บาดเจ็บนิ้วโป้งขวาหัก ระหว่างนั้นได้มีแกนนำกลุ่มเป็นนักศึกษา 4 คน ประกอบด้วย นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ธนา ใจตรง วัชรินทร์ เดชคลองจันทร์ และสมพร คำสวัสดิ์ ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ออกนอกพื้นที่จำกัดอ้างว่า ต้องการไปกินข้าว แต่ตำรวจไม่ยอม เกิดการปะทะกันอีกระลอก 4 นักศึกษาถูกคุมตัวส่งสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี และส่งต่อไปยังโรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขนดำเนินการสอบสวน มีพลตำรวจตรีพงษ์ศักดิ์ กนิษฐกุล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คุมการสอบสวนเอง

ชนวนของเหตุการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้นเพราะกลุ่มชาวบ้านเดือดร้อนกรณีเขื่อนสิรินธร อำเภอสิรินธร อำเภอพิบูลมังสาหร โขงเจียม บุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ต้องการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาล จ่ายค่าชดเชยค่าเสียโอกาสให้ครอบครัวละ 50 บาทต่อวันที่ถูกเวนคืนจากการสร้างเขื่อนตั้งแต่ปี 2513 ให้คืนที่ดินบ้านโนนจันทร์ พร้อมโฉนดให้ชาวบ้าน ให้รัฐจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูชีวิตให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ

พลตำรวจโทอรรถพล แช่มสุวรรณวงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมในครั้งนี้ ความจริงชาวบ้านไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ขึ้นอยู่กับบรรดาแกนนำพยายามสร้างสถานการณ์ ได้รับเงินจากต่างประเทศให้เข้ามาก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองของเรา จากสายการข่าวของกรมตำรวจทราบแกนนำบางคนได้เดินทางออกต่างประเทศเพื่อไปรับเงินแล้ว

ผมเข้าเวรดึกตอนห้าทุ่ม พอรู้เรื่องราวคร่าว ๆ แต่ไม่ได้สนใจอะไรมาก กระทั่งโรงพิมพ์มีคำสั่งให้วนไปดูโรงพักพหลโยธิน เพราะมีข่าวว่า ตำรวจคุมแกนนำนักศึกษามาสอบปากคำ ผมไปถึงห้องสืบสวนยิ้มทันที

“สวัสดีครับพี่”

“สวัสดี เข้าเวรหรือ” พันตำรวจเอกกฤษฎา พันธุ์คงชื่น รองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือแวะมาตรวจโรงพักพอดี “เข้ามาสิ”

“มีอะไรเปล่าครับ”

“ไม่มีอะไรหรอก” นายพันตำรวจเอกหนุ่มสวมชุดนอกเครื่องแบบให้ความเป็นกันเอง

“เห็นว่าเอาตัวนักศึกษามาสอบปากคำหรือ”

“นี่หรือเปล่า” พันตำรวจเอกกฤษฎามองไปทางนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ “คุยกันเฉย ๆ ไม่มีอะไร อยากปรับทัศนคติ ผมเองก็เป็นนิสิตเกษตรมาก่อน ทำงานข่าวมา เบื้องหน้าเบื้องหลังผมก็รู้ดีหมดว่าใครหนุน จริงไหมคุณ”

แกนนำนักศึกษาทำหน้าไม่สบอารมณ์ เขาแจงว่า เคยเป็นอดีตรองเลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2536 ศึกษาเล่าเรียนได้จากภาษีอากรของประชาชน ดังนั้น เราต้องตอบแทนประชาชน ด้วยการไม่เพิกเฉยต่อปัญหาของพวกเขา เราเรียนรู้ทุกข์สุขกับเกษตรกร กรรมกร สลัม คนยากจน และนั่นคือเบ้าหลอมการเรียนรู้สังคม อันเป็นมหาวิทยาลัยชีวิตของพวกเรา

“พวกผมเข้าร่วมกับปัญหาของพี่น้องประชาชน เขื่อนปากมูล ลำนำเสียว ค้านรถเมล์ขี้นราคา เขื่อนน้ำโจน เขื่อนแก่งกรุง ร่วมสมัชชาคนจน ต่อสู้เรียกร้องนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง อายุ 18 ปี ต้องมีสิทธิการเลือกตั้ง ประธานสภาผู้แทน เป็นประธานรัฐสภา การกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของชุมชน”

ผมฟังนิ่งเช่นเดียวกับรองผู้บังคับการที่ยังไม่ทิ้งมาดผู้กำกับสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครเหนือ เวลาผ่านไปเที่ยงคืนเศษ นิติรัตน์สีหน้าจริงจัง “พวกเราต่างเคยถูกตั้งคำถามจากเพื่อนร่วมสถาบัน ผู้คนในสังคม กระทั่งคนในครอบครัว พ่อแม่ ถึงการเรียนรู้ของพวกเราในวันนั้น กระทั่งคำถามจากรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีหลายคน แต่ที่ผมไม่เคยลืม จากเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนช่วงรัฐบาลรัฐประหารคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เนื่องจากมีการอพยพโยกย้ายประชาชน ไล่รื้อบ้าน วัด ชุมชน โดยกองกำลังทหาร  รัฐมนตรีมหาดไทย ในวันนั้น ถามผมว่า คุณเป็นนักศึกษาใช่ไหม ทำไมไม่กลับไปเรียนหนังสือ”

“ผมยังจำสายตาของบิ๊กตุ๋ย พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี อันเต็มไปด้วยความรำคาญของเขาได้ดี ในขณะที่เขาถามผมบนบันไดทางขึ้นกระทรวงมหาดไทย ขั้นที่ 3-4 ทำให้เขายืนสูงเหนือกว่าผม” นิติรัตน์ยังคงว่าหลักการ

ผมไม่อยากขัด ผมนึกถึงภาพวันที่พันตำรวจเอกคงเดช ชูศรี รองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือปะทะคารมจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงผู้ก่อตั้งพรรคศรัทธาธรรมที่หน้าโรงพักดุสิต หลังโผล่มาออกตัวแทนกลุ่มสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน

“คุณเป็นคนจังหวัดไหน” พันตำรวจเอกคงเดชถาม

“ผมคนบ้านนาสาร สุราษฎร์ธานีครับนาย”

“แล้วคุณมายุ่งอะไรกับคนอีสาน”

ประโยคนั้นทำเอาแกนนักศึกษาลูกพ่อขุนอึกอัก

“ไผ่” ผมตัดบทเรียกชื่อเล่นของนิติรัตน์ “เราจบเทพศิรินทร์ใช่ไหม”

“ใช่ แต่ผมเรียนแค่มัธยม 3 ”

“เราก็จบเทพศิรินทร์”

“รุ่นไหน”

“รุ่นพี่เราปีนึง”

“อ่อ สวัสดีครับพี่” นิติรัตน์ลดโทนเสียงที่แข็งกร้าวทันที พวกเราสนทนากันค่อนคืนแลกเปลี่ยนอุดมการณ์ต่างมุม มีพันตำรวจเอกกฤษฎา ร่วมวงด้วย ลูกชาย พลตำรวจเอกมนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อดีตอธิบดีกรมตำรวจผู้มากบารมีพยายามเปลี่ยนแนวความคิดของนิติรัตน์ แต่เด็กหนุ่มฟากตรงข้ามเจ้าหนาที่รัฐยังยึดมั่นอุดมการณ์ของเขา

คุยไปคุยมาตีสามเศษ นายตำรวจนักสืบที่เริ่มจับงานแรกด้วยการเป็นสายลับหาข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิตนักศึกษาช่วงสถานการณ์การชุมนุมปี 2516 จนถูกอาจารย์เพ่งเล็งเป็นกลุ่มสันติบาลในคราบนิสิตหันมาเล่าเรื่องราววิบากกรรมของตัวเองบ้าง

“คุณเชื่อเรื่องเวรกรรมไหม”

ผมส่ายหัว ส่วนนิติรัตน์พยักหน้า

“รู้ไหมว่า ตอนยังเป็นสารวัตรสืบสวนใต้ ทวีผล กสิโสภา น้องชายแม่ น้าชายผมแท้ ๆ ถูกยิงตายคาแยกแม้นศรี ผมเข้าเวรวันนั้นพอดี เจอศพน้าที่สนิทกันมาก ตอน 14 ตุลาน้าก็อยู่เฝ้าบ้านกับผม พวกนักศึกษาจะมาเผาบ้านผม รู้สึกตกใจมาก ลูกชายคนเล็กเกิดได้ 2 วัน ที่น่าแปลกใจ คือ ทุกคดีนายจะเรียกประชุมกันแหลกลาญ แต่คดีนี้นายกลับให้ข่าวหนังสือพิมพ์ว่า หลานชายเป็นสารวัตรสืบสวนใต้เป็นคนทำคดีเอง ผมงงมาก ไม่มีใครช่วยเลย แต่ก็ทำกันเองในทีม ตามอยู่ปีครึ่งถึงได้ข่าวจากภาพสเกตช์ใบเดียวที่ลูกสาวของน้าจำหน้าผู้ต้องสงสัยได้” พันตำรวจเอกหนุ่มว่า

“ผมเพียรติดตามคดีมาไม่เคยหยุด สืบสวนเหนือเอาผู้ต้องหาคนหนึ่งไปวิสามัญฆาตกรรมแล้วเหมาเป็นมือปืนยิงน้าชายผม พอเอาเข้าจริงก็ปะติดปะต่อเรื่องไม่ได้ ผมสืบสวนมาตลอดรู้ว่า ไม่ใช่ และไม่เคยทิ้งมัน สุดท้ายคนในภาพสเกตช์ยอมโผล่รับว่า เป็นคนถูกจ้างมายิง ไม่รู้เหยื่อเป็นน้องเมียอธิบดีเก่า แต่พอวันยิงไม่รู้ใครมายิง มีคนมาซ้อนงานอีกที ผมตามล่าจนเอามันมาวิสามัญฯ หลังโรงพยาบาลหัวเฉียว” แววตาเพชฌฆาตของเขาฉายชัด

“สุดท้ายกลายเป็นเรื่องเป็นราวถูกร้องเรียน เป็นมรสุมชีวิตครั้งแรก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงพาดหัวข่าวว่า ผมเอามือปืนไปฆ่าทิ้ง ตอนหลังเหมือนวิบากกรรมมาลงกับลูกชายคนที่ 3 ของผม เพราะทุกคดีที่ผ่านมา ผมทำตามหน้าที่ แต่คดีนี้มีเรื่องอารมณ์ส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง ผลสะท้อนเกิดกับลูก ลูกตายระหว่างคลอดออกมาไม่นาน ตายคามือผมเลย เป็นเด็กไม่มีกะโหลกเหมือนกับตอนมือปืนที่ยิงน้าชายผมถูกวิสามัญฯ กะโหลกเปิด เรื่องนี้ไม่น่าเชื่อ ก็ต้องเชื่อ” อดีตสารวัตรสืบสวนนครบาลพระนครใต้สะท้อนชีวิต

“พี่จะเล่าทำไมเนี่ย” ผมหลุดปาก

“ผมอยากฝากเป็นอุทาหรณ์ ว่า กฎแห่งกรรมมีจริง”

“โธ่ พี่ เมียผมจะคลอดวันสองวันนี้แล้ว”

พันตำรวจเอกกฤษฎาหัวเราะ “แล้วคุณไปทำกรรมอะไรหรือเปล่าล่ะ”

ผมไม่ตอบ เพราะนึกไม่ออกว่า อะไรคือ กรรมที่จะพาความระยำมาลงกับลูกในอนาคต

แยกกันตอนใกล้ตีห้า ผมออกเวรกลับเข้าบ้าน เรื่องราวความสูญเสียลูกชายของพันตำรวจเอกทายาทอดีตอธิบดีกรมตำรวจฝังหัวจนผมกังวล

“น้ำเดินแล้ว” เมียผมว่า

เอาแล้วไง ผมรีบพาส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก่อนกลับมานอนพัก โยนภาระให้แม่เฝ้า ลุ้นระทึกจนนอนแทบนอนไม่หลับ กระทั่งบ่ายสองย้อนมาโรงพยาบาล ลูกผมคลอดแล้ว

“ผู้ชาย หรือผู้หญิง” ผมถามแม่

“ผู้หญิง สมบูรณ์ดี”

ผมโล่งอก ตอนแรกกะว่า ลูกคนนี้จะเกิดประมาณวันที่ 5 มีนาคม ตรงกับวันนักข่าวพอดี ทว่าวันที่ 2 มีนาคมเจ้าตัวมาก่อนจากที่คาดการณ์ไว้ ผมให้ชื่อว่า “เพรส” นิยามของนักสื่อสารมวลชน ส่วนชื่อจริงลุงโหร-ประยูร อุลุชาฎะ ศิลปินแห่งชาติที่สนิทสนมกับบ้านเมียเป็นคนเลือกตามวันเวลาเกิด

พวกเราตกลงกันว่า “วรนารี” แปลว่า “ยอดหญิง”

ลูกคนแรกของบ้าน ทั้งเพื่อนและญาติพี่น้องต่างเห่อกันมาเยี่ยมแน่นห้องพยาบาล แต่ความกังวลยังอยู่ในหัวผม “หมอบอกตัวเหลือง ต้องเอาเข้าตู้อบก่อน” แม่มือใหม่ว่า

“อาจารย์ครับ ลูกสาวผมตัวเหลือง” ผมโทรปรึกษารำไพ ฟุ้งขจร ครูประจำชั้นสมัยมัธยม 4 “ปมไม่สบายใจ จะเป็นอะไรเปล่าครับ”

“เฮ้ย…เอ็งไม่ต้องห่วง เป็นเรื่องปกติของเด็กแรกเกิด”

“จริงหรือครับอาจารย์”

“เออสิว่ะ ยินดีด้วยโว้ย เป็นพ่อคนแล้ว ทำอะไรคิดบ้าง”

“ขอบคุณครับอาจารย์”

อยู่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ไม่กี่วัน หมออนุญาตให้กลับได้ เมียและลูกต้องเข้าไปอยู่บ้านพ่อตาแม่ยายริมแม่น้ำนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เพราะยายมีเวลาดูแล มีน้า ๆ ร่วมประคบประหงม

ผมอุ้มลูกสาวอย่างนิ่มนวลประคองอยู่ในอ้อมอกออกจากตึก

รอยยิ้มแรกของลูกปรากฏบนใบหน้าเหมือนส่งสัญญาณถึงผม

“นางฟ้าตัวน้อยของพ่อ” ผมไม่เคยลืมภาพนั้นเลย

  

RELATED ARTICLES